กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน: ปัญญาปฏิบัติ ๓



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 มกราคม 2560

โครงการประเมิน “โครงการพัฒนาการเกษตรยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน” ซึ่งเป็นโครงการของกรมชลประทาน มีเวลาต่อเนื่องกันสามปี นับเป็นโครงการแรกของไทยและของโลกที่มีการนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของการประเมินแนวใหม่ที่เรียกว่ากัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม

จากการ “ปิ๊งแว้บ” ทางความคิดในเรื่องกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินของผู้เขียนในต้นปี ๒๕๕๑ สู่การมีโอกาสนำไปปฏิบัติจริงกับโครงการของกรมชลประทาน ในปี ๒๕๕๖ ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาปฏิบัติ” หรือปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติจริงด้วยตนเองหลายประการ ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอในคอลัมน์นี้ไปแล้วสองครั้ง ในลักษณะของการสะท้อนการเรียนรู้จากปีที่หนึ่งและปีที่สองของโครงการ

โครงการพัฒนาฯ นี้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปในปี ๒๕๕๙ ในฐานะทีมประเมินผู้นำกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินมาใช้ ผู้เขียนมีบางประเด็นที่จะนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังต่อไปนี้

เมื่อพิจารณาจากปรัชญาการประเมินแนวใหม่ที่มุ่งเน้นไปที่การเอื้อ/การสร้างให้เกิดความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ และความยั่งยืนของโครงการ พบว่ามีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าทุกพื้นที่นำร่องใน ๔ จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการได้รับความสำเร็จในระดับที่น่าพึงพอใจ ทั้งในแง่ของการพัฒนากระบวนการวางแผนและการทำงานอย่างมีส่วนร่วม กระบวนการผลิต การตลาด และผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ โดยรวม กลุ่มคนที่เข้าร่วมโครงการในทุกพื้นที่มีความภาคภูมิใจที่ชุมชนพื้นที่ของตนได้รับความสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการ และจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับชาวบ้าน คณะทำงานในพื้นที่ ทีมพัฒนา โดยรวมมีความคาดหวังและตั้งใจจะสานต่อการทำงานการเกษตรอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ต่อไป ซึ่งสะท้อนถึงความยั่งยืนได้ในระดับหนึ่ง


เมื่อพิจารณาการนำกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาไปใช้ทั้งในส่วนของทีมพัฒนาและคณะทำงานในพื้นที่ พบว่ามีพัฒนาการที่ดีเพิ่มขึ้นจากปีแรกถึงปีที่สามโดยเฉพาะทีมพัฒนา ในส่วนของคณะทำงานและโดยเฉพาะวิทยากรกระบวนการในพื้นที่ พบว่ามีสุนทรียสนทนาและการฟังอย่างลึกซึ้งเพิ่มขึ้นในปีที่สาม แต่การสะท้อนการเรียนรู้ยังพัฒนาได้น้อยกว่าสองกระบวนการแรก สำหรับชาวบ้านที่นอกเหนือจากคณะทำงานในแต่ละพื้นที่ไม่มีข้อมูล และความชัดเจนพอจะประเมินได้

บทเรียนนี้สะท้อนให้เห็นว่า หากจะมีการดำเนินโครงการในลักษณะนี้ต่อไปกับพื้นที่ใหม่ ควรต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน โดยเฉพาะกระบวนการจิตตปัญญาระหว่างทีมพัฒนากับทีมประเมินตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อที่ทีมพัฒนาจะได้นำแนวคิดและกระบวนการจิตตปัญญาไปใช้กับคณะทำงานในพื้นที่ตั้งแต่เริ่มโครงการพัฒนาฯได้เลย

ในส่วนของทีมประเมินภายใต้การนำของ ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ แต่ละคน (ยกเว้นผู้เขียน) ล้วนเรียนมาทางด้านการวัดการประเมินผลในกระแสหลัก ต่างก็ใช้ความรู้และประสบการณ์ทางการวัดการประเมิน ผนวกเข้ากับแนวคิดแนวปฏิบัติทางจิตตปัญญาศึกษาที่ได้เรียนรู้ใหม่ มาช่วยกันขับเคลื่อนโครงการนี้เพื่อเอื้อให้โครงการประสบความสำเร็จอย่างเต็มที่

ดร.สรัญญา จันทร์ชูสกุล หนึ่งในทีมประเมินได้สรุปบทเรียนที่ได้จากการทำโครงการประเมินนี้ไว้ดังนี้

รูปแบบกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินเป็นรูปแบบการประเมินรูปแบบใหม่ มาจากการผสมผสานแนวคิดกัลยาณมิตรประเมิน (Amicable Evaluation) และจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) ดังนั้น ผู้ประเมินจึงจำเป็นต้องมีคุณลักษณะของความเป็นกัลยาณมิตร และความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของจิตตปัญญาศึกษา ซึ่งการดำเนินการในปีแรกของโครงการ ในฐานะของหัวหน้าทีมประเมินโครงการจังหวัดกาญจนบุรีต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาทำความเข้าใจและดูจากต้นแบบจาก ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน ที่ปรึกษาโครงการ ทำให้มีความเข้าใจในเรื่องของการนำรูปแบบกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินมาใช้ในการทำงานได้เป็นอย่างดี ดังนี้

๑. รูปแบบกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินมีความสอดคล้องเหมาะสมกับการประเมินโครงการที่เกี่ยวกับชุมชน เนื่องจากการวางตัวของผู้ประเมินอย่างเป็นกัลยาณมิตร มิได้เป็นผู้จ้องจับผิด ทำให้บรรยากาศการทำงานร่วมกันระหว่างทีมประเมินและทีมพัฒนาผ่อนคลายมากขึ้นตามลำดับ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสนอแนะข้อมูลอันเป็นประโยชน์

๒. การนำเอาหลักการ ๔-๓-๓ (๔ ความเชื่อ ๓ กระบวนการหลัก และ ๓ ฐานการเรียนรู้) ของจิตตปัญญาศึกษามาใช้ในการประเมิน ในการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง การสังเกตกิจกรรม และการสะท้อนผลการเรียนรู้ บนฐานความเชื่อยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ยอมรับและเคารพในความแตกต่างระหว่างบุคคล เชื่อในเรื่องความเป็นองค์รวมที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่ง และเชื่อว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ ทำให้คณะทำงานไม่รู้สึกอึดอัดต่อการลงพื้นที่ของทีมประเมิน เนื่องจากผู้ประเมินเป็นเพียงเข้าไปสังเกต ไม่ได้มีการแสดงท่าทีที่เห็นด้วยหรือคัดค้านต่อการดำเนินงานของคณะทำงานโดยตรง แต่เป็นการประสานไปยังทีมพัฒนาในมุมมองของทีมประเมินและให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาผ่านทางทีมพัฒนา ซึ่งทางทีมพัฒนาจะเลือกรับนำไปปฏิบัติหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ในดุลยพินิจของทีมพัฒนาเป็นผู้ตัดสินใจ และทีมประเมินเคารพการตัดสินใจของทีมพัฒนาเช่นเดียวกัน

๓. การที่ทีมประเมินลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เป็นการสร้างความคุ้นเคยต่อคณะทำงาน และเห็นการเปลี่ยนแปลง เข้าใจในบริบทของพื้นที่ รวมถึงเป็นการกระตุ้นการทำงานของคณะทำงานกลายๆ เนื่องจากมีบุคคลภายนอกเฝ้าสังเกตการทำงานของตนอยู่ แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้บทบาทของทีมประเมินจะไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ในการให้ข้อมูลย้อนกลับแก่คณะทำงานโดยตรง แต่ในหลายๆ ครั้งที่คณะทำงานได้มีโอกาสสอบถามทีมประเมินว่าการทำงานของตนเองเป็นอย่างไร อยากฟังในมุมมองของทีมประเมินบ้าง

๔. โครงการนี้เป็นโครงการประเมินระยะยาว ทำให้เกิดสัมพันธ์ภาพระหว่างทีมประเมินและคณะทำงาน และในการประเมินถึงแม้จะอยู่บนฐานของจิตตปัญญาศึกษา แต่ผู้ประเมินเองต้องพึงระมัดระวังตัว ไม่ให้สัมพันธภาพที่ดีทำให้ผลการประเมินมีความบิดเบือน หรือหลงไปกับกลไกของการเมืองในการประเมิน ดังนั้น ถึงแม้วิธีการประเมินจะมีความยืดหยุ่นตามบริบท แต่ผลการประเมินยังจะต้องคงอยู่บทฐานของความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้

หมายเหตุ: กลุ่มบุคคลที่เป็นส่วนสำคัญของโครงการประกอบด้วย ๑. ทีมกรมชลประทาน ๒. ทีมพัฒนา ๓. คณะทำงาน (ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่นำร่อง) ๔. ทีมประเมิน ๕. ชาวบ้านทั่วไปในพื้นที่

Back to Top