มองเป็น เห็นประโยชน์จากทุกสิ่ง



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 มกราคม 2560

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา เป็นประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าเรารู้จักมอง ถ้าเราวางใจเป็น เราสามารถหาประโยชน์ได้จากทุกสิ่ง แม้ว่ามันจะเป็นความเจ็บปวด ความสูญเสีย ตอนที่เกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ มีผู้คนสิ้นเนื้อประดาตัวเป็นจำนวนมาก บางคนก็กลุ้มอกกลุ้มใจจนเป็นบ้า ฆ่าตัวตาย ซึ่งจัดว่าเป็นการซ้ำเติมตัวเอง เพราะว่าน้ำท่วมทำได้แค่พัดพาและทำลายทรัพย์สมบัติของเรา ไม่ได้ทำมากไปกว่านั้น แต่เมื่อวางใจไม่เป็นก็เลยกลุ้มอกกลุ้มใจจนเสียสติ จนเป็นบ้า หรือทำร้ายตัวเอง

แต่มีอยู่คนหนึ่งไม่ทุกข์เท่าไร เธอบอกว่าน้ำท่วมคราวนี้ทำให้เห็นเลยว่า ไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย ทุกอย่างมาอยู่กับเราแค่ชั่วคราวเท่านั้น อันนี้ถือว่าเธอได้ประโยชน์จากน้ำท่วม เพราะทำให้เห็นสัจธรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ไม่ทุกข์จากน้ำท่วมครั้งนั้น ยังรักษาใจไม่ให้ทุกข์เพราะความสูญเสียครั้งต่อๆ ไปด้วย

เราสามารถได้ประโยชน์จากความเจ็บป่วย ความเจ็บป่วยมาสอนเราว่า สังขารไม่เที่ยง มาเตือนให้เราไม่ประมาทกับเวลาที่เหลืออยู่ ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยกล่าวว่า “ความเจ็บป่วยมาเตือนให้เราฉลาด” คือมีปัญญาเห็นสัจธรรมของสังขารร่างกาย หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ซึ่งเป็นอาจารย์ของอาตมา ป่วยด้วยโรคมะเร็งครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๔๙ ตอนที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ท่านบอกว่า “มันแสนสบายหนอ เพราะมีคนทำให้ทุกอย่าง” ท่านยังกล่าวอีกว่า “ตอนนั้นไม่ต้องทำอะไรหรอก เห็นไตรลักษณ์อย่างเดียวพอแล้ว มันแสดงให้เราเอง” เวลาเราป่วยก็ลองทำอย่างนี้ดูบ้าง คือพิจารณาไตรลักษณ์ จากร่างกายนี้ ไม่ใช่เอาแต่บ่นโวยวาย ตีโพยตีพาย ว่าทำไมต้องเป็นฉัน


การสูญเสียคนรักก็สอนให้เราเห็นความไม่เที่ยงของสังขาร และเห็นโทษของความติดยึด อย่างนางกีสาโคตมี พอเห็นตรงนี้ได้ ท่านบรรลุเป็นพระโสดาบันทันที ก่อนหน้านั้นนางสูญเสียลูกน้อย ซึ่งอายุแค่ ๒-๓ ขวบ นางยอมรับไม่ได้ที่ลูกตาย อุ้มศพลูกเพื่อขอให้ใครต่อใครช่วยปลุกให้ฟื้น แต่สุดท้าย พอได้เจออุบายธรรมจากพระพุทธเจ้า ซึ่งรับปากว่าจะช่วยนางได้หากหาเมล็ดผักกาดจากบ้านที่ไม่มีคนตายมาให้พระองค์ หลังจากที่ไปหาอยู่นาน ก็ไม่พบเมล็ดผักกาดที่ว่า เพราะทุกบ้านล้วนมีคนตายแล้วทั้งนั้น ในที่สุดนางก็เห็นชัดว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา ทุกครอบครัวและทุกคนก็ล้วนสูญเสียทั้งนั้น เมื่อกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์แสดงธรรมสั้นๆ ว่า “มฤตยูย่อมพาเอาผู้คนที่มัวเมาในลูกและสัตว์เลี้ยง ผู้มีใจข้องอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เหมือนห้วงน้ำใหญ่ย่อมพัดพาเอาผู้คนที่หลับใหลไป ฉะนั้น” นางกีสาโคตมีพิจารณาตาม ปัญญาเกิด ก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันทันที นับว่าได้ประโยชน์จากความสูญเสียที่เกิดขึ้น หากนางไม่สูญเสียลูก อาจไม่มีโอกาสบรรลุธรรมเลยก็ได้

คำด่าก็มีประโยชน์หลายอย่างได้เช่นกัน เล็ก วิริยะพันธุ์ อดีตเจ้าของเมืองโบราณ เคยพูดไว้ว่า “วันไหนไม่ถูกตำหนิ วันนั้นเป็นอัปมงคล”

มีเรื่องเล่าว่า สมัยที่หลวงปู่ขาว อนาลโย ยังมีชีวิตอยู่ วันหนึ่งท่านมอบหมายให้พระลูกศิษย์ ๒ รูปไปดุด่าแม่ชีคนหนึ่งในวัด คือ แม่ชีสา ซึ่งเป็นคนอุปัฏฐากพระเณรดีมาก อีกทั้งยังใส่ใจในการปฏิบัติธรรมด้วย เมื่อพระทั้งสองรูปได้รับคำสั่งเช่นนั้น ก็ไปที่กุฏิแม่ชีสา แล้วทำตามที่หลวงปู่ขาวสั่ง คือเรียกแม่ชีสามาด่า ทีแรกแม่ชีสาก็งง แต่ว่าตั้งสติได้ นั่งพนมมือฟังคำดุด่าด้วยอาการสงบ

พระอาจารย์ทั้งสองดุด่าอยู่นานจนไม่รู้จะด่าอย่างไรแล้ว ก็หยุด แม่ชีสาแทนที่จะโกรธหรือน้อยใจว่าทำไมทำดีกลับถูกครูบาอาจารย์ด่า กลับพูดขึ้นมาว่า “ท่านอาจารย์ดุด่าดิฉันหมดหรือยัง หรือมีคำด่าว่าอยู่อีก ดิฉันได้ยินได้ฟังแล้วมันซาบซึ้งเหลือเกิน เสียงดุด่าเป็นเสียงธรรมทั้งหมดเลยเจ้าข้า” แม่ชีสายังบอกอีกว่า “ขอให้อาจารย์ทั้งสองมาด่าดิฉันให้บ่อยๆ ด้วย มันจะได้หมดกิเลสสักที”

แม่ชีสาถูกด่า แต่ใจไม่ทุกข์เลย เพราะแทนที่จะมองว่าการถูกด่าเป็นเรื่องเลวร้าย กลับมองว่าคำดุด่าว่ากล่าวเป็นของดี ช่วยขูดกิเลสและลดละอัตตา

เมื่อเจอสิ่งที่เป็นลบหรือร้าย อย่ามัวแต่เสียใจหรือขุ่นเคือง เราควรมองหาประโยชน์จากมัน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม เงินหาย ของหายก็สอนธรรมให้เราได้ แสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยง เห็นต้นไม้ล้ม ใบไม้ร่วงก็เป็นธรรม แม้กระทั่งเห็นหญิงสาวยิ้มให้ก็เป็นธรรมได้ ในสมัยพุทธกาลมีพระรูปหนึ่งชื่อพระนาคสมาล ขณะที่ท่านกำลังเดินบิณฑบาตในเมือง บังเอิญมีขบวนแห่ผ่านมา ท่านเห็นหญิงฟ้อนรำคนหนึ่งแต่งตัวสวยงาม มีเครื่องประดับแวววาว ทัดทรงดอกไม้ แทนที่จะเกิดกามราคะ ท่านกลับมองว่า นี่แหละคือบ่วงแห่งมัจจุราชที่มาดักรอ พอเห็นโทษของรูปที่เห็น ก็เกิดความเบื่อหน่าย จิตหลุดพ้นจากกิเลสตรงนั้นทันที

เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าทุกอย่างสามารถเป็นประโยชน์ในทางธรรมได้ทั้งนั้น พูดอีกอย่างคือเราสามารถเห็นธรรมได้จากทุกอย่าง ไม่ว่าบวกหรือลบ ดีหรือร้าย สวยงามหรือน่าเกลียด

คนที่ทำได้เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นบัณฑิต ดังพุทธภาษิตอีกตอนหนึ่งที่พระนันทิยะได้ถ่ายทอดให้แก่พระองคุลิมาลฟังว่า “ผู้รู้จักถือเอาประโยชน์ทั้งจากอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์...... พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญว่าเป็นบัณฑิต”

การที่เราจะเห็นหรือหาประโยชน์จากทุกสิ่งได้ โดยเฉพาะอนิฏฐารมณ์ หรือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ไม่พึงปรารถนา สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องมีคือสติ หาไม่แล้วความรู้สึกยินร้าย ขัดเคืองใจ ก็จะครอบงำจิต จนคิดแต่จะผลักไส ทำลายสิ่งนั้นๆ หรืออย่างน้อยๆ ก็บ่นโวยวาย ตีโพยตีพาย ก่นด่าชะตากรรม กลายเป็นการซ้ำเติมตนเอง แต่ถ้ามีสติ นอกจากใจจะไม่ทุกข์กับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ยังสามารถใช้ปัญญาใคร่ครวญจนเห็นประโยชน์จากสิ่งนั้นได้ อันนี้รวมถึงอิฏฐารมณ์ หรือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่พึงปรารถนาด้วย หากไม่มีสติ ใจก็จะยินดี หลงใหลเพลิดเพลิน จนเกิดกิเลสตัณหา กลายเป็นโทษ แต่ถ้ามีสติ ก็จะรู้จักคิด และเห็นข้อเสียของมันว่าสามารถทำให้เกิดความยึดติดถือมั่น อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ หรือไม่ก็ทำให้เกิดความประมาท ซึ่งเป็นประเด็นที่จะได้กล่าวต่อไป

Back to Top