เด็กน้อยผู้บอบบาง... ที่ยังรอคอยอ้อมกอดจากเรา



โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 มีนาคม 2559

ไม่นานนี้ ผมได้สูญเสียคุณยาย ผู้เป็นบุคคลอันเป็นที่รักของผมไป ช่วงชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก ส่วนใหญ่แล้ว ผมโตมากับท่าน ยายจึงเป็นเหมือนแม่ของผมคนหนึ่งเช่นกัน ผมจึงอยากเขียนบทความชิ้นนี้อุทิศให้แด่การจากไปของยาย ด้วยความรัก ความผูกพันที่มีจากหลานชายคนหนึ่ง ที่สำคัญ ผมเชื่อว่าหากท่านได้อ่านบทความนี้ อาจจะเห็นเรื่องราวของผมเป็นบทเรียน สะท้อนอยู่ในตัวท่าน และมีประโยชน์กับชีวิตครอบครัวของท่านไม่มากก็น้อย

หากจะเล่าให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพ ถ้าพูดถึงยาย สำหรับผมและสมาชิกในครอบครัวแล้ว ท่านถือว่าเป็นแม่บ้านชั้นเลิศ ใส่ใจดูแลความเป็นอยู่ของลูกหลานทุกคนอย่างดี ทำอาหารเก่ง เป็นผู้หญิงคล่องแคล่ว ชอบจัดการ ทำงานบ้านและสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เป็นที่น่าชื่นชมของทุกคน แต่ในอีกมุมหนึ่ง ท่านเป็นคนที่มีบุคลิกนิสัยแตกต่างจากคนอื่นในครอบครัวโดยสิ้นเชิง กล่าวคือท่านเป็นคนที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก โผงผาง เจ้าอารมณ์ โกรธ หงุดหงิดง่าย แต่ละวันไม่แน่นอน ทำให้ลูกหลานส่วนใหญ่รวมถึงผม แม้อยากพูดคุย ใช้เวลาใกล้ชิด แต่ก็ไม่สามารถอยู่ด้วยได้นาน เพราะความเป็นคนเจ้าอารมณ์ของท่าน ในชีวิตคู่ของท่าน ตากับยายผมอยู่บ้านเดียวกัน ถึงกับไม่คุยกันกว่า ๒๐ ปี เพราะบุคลิกนิสัยใจคอที่แตกต่างสุดขั้ว

นอกจากนั้น มีหลายด้านในความเป็นท่าน ที่ผมและลูกๆ หลานๆ ไม่ค่อยเข้าใจนัก ยกตัวอย่างเช่น สมัยสักสิบปีที่ผ่านมา ยายมักจะโทรหาผมและทุกคนในบ้านด้วยท่าทีจริงจังเพื่อสั่งซื้อของอย่างหนึ่ง นั่นคือยาอมสเตร็ปซิลแก้เจ็บคอ ทุกวัน วันละหลายๆ รอบ ที่น่าแปลกใจคือ มีวันหนึ่งผมอยู่บ้าน เห็นท่านอยู่ทั้งวันก็ดูปกติดี แต่พอตกเที่ยง ผมได้ยินยายไอเสียงดังมากจนผมตกใจกลัวท่านเป็นอะไร เลยเดินขึ้นไปหาที่ห้อง พบว่ายายกำลังยกหูโทรศัพท์หาแม่ผมเพื่อฝากซื้อยาอมสเตร็ปซิล ตอนนั้นผมรีบบอกยายว่า “ยาย ผมเพิ่งซื้อมาให้เมื่อวานเอง กล่องใหญ่เลย หมดแล้วหรอครับ” ยายผมตอบกลับมาว่า “เออ! แกไม่ต้องยุ่งหรอก ชั้นซื้อเผื่อไว้” ตอนนั้นผมมองไปที่หัวเตียงยาย เห็นสเตร็ปซิลวางเรียงเป็นตับ เหมือนร้านขายยา หลายกล่องยังไม่ได้เปิดใช้ด้วยซ้ำ ตอนนั้นผมกับทุกคนในครอบครัวเข้าใจและตีความว่าท่านเป็นคนมีพฤติกรรมแบบย้ำคิดย้ำทำ มีทางเดียวก็คือ ต้องเข้าใจและทำใจ


หลายปีผ่านไป ผมสังเกตได้ว่า ภายใต้ของบุคลิกของความเป็นหญิงแกร่ง ทำอะไรได้ด้วยตัวเองทุกอย่าง ไม่ชอบพึ่งพาใคร ลึกๆ แล้วก็อาจมีความเหงาและโดดเดี่ยวไม่น้อย เวลาที่ต้องอยู่บ้านคนเดียวกับโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ที่อ่านทุกหน้าตั้งแต่ข่าวการเมืองจนถึงนิยาย ขณะที่ลูกหลานอยู่ในวัยที่วุ่นกับการทำงาน และแม้ว่าจะมีแม่บ้านหรือคนดูแลก็ตาม ผมเริ่มรู้สึกได้ว่าสเตร็ปซิลนั้นอาจมีความหมายบางอย่าง

เหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตยายผมคือ คืนหนึ่งท่านหกล้มในห้องนอน ทำให้กระดูกสะโพกและขาหัก สำหรับคนวัย ๘๐ กว่าถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ การล้มครั้งนั้น ทำให้ยายผมที่เคยเดินเหินได้คล่องแคล่ว ไม่สามารถกลับมาเดินและทำอะไรได้ด้วยตัวเองอีก ท่านต้องนอนอยู่บนเตียงอย่างเดียวตลอดช่วงสุดท้ายของชีวิต เพราะไม่ชอบและหงุดหงิดกับการทำกายภาพบำบัด แต่จะว่าไปแล้ว ช่วงที่ยายป่วยนอนบนเตียงนั้น หากไม่นับเรื่องความไม่สบายทางกาย ผมรู้สึกได้ว่าเป็นช่วงที่ท่านมีความสุขที่สุด ที่มีลูกหลานมากมาย รวมถึงเพื่อนบ้านแวะกันมาเยี่ยมดูแลบ่อยกว่าที่เคยมีในชีวิตที่ผ่านมา

ในช่วงเวลาหลายปีที่ยายผมต้องนอนอยู่บนเตียง ผมเริ่มสังเกตได้ว่าบุคลิกและความเป็นยายหลายอย่างเริ่มเปลี่ยนไป จากผู้ใหญ่วัย ๘๐ กว่า กลับกลายเป็นเหมือนเด็กน้อยผู้บอบบางคนหนึ่ง อายุสักสามขวบ จากเดิมที่เวลายายเจอผม ก็มักจะบ่นๆ หรือพูดหลายๆ เรื่องด้วยอารมณ์ ที่ทำให้เราคุยกันได้ไม่นานนัก กลับกลายเป็น บ่อยครั้ง ยายบอกกับผมอย่างซื่อๆ เหมือนเด็กๆ ว่า “ขอยายกอดหน่อย” ฟังแล้วทำให้ผมรู้สึกสัมผัสได้ถึงหัวใจและความปรารถนาเบื้องลึกของยายที่ผมไม่เคยได้รับรู้และได้ยินมาก่อน พอผมได้กอดยาย หลายครั้ง ผมเห็นยายน้ำตาซึม และจับมือผมแน่นราวกับเด็กๆ ไม่ปล่อยให้ไปไหน

วินาทีนั้น ผมมองย้อนกลับไปในชีวิตที่ผ่านมา ผมรู้สึกเลยว่า ยายอยากจะได้รับการดูแลใส่ใจใกล้ชิดจากลูกหลานมาตลอด แต่เพียงท่านอาจจะพูดไม่ค่อยเป็น ได้แต่สื่อสารเชิงติบ่น หรือว่ากล่าว ทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจนัก

การกอดเด็กน้อยผู้บอบบางของยายนั้น เป็นเหมือนการได้เชื่อมโยงกันลึกๆ ที่มากกว่าคำพูดและความสัมพันธ์ที่ผ่านมา

ที่สำคัญ ผมเริ่มสัมผัสได้ว่า การฝากซื้อสเตร็ปซิลของยายนั้น แท้จริงแล้วคือความปรารถนาที่จะได้รับการใส่ใจดูแลใกล้ชิดจากลูกหลาน และนอกจากนั้นยายเคยบอกผมว่า ที่โทรหาบ่อยๆ จริงๆ แล้วเพราะเป็นห่วง อยากมั่นใจว่าลูกหลานจะกลับมาบ้านปลอดภัย

ในจิตวิทยาของ Voice Dialogue นั้นเชื่อว่า เราทุกคนมีเด็กน้อยผู้บอบบาง (Vulnerable child) อยู่ภายใน ที่ยังคงโหยหาความรัก ความอบอุ่นใกล้ชิดจากคนรอบข้าง และไวต่อความรู้สึกไม่ต่างกับเด็กเล็กๆ คนหนึ่ง หากแต่เป็นด้านที่เราอาจไม่รู้ว่ามีอยู่ หรือสัมผัสได้ง่ายนัก แต่เขากลับมีอิทธิพลเบื้องลึกกับความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่เรามีกับคนรอบข้างอย่างไม่รู้ตัว

เราส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่า คนที่เราอยู่ด้วยกันมานาน โดยเฉพาะคนใกล้ตัวคนในครอบครัว เรารู้จักเขาดีแล้ว ในสิ่งที่เขาคิดหรือเป็นทุกอย่าง แต่ถึงวันนี้ ผมรู้สึกได้เลยว่า แม้จะอยู่กับยายมาสามสิบกว่าปี แต่นับว่าเป็นเวลาสั้นนัก เหมือนดั่งความฝันตื่นหนึ่ง ผมยังรู้จักยายน้อยไป โดยเฉพาะกับเด็กน้อยผู้บอบบางในตัวท่าน

รุ่งสางวันหนึ่ง ก่อนเขียนบทความนี้ ผมได้ฝันถึงยาย เป็นความฝันที่เหมือนจริงมาก ว่าผมกำลังนั่งรถไฟไปส่งยายที่ชานชาลาในโลกแห่งหนึ่งที่ไม่คุ้นเคย เป็นการเดินทางที่ยายดูมีความสุข เบิกบาน ไร้ความกังวล ก่อนลงจากรถไฟ ยายเข้ามากอดผม และบอกว่า “ยายไปก่อนนะลูก ถ้าโอมไปเที่ยวไหน อย่าลืมชวนยายด้วยนะ” ความรู้สึกลึกๆ ตอนนั้นราวกับยายกำลังโอบกอดเด็กน้อยผู้บอบบางในตัวผมอยู่ เป็นความรู้สึกอบอุ่นและซาบซึ้งใจอย่างที่ไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้ ผมตื่นขึ้นจากความฝันนั้น พร้อมน้ำตาซึมและมองไปที่รูปยายที่ตั้งอยู่หัวนอน ด้วยความรู้สึกว่าได้ไปส่งยายในการเดินทางที่สำคัญ และเชื่อว่ายายจะไปสู่ภพภูมิที่ดีแน่นอน

... หากเราทุกคนมีเด็กน้อยผู้บอบบางอยู่ภายใน ท่านผู้อ่านล่ะครับ ได้รู้จักกับเด็กน้อยคนนั้นของตัวเอง และคนใกล้ตัวหรือยัง

Back to Top