เดินเท้าเพื่อสายน้ำ



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 เมษายน 2557

ช่วงวันที่ ๑๔-๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ผมได้ไปเดินเท้าร่วมกับกลุ่มคนหลากหลายวิชาชีพและชาติพันธุ์จำนวนร้อยกว่าคน เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่ขาน และยืนยันว่าจะสืบสานชีวิตที่เลื่อนไหลของสายน้ำแม่ขานให้ดำรงอยู่ต่อไปพร้อมกับวิถีชีวิตดั้งเดิมที่พึ่งพาป่าเขาและธรรมชาติ ในเขตอำเภอสะเมิงและสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นพื้นที่ป่าและเขตที่อยู่อาศัยของชาวบ้านทั้งที่อยู่บริเวณต้นน้ำ คือชุมชนสบลาน และชุมชนท้ายน้ำ คือบ้านแม่คะนิงใต้ ซึ่งได้ช่วยกันดูแลรักษามานานหลายชั่วอายุคน

หลังจากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี ๒๕๕๔ ภาครัฐพยายามกอบกู้บรรยากาศการลงทุนและเศรษฐกิจด้วยการสร้างนโยบายแก้ไขน้ำท่วมอย่าง “ยั่งยืน” โดยรื้อเอานโยบายเดิมเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ จำนวน ๒๑ เขื่อนทั่วประเทศ และเพื่อลดกระแสต่อต้านคำว่า “เขื่อน” ทางโครงการเลือกใช้คำว่า “อ่างเก็บน้ำ” แทน โดยหยิบมารวมกันไว้ใน โมดูล A1 “โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก” ที่ ITD POWER CHINA JV ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีดี กับบริษัท พาวเวอร์ ไชน่า ของประเทศจีน คว้าโครงการนี้ไป ด้วยงบประมาณ ๔๘,๕๐๐ ล้านบาท โดยเลือกก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้งหมด ๑๘ แห่ง ความจุเก็บกักน้ำทั้งหมดประมาณ ๑,๓๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ในเวลาไม่เกิน ๕ ปี

ตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา รัฐพยายามจะประกาศให้พื้นที่ป่าที่ชุมชนเหล่านี้ดูแลกลายเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ รวมถึงมีโครงการสร้างเขื่อนออกมาเป็นระยะ แต่ทุกอย่างเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อโครงการเขื่อนแม่ขานถูกบรรจุให้เป็น ๑ ใน ๒๑ เขื่อนของแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ๓.๕ แสนล้านบาทที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว แม้ตัวโครงการจะยังไม่มีความชัดเจน แต่เมื่ออาศัยข้อมูลเดิมของกรมชลประทาน พบว่าเขื่อนแม่ขานจะทำให้น้ำท่วมพื้นที่ป่ากว่า ๓,๐๐๐ ไร่ ไม่นับที่อยู่และที่ทำกินของชาวบ้าน ซ้ำยังปิดกั้นทางเข้าออกไปสู่ตัวอำเภอสะเมิงที่จะกระทบต่อชาวบ้าน ๘ หย่อมบ้านจำนวน ๒,๐๐๐ คน จึงทำให้คนทั้งในและนอกพื้นที่คัดค้าน เกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศที่ไม่คำนึงถึงความคุ้มค่าเชิงนิเวศวิทยาและสังคม

การที่ผมรู้จักที่นี่มาหลายสิบปี ทำให้รับรู้ได้ว่าชาวบ้านที่นี่มีความรู้สึกไม่มั่นคง รู้สึกกังวลหวาดวิตกเวลาได้ข่าวนโยบายการสร้างเขื่อนแม่ขานที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมทับพื้นที่ป่าและที่ทำการเกษตรจำนวน หลายพันไร่ อีกทั้งแม่น้ำขานก็เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชนอีกด้วย นอกจากนี้ยังจะทำให้การสัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านหลายแห่งและอำเภอสะเมิงยากลำบากยิ่งขึ้น คุณป้าคนหนึ่งที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของที่นี่ ชื่อพะหมื่อ ยอดฉัตรมิ่งบุญ กล่าวสั้นๆ แต่ได้ใจความว่า “ถ้าเขื่อนมา น้ำจะท่วม ไม่ใช่แค่ท่วมที่ป่าที่ทำกิน แต่ท่วมวิถีชีวิตของพวกเราไปด้วย ท่วมขวัญและชีวิตของพวกเราไปด้วย”

ผมเองเป็นคนเชียงราย และรู้ดีว่าป่าในพื้นที่อาศัยของคนเมืองอย่างพวกเราและชนเผ่าต่างๆ ถูก แปรไปเป็นไม้และพื้นที่เกษตรเพื่อการค้าจนไม่เหลือแล้ว ยกเว้นพื้นที่ป่าที่อยู่ในการดูแลของชาวปกาเกอญอหรือกะเหรี่ยงนั่นเอง แม้จะมีความอุดมสมบูรณ์ไม่เท่าเดิม เพราะผ่านการสัมปทานป่าครั้งใหญ่ๆ ในอดีต แต่ถือว่ายังมีเหลือไว้ให้ร่มเย็นและสามารถกักเก็บน้ำฝนในแต่ละปีได้มาก ความข้อนี้บรรดานักอนุรักษ์ทั้งในฝั่งประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน หรือแม้แต่ข้าราชการป่าไม้บางคนที่ทำงานใกล้ชิดกับเรื่องนี้อย่างเปิดใจน่าจะทราบดี ดังนั้นนโยบายการ “พัฒนา” (ที่แปลว่าทำให้ดีขึ้น) ต่างๆ ของรัฐเช่นการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่จะหมายถึงการควบคุมการดำเนินชีวิตในเขตป่าอย่างรัดกุมและเข้มข้นมากขึ้น จึงไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนผู้พิทักษ์ป่าตัวจริงเหล่านี้

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่อาศัยพื้นที่ป่าและชุมชนสบลานในการนำผู้คนเข้าไปเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของชีวิต การเปลี่ยนผ่านและเติบโตทางจิตวิญญาณ ที่เรียกว่า “นิเวศภาวนา” อันเป็นกระบวนการเรียนรู้ภายในที่มีค่าและทรงพลังมาก และส่งผลให้เกิดความตื่น ความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและเป้าหมายของชีวิต ในแต่ละปี ผมจะเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมการเดินทางภายในจำนวนไม่เกิน ๒๐ คน เพื่อไปใช้เวลา ๘ วันในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเคารพ มีมิติของการภาวนา การประกอบพิธีกรรมสำหรับการสละทิ้ง การละวาง การหลอมรวมและการกำเนิดใหม่ ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนหลายร้อยชีวิตได้รับประโยชน์ทางจิตใจจากผืนป่าและสายธารในบริเวณนี้แทบทั้งสิ้น

ดังนั้นสำหรับผมแล้วผืนป่าและแม่น้ำแห่งนี้จึงเป็นมากกว่า “ทรัพยากร” แต่เป็นพื้นที่ที่มีชีวิตที่สามารถให้พลังทางจิตวิญญาณแก่ผู้มาเยือน ท่ามกลางสังคมที่มีความวุ่นวาย สับสน พัวพันกับวังวนของเงินตราและบริโภคนิยม เป็นที่ที่เหมาะสมสำหรับการภาวนาเพื่อการเข้าใจตัวเองและธรรมชาติของชีวิต

นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุด คือชุมชนปกาเกอญอที่อยู่แถบนี้ยังคงมีวิถีชีวิตแตกต่างจากเมืองใหญ่อย่างยิ่ง หลายบ้านยังไม่มีไฟฟ้า เพราะเลือกอยู่อย่างเรียบง่ายและพึ่งพาธรรมชาติ ผมจึงมองว่าชุมชนแบบนี้เป็นเหมือน “ชุมชนต้นแบบ” ในการดำรงชีพอย่างพอเพียงและเป็นมิตรกับธรรมชาติ ซึ่งแตกต่างจากชีวิตเมืองที่ใช้ทรัพยากรอย่างไร้ขีดจำกัด ในสายตาของผม พวกเขาคือครูในการกินอยู่และรักษาอย่างยั่งยืน

การเดินทางของขบวนธรรมยาตรานี้เริ่มต้นที่หมู่บ้านต้นน้ำ คือบ้านสบลาน คณะเดินทางประกอบไปด้วยประชาชนที่คัดค้านการสร้างเขื่อนจากในท้องถิ่นเอง ทั้งหมู่บ้านต้นน้ำและท้ายน้ำ จังหวัดแพร่ ลำพูน และอ.แม่แจ่ม นักข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ ชาวต่างประเทศที่ทำงานด้านการส่งเสริมทรัพยากรธรรมชาติ นักศึกษาและนักเรียนจากโรงเรียนทางเลือก นักวิชาการทางธรณีวิทยา นักพฤกษศาสตร์ รวมถึงเจ้าหน้าที่อุทยายานออบขานเองที่มีบ้านอยู่ที่แม่คะนิงใต้ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการสร้างเขื่อนขึ้น

การเดินเท้าเพื่อศึกษาระบบนิเวศตลอดสองข้างฝั่งแม่น้ำขานนี้ เป็นไปอย่างราบรื่น สนุกสนาน มีชีวิตชีวา มีการแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตามความสนใจ เช่น เดินช้าเพื่อศึกษาระบบนิเวศและธรณีวิทยา เดินกลางๆ เพื่อภาวนาและสร้างความตระหนักรู้ต่อแผ่นดินและป่าไม้ เดินเร็วเพื่อไปถึงเป้าหมายและตระเตรียมความพร้อมของจุดต่อไป แต่ทั้งหมดคือการเดินเท้าเพื่อทำความรู้จักคุณค่าของระบบนิเวศแม่น้ำขาน ในระหว่างทางมีการค้างแรมและพูดคุยแลกเปลี่ยนกันรอบกองไฟ และเมื่อไปถึงจุดหมายปลายทาง คืออุทยานแห่งชาติออบขาน ก็มีการอภิปรายคัดค้านผ่านสื่อสาธารณะ รวมทั้งมีการแสดงของนักเรียนโรงเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า (วิถีชีวิต) ที่น่าประทับใจ เรียกรอยยิ้มและน้ำตาจากผู้ชมได้ไม่น้อย ที่เห็นเด็กๆ กลุ่มละครลูกไม้ ออกมาประกาศว่า “เรารักบ้านของเรา เรารักสายน้ำ เราไม่ต้องการเขื่อน” อย่างแข็งขัน

ในขณะที่สังคมไทยกำลังเผชิญวิกฤตความขัดแย้งระหว่างกลุ่มความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน อย่างไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นไปในทิศทางใด สิ่งดีๆ ที่กำลังเกิดขึ้นคือประชาชนได้ออกมาตรวจสอบ มีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นของตนเองต่อรัฐบาลและสังคม ในสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง การจำนำข้าว การคัดค้านเขื่อน และอื่นๆ นับเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ที่สำคัญ และหวังว่าคนที่มาทำหน้าที่ใช้อำนาจในการบริหารจัดการบ้านเมือง จะได้ตระหนักรู้ถึงพลังประชาชนที่มีจิตสำนึกอันบริสุทธิ์ในการปกปักษ์รักษาถิ่นกำเนิด วัฒนธรรม และทรัพยากรที่เกื้อกูลต่อชีวิต โดยกล้ามารับฟังเสียงของประชาชนโดยเฉพาะเสียงของชนชายขอบของสังคม ชนกลุ่มน้อยหรือคนกลุ่มน้อย และค้นหาทางออกในการบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นระบบ

การสร้างความสัมพันธ์และความร่วมไม้ร่วมมือที่ดีในระดับท้องถิ่นนั้นเป็นไปได้อย่างยิ่ง และดูเหมือนจะเป็นหนทางเดียวที่จะนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในความหมายที่แท้จริง คือการทำให้ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น นำมาซึ่งความผาสุกของราษฎร ส่วนระบบสั่งการและควบคุมด้วยการใช้อำนาจหรืออ้างความรู้ความเชี่ยวชาญที่เหนือกว่าคนท้องถิ่นนั้น ดูจะเป็นแนวทางที่ไม่มั่นคงเอาเสียเลย

จิตวิวัฒน์นั้นหมายถึงจิตสำนึกใหม่ของการเข้าใจชีวิตที่สามารถอยู่ร่วมอย่างเรียนรู้ และการมองเห็นชีวิตว่ามีศักยภาพในการเรียนรู้ พัฒนาตัวเองและร่วมไม้ร่วมมือ การเมืองหรือการบริหารและปกครองก็เช่นกัน จำต้องวิวัฒน์ไปให้พ้นการแสวงหาผลประโยชน์ของพรรคพวกหรือส่วนตน และเอื้อเฟื้อให้เกิดประชาธิปไตยที่มีทั้งการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและมีคุณธรรมกำกับไปพร้อมๆ กัน

Back to Top