ความว่างเปล่าอันทรงพลัง



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2559

หลายๆ คนคงจะเคยขับรถผ่านจุดที่จะต้องชำระเงินในห้าง หรือทางด่วน เมื่อเราจ่ายเงินไปแล้ว จะมีเสียง “ขอบคุณ” ดังออกมาจากลำโพง ซึ่งเป็นเสียงที่ถูกอัดไว้ล่วงหน้า และพูดซ้ำๆ ให้ได้ยินทุกครั้ง

“ขอบคุณครับ”

แม้ว่าบางครั้ง พนักงานในตู้เก็บเงินเป็นผู้หญิง... (เอิ่ม)

ส่วนใบหน้าของพนักงานเก็บเงินในตู้ก็จะเรียบเฉย ไม่แสดงความรู้สึกใดๆ เพราะเขาหรือเธอมีหน้าที่เพียงรับเงินและทอนเงิน และไม่มีหน้าที่ในการพูด เพราะจำนวนเงินที่ต้องจ่ายก็มีระบุเป็นตัวเลขให้เห็นแล้ว

เราได้ยกหน้าที่ในการคำนวณอันซับซ้อน การสร้างภาพสามมิติ การขับรถยนต์ ไปให้กับคอมพิวเตอร์แล้ว แต่ไม่น่าเชื่อว่าในที่สุดเราได้ยกหน้าที่ในการแสดงความรู้สึกรำลึกถึงบุญคุณ ไปให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่แทนได้ด้วย

และก็คงจะแทบทุกคนที่เคยมีประสบการณ์ได้พบกับพนักงานร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้า ที่ถูกสั่งให้ต้องยกมือขึ้นไหว้ลูกค้าหลังจากยื่นถุงสินค้าให้เนื่องจากเป็นนโยบายของผู้บริหาร แต่ผมจะรู้สึกไม่ใคร่ดีทุกครั้ง เพราะรู้ว่าพวกเขาถูกบังคับให้ทำ โดยไม่ได้รู้สึกอยากทำเลยถ้าหากเลือกได้

“รับขนมจีบ ซาลาเปา ไหมคะ?”

เป็นวจีกรรมที่ปราศจากเจตนา ไม่ต่างกับคำ “ขอบคุณ”​ ที่เครื่องจักรไร้หัวใจพูดปาวๆ ออกลำโพง ไล่หลังรถทุกคัน


นักภาษาศาสตร์บอกกับเราว่าภาษาไม่ได้มีไว้เพียงแค่สื่อสาร และยังมีมิติทางด้าน “การกระทำ” (performative) อยู่ด้วย ส่วนนักการละครรู้ดีว่าเราไม่อาจจะเข้าใจตัวละครได้ถ้าเพียงตีความคำพูดทุกคำตรงตามตัวอักษร เพราะพวกเขารู้ดีว่า สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ก็คือ “ความมุ่งหมาย” หรือ “เจตนา” เบื้องหลังคำพูดของตัวละครนั่นเอง

จากตัวอย่างข้างต้น มันคงจะดูโรคจิตมากๆ ถ้าหากว่า พนักงานทอนเงินให้เราหันมาพูดกับเราด้วยความรู้สึกซาบซึ้งว่า “ขอบคุณมากจริงๆ นะครับพี่” พร้อมกันนั้นก็ยื่นเงินทอนให้เราด้วยรอยยิ้มอย่างจริงใจ เราคงจะรู้สึกตกใจมาก และอาจจะรู้สึกผิดที่จอดรถอยู่เพียงสองชั่วโมง แทนที่จะจอดนานกว่านี้ เช่นเดียวกันถ้าหากพนักงานร้านสะดวกซื้อถามเราอย่างจริงจัง โดยต้องการคำตอบ “พี่จะรับขนมจีบ ซาลาเปาไหมคะ? จะรับไหม ถามจริงๆ พี่ตอบหนูเดี๋ยวนี้” เราก็คงจะรู้สึกเหมือนถูกคุกคาม และตกอกตกใจมาก

ผมอยู่ในช่วงชีวิตที่เพื่อนในไลน์มักจะส่งข้อความว่ามีญาติผู้ใหญ่เสียชีวิต แล้วจากนั้นก็จะมีข้อความต่อกันเป็นทอดๆ

“เสียใจด้วยนะเพื่อน”

“ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ”

ผมมานั่งอ่านข้อความเหล่านี้ด้วยความรู้สึกสนเท่ห์ เพื่อนผมไปรู้จักกับญาติผู้ใหญ่คนที่เสียชีวิตตั้งแต่เมื่อไร แล้วเขาเสียใจจริงๆ หรือเปล่า แล้วเพื่อนคนที่ญาติเสียซึ่งก็ต้องเสียใจอยู่แล้ว จะรู้สึกดีไหมนะถ้ารู้ว่าเขาได้ทำให้เพื่อนอีกหลายคนต้องเสียใจไปกับเขาด้วย อันที่จริงเป็นผมเองต่างหากที่ “ผิดมนุษย์” เพราะมีความคิดแบบนั้น เพราะมนุษย์โดยทั่วไปย่อมเข้าใจว่าถ้อยคำที่กล่าวว่า “เสียใจ” นั้นแค่เพียงกล่าวเป็น “พิธี” ไม่ได้หมายความว่าเขาเสียใจจริงๆ เพราะเขาไม่ได้รู้จักกับญาติของเพื่อนที่เสียนั้นเป็นการส่วนตัว ความเสียใจที่เกิดจากความผูกพันส่วนตัวจึงเกิดไม่ได้ แต่ที่กล่าวเช่นนั้นเพื่อ “กระทำการบางอย่าง” ด้วยคำพูด ด้วยเหตุนี้ การแทนคำว่า "เสียใจ" ด้วยคำอื่น จึงทำไม่ได้ เช่นเราจะไม่สามารถกล่าวว่า “ดีใจแทนเธอด้วยนะ ที่ญาติเธอตายไปอย่างไม่ทรมาน หรือ ดีใจด้วยนะ ที่เขาได้ชดใช้กรรมในชาตินี้หมดแล้ว”

ในทางจิตวิเคราะห์แนวลากอง มองว่าการที่เรากล่าวถ้อยคำเป็น "พิธี"​ เช่นนี้ เรียกว่าเป็น “การกระทำอันว่างเปล่า” (Empty Gestures) ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมันได้บรรลุจุดประสงค์ของมันแล้ว นั่นก็คือการไม่ทำให้เกิดอะไรขึ้นใหม่เลย ยกเว้นมีการเคลื่อนไปในมิติของสัญญะ (Symbolic) มันเป็นกฎเกณฑ์ของความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ไม่ได้เขียนลงเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้ที่เป็นโรคประสาท (Neurosis) หรือให้ชัดกว่านั้นก็คือผู้ที่เป็นพวกปรปักษ์กับสังคม (Sociopath) จะมองไม่เห็นความจริงข้อนี้ เพราะพวกเขามองว่าภาษาเป็นเครื่องมือของการสื่อสาร และเป็นเพียง “เครื่องมือ” เท่านั้น ไม่ได้มีความหมายในมิติอื่นๆ เลย

พวกปรปักษ์กับสังคมจะไม่รู้จัก “ความเกรงใจ” และ “ความรู้สึกผิด” ซึ่งถูกสร้างด้วยข่ายใยโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงสัญญะ แต่ในขณะเดียวกันผู้ที่ไม่ตระหนักว่าระบบสัญญะนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้น แต่กลับไปถือเอา “สมมุติ” มาเป็นความจริง ก็ไม่ต่างอะไรกับคนบ้า เหมือนกับนิทานเรื่องพระราชากับฉลองพระองค์ล่องหน (The Emperor's New Clothes) ที่ผู้คนตลอดจนพระราชาแกล้งทำเป็นว่าเสื้อฉลองพระองค์นั้นสวยงามมาก ทั้งๆ พระองค์ไม่ได้ใส่อะไรเลย จนกระทั่งมีเด็กคนหนึ่งตะโกนบอกว่า "กิ๊วๆ น่าไม่อาย พระองค์เดินล่อนจ้อนไม่ใส่อะไรเลย"

เด็กน้อยซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเองเป็นสิ่งดี แต่การพูดความจริงออกมาโดยไม่คำนึงถึงข่ายใยของระบบสัญญะที่ทำงานอยู่คือความไร้เดียงสา และอาจจะนำภัยมาถึงผู้พูด ในเรื่องนี้คนที่เฉลียวฉลาดที่สุดก็คือ "ช่างตัดเสื้อ" ซึ่งเข้าใจถึงจิตใจอันฉ้อฉลของมนุษย์และในขณะเดียวกันก็ฉวยประโยชน์จากสัญญะซึ่งก็คือความว่างเปล่าอันทรงพลัง เปรียบเสมือนเส้นด้ายล่องหนที่ถักทอขึ้นกลายเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาเพียงเพราะว่าผู้คนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อความไม่ซื่อสัตย์ของตนเองล้วนแต่ผลิตซ้ำความจริงอันไม่จริงกันต่อไป

Back to Top