ตัวป่วน หรือ Change Agent?



โดย โอม รัตนกาญจน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 มิถุนายน 2559

ในอาชีพของกระบวนกร (Facilitator) หรือนักฝึกอบรม เราอาจต้องเจอกับผู้เข้าร่วมอบรมตัวป่วนที่สร้างความอึดอัดและสถานการณ์ยากๆ ให้กับเราอยู่ไม่มากก็น้อย ผมเป็นคนหนึ่งที่ล้มลุกคลุกคลาน ลองผิดลองถูก ล้มเหลวกับเรื่องนี้มาหลายปี ช่วงแรกๆ ถึงกับท้อ แต่หลังๆ ผมฝึกตัวเองให้เป็นคนที่เวลาเจอกับปัญหายากๆ แทนที่จะเอาความล้มเหลวมานั่งตำหนิ ตัดพ้อตัวเอง ก็มักจะเอาโจทย์เหล่านั้นไปปรึกษากับอาจารย์ที่เป็นโค้ชเพื่อเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เข้าใจสถานการณ์ยากๆ เหล่านั้นในแง่มุมเชิงลึกและเป็นไปเพื่อการเติบโตได้มากขึ้น จึงอยากเขียนเล่าให้ฟังในที่นี้ เผื่อจะได้มุมมองที่เป็นประโยชน์กับหลายคนที่ต้องเจอกับสถานการณ์คล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นวิทยากร นักฝึกอบรม ที่ปรึกษา ผู้นำ ผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งผู้ที่ต้องจัดประชุมในองค์กรและอยู่กับปัญหาของผู้คนเป็นกิจวัตร

ในมุมมองของงานจิตวิทยากระบวนการ (Process Work) เชื่อว่าตัวป่วนหรือตัวสร้างปัญหา (Trouble maker) นั้น ไม่ว่าเขาจะอยู่ในองค์กร ครอบครัว หรือในห้องอบรมก็ตาม แท้จริงแล้ว เขาเป็นผู้นำพาแก่นสารสำคัญที่จะช่วยทำให้ระบบกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล (Balance the system) แม้ว่าสิ่งที่เขาสื่อสารหรือแสดงออกนั้นจะเป็นเหมือนหนามทุเรียน คือไม่ค่อยน่าฟังหรือเป็นมิตรด้วยเท่าไหร่นัก พูดในอีกแง่มุมหนึ่ง เขาคือกระจกสะท้อนปัญหาสำคัญขององค์กร ที่ไม่ค่อยได้ถูกหยิบยกขึ้นมารับรู้ พูดถึงหรือแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง

ในการอบรมให้กับองค์กรหลายครั้ง โดยเฉพาะการเรียนที่ผู้เข้าร่วมถูกเกณฑ์มา ผมมักจะพบคนที่อยู่ในบทบาทของกบฏ (Rebel) ในที่นี้หมายถึงคนที่ไม่ให้ความร่วมมือในเวิร์คช็อป เป็นเด็กหลังห้อง วิพากษ์วิจารณ์ ท้าทาย ทั้งกับวิทยากร ผู้บริหาร หรือองค์กร เขามักจะนั่งกอดอกอยู่แถวหลัง ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เข้าห้องสาย ออกก่อนเวลา มีท่าทีอึดอัดแบบจำใจอยู่ เต็มไปด้วยเสียงพร่ำบ่นและความไม่พอใจอยู่ภายใน ผู้เข้าร่วมตัวป่วนในรูปแบบกบฏนี้ เพียงแค่คนเดียวในคลาส พลังลบของเขาก็อาจรบกวนให้เราเสียสมาธิรำคาญใจได้ไม่น้อย แม้ว่าผู้เข้าร่วมที่เหลือจะโอเคกับเราก็ตาม ผมขอยกตัวอย่างหนึ่งซึ่งเป็นกรณีที่พบเจออยู่บ่อยๆ ให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพ

ไม่นานมานี้ผมได้จัดเวิร์คช็อปให้กับองค์กรแห่งหนึ่ง เรื่องภาวะผู้นำและการคลี่คลายความขัดแย้งในองค์กรยุคใหม่ ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นระดับผู้จัดการ หลายคนมาด้วยความสนใจใคร่รู้ อีกหลายคนมาเพราะเป็นนโยบายบริษัท แต่ก็มาด้วยใจที่เปิดพร้อมเรียนรู้ เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงองค์กรที่สำคัญ


ช่วงเช้า ระหว่างกิจกรรม ผมสังเกตว่ามีผู้ชายคนหนึ่งนั่งกอดอกอยู่แถวหลังสุด หน้านิ่วคิ้วขมวด ดูไม่มีความสุขนักกับการอบรม ถึงช่วงหนึ่ง หลังจากที่เขาบ่นถึงปัญหาและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้บริหารในกลุ่มย่อยแล้ว เขาได้จังหวะหยิบไมค์ตอนช่วงสรุปประเด็นให้กับกลุ่มใหญ่ในห้องฟังว่า “ผมขอพูดตรงๆ นะ ผมรู้สึกว่าการที่มาอบรมคลาสนี้เป็นอะไรที่เสียเวลามาก ผมยังไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์กับชีวิตผมตรงไหน บริษัทเราจ้างวิทยากรมาสอนเยอะแยะทุกเดือน ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร มาแล้วก็ไป จะมาเข้าใจปัญหาที่พวกเราเจอจริงๆ ได้ยังไง” พอพูดจบ ทั้งห้องก็อยู่ในความเงียบสักพักใหญ่ จังหวะนั้นฟังดูเหมือนผมถูกต่อว่าค่อนข้างแรง รู้สึกหน้าชาๆ อยากจะโต้ตอบกลับไปบ้าง ถ้าผมคิดว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นการให้ฟีดแบ็คต่อตัวผมโดยตรง เหตุการณ์นี้ก็คงจบลงที่การปะทะ จัดการให้ตายกันไปข้างหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาผมก็ตกหลุมนี้อยู่บ่อยครั้ง

พอรู้สึกตัวมีสติขึ้นมา ผมเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นไม่น่าใช่เรื่องส่วนตัวระหว่างผมกับเขา เพราะเริ่มสัมผัสได้จากสีหน้าของเขาที่ดูทุกข์ใจและน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความท้อ สิ้นหวัง ผมจึงถามเขากลับเพราะอยากรับรู้ถึงความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังนั้นว่า “ขอบคุณที่คุณสุนทร(ชื่อสมมติ)พูดเปิดใจสื่อสารเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ผมสัมผัสได้ว่าคุณสุนทรกำลังรู้สึกสิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลงแม้กระทั่งกับคลาสนี้ ผมอยากทราบว่า มันมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้คุณสุนทรรู้สึกอย่างนั้น พอจะแชร์ให้กับพวกเราฟังได้ไหม”

เขานิ่งไปสักพักแล้วมองเพื่อนๆ ในห้องโดยรอบ ราวกับกำลังจะขอพูดเรื่องที่สำคัญมากๆ เขาหยิบไมค์ขึ้นมาอีกครั้ง และเล่าให้ทุกคนฟังว่า “ผมอยู่บริษัทนี้มาเกือบยี่สิบปี ทำงานด้วยความทุ่มเทตั้งใจรักองค์กรมาโดยตลอด แต่ถึงวันนี้ผมบอกได้เลย ผมหมดแล้ว ผมรู้สึกว่าผู้บริหารที่นี่ไม่จริงใจ เราจะอบรมอะไรไปก็แค่นั้น ทุกอย่างเป็นแค่เรื่องการเมือง เล่นพรรคเล่นพวก ผมอยู่ก็เพราะครอบครัว เพราะลูกยังเรียนไม่จบ” น้ำเสียงของเขาจากที่ฟังดูแข็งกร้าว เริ่มมีความสั่นคลอนในช่วงท้ายจนรู้สึกได้ ผมจึงถามต่อว่า “ที่คุณสุนทรบอกว่า ผู้บริหารที่นี่ไม่จริงใจ ทุกอย่างเป็นแค่เรื่องการเมือง เล่นพรรคเล่นพวกนั้น มันมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นกับคุณสุนทรครับ ผมสัมผัสได้ถึงความรู้สึกหลายอย่างที่ท่วมท้นอยู่ภายใน คุณสุนทรพอจะยกตัวอย่างให้พวกเราฟังได้ไหม”

เขาเล่าให้ฟังพร้อมน้ำตาที่เริ่มซึมออกมาว่า “สิบปีที่ผ่านมานี้ ไม่น่าเชื่อว่าผมไม่ได้ถูกปรับเลื่อนตำแหน่งเลย ทั้งๆ ที่ทำงานมานานกว่าใคร อยู่ตั้งแต่บริษัทเริ่มก่อตั้ง ผมรู้ล่ะว่าผมการศึกษาไม่สูง จบแค่ปริญญาตรี และบริษัทเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ทุกวันนี้ ผมต้องมาสอนงาน ดร.ที่เพิ่งจบ ทำงานไม่กี่ปี แต่ได้โปรโมทมาเป็นหัวหน้า ทุกวันนี้ผมไม่เห็นว่าตัวเองจะเติบโตที่นี่ต่อไปได้อย่างไร”

ถึงจุดนี้ ผมพบว่า เบื้องหลังคำพูดที่รุนแรงก้าวร้าวนั้น จริงๆ แล้วเต็มไปด้วยความน้อยใจ และพยายามสื่อสารเรื่องความเท่าเทียมของคนในองค์กร โดยเฉพาะเรื่องการมองเห็นคุณค่าของคนทำงานและการเติบโตในเส้นทางอาชีพ ผมได้สะท้อนสิ่งนี้ให้กับคุณสุนทรและผู้เข้าร่วมในเวิร์คช็อปฟัง หลายคนพยักหน้าเห็นด้วย มีผู้เข้าร่วมหญิงคนหนึ่งอายุงานรุ่นราวคราวเดียวกับคุณสุนทรยกมือขึ้นพูดว่า “เสียงของพี่สุนทรนั้น เป็นความรู้สึกของพวกเราอีกหลายๆ คนในองค์กรนี้ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากพูด จริงๆ แล้วความรู้สึกที่ไม่ได้รับการมองเห็นคุณค่านี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะลาออก” หลังจากที่ทุกคนในห้องตื่นตัวพูดคุยสืบค้นกับประเด็นนี้อยู่พักใหญ่ พวกเราพบว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรังในองค์กรมาเกือบสิบปี ที่ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึงตรงๆ ในห้องประชุมหรือกับผู้บริหาร จนทำให้เกิดเป็นคลื่นใต้น้ำมากมาย ทั้งการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงของคนเก่าๆ ที่ผู้บริหารมองว่าเป็นแค่เรื่องทัศนคติและคนที่ไม่ปรับตัว

ไม่บังเอิญที่วันนั้นมีตัวแทนผู้บริหารคนสำคัญและหัวหน้าฝ่ายบุคคลสังเกตการณ์อยู่หลังห้อง ช่วงพักเบรคเขาได้เดินมากระซิบกับผมว่า “คุณสุนทรในสายตาของผู้บริหารนั้น ถือว่าเป็นตัวป่วนมาหลายปี เพราะเขามักจะเล่นบทเป็นแกนนำต่อต้านนโยบายใหม่ๆ ขององค์กรอยู่เสมอ แต่วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ยินคุณสุนทรแชร์ความรู้สึกที่เปราะบาง โดยเฉพาะกับประเด็นเรื่องความเท่าเทียมและการมองเห็นคุณค่านั้น ช่วยให้เราเข้าใจเขาได้มากขึ้นอีกเยอะเลย และทำให้ผมเห็นประเด็นสำคัญที่คิดว่าจะนำไปสื่อสารให้กับผู้บริหารได้พิจารณาทบทวนมุมมองกันใหม่อย่างจริงจัง ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับองค์กรเราไม่น้อย โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องคนเก่าลาออก”

ในเวิร์คช็อปวันนั้น คุณสุนทรทำให้พวกเรามองเห็นปัญหารากเหง้าที่สำคัญขององค์กรและได้นำมาเป็นบทเรียนในการเรียนรู้ใคร่ครวญร่วมกัน ผมจบกระบวนการเรียนรู้ครั้งนั้นด้วยกิจกรรม Appreciation โดยให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนเดินเข้าไปหาคนที่เราอยากจะชื่นชมหรือขอบคุณในสิ่งดีๆ ที่เขาได้ช่วยเหลือสนับสนุนหรือเป็นแบบอย่างในการทำงานให้กับเรา ผมสังเกตว่ามีหลายคนเดินเข้าไปขอบคุณคุณสุนทรที่เขาให้ความช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อนร่วมงานต่างฝ่ายต่างแผนกเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับน้องๆ ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ คำขอบคุณของทุกคนนั้นทำให้คุณสุนทรน้ำตาเอ่อล้น จนเขาพูดเปิดใจตอนปิดวงกับทุกคนว่า “ผมอยู่ที่นี่มานาน จนรู้สึกว่าชีวิตการทำงานมันแห้งแล้งเหลือเกิน วันนี้เป็นวันแรกในรอบหลายปี ที่ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองมีความหมาย”

ถึงตรงนี้ ผมอยากจะแบ่งปันมุมมองหนึ่งที่เป็นกุญแจสำคัญต่อเรื่องนี้ว่า คนที่ถูกมองว่าเป็นตัวป่วนหรือตัวปัญหานั้น บ่อยครั้งเขาได้นำพาแก่นสารสำคัญโดยเฉพาะสิ่งที่ถูกหลงลืมกลับมาให้แก่ระบบ แต่มักจะมาในรูปของสิ่งรบกวนที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัด ในแง่หนึ่งอาจพูดอย่างหักมุมได้ว่า คนที่เป็นตัวป่วนหรือกบฏ แท้จริงแล้วเขาคือ “Change Agent” หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง (โดยที่เขาก็อาจไม่รู้ตัว) สุดท้าย ผมอยากฝากคำถามชวนคิดให้กับท่านผู้อ่านว่า ถ้าเรามองย้อนกลับมาในชีวิต ไม่ว่าจะในทีมงาน องค์กร หรือครอบครัว มีบ้างไหมที่เราต้องเจอกับคนที่เป็นตัวป่วน ... ยิ่งไปกว่านั้น มีบ้างไหม ในบางมุมของชีวิต อาจเป็นเราเองที่เป็นกบฏ ทั้งโดยตั้งใจและมิได้ตั้งใจ ... ในเบื้องลึก อะไรคือสิ่งที่เราอยากจะสื่อสารและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลก หากว่าโฉมหน้าที่แท้จริงของเราคือ Change Agent!

One Comment

Unknown กล่าวว่า...

เป็นบทความที่ดีมากๆเลยครับ อ.โอม

Back to Top