ชุมชนกับคนทำงานภาคสังคม



โดย พรรัตน์ วชิราชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2557

ในฐานะของคนรุ่นกลางๆ ที่เติบโตในเมือง ฉันไม่รู้จักชีวิตที่เป็น “ชุมชน” หากเมื่อได้ทำงานนักเขียน นักข่าว นักพัฒนาสังคม ก็ได้พบเจอชุมชนทางเลือกมากมาย ทั้งชุมชนทางศาสนา เช่น หมู่บ้านพลัม ซึ่งมีวิถีการปฏิบัติธรรมและการอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นพี่เป็นน้อง พันพรรณ ศูนย์การเก็บเมล็ดพันธุ์และการพึ่งพาตนเอง หรือชุมชนชาวบ้านที่จัดการดูแลตัวเองในเรื่องต่างๆ เช่น ดูแลป่า ป้องกันภัยพิบัติ ฯลฯ ชุมชนเหล่านี้ล้วนเป็นความหวังของทางรอดในสังคมยุคปัจจุบันที่พึ่งพาระบบที่เบียดเบียนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่รู้ตัว เราได้ตัดขาดตัวเองจากตัวเอง ตัดขาดตัวเองจากคนอื่น และตัดขาดตัวเองจากธรรมชาติ


แม้ชุมชนเหล่านี้จะสร้างแรงบันดาลใจและแนวทางปฏิบัติให้ผู้คน แต่ก็ปรากฏอย่างไม่แพร่หลายนัก ที่น่าสนใจคือ เรากลับไม่ค่อยเห็นชุมชนของคนทำงานภาคสังคม ทั้งๆ ที่งานเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นงานใหญ่ งานยาก และหลายงานเป็นงานร้อน แต่การรวมตัวกลับเป็นไปอย่างจำกัด แม้ว่าจะมีองค์กรที่ทำงานเป็นเครือข่ายมากมาย แต่ส่วนใหญ่ก็เชื่อมกันด้วยงาน เมื่อเห็นไม่ตรงกัน หากกลุ่มไม่แตก ก็สงวนท่าทีกันไป องค์กรพัฒนาเอกชนจึงต่างคนต่างทำงาน จะรวมตัวก็ต่อเมื่อมีประเด็นปัญหาหรือภารกิจเดียวกัน

สำหรับคนประสบการณ์น้อยอย่างฉัน เมื่อมีคำถามก็ต้องหอบหิ้วตนเองไปหาผู้มีประสบการณ์ บุคคลหนึ่งที่ตอบคำถามได้อย่างน่าสนใจคือพี่อวยพร เขื่อนแก้ว อดีตผู้จัดการอาศรมวงศ์สนิท (ชุมชนทางเลือกที่ประสงค์จะสร้างนักกิจกรรมทางสังคม) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ เธอมีประสบการณ์การจัดกระบวนการกับนักพัฒนามายาวนาน ผ่านการอบรมเรื่องสตรีนิยม โครงสร้างสังคม และจิตวิญญาณ ให้กับกลุ่มคนหลากหลาย เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ “ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรมนานาชาติ” (IWP International Women’s Partnership for Peace and Justice) และเป็นชาวพุทธหัวก้าวหน้าคนหนึ่ง

พี่พรบอกว่า ชุมชนของนักกิจกรรมทางสังคม ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เดียวกัน ไม่ต้องปลูกบ้านหรือตั้งองค์กรร่วมกัน แต่เชื่อมโยงกันมากกว่างานคือชีวิต ด้วยความที่เป็นนักฝึกอบรม เธอใช้เครื่องมือ ๒ ชนิด เพื่อสร้างชุมชนคนทำงานเพื่อสังคม อย่างแรกคือความเข้าใจเรื่องอำนาจ ซึ่งพาให้แต่ละคนเห็นว่าตนเองกดทับหรือถูกกดทับด้วยเรื่องอะไรบ้างในชีวิต อย่างที่สองคือการฟังด้วยหัวใจ ซึ่งเป็นการฟังชีวิตของอีกฝ่าย ทำให้เราเห็นใจและเห็นชีวิตของกันและกัน อีกทั้งยังเห็นว่าระบบในสังคมทำงานผ่านตัวเราอย่างไร และสิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ เปลี่ยนวัฒนธรรมทั้งหมด

“ถามว่าทำไมพี่ทำเรื่องชุมชน เพราะพี่อยากจะเปลี่ยนวัฒนธรรม แทนที่จะดูทีวี เราหันมาฟังชีวิตเพื่อน แบ่งปันว่าไปทำอะไรน่าสนใจมา หันมาถีบจักรยาน สัมผัสธรรมชาติ มีช่วงเวลาที่อยู่เงียบๆ กับการภาวนา พี่สังเกตว่า พอเราสร้างฐานของการฟังด้วยหัวใจ เขาจะคุยกันได้ทั้งคืน”

เธอบอกต่อไปว่านักพัฒนาเอกชนนั้นมีข้อดีคือ มีสัมมาทิฏฐิ คือความเข้าใจเรื่องสังคมที่ถูกต้อง มีเจตนาที่ดี แต่ขาดมิติการฝึกสติ สมาธิ และความเพียร ทำให้เมื่อทำงานแล้วเต็มไปด้วยความโกรธ ความท้อแท้ ความเศร้า และการเปรียบเทียบ (ซึ่งเธอเองก็เคยเป็น) สิ่งเหล่านี้เผาสุขภาพและสัมพันธภาพในชีวิต แม้คนรอบข้างถึงจะเห็นร่วมด้วย แต่กลับไม่มีความสุขเมื่ออยู่ใกล้ ดังนั้น เธอจึงเสนอให้คนทำงานภาคสังคมมีระบบดูแลตัวเอง (support system) ให้ความหวัง มีแรงบันดาลใจ และมีความสุขในการทำงาน ทำให้ทำงานได้สนุก เพลิดเพลิน และไม่ต้องรอให้งานสำเร็จแล้วจึงมีความสุข

สำหรับตัวเธอเอง ระบบดูแลตัวเอง คือการฝึกโยคะทุกเช้า การเดินดูพระอาทิตย์ตกทุกเย็น สิ่งเหล่านี้คือชุมชนสังฆะ ซึ่งเธอได้แนวการปฏิบัติมาจากพระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์ พระเซนชาวเวียดนาม ที่เล่าในงานภาวนาครั้งหนึ่งว่า ตอนที่ท่านต้องหลบหนีจากเวียดนามมาที่ฝรั่งเศสใหม่ๆ ท่านไม่มีสังฆะ ลูกศิษย์ที่ติดตามมาก็ล้วนแต่มีบาดแผลทางใจ สังฆะของท่านจึงคือก้อนเมฆ บทกวี ต้นหญ้า และการทำสวน สิ่งเหล่านี้ช่วยเยียวยา ทำให้ท่านมีความหวังและแรงบันดาลใจ ดังนั้น ในช่วงยากๆ เช่นช่วงที่ตั้งศูนย์ IWP ใหม่ๆ พี่พรใช้ท้องนาและแผ่นฟ้านี้เพื่อการเดินจงกรมทุกเช้า

“ฉะนั้น จิตเราต้องเป็นเพื่อนของตัวเองอันดับแรก สอง เรามีเพื่อนที่ไม่ใช่มนุษย์ คือธรรมชาติทั้งหมดที่เขาเกื้อกูลชีวิตเรา สาม คือคน ซึ่งมีสิทธิขึ้นๆ ลงๆ ดังนั้น เราจึงต้องหาคนที่ให้คุณค่าเหมือนเรา ฟังเรา เคารพเรา และเห็นอำนาจภายใน จะเป็นใครก็ได้ พี่เห็นว่าชีวิตปัจจุบันมีความเป็นปัจเจกมาก ยิ่งปัจเจกก็ยิ่งเหงาและกลัว ชุมชนจึงสำคัญมาก”

เย็นวันนั้น หลังจากการพูดคุยอันยาวนานจบลง พี่พรชวนฉันขี่จักรยานลัดเลาะทุ่งนาไปตลาด เพื่อสัมผัสเพื่อนใหม่ของฉัน

Back to Top