คุณธรรม นำความรู้ สู่ปัญญา



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2559

ประเทศไทยมีความพยายามในการปรับปรุงคุณภาพการศึกษามายาวนาน แต่ไม่ได้รับความสำเร็จตามที่คาดหวังไว้ด้วยเหตุหลายประการ สำหรับผมที่สำคัญคือการปรับและการปฏิรูปแต่ละครั้ง ในเชิงปฏิบัติมิได้ทำการปรับปรุงหรือปฏิรูปแก่นแกนที่เป็นสาระสำคัญหรือจิตวิญญาณของการศึกษาโดยตรง แต่ไปเน้นที่การปรับเปลี่ยนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ เช่น เรื่องการปรับโครงสร้าง การปรับเปลี่ยนระบบบริหาร การเข้าสู่ตำแหน่ง ความก้าวหน้าในอาชีพและค่าตอบแทน เป็นต้น ซึ่งเป็นมิติภายนอก เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับอำนาจ กับผลประโยชน์ กับระบบการบังคับบัญชา มากกว่าการพัฒนาคุณภาพครูอาจารย์ โดยเฉพาะจิตวิญญาณของความเป็นครู และบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นมิติภายใน

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือเป็นผู้บุกเบิกที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนามิติภายในโดยนำเรื่องคุณธรรมขึ้นมาเป็นคำขวัญ เป็นเสมือนเข็มทิศในการสร้างครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาของคณะคือ “ความรู้คู่คุณธรรม” ที่ศาสตราจารย์อำไพ สุจริตกุล คณบดีสมัยนั้นเป็นผู้ริเริ่ม และต่อมามีหลายสถาบันนำไปใช้ แต่น่าเสียดายที่แนวคิดที่งดงามและเหมาะสมนี้ เป็นเพียงคำพูดที่สวยหรู ดูดีแต่ในเอกสารเท่านั้น ในแง่ของการปฏิบัติและการนำไปใช้กลับไม่ได้เป็นส่วนสำคัญอย่างแท้จริง อย่างเก่งก็แค่มีการกำหนดระยะเวลาหรือกิจกรรม เช่น การเข้าค่ายคุณธรรม (เข้าวัดหรือสถานปฏิบัติธรรมหรือเทียบเคียง) ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ควรเป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญควบคู่ไปกับการเรียนการสอนในทุกรายวิชา(ความรู้) ไม่เชื่อลองไปศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาที่ปรากฏในเอกสารคำบรรยายลักษณะวิชาหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า course description ของแต่ละวิชาของแต่ละหลักสูตรดู แม้ไม่ปรากฏในลักษณะรายวิชา ซึ่งมักจะเน้นเฉพาะเนื้อหาวิชาเป็นหลัก แต่มีปรากฏในวิธีการหรือกระบวนการเรียนการสอนที่สะท้อนให้เห็นว่ามีการเน้นเรื่องคุณธรรมที่ควบคู่ไปกับความรู้หรือไม่อย่างไร ยังมิต้องพูดถึงการวัดการประเมินในแต่ละรายวิชาว่ามีเรื่องคุณธรรมหรือความดีความงามอยู่หรือไม่ หรือมีแต่เนื้อหาวิชาล้วนๆ


จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม มีน้อยวิชามากที่ผมเรียนรู้ว่าวิชาความรู้ที่เรียนตามหลักสูตรนั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิตและสังคมอย่างไร มากน้อยแค่ไหน และผมก็พบว่า มันไม่ใช่ตัววิชา แต่มันอยู่ที่ผู้สอนต่างหาก เพราะไม่ว่าวิชาไหน หากเป็นผู้สอนท่านนั้น ท่านจะชี้ให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของวิชาที่เรียนกับชีวิตและสังคม ซึ่งทำให้ผมเห็นคุณค่าและความหมายของวิชานั้นๆ และตั้งใจเรียนมาก เพราะอยากนำความรู้เหล่านั้นไปสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับชีวิตและสังคม ไม่ใช่แค่จบไปแล้วจะได้มีงานทำ หรือเอาไว้เป็นพื้นฐานเพื่อการศึกษาในขั้นสูงต่อไป

สิ่งที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้ เพื่อให้ผู้มีอำนาจหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปและการจัดการศึกษาทั้งหลายได้นำไปพิจารณา คือ การกำหนดแนวคิด เป็นทิศทางของการปฏิรูปและการจัดการศึกษาของชาติ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสานต่อแนวคิด “ความรู้คู่คุณธรรม” แล้ว ยังเป็นการก้าวกระโดดไปข้างหน้าเพื่อสร้างสังคมคุณภาพที่นำด้วยคุณธรรม แนวคิดที่จะนำเสนอคือ “คุณธรรมนำความรู้สู่ปัญญา”

การกำหนด “คุณธรรมนำความรู้สู่ปัญญา” มีเหตุผลบางประการ ประการแรกเพื่อเน้นย้ำความสำคัญของคุณธรรม ซึ่งถูกลดทอนความสำคัญลงไปเรื่อยๆ ภายใต้แนวคิดและแนวปฏิบัติของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมที่เน้นการแข่งขัน มากกว่าความร่วมมือ แย่งชิงความได้เปรียบบนความไม่เท่าเทียม จึงเป็นการขยายความไม่เท่าเทียมให้เพิ่มมากขึ้น ความขัดแย้ง แย่งชิงลิขสิทธิ์ แย่งชิงความเป็นเจ้าของ แย่งชิงทรัพยากร แย่งชิงความเป็นใหญ่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประการที่สองเพื่อแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติของ “ความรู้คู่คุณธรรม” ที่ทำกันมาในอดีต ด้วยการลดทอนคุณธรรมลงมาเหลือแค่กิจกรรมบางส่วนที่แยกออกจากการเรียนการสอนไป ประการที่สามเพื่อเน้นว่า “ปัญญา” เป็นเป้าหมายที่พึงประสงค์ของการศึกษา ไม่ใช่แค่การยึดติดอยู่กับข้อมูล ข่าวสาร และความรู้

กระบวนการสร้างให้เกิดปัญญาจะไม่ใช่ ไม่เหมือนกับการสอนวิชาแบบเดิมที่ทำกันอยู่ เพราะ “ปัญญา” หรือ “การเรียนรู้ที่แท้จริง” เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในของผู้เรียนรู้ มีลักษณะเฉพาะของผู้เรียนรู้แต่ละคนซึ่งจะแตกต่างกันออกไป ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน

เมื่อกำหนดแนวคิดทิศทาง ทำความเข้าใจให้ตรงกันแล้ว จึงค่อยมาออกแบบโครงสร้าง ระบบบริหารจัดการ ระบบงบประมาณ การจัดการเรียนการสอน การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ รูปแบบการวัดการประเมิน... และที่สำคัญคือระบบการสร้าง การผลิต และพัฒนาครูอาจารย์ ซึ่งทั้งหมดเป็นมิติหรือปัจจัยภายนอก ที่ออกแบบมาเพื่อจะเอื้อให้เกิดระบบการบริหารจัดการ และกระบวนการศึกษาที่สอดรับกับแนวคิด “คุณธรรมนำความรู้สู่ปัญญา”

ผมอยากเห็นประเทศไทยเป็นผู้นำทางความคิดและการปฏิบัติทางการศึกษาในแนวนี้ให้กับโลก เพื่อช่วยกันสร้างความสุขสันติให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ อย่างยั่งยืน

เราต่างก็เห็นและพิสูจน์เชิงประจักษ์มาแล้วว่า แนวคิด และแนวปฏิบัติของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมที่ครอบงำโลกนี้อยู่ นอกจากจะ ไม่สามารถสร้างความสุขสันติให้โลกได้แล้ว ยังเป็นระบบที่สร้างการแข่งขัน แย่งชิงความเป็นหนึ่ง ก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงในทุกระดับของทุกภูมิภาคของโลก

ระบบการศึกษากระแสหลักของโลกและของไทยต่างก็ตกอยู่ภายใต้แนวคิดและแนวปฏิบัติของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมอย่างขาดสติ จึงเต็มไปด้วยข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ในความหมายแคบๆ แยกส่วน ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องมากกว่าเพื่อส่วนรวม แต่ขาดปัญญาที่จะเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสรรพสิ่ง

ความรู้ที่มีคุณธรรมเป็นฐาน มีคุณธรรมเป็นทิศทางโอบล้อมไว้ ย่อมเป็นความรู้ที่สร้างสรรค์ ก่อเกิดประโยชน์สุขต่อส่วนรวม ไม่จำกัดเชื้อชาติ เพศ ผิวพรรณ และศาสนา ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ที่หลากหลายจะนำไปสู่ปัญญา ซึ่งมีความลุ่มลึกกว้างขวางกว่าความรู้ ข่าวสาร และข้อมูล

Back to Top