เสือใบ(ไม้)



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน 2557

ถ้าพวกคุณเคยไป “คุ้มเสือ Tiger Kingdom” ที่ภูเก็ต หรือเชียงใหม่ คุณอาจจะสงสัยว่าพวกเขาทำอย่างไรจึงสามารถทำให้คนเข้าไปถ่ายรูปกับเสือโคร่งตัวใหญ่ๆ ที่ตะปบคุณเพียงครั้งเดียวก็คอหัก

ที่ผมสงสัยไปกว่านั้นคือ เขาทำอย่างไรจึงจะต้อนเสือให้กลับออกจากกรงใหญ่ ซึ่งมีสระว่ายน้ำ มีพื้นที่ให้พวกเสือวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน กลับไปอยู่ในกรงแคบๆ

แล้วผมก็ต้องแปลกใจ เพราะวิธีการไม่ได้มีอะไรมาก เพียงแค่ “เบี่ยงเบนความสนใจของเสือ” ให้ไปสนใจที่พวงใบไม้ซึ่งพวกเขาเอาใบไม้มาต่อกับไม้ยาวๆ แล้วฟาดไปมา คล้ายกับที่เราเห็นเขาเชิดมังกรตอนตรุษจีน ตัวมังกรจะวิ่งตามแท่งไม้ที่ส่วนปลายสมมุติให้เป็นแก้วมณีไปทุกหนทุกแห่ง เช่นเดียวกัน เมื่อเสือสนใจพวงใบไม้นี้แล้ว เขาก็จะพาดใบไม้ไปที่กรง พร้อมกับเปิดประตูกรงออก เสือคงนึกว่าใบไม้นั้นจะหนีตนเข้าไปในกรง ก็เลยกระโจนตามเข้าไปในกรง แล้วผู้คุมก็ปิดกรงลงมา ก็แค่นั้น


ช่างง่ายดาย...

เจ้าแห่งพงไพรถูกควบคุมด้วยใบต้นจั๋งกระหย่อมเดียว...

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเพื่อนฝูงคนไทยซึ่งอยู่อาศัยทำมาหากินในประเทศสหรัฐอเมริกา ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมและพูดคุยกันบ้างตามประสาคนรู้จัก หนึ่งในบรรดาเพื่อนฝูงคือเพื่อนคนหนึ่งซึ่งประกอบอาชีพเภสัชกร เขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เขาพึ่งมาตระหนักว่า เขาได้ทำงานอยู่กับบริษัทเดิมมาเป็นเวลายี่สิบปีแล้ว นัยว่าเพื่อเป็นการฉลองวาระการทำงานครบยี่สิบปี เจ้านายจึงได้สั่งเค้กก้อนโตให้เขา บนหน้าเค้กมีตัวอักษรเขียนว่า “ขอบคุณสำหรับยี่สิบปีที่คุณอยู่กับเรา” เมื่อเขาได้รับเค้กก้อนนี้ แทนที่เขาจะดีใจ กลับกลายเป็นว่าเขาอยากจะเขวี้ยงมันทิ้งเสีย เพราะรู้สึกปวดร้าวกับการต้องถูกตอกย้ำว่าตัวเองได้ทำงานอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่มีความหมายกับชีวิตมาถึงยี่สิบปี และที่แย่กว่านั้นก็คือ ถ้าถามว่าเขาอยากจะทำอะไรตอนนี้ คำตอบที่เขาบอกกับตัวเองก็คือ “ก็ไม่รู้เหมือนกัน”

เสือวิ่งตามใบไม้ แต่คนเราวิ่งตามกระดาษ? ที่เรียกว่าเงิน? ...ชีวิตของเรามีค่าเพียงแค่นั้นเองหรือ...

เฝ้าสังเกตกรงเสือ ผมเห็นว่าบางครั้งเสือเกิดตะครุบใบจั๋งที่เอาไว้ล่อมันได้ มันจะกัดพวงใบไม้นั้นอย่างไม่ปล่อย และจะไม่ยอมคืนให้กับผู้คุมเด็ดขาด เพราะหวงของ ต่อเมื่อมันได้กัดฟัดพวงใบไม้ จนใบจั๋งที่มัดเอาไว้ด้วยกันอย่างหลวมๆ กระจัดกระจายออกไป มันจึงจะหมดความสนใจ

คงคล้ายกับการที่คนเราวิ่งไล่อะไรสักอย่าง ซึ่งก็คิดว่ามันคงจะนำพาความสุขมาให้ แต่เมื่อได้มันมาแล้วก็พบว่ามันไม่ได้นำพาความสุขมาให้อย่างที่คาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง คนรัก หรืออะไรก็ตามแต่ แน่นอนว่าคนเราฉลาดกว่าเจ้าป่ามากนัก เพราะเราไม่อาจถูกหลอกด้วยพวงใบจั๋งแบบเดิมๆ ซ้ำซาก แต่เรากลับหาเป้าหมายใหม่ไปเรื่อยๆ เป้าหมายที่เราคิดว่าจะต้องนำพาความสุขมาให้เรา แต่เมื่อได้มาแล้วก็พบว่ามันกลับกลายเป็นสิ่งที่ล่อให้เราต้องกลับเข้า “กรง” เหมือนเสือที่ถูกลวงให้กลับเข้ากรงเมื่อถึงเวลา

ก็เท่านั้น...

กรงของคนเราถูกสร้างด้วยกับดักทางความคิด และกับดักของความรู้สึก

พี่คนหนึ่งที่อเมริกา มีอาชีพเป็นพยาบาล บอกกับผมว่า ทุกวันจะต้องคิดว่าจะแก้ปัญหาให้กับคนในบ้านอย่างไร จะแก้ปัญหาที่ทำงานอย่างไร ต้องคิดๆๆๆๆ คิดทั้งวัน

ผมบอกว่าพี่กำลังติดกับดักของความคิด เพราะคิดไปก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เพราะพี่กำลัง “ขับรถอยู่” ส่วนเพื่อนของผมคนหนึ่งบอกว่า “ชั้นต้องคิดเพราะชั้นต้องแก้ปัญหาลูกน้อง ชั้นต้องแก้ปัญหาธุรกิจของชั้น” ผมก็ตอบเธอว่า “แต่ตอนนี้เธอกำลังเคี้ยวข้าวอยู่ คนเราจะแก้ปัญหาอะไรได้ในขณะทานข้าว นอกจากแก้ “ความหิว”?

การหมกมุ่นกับความคิดต่างหากทำให้แก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ เพราะความคิดลดทอนความสามารถในการใช้ “วิสัยทัศน์” เมื่อไม่เห็นปัญหา จะแก้ปัญหาได้อย่างไร

ความคิดวนเวียนกลายเป็นความรู้สึก เมื่อไม่ชอบใจ เราหาเหตุผลมารองรับความถูกต้องของตัวเอง และหาเรื่องเอาผิดกับผู้อื่น กับดักของความรู้สึกจึงอยู่ติดกับกับดักของความคิดแทบจะแยกกันไม่ออก ถ้าเราอยากจะแยกให้เห็นว่าผู้ใดมีจิตวิวัฒน์ และผู้ใดมีจิตวิบัติ ก็ต้องดูว่าเมื่อมีปัญหากระทบกระทั่ง เขาได้หลุด “เหวี่ยง” ใครไปทั่วหรือไม่ เขาอ้างว่าเหตุที่ทำให้เขารู้สึกแย่นั้นมาจากผู้อื่น หรือเขามุ่ง “แก้ไข” จิตใจของเขาเองให้เป็นปกติ

และอย่าลืมว่าคนที่เลือกจะแก้ไขจิตใจของเขาเอง อาจจะไม่เป็นที่พอใจของเราก็ได้ เพราะ “ตบมือข้างเดียวย่อมไม่ดัง” บางครั้งอาจจะเป็นเราเองที่ต้องการตบมือให้ดัง หมายถึงการทิ่มแทงเขาให้รู้สึกเจ็บ เพื่อให้เกิดความสะใจ การที่เขาไม่ตอบโต้กลับสร้างความไม่พอใจให้กับเรามากขึ้น ถ้าเป็นอย่างนั้นเราอาจจะต้องกลับมาสำรวจ “กรง” ของเราเอง ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ล่อให้เรากลับเข้า “กรง” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

กรงเป็นของจริง แต่สิ่งที่ล่อเราเข้ากรงนั้น “ไม่จริง”

อิสระอยู่ข้างนอกนั่น...

Back to Top