จิตตปัญญาหน้าห้องเรียน



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 มกราคม 2556

เมื่อไม่นานมานี้ มีครูคนหนึ่งที่เคยเข้าร่วมการอบรมของผมไถ่ถามมาว่า "อาจารย์คะ น้ำมีปัญหาเรื่องการสอนจะเรียนปรึกษาอาจารย์ค่ะ น้ำสอนหนังสือมาปีนี้ครบยี่สิบปี นักศึกษาเปลี่ยนไปมาก จากที่มีความสนใจใส่ใจตนเอง กลับมาเรียนแบบไร้ความรู้สึก น้ำพยายามสอดแทรกหรือปรับเทคนิคการสอนให้มีความน่าสนใจ ในช่วงแรกๆ ก็ดีค่ะ แต่ช่วงหลังๆ ก็กลับไปเหมือนเดิม มีกระบวนการใดที่จะพัฒนาจิตใต้สำนึกของนักศึกษาก่อนที่จะเริ่มเรียนได้ ให้เขาสร้างความตระหนักรู้ในตนเอง มาเรียนด้วยความรู้สึกสดชื่น และเห็นคุณค่าของตนเองได้บ้างคะ"

จะว่าไปแล้ว ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ หากเป็นไปด้วยดี จะเหมือนความสัมพันธ์กับคนรัก คือมีความอบอุ่น มีพลังงานอุ่นๆ ของความใส่ใจมอบให้กันและกัน เป็นเหมือนการต่อท่อพลัง การเชื่อมต่อสนามพลัง ซึ่งจะทำให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่ดีมากๆ และเป็นสภาวะของสมองที่เรียนรู้ได้ดีที่สุด (Optimum learning state)

การต่อท่อพลังดังกล่าว มีเทคนิคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศโดยรวมของห้อง เช่น สี แสง เสียง การนำเพลงที่เอื้อให้เกิดคลื่นสมองแบบอัลฟา (เกิดจากสภาพจิตใจที่สงบ) มาเปิดสักห้านาทีสิบนาทีก่อนการเรียนทุกครั้งจะช่วยได้มาก หรือให้นักศึกษาพูดอะไรก็ได้ที่อยากจะพูดสักสิบห้านาที แต่ไม่ต้องให้พูดทุกคน เป็นต้น

แต่ในบรรดาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ครูที่ยืนอยู่ข้างหน้านักเรียนนักศึกษานั่นแหละเป็นสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่สุด จิตวิญญาณของครู ความเป็นตัวเป็นตนของครู จะกำหนดบรรยากาศความเป็นไปของห้องเรียนอย่างแน่นอน



การใช้เสียงแบบกระบวนกร กับตัวตนครู

ในทีมกระบวนกรของอาศรมหิ่งห้อย พอทำงานกระบวนการไปได้หลายๆ ปี แต่ละคนจะมีวิถีการพูดเป็นจังหวะจะโคน ซึ่งผมเคยเทียบเคียงว่าเป็นการทอดจังหวะแบบเดียวกับการสะกดจิตเลยทีเดียว คือการนำพานักศึกษาหรือผู้เข้าร่วมเข้าสู่คลื่นสมองแบบอัลฟา ซึ่งมีทางที่จะเหนี่ยวนำให้เกิดรูปแบบคลื่นสมองที่เรียกว่า "จิตตื่นรู้" ที่จะทำให้นักเรียนเข้าสู่บทเรียนได้ดีที่สุด สามารถเรียนรู้ได้อย่างแจ่มใสชาญฉลาดที่สุด

แน่นอนว่า เสียงดังกล่าวจะต้องออกมาจากตัวตน หรือความเป็นตัวเรา (being) ไม่ใช่เฉพาะหน้าฉากที่เราอยากให้คนอื่นรับรู้ ไม่ใช่อาการดัดจริตติดดี เพราะหากเราสามารถเข้าหาแก่นจริงแท้กับตัวเอง เราย่อมสามารถจริงแท้กับคนอื่น กับนักศึกษาของเราได้ ซึ่งความจริงแท้นี้มีพลังมหาศาลที่จะนำพาห้องเรียนไปได้อย่างมหัศจรรย์

หากเราบ่มคุณค่าแห่งความเป็นครู อดทน สม่ำเสมอ รอคอย อ่อนโยน เปิดใจรับรู้ เชื่อมต่อ สนใจใคร่รู้ในตัวศิษย์อย่างสม่ำเสมอ นั่นจะเป็นพลังพายุหมุนมหาศาลที่จะนำพาศิษย์ไปเรียนรู้อะไรต่างๆ ได้อย่างสนุกสนาน



เรียนรู้จากคู่แข่งของครู

ผมเคยดูรายการเท็ดทอล์ค (Ted Talks) มีปาฐกคนหนึ่งมาพูดเรื่อง “เราจะเรียนรู้จากเกมคอมพิวเตอร์อย่างไรบ้าง?” เขาสาธยายว่า สิ่งที่เกมมีและทำให้เด็กติด เช่นการให้รางวัลบ่อยๆ ไม่ว่าเรื่องเล็กน้อยเพียงใด คือการกระทำของเราในเกมมีผลตอบสนอง คือมีคะแนนตลอดเวลา ทำให้อยากทำต่อไป เป็นต้น

คราวหนึ่งในขณะที่คุยกับพ่อแม่ที่อยากพาลูกมาเข้าร่วมในอาศรมหิ่งห้อย มีใครคนหนึ่งในทีมของเราโพล่งออกมาว่า หรือว่าเกมเป็นเพื่อนที่ดีกว่าพ่อแม่ เป็นครูที่ดีกว่าครู ผมคิดว่าเป็นถ้อยคำที่น่าสนใจ

ต่อมา เมื่อพ่อแม่พาลูกอายุเก้าขวบมาทดลองเรียนรู้กับพวกเรา เขาติดเกมมากและนำมือถือรุ่นล่าสุดมาด้วย พวกเราบางคนบอกว่า อย่าให้เขาเอามาจากบ้านดีไหม? ผมบอกว่าให้เอามาเลย ไม่มีปัญหา เมื่อเขามาอยู่กับเราจริงๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เขาเริ่มสนุกกับการอยู่ร่วมเป็นชุมชน การผูกสัมพันธ์กับสมาชิกบางคน ทำให้เขาหันมาติดคนมากกว่าติดเครื่อง และสนุกกับกิจกรรมจริงๆ มากกว่ากิจกรรมในเครื่อง แต่ตอนเขาอยู่บ้าน เมื่อพ่อแม่ไม่สามารถสื่อสารในระดับสติปัญญาของเขา ระดับเรื่องราวที่เขาจะสนใจได้ เขาจึงอยู่กับเครื่องมากกว่าคนนั่นเอง



มีบางอย่างที่ดึงดูดคนมากกว่าเครื่องหรือ?

พาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ เรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า โยงใยความสัมพันธ์ ความผูกพัน (bonding) ซึ่งเขาเขียนในหนังสือ กล้าสอน (Courage to Teach) ว่า เมื่อคนเราเปิดใจ และหลอมรวม ผูกโยงเข้าด้วยกัน ในความผูกพันดังกล่าว เราจะรู้สึกอุ่นๆ สบายและมีความสุข คลื่นสมองจะเข้าสู่ความเป็นปกติ และอาจกลายเป็นคลื่นสมองแบบจิตตื่นรู้ ซึ่งเป็นสภาวะที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ครูจะต้องเชื่อมโยงผูกพันกับสนามของความรู้ คือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์ความรู้ที่ตนเองจะสอนด้วย

เมื่อด้านหนึ่งเชื่อมโยงผูกพันกับเด็กนักศึกษา อีกด้านหนึ่งเชื่อมโยงผูกพันกับสนามขององค์ความรู้ แล้วน้อมนำนักศึกษากับองค์ความรู้เข้าหากันจนเป็นหนึ่งเดียวกัน นั่นคือครูได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว ครูได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว



เส้นทางแห่งปาฏิหาริย์ กับมิติของเวลา

มนุษย์ทุกคนมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ และมีปัญญาอันยิ่งใหญ่ (นอกจากจะมีความผิดปกติหนึ่งใด) แต่ด้วยความเข้าใจผิด ระบบการศึกษา การเลี้ยงดูลูกของพ่อแม่ และค่านิยมของสังคม ได้ก่อกำแพงขวางกั้นกระบวนการเรียนรู้อันวิเศษที่เป็นไปตามธรรมชาตินี้ การเข้าไปดูแลเด็ก ก็คือการเข้าไปบำบัดเยียวยา หรือถอดสลักของอุปสรรคขวางกั้นเหล่านี้ออก

แต่เราจะต้องลงทุนในเรื่องเวลา โดยเฉพาะในช่วงแรกซึ่งเป็นช่วงของการเยียวยา ช่วงของการถอดสลักออก ต่อเมื่อประตูการเรียนรู้เปิดออกแล้ว เราจะพบกับความอัศจรรย์ของประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กๆ

เมื่อหลายปีมาแล้ว ผมเคยมีโอกาสสอนนักศึกษาราชภัฏ คณะครุศาสตร์ เอกภาษาไทย ประมาณ ๔๐ คน และสามารถนำพาพวกเขาออกมาจากกำแพงแห่งความไม่สามารถเรียนรู้นี้ได้ ผมมีเวลาอยู่กับนักศึกษา ๘ สัปดาห์ สัปดาห์ละสองชั่วโมงติดกัน โดยใช้เวลาสามสัปดาห์แรกในการต่อท่อพลัง (connect) กับเด็กๆ พูดคุย ตั้งคำถามปลายเปิดเพื่อฟังเสียงของพวกเขา กระตุ้นให้พวกเขาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเอง

อีกสามสัปดาห์ให้เขาสัมผัสการเขียนอย่างไม่สนใจการสะกดคำว่าถูกหรือผิด เขียนแบบธาราลิขิต เขียนแบบให้ไหลๆ ไป อะไรก็ได้ เขียนไปเถอะ ซึ่งพวกเขาก็เขียนกันออกมาได้

สองสัปดาห์สุดท้าย จึงเริ่มเขียนเรื่องใกล้ตัวอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เช่น บอกเล่าเหตุการณ์ที่พวกเขามีความสุขที่สุด รู้ไหมครับ เกือบร้อยเปอร์เซนต์ พวกเขาเขียนถึงโอกาสที่พ่อแม่พี่น้องนั่งอยู่ด้วยกันครบ กินข้าวด้วยกัน นั่นแหละคือสิ่งที่เด็กๆ มีความสุขที่สุด

ในที่สุดเขาก็เขียนกันได้ และได้อะไรมากกว่าการเขียน อาจารย์จากภาควิชาที่ชวนผมไปสอนได้บอกให้ผมทราบภายหลังว่า เด็กรุ่นนี้กลายเป็นเด็กที่สนใจเรียนมากกว่ารุ่นอื่นๆ ส่งรายงานมากกว่าเด็กทั่วไป และแน่นอนผลการเรียนดีกว่า อาจารย์เขายกความดีความชอบให้กับการสอนของผม นี่ไงครับสิ่งที่ผมเรียกว่าปาฏิหาริย์



เราเรียนอะไรกัน

เวลาผมไปพบครูอาจารย์ตามที่ต่างๆ และมีโอกาสแนะนำวิธีการสอน อาจารย์มักจะบอกว่า วิธีการของผมดี แต่กลัวว่าจะไม่มีเวลา เพราะเนื้อหาวิชาเยอะมาก ต้องตะลุยสอนไป ไม่มีเวลามาต่อท่อกับเด็กๆ

ผมบอกอาจารย์ว่า มีโรงเรียนแพทย์ในเยอรมันที่ตัดเนื้อหาทิ้งไปครึ่งหนึ่งเลย เพราะไม่มีใครจดจำเนื้อหามากขนาดนั้นได้ เราจะเรียนเนื้อหาซึ่งค้นคว้าอ่านจากที่ไหน เมื่อไรก็ได้ไปทำไม? หรือเราจะเรียนวิธีการเรียน (Learn how to learn) ว่าจะเรียนรู้ด้วยตัวเองได้อย่างไร หากเป็นการเรียนเพื่อจะได้เรียนเองเป็น เราไม่ต้องขนเนื้อหามามากมายหรอกครับ เพียงใช้เนื้อหาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการเรียนเท่านั้น

ที่จริงมนุษย์มีวิธีการเรียนรู้อยู่แล้วภายใน ทุกคนเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว เป็นศิลปินอยู่แล้ว เป็นนักจัดการอยู่แล้ว แล้วแต่ว่าใครจะโน้มเอียงไปทางไหน เราเพียงกระตุ้นให้เขาค้นพบตัวเอง และหาหนทางให้พวกเขานำศักยภาพที่ีมีอยู่ออกมา

สุดท้ายคือศรัทธา ศรัทธาเหมือนอย่างมืดบอดเลยก็ว่าได้ ว่าทุกคนมีศักยภาพอยู่เต็มเปี่ยม หากเราให้ความศรัทธาต่อผู้เรียน ศรัทธาในศักยภาพของพวกเขา เราจะได้เห็นการคลี่ออกมา การสำแดงออกมาซึ่งศักยภาพเหล่านั้นอย่างน่ามหัศจรรย์ใจ แล้วเราจะมีปีติสุข ปลาบปลื้มใจ อย่างไม่รู้ลืม

ทดลองดูไหมครับ

One Comment

Unknown กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ น่าสนใจมากค่ะ จะลองเอาไปใช้กับนักศึกษาดูนะคะ

Back to Top