ตาที่ดี หูที่ดี – ได้เห็น ได้ยินอะไร?



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2560

การอ่านออกเขียนได้ถือว่าเป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนไม่ได้เรียนหนังสือ คงได้คำตอบว่าใช่

การได้เรียนจบมหาวิทยาลัยเป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนจบ ปวช. คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

การรู้ภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศเป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนที่พูดหรือเขียนภาษาต่างประเทศไม่ได้หรือไม่คล่องแคล่ว คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

การได้ทำงานที่มั่นคง มีรายได้แน่นอน มีเงินเดือน มีสวัสดิการ มีวันลาพักผ่อน เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

การมีหน้าที่การงานอันมีเกียรติ ผู้คนให้ความเคารพนับถือ เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถาม รปภ. หรือพนักงานเก็บขยะ คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

การมีบ้านเป็นของตัวเอง อยู่ใกล้ที่ทำงาน หรือโรงเรียนของลูก เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนชุมชนป้อมมหากาฬที่กำลังถูกไล่ที่ คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

หากเจ็บป่วย แล้วสามารถเลือกรักษาในสถานพยาบาลได้ทุกแห่ง ไม่เกี่ยงว่าเป็นรัฐหรือเอกชน ไม่กังวลว่าจะไม่มีเงินค่ารักษา หรือหาหมอที่ดีที่สุดไม่ได้ เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนใช้สิทธิบัตรทองหรือประกันสังคม คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่


หากหิวหรืออยากกินอาหารดี-ดี สามารถจัดการตัวเองในการหาอาหารประทังความหิวได้ทุกครั้ง หรือเลือกไปร้านโปรดมีโต๊ะนั่งสบายตลอดเวลา เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนไร้บ้านหรือแม่บ้านทำความสะอาดในตึกต่างๆ คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

หากอยากจะจูงมือคนรักเดินเล่นในพื้นที่สาธารณะ หรือประกาศแต่งงานอย่างเป็นทางการ ก็สามารถทำได้อย่างไม่ต้องเคอะเขินกระอักกระอ่วน เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนที่มีคู่รักเพศเดียวกัน คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

หากประเทศที่เราอยู่ หรือที่ทำงานมีวันหยุดทางศาสนาพุทธให้ เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนคริสต์ มุสลิม ฮินดู ฯลฯ คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

หากไปไหนมาไหนตอนกลางคืน ไม่ต้องระวังตัวตลอดเวลา ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามผู้หญิง คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

หากจะเดินทางไปโน่นมานี่ ทำธุระปะปัง เยี่ยมคนโน้นคนนี้ หรือไปกินไปเที่ยวได้อย่างตามใจตัวเอง ไม่ต้องวางแผนคิดให้มากว่าจะไปด้วยขนส่งสาธารณะแบบไหน ไม่ต้องเช็คเส้นทาง ไม่ต้องติดต่อใครล่วงหน้า เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนพิการทางสายตา หรือต้องนั่งรถเข็น หรือคนแก่ที่เริ่มหูตาฝ้าฟาง เดินไม่ถนัด ยืนก็ไม่ได้นาน คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

น่าสนใจว่า คนที่ได้เปรียบมักจะไม่รู้ตัวเองว่าได้เปรียบอะไรมากกว่าใครสักเท่าไหร่นัก และต่อให้รับรู้โดยการเปรียบเทียบกับคนที่เสียเปรียบกว่า ประโยคปกป้องตัวเองก็จะหลุดออกมาในรูปของการปฏิเสธเสียมากกว่า

บ้างอาจอุทานว่า “โอย ไม่ได้เปรียบอะไรมากมายหรอก ชีวิตยังลำบากจะตาย” โดยลืมไปว่า ถ้าชีวิตที่ได้เปรียบกว่ายังยากลำบากอยู่ ชีวิตที่เสียเปรียบคงยิ่งกว่ายากลำบากหลายเท่า

บ้างอาจจะพูดทำนองว่า “แล้วไงล่ะ มันเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องแสวงหาและพยายามกันเอาเอง ขี้เกียจก็ไม่เจริญหรอก” โดยลืมไปว่า การเกิดในครอบครัวยากจน พ่อแม่ไม่มีเงินส่งเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้หางานได้แค่อาชีพรับจ้าง รายได้ไม่มั่นคง หรือการเป็นผู้หญิง เป็นคนแก่ เป็นคนพิการ เกี่ยวอะไรกับความพยายามหรือขี้เกียจ

บ้างอาจจะบอกว่า “แหม ในสังคมของการแข่งขัน คนชนะคือคนได้เปรียบ” โดยลืมไปว่า โครงสร้างสังคมเดียวกันนี้แหละ ที่ทำให้ตนเองเป็นคนชนะ และคนอื่นเป็นคนแพ้ – ไม่มีใครที่มีโครงสร้างสังคมเป็นสมบัติของตนเองเฉพาะตัว

สังคมที่เหลื่อมล้ำมาก-มาก มักทำให้มีคนชนะไม่กี่คน และเต็มไปด้วยคนแพ้จำนวนมหาศาล แต่พวกคนแพ้มักจะเป็นมนุษย์ล่องหน ไร้ตัวตน ไร้ปากเสียง ไม่มีคนรู้จัก ไม่มีคนมองเห็นคุณค่าและความสำคัญ ส่งเสียงอย่างไรก็ไม่ดังพอที่จะมีใครได้ยิน

ความเหลื่อมล้ำของสังคมเปรียบได้กับความชันในการเดินขึ้นเขา คนที่มีต้นทุนชีวิตมาก (มีมรดก มีการศึกษา ร่างกายแข็งแรง) มีสัมภาระชีวิตน้อย (ไม่มีคนแก่ คนป่วย คนพิการ ที่ต้องดูแล) ก็ย่อมบรรลุถึงยอดเขาได้ง่ายและเร็วกว่าคนที่มีต้นทุนชีวิตน้อย (พ่อแม่จน ตัวเองเรียนน้อย มีโรคทางพันธุกรรม) มีสัมภาระชีวิตมาก (ต้องเลี้ยงลูก และหรือดูแลพ่อแม่ที่แก่หรือป่วยพิการ) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมให้เหลื่อมล้ำน้อยลง ก็คือการปรับเปลี่ยนความชันของภูเขาให้ลดน้อยลง เอื้อให้คนที่มีต้นทุนชีวิตน้อยและหรือสัมภาระชีวิตมากมีโอกาสเดินถึงยอดเขาได้มากขึ้นเหมือนคนอื่น

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม จึงเป็นคนละเรื่องกับการบอกให้คนแพ้/เสียเปรียบไปเพิ่มต้นทุนชีวิตหรือลดสัมภาระชีวิตของตนเอง และการลดความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างก็ไม่ใช่การทำให้คนชนะ/ได้เปรียบมีอุปสรรคมากขึ้นในการเดินขึ้นสู่ยอดเขา

การมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ติดอันดับ ๓ ของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกนี้ อาจกล่าวได้ว่า ก็ในเมื่อคนได้เปรียบมีต้นทุนชีวิตมากกว่า สัมภาระชีวิตน้อยกว่า จากโครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ก็คงไม่อาจหลีกเลี่ยงภารกิจที่จะต้องลงแรงหรือใช้โอกาสของการได้เปรียบในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่ อย่างน้อยก็คงต้องไม่น้อยหน้ากลุ่มเพื่อนที่กำลังเสียเปรียบกระมัง

การลดความชันของภูเขา หรือโครงสร้างสังคมที่เอื้อต่อคนที่มีต้นทุนชีวิตน้อย/สัมภาระชีวิตมาก-ได้มากขึ้น จำต้องอาศัยสายตาที่ละเอียดอ่อน มองให้เห็นว่าใครบ้างที่ยังเดินขึ้นเขาด้วยความยากลำบาก ใครบ้างที่ยังเสียเปรียบ เข้าไม่ถึงโอกาสบางอย่างที่เรามี ด้วยความแตกต่างหลากหลายของชีวิต และต้องมีหูใหญ่พอที่จะรับฟังคนเสียเปรียบที่เสียงดังน้อยกว่า ฟังให้ได้ยินความใฝ่ฝันและปรารถนาในชีวิตที่ดีกว่าเดิมเหมือนกับเรา

มีแต่การมองเห็นและได้ยิน จึงจะทำให้คนแพ้/ผู้เสียเปรียบในสังคมที่เหลื่อมล้ำปรากฏตัว และเสียงดังขึ้นในพื้นที่ของการกำหนดนโยบาย ไม่ถูกมองข้าม ไม่ถูกหลงลืม – เหมือนที่เคยเป็น

Back to Top