โดย
วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 สิงหาคม 2556
ผมเพิ่งเริ่มอ่านงานล่าสุดของ โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ซ (Joseph Chilton Pearce) ซึ่งอ้างงานจิตบำบัดของกลุ่มสหวิทยาการสาย Interpersonal Neurobiology (IN) ผ่านงานของ Allan Schore พูดถึงการสามารถหลอมรวมสมองกับการไม่สามารถหลอมรวมสมองในเด็ก ตั้งแต่ในท้องจนคลอดออกมาและเติบโตตามลำดับ สิ่งที่เพียร์ซเน้นและให้ความสำคัญมาก (จากงานวิจัยทางสมองต่างๆ) คือ สมองชั้นนอกในลำดับวิวัฒนาการ
1 จะเติบโตสมบูรณ์ทีหลัง และจะหลอมรวมเอาสมองชั้นในกว่าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ให้ทำงานประสานกัน และสมองที่มาทีหลังก็จะผันตัวเองเป็นผู้บังคับบัญชาการ แต่หากมีเงื่อนไขไม่ครบถ้วน กระบวนการหลอมรวมก็จะไม่เป็นไปอย่างที่ควร
เงื่อนไขแรก คือการที่เด็กได้รับการเลี้ยงดูทางกายภาพปกติธรรมดา แต่เงื่อนไขที่สองซึ่งบางทีอาจจะขาดหายไปได้ง่ายๆ อย่างน่าเสียดาย เพียร์ซใช้คำว่า nurture หรือหล่อเลี้ยงทางอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก พ่อแม่หลายคนรักลูก แต่ไม่มี nurture ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การเลี้ยงดูตามธรรมชาติ แต่จะต้องเชื่อมโยงถึงกัน ที่ภาษาของวอยซ์ไดอะล็อกใช้คำว่า การเชื่อมแบบแผนพลัง (energetic linkage) คือการเชื่อมสนามพลังของคนสองคนเข้าด้วยกัน ไม่ต้องพูดก็เชื่อมต่อกันได้ ต่อติดกันอย่างอุ่นๆ ในหัวใจ ทางสาย IN เขาพูดถึงการใช้สมองซีกขวากับสมองซีกซ้ายเชื่อมต่อกันด้วยอวัจนภาษา คือหน้าตา ท่าทาง อากัปกิริยาต่างๆ เพราะเด็กน้อยหรือทารกยังพูดไม่ได้ แต่แม่ก็รู้ว่าลูกต้องการอะไรทั้ังทางกายภาพและอารมณ์ความรู้สึก สื่อสารกันได้แล้ว ส่งสัญญาณกลับไปกลับมาได้แล้ว เล่นกันได้แล้ว หยอกเอินกันได้แล้ว กระตุ้นให้หัวเราะกันได้แล้ว
เพียร์ซกล่าวว่า หากเงื่อนไขนี้ไม่บรรลุ แทนที่สมองส่วนเชื่อมต่อระหว่างสมองชั้นกลางและสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นสมองในส่วนวิวัฒนาการล่าสุดเพื่อให้เป็นผู้กำกับวงจะเชื่อมต่อกัน ก็จะกลับไปเชื่อมต่อกับสมองส่วนหลังหรือสมองสัตว์เลื้อยคลาน ให้สมองส่วนล้าหลังในวิวัฒนาการมากำกับชีวิตแทน ชีวิตก็จะเติบโตมาแบบดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดมากกว่าจะได้พัฒนาสติปัญญาขึ้นมา ซึ่งที่จริงได้มีการเขียนไว้ในดีเอ็นเอเรียบร้อยแล้ว
ในเรื่องการหลอมรวมของสมองส่วนต่างๆ ดังกล่าว มีคนเขียนมาถามผมหลายประเด็นซึ่งน่าสนใจ อย่างเช่นมีคนหนึ่งเขียนมาถามว่า “การหลอมหลวมสมองชั้นกลางกับส่วนหน้านั้น ผ่านการเลี้ยงดูของพ่อแม่กับครอบครัวใช่ไหมครับ การเลี้ยงดูแบบสัมพันธ์กันทางสนามพลัง ถ้าอย่างนั้นพ่อแม่ที่ไม่สามารถเชื่อมต่อสนามพลังกับลูกได้ ก็เหมือนกดสวิตช์ให้สมองส่วนกลางกับส่วนล่างเชื่อมต่อกัน เผอิญผมรู้สึกว่าผมเลี้ยงลูกสองคนแรกมาด้วยวิธีแบบนั้น ไม่รู้ว่าการเยียวยาแก้ไขการไม่ถูกเชื่อมกันนั้น ทำได้ยังไง เมื่อเด็กโตขึ้นมาแล้ว”
ผมตอบไปว่า “ข่าวดีคือ ทางสำนัก IN เขามีแนวทางบำบัดเยียวยา ซึ่งคาดว่าสำนักอื่นๆ ก็อาจจะมีด้วย นั่นคือพ่อแม่ต้องเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน เราต้องพร้อมจะกลับไปอยู่กับความสั่นไหวหรือความเปราะบางได้ เราต้องค้นให้พบโลกทางอารมณ์ความรู้สึกของเราที่ขาดหายไป พร่องไปเสียก่อน ในหนังสือ
Mindsight ของ แดเนียล ไซเจล (Daniel Siegel) คนอายุเก้าสิบสองปียังมาให้เขาบำบัด เพื่อเปิดโลกการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกออกมา ในที่สุดเขาก็รับรู้ความรู้สึกได้ สั่นไหวเปราะบางได้ และมีชีวิตบั้ันปลายอย่างครบถ้วนบริบูรณ์มากขึ้นกับครอบครัว สามารถโรแมนติคได้ในวัยชรา ไม่เลวเลยครับ สำหรับชีวิตนั้น ผมว่าคุณภาพสำคัญกว่าปริมาณครับ
“เมื่อเราเปลี่ยนตัวเองได้แล้ว เราก็กลับไปเชื่อมต่อสนามพลังกับลูกได้ เราสามารถสั่นไหวกับลูกของเราได้ และสามารถปฏิสัมพันธ์กับลูกของเราได้อย่างมีความรักความอ่อนโยนเป็นตัวเชื่อม เราสามารถมี energetic linkage หรือสายใยอุ่นๆ ผูกพันกับลูกของเราได้อย่างเป็นปัจจุบัน อันนี้โดยตัวของมันเองจะเยียวยาให้ลูกของเรากลับมาหลอมรวมสมองของตัวเองได้”
อีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ “มันเชื่อมกันได้เหรอ ทางพุทธบอกให้เรารู้จักคำว่าความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในสติปัฏฐานสี่ มันคือการเชื่อมสมองหรือยังคะ ไม่เข้าใจคำว่าเชื่อมสมอง”
ผมตอบไปว่า “หนึ่ง เวลาเชื่อมโยงหลายศาสตร์เข้าด้วยกันต้องระวังนิดหนึ่งนะครับ ว่าศัพท์อาจจะมีความหมายที่ไม่ตรงกันเลยเสียทีเดียว มันอาจจะเหลื่อมซ้อนกัน จนทำให้เข้าใจผิด และไม่ตรงตามความหมายเดิมของต้นฉบับแห่งศาสตร์นั้นๆ
“สอง ในทางพุทธ การเจริญสติปัฏฐานสี่ หรือเจริญสติ ที่จะไม่ไปยึดว่า ความคิดก็ดี อารมณ์ความรู้สึกก็ดี ว่าเป็นเราเป็นตัวตนของเรา (คือละสักกายทิฏฐิ) ในทาง Interpersonal Neurobiology นั้น กระบวนการที่เราคลายออกจากความยึดมั่นถือมั่นหนึ่งใด ไม่ว่าจะถอนออกจากการยึดความคิด หรือการยึดอารมณ์ความรู้สึกก็ดี ตัววงจรสมองนั้นๆ ก็จะค่อยๆ คลายออก ทำให้การเชื่อมต่อวงจรสมองใหม่ๆ ทัศนะใหม่ๆ ความรู้สึกใหม่ๆ เป็นไปได้ง่ายขึ้น เพิ่มมุมมอง หรือเปิดให้ปัญญาญาณเกิดขึ้น หลุดออกการยึดติดในความคิดแคบๆ มุมมองแคบๆ ซึ่งการยึดติดเช่นนั้นก็คือมิจฉาทิฏฐิ
“หากดูจากภาพกงล้อของไซเจล ดุมล้อจะเป็นจิต วงล้อคือเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในโลกภายนอกก็ดี ในโลกภายในของเราเองก็ดี ซี่ล้อคือความใส่ใจและความสนใจที่เรามีให้กับปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ วงล้อตามตำแหน่งต่างๆ
“การยึดติดกับความคิดหนึ่ง อารมณ์หนึ่ง บุคลิกภาพหนึ่ง อย่างตายตัว แช่แป้ง ก็คือความใส่ใจของเรา ซึ่งเป็นซี่ล้อนั้นได้ถูกล็อคใส่กุญแจตายตัว ทำให้เราไม่มีอิสระที่จะพุ่งซี่ล้อหรือความสนใจไปยังตำแหน่งอื่นๆ หรือพุ่งความสนใจไปยังเรื่องราวอื่่นๆ อันมีนับอเนกอนันต์ และการถูกล็อคก็คือ อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในมติแห่งประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) นั้นเอง
“สาม เรื่องนี้สามารถเชื่อมต่อไปยังอีกแนวคิดของอีกสำนักหนึ่งได้ คือ วอยซ์ไดอะล็อก กล่าวคือ เรามักจะไปยึดบุคลิกภาพเอามาเป็นตัวเรา หากเราเจริญสติมากขึ้น เราก็ไม่จำต้องติดอยู่กับบุคลิกภาพนั้นๆ ในศิลปะศาสตร์แห่งวอยซ์ไดอะล็อก วิถีของมันก็คือการแยกตัวออกจากตัวตนหลักๆ เหล่านั้น ด้วยวิถีแห่งการพัฒนา aware ego (ตัวกระทำการด้วยการตื่นรู้ หรือตัวตื่นรู้ที่กระทำได้) ขึ้นมาอย่างเพียงพอ จะด้วยผ่านกระบวนการที่มีผู้จัดให้ (facilitation) ก็ดี หรือสัมผัสได้ด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเองก็ดี เมื่อเราสามารถเป็นอิสระจากตัวตนหลักๆ ได้พอสมควรแล้ว เราอาจจะสามารถสัมผัสหรือสวมตัวตนตรงกันข้ามเข้ามา ทำให้ชีวิตเรามีทางเลือกมากขึ้น อันนี้จะพิจารณาเป็นอนัตตธรรมระดับหนึ่งได้ไหม?”
1หนังสือ
The Biology of Transcendence ของ โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ซ กล่าวถึงสมองสามชั้นตามขั้นตอนวิวัฒนาการ ได้แก่ สมองชั้นต้นคือสมองสัตว์เลื้อยคลาน เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตพื้นฐานของมนุษย์หรือเจตจำนงในการดำรงชีวิต (Willing) เป็นต้นกำเนิดของปัญญากาย วิวัฒนาการต่อมาคือ สมองชั้นกลางหรือสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก (Feeling) และวิวัฒนาการต่อมาเป็นสมองชั้นนอกหรือสมองใหญ่ของมนุษย์ เป็นสมองส่วนที่ใช้คิด (Thinking) ในลักษณะของตรรกะเหตุผลในสมองซีกซ้ายและความคิดสร้างสรรค์ในสมองซีกขวา (จาก “ความเข้าใจเรื่องสมองกับการสร้างแรงบันดาลใจ” โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ตีพิมพ์ในมติชน ฉบับประจำวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)
แสดงความคิดเห็น