ความรู้สึกแบบใหม่



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2555


งานวิจัยที่สำคัญมากชิ้นหนึ่งที่เรียกว่า งานวิจัยไวท์ฮอลล์ เริ่มขึ้นที่อังกฤษในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ด้วยการเก็บข้อมูลจากข้าราชการเพศชาย ๑๘,๐๐๐ คน ต่อเนื่องเป็นเวลาติดต่อกันถึง ๑๐ ปี ข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้ก็คือ ยิ่งทำงานอยู่ในตำแหน่งต่ำลงไปเท่าไหร่ อายุก็จะยิ่งสั้นมากขึ้นเท่านั้น และมักจะตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเสียด้วย

๒๐ ปีถัดมา ข้อมูลจากข้าราชการ ๑๐,๓๐๘ คน เป็นชาย ๒ ใน ๓ ที่เหลือเป็นผู้หญิง ก็ถูกจัดเก็บอย่างต่อเนื่อง และยืนยันข้อค้นพบเดียวกันกับงานวิจัยชิ้นแรก คือ ตำแหน่งงาน หรือสถานะทางสังคม สัมพันธ์เกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นกับการมีสุขภาพที่ดีหรือไม่ดี และทำให้ผู้คนกลุ่มหนึ่งอายุสั้นต่างกับผู้คนอีกกลุ่มหนึ่ง

นับจากนั้น งานวิจัยทางสุขภาพส่วนหนึ่งจึงหันมาให้ความสนใจกับการสืบค้นเหตุปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อความมีอายุสั้น/ยาวของผู้คน หรือที่เรียกว่าช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพมากขึ้น งานชิ้นสำคัญล่าสุดที่เผยแพร่ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ “ถมช่องว่างทางสุขภาพในช่วงชีวิตเรา: บรรลุความเป็นธรรมทางสุขภาพ ด้วยปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” ซึ่งเป็นผลงานวิจัย ๔ ปีของนักวิจัยกลุ่มใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก โดยรวบรวมข้อมูลจากทั่วโลกมาวิเคราะห์ และมีข้อเสนอในการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เพื่อยกระดับสุขภาพของผู้คนในสังคมโดยรวม

ที่น่าสนใจก็คือ ข้อมูลจากงานวิจัยเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อออกมานอกเขตแดนของประชาคมวิจัยมากขึ้นตามลำดับ เซอร์ ไมเคิล มาร์ม็อต นักวิจัยหัวเรือหลักทางด้านปัจจัยสังคมต่อสุขภาพ ปรากฎตัวในสารคดีโทรทัศน์อเมริกัน UNNATURAL CAUSES: Is Equality Making Us Sick? ทั้งยังใช้ข้อมูลจากงานวิจัยมานำเสนอ ในปีเดียวกันนั้นเอง เขาก็ได้รับเชิญจากรัฐบาลอังกฤษให้เป็นที่ปรึกษา

ส่วนหนังสือที่ทำให้เกิดบทสนทนาสาธารณะมากที่สุดก็คือ THE SPIRIT LEVEL: Why Equality is Better for Everyone โดย ริชาร์ด วิลกินสัน หนึ่งในนักวิจัยทีมเดียวกับมาร์ม็อต (ปัจจุบันมีแปลเป็นภาษาไทยแล้วในชื่อ ความ(ไม่)เท่าเทียม โดย สฤณี อาชวานันทกุล) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สังคมที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำมาก จะมีปัญหาทางสุขภาพและสังคมมากตามไปด้วย ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษา ท้องวัยรุ่น ยาเสพติด นักโทษล้นคุก ความรุนแรง ความไว้วางใจต่อกันของคนในสังคม ฯลฯ หนังสือเล่มนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้านต่างกล่าวถึง และทำให้ ส.ส.อังกฤษ ๗๕ คน ลงนามให้สัญญาก่อนเลือกตั้งทั่วไปว่า จะสนับสนุนทุกนโยบายที่นำไปสู่การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจน

เมื่อย้อนกลับมามองสังคมไทย งานวิจัยทั้งของสภาพัฒน์และทีดีอาร์ไอก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมาของการพัฒนาประเทศ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะทางรายได้และการศึกษา ไม่ได้ลดลงเลย จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัญหาหลายอย่างจึงปะทุคุกรุ่นอยู่เต็มไปหมด

หลายคนมองว่า การประสบความสำเร็จเป็นผลจากการทำงานหนัก และคนที่ทำงานหนักและประสบความสำเร็จควรได้รับผลตอบแทนสูง ไม่เห็นจะต้องไปสนใจใยดีอะไรกับคนจนรายได้น้อยอะไรนั่นเลย แต่สิ่งที่มองว่าเป็นความสำเร็จของนักการเงินหรือที่ปรึกษาทางการลงทุน ก็ยังเป็นเรื่องของโชคมากกว่าความเป็นมืออาชีพ ดังที่ ศ. แดเนียล คาเนแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เล่าและวิเคราะห์ไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขา Thinking, Fast and Slow และหลายครั้งก็เป็นเรื่องของความฉ้อฉลมากกว่าฝีมือ ดังนั้นเอง คนที่ได้รับเงินเดือนสูงและมีโบนัส จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่คนที่สมควรจะได้รับ แถมความเหลื่อมล้ำที่กลุ่มคนเหล่านี้สร้างขึ้นมายังส่งผลกระทบด้านลบกับสังคมอีกด้วย ทั้งที่กลุ่มที่รวยที่สุดมีเพียงร้อยละ ๑ ของประชากรในโลกนี้เท่านั้น

วิธีคิดบางอย่างกำกับโครงสร้างที่ผิดปรกติเหล่านี้ อุดมคติที่ผิดเพี้ยนนำไปสู่มาตรการลดภาษีคนรวย กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการรวมตัวของคนทำงาน กลไกที่ไม่มีประสิทธิภาพในการกำกับการแข่งขันในตลาด ทั้งยังส่งเสริมให้บูชาเงินและหรือความร่ำรวยที่ไม่ได้มาจากการทำงาน มองสังคมและโลกเป็นการแข่งขันมากกว่าการอยู่ร่วมและแบ่งปันอย่างเกื้อกูล

ในสังคมที่คนรวยและคนชั้นกลางกินอาหารในห้างสรรพสินค้าและมอลล์ขนาดเล็กที่เกิดขึ้นตามชานเมือง และคนจนกินอาหารในซอยติดกันข้างๆ และเป็นเมนูที่แตกต่างกันอย่างฟ้ากับเหว ในสังคมที่ความแตกต่างดำรงอยู่และมีให้เห็นมากกว่าวันละ ๓ มื้อเช่นนี้ - เราจะไม่รู้สึกอะไรบ้างล่ะหรือ?

จังหวะชีวิตที่ตื่นเช้ามาก็ต้องออกไปทำงาน ฝ่าทะเลจราจรทั้งขาไปขากลับ ถึงบ้านก็ฟ้ามืด การเปิดโทรทัศน์ดูละครที่ “ไม่เครียด” เห็นอกเห็นใจตัวละครอย่างมุตตา สะใจไปกับมุนินทร์ (ตัวเอกในละครหลังข่าวภาคค่ำเรื่องหนึ่ง) จึงเป็นการกลับไปสู่ธรรมชาติของมนุษย์ที่โหยหาการใช้อารมณ์ความรู้สึก

ในภาวะที่ชีวิตไม่ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก เวลาทำงานก็ต้องแสดงความเป็นมืออาชีพที่ต้องเก็บงำอารมณ์ความรู้สึก ตัวชี้วัดมีแต่คำว่าประสิทธิภาพ มนุษย์ย่อมกลายเป็นเครื่องจักรกล เมื่อมองเห็นข้อมูลและตัวเลขว่าด้วยช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ทั้งในการถือครองตัวเลขในบัญชีธนาคาร ที่ดิน สุขภาพ และการศึกษา จึงยากที่จะรู้สึกรู้สากับความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์คนอื่นในสังคม

ก็ในเมื่อเรายังมีความต้องการที่จะมีอารมณ์ความรู้สึก ถึงขนาดว่าต้องเสพละครหลังข่าวทุกวันทั้งที่ปากก็บ่นว่าชีวิตไม่ค่อยมีเวลา แสดงว่าเรามีเวลาและศักยภาพเพียงพอที่จะรู้สึกรู้สากับความทุกข์ยากไม่เป็นธรรมของคนอื่นได้เช่นกัน

บางที นอกจากความรู้และงานวิจัยแล้ว วิธีคิดใหม่ และอารมณ์ความรู้สึกแบบใหม่ อาจจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกที่ไม่อาจยอมรับความไม่ถูกต้อง ความไม่เป็นธรรม ที่เกิดขึ้นกับคนอื่น ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกนี้เองก็จะเป็นเสมือนการเปิดตาน้ำของความกรุณาให้หลั่งไหลหล่อเลี้ยงให้กับโลกภายในและภายนอกของเรา

One Comment

Channgam กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ครับ

Back to Top