เกร็ดบางประการกรณีองค์กรขัดแย้งกัน



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 เมษายน 2557

เรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เป็นงานกระบวนการที่ผมท้าทายตัวเองไปด้วย มีบางหน่วยงานในเครือบริษัท SCG ทางฝ่ายพัฒนาองค์กรเขาใจป้ำ เขาวางใจ ให้ผมเข้าไปคลี่คลายความขัดแย้งในองค์กร นำคนที่เกี่ยวข้องสิบกว่าคนมาร่วมกระบวนการคราวละสามวัน สองครั้ง ในเวลาห่างกันไม่เกินสองเดือน เพื่อตีเหล็กตอนยังร้อนๆ แล้วตามมาเข้ากระบวนการอีกครั้งนานสองวัน ทำให้งานน่าจะสมบูรณ์พอสมควร และกระบวนการที่ทำสามารถคลี่คลายปัญหาขัดแย้งได้ลุ่มลึกจริง

ต่อมาเมื่อข่าวเริ่มกระจายออกไป มีโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคอีสานเชิญให้ไปทำกระบวนการคล้ายๆ กัน เพราะมีความขัดแย้งรุนแรงพอสมควรและฝังรากลึกมายาวนานมาก ถึงขนาดมีการฟ้องร้องกันเองในองค์กรด้วย แต่ผมไม่ต้องการระบุชื่อให้องค์กรเสื่อมเสียนะครับ เพราะความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดามากๆ เพียงแต่พวกเราจะตระหนักและให้ความสำคัญแค่ไหนเท่านั้น คงต้องให้เครดิตหน่วยงานเหล่านี้ที่กล้ายอมรับปัญหาและพร้อมจะตั้งต้นแก้ไขปัญหามากๆ

ข้างล่างนี้เป็นส่วนหนึ่งของการถอดบทเรียนจากองค์กรต่างๆ ที่ผมไปทำงานกระบวนการมา ไม่ขอระบุนะครับว่าเป็นใครที่ไหน สรุปเป็นแนวคิดหลักๆ ได้บางประการ เผื่อว่ากระบวนกร หรือคนในองค์กรจะเห็นประเด็นและเอาไปใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยตัวเองได้บ้าง

ถอดบทเรียนงานอบรมองค์กรที่มีความขัดแย้งแห่งหนึ่ง ที่จัดให้สามวัน

หนึ่ง องค์ประกอบทั้งหมดสำคัญเกี่ยวพันเชื่อมโยงกัน ไม่มีอะไรที่จะมองข้ามไปได้เลย

สอง ตั้งแต่ผมเขียนจดหมายฉบับน้อยออกไป โดยมุ่งหวังจะเชื้อเชิญให้คนสำคัญๆ ของทั้งสองฝ่ายในความขัดแย้งได้มาเข้าร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปรากฏว่าได้ผลพอสมควร จดหมายเขียนไว้อย่างนี้ครับ

“ก่อนเราจะไปเจอกันในงาน ผมอยากจะทักทายพวกเราเหล่าผู้เข้าร่วมก่อนนิดหน่อย อยากเล่ารายละเอียดบางอย่างของเวิร์คช็อปในอนาคตอันใกล้นี้ ว่าเราจะทำอะไร และไม่ทำอะไรบ้าง?

๑. สิ่งที่เราจะไม่ทำในงานคือ “การหาคนผิด” ไม่ว่ากรณีใดจะเกิดขึ้นก็ตาม เราจะไม่โยนความผิดไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่งเป็นอันขาด พวกเราทุกคนเจ็บปวดกันมามากแล้วกับวัฒนธรรมหาแพะรับบาป ซึ่งนอกจากจะทำให้เสียความรู้สึกแล้ว ยังไม่ส่งเสริมกระบวนการอันเป็นกุศลใดๆ เลย

๒. ผมเชื่อว่า “ทุกคน” มีคุณค่า ทุกคนมี “เพชร” อันมีลักษณะเฉพาะอยู่ในตัว ในงาน ๓ วันที่เราจะอยู่ด้วยกัน พวกเราจะช่วยกันค้นหาเพชรที่ว่า และเจียระไนให้ส่องประกายสวยงาม กระบวนการเรียนรู้ลักษณะนี้คือการค้นหาศักยภาพภายใน และต่อยอดบทเรียนจากฐานที่เป็นคุณค่าหลักของแต่ละคน

๓. วิชาที่จะเรียนกัน เราอาจเรียกมันว่าเป็นวิชาผู้นำก็ได้ กระนั้น ความเป็นผู้นำแบบนี้ ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการทำงานเท่านั้น หากมันยังสามารถช่วยให้ชีวิตส่วนตัว และชีวิตครอบครัวมีความสุขมากขึ้นด้วย

๔. ย้อนกลับไปที่ข้อ ๒. อีกหน่อย คือในกระบวนการค้นหาและเจียระไนเพชรนั้น พวกเราเชื่อไหมว่า หากทุกคนตระหนักถึงคุณค่าภายในของกันและกันจริงๆ เมื่อนั้น สิ่งมหัศจรรย์ก็จะเกิดขึ้น!”

สาม การพูดความจริง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความจริงที่ไม่ได้มุ่งให้ร้ายหรือตัดสินใคร แต่ให้เห็นโทษของการกระทำบางอย่าง หรือเผยข้อเท็จจริงบางประการออกมา ซึ่งเป็นสิ่งใหม่มากๆ สำหรับสังคมไทย ที่สำคัญการจัดกระบวนการกลุ่มให้พวกเขาสามารถพูดอะไรออกมาได้ระดับหนึ่ง แม้ว่าจะยังไม่บวกนัก ยังลบมากอยู่ แต่การได้พูด การพูดได้ มันก็ไปแตะอะไรบางอย่างในโลกภายของแต่ละคน ทุกครั้งที่เราโยนประเด็นเข้าไปใกล้ความจริงภายในของผู้คน แม้ว่าจะเสี่ยงเสียว หวาดเสียว แต่ก็จะช่วยให้บางประเด็นที่สำคัญๆ ได้โผล่ปรากฏออกมา

สี่ เชื่อมโยงลักษณะเฉพาะกับหลักสากลตลอดเวลา ประเด็นที่สำคัญอย่างหนึ่งในเรื่องนี้ ผมเชื่อมโยงกับเรื่องการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นมนุษย์ที่แท้ โดยไล่ลำดับจาก “พึ่งพิง - depend” มาเป็น “อิสระต่อกัน - independent” และมาเป็น “พึ่งพาอาศัยกันและกัน - interdependent” ในที่สุด กล่าวคือขั้วขัดแย้งฝ่ายหนึ่ง ผู้นำของเขาอารีอารอบประนีประนอมยอมความ แต่ระบบที่สร้างขึ้นมารอบๆ ตัว ทั้งตัวเองสร้าง และลูกขุนรอบๆ สร้าง ก็คือระบบอุปถัมภ์ ต้องนับว่าเป็นระดับพัฒนาการของการพึ่งพิง และอีกฝ่ายหนึ่ง ความเป็นผู้นำ และวัฒนธรรมกลุ่มเป็นแบบอิสระต่อกัน คือเล่นตามกติกา เน้นงานมากกว่าความสัมพันธ์ แล้วชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายก็ยังพัฒนาไปสู่การพึ่งพาอาศัยกันและกันได้ คือต่างดำรงอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ในช่วงเวิร์คช็อปมีกลุ่มไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใด ได้เอ่ยขึ้นมาอย่างน่าคิดว่า ผู้นำทั้งสองที่ขัดแย้งกันอยู่นี้ ก็เหมือนกับวิสกี้กับน้ำ หากผสมเข้าด้วยกัน ย่อมเป็นเหล้าอร่อยกลมกล่อม ใช่ไหม?

ห้า ให้พวกเขาได้สัมผัสศรัทธาที่ว่า ลึกลงไปทุกคนเป็นคนน่ารัก เป็นคนดี และที่พวกเขาก้าวร้าวทำร้ายเพื่อนนั้น ลึกลงไปก็มีสาเหตุ อันมาจากความอ่อนแอของคนคนนั้นเอง

หก สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาเข้ามาเป็นพระเอกนางเอกได้ คือให้พวกเขามาเป็นผู้กระทำ เป็นผู้เล่น ให้พวกเขาเข้ามาอยู่ในศูนย์กลางของเวที

เจ็ด ทำงานกับระบบประสาทอัตโนมัติ ด้วยความปลอดภัย ด้วยความเคารพศรัทธาที่กระบวนกรมีต่อพวกเขา ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติค่อยๆ ผ่อนคลาย เข้าสู่วงจรของระบบประสาทพาราซิมพาเธอติก (Parasympathetic) ซึ่งยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย โปร่งโล่ง ความสุขลึกๆ ของความเป็นปกติของชีวิตธรรมดา ก็ค่อยๆ ซึมซาบเข้ามา

แปด การเล่าชีวิตวัยเด็ก และการทำแบบฝึกหัดให้เข้าไปดูความสัมพันธ์ของคนใกล้ตัว ในวัยเด็กของพวกเขา ให้พวกเขาได้ไปสัมผัสความกลัว ความเหงา ความเศร้าอีกครั้งหนึ่ง ในบรรยากาศแห่งความปลอดภัย ทำให้ความรุนแรงของความทรงจำแฝงเร้นค่อยๆ บรรเทาเบาบางลงไปบ้าง ในขณะเดียวกัน ก็ปรับคลื่นสมองให้ดิ่งลงไปสู่คลื่นอัลฟาและเธตา คือการเชื่อมสะพานโลกภายนอกกับโลกภายในเข้าด้วยกัน ให้เห็นว่าภายนอกกระทำอะไรกับโลกภายในในอดีต และภายในอาจจะไปกระทำอะไรกับอดีตที่ผ่านมาแล้วได้บ้าง การลงไปลึกขึ้น และได้ใคร่ครวญ เท่ากับการเข้าไปอยู่ในเบ้าหลอมแห่งสติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งเมื่อถึงจุดสุกงอมหนึ่ง อาจจะเกิดการเยียวยา หรือกลายร่าง ที่หนอนจะกลับกลายเป็นผีเสื้อ

เก้า ในบรรยากาศเช่นนี้ การดำดิ่งลงไปในชีวิตวัยเด็ก อันปราศจากมารยา หรือมายา เข้าไปหาความรู้สึกที่จริงแท้ จะทำให้ความต้องการที่แท้จริงเปิดออกมา นั่นคือการแสวงหามิตรภาพ ลึกๆ ลงไปแล้ว มนุษย์ทุกคนมีเยื่อใยที่เกี่ยวโยงเข้าหากัน ยิ่งถ้าเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อน แม้จะผิดใจกันรุนแรงอย่างไร ก็มีความหวนหาอาลัยต่อความรู้สึกดีๆ ที่เคยมีต่อกัน หัวใจย่อมค่อยๆ เปิดแง้มออกมา และเมื่อกาลเวลาเหมาะสม เพื่อนๆ ก็จะโผเข้ากอดกัน และอภัยทานก็เป็นจริงขึ้นมาได้

สิบ ในแง่มุมมองของตัวกระบวนกรเอง ทัศนคติต่อความเป็นไปในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จะต้องเลื่อนไหลเอามากๆ ไม่ควรแช่จมอยู่กับที่ เพราะเป็นไปได้ง่ายมากเวลาเราฟังความข้างหนึ่งแล้วจมลงไปเข้าข้างฝ่ายที่เราฟังความอยู่ ผมเองก็เป็น เพียงแต่ว่าผมไหลเลื่อนได้ เชื่อไปแล้ว เอียงข้างไปแล้ว แต่ชั่วขณะหนึ่งที่ออกจากวงหนึ่งๆ มาก็เหมือนจะมีแวบเล็กๆ ให้ตั้งหลักว่า ถอยออกมาดูก่อนนิดหนึ่งก่อนได้อยู่

ข้อเขียนเล็กๆ ชิ้นนี้ คงไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งให้องค์กรใดได้ทันทีทันใด ขอให้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการแสวงหา สืบค้นองค์ความรู้ที่จะนำมาใช้แก้ไขความขัดแย้งในองค์กร หากมีใครสนใจมากกว่านี้ หรือมีคำถามมาอีก ผมก็ยินดีจะขยายข้อเขียนอีกเป็นตอนๆ ต่อไป

Back to Top