การพลิกตนไปมาระหว่างโลกคู่ขนาน



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 กันยายน 2560

ที่ผมเขียนหัวข้อนี้ จะเล่าว่ามันเกิดได้จริง ทำได้จริง และได้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมฝึกก่อนหน้านี้ คือการดำรงอยู่กับอาการปั่นป่วนต่างๆ (urges) มันเป็นอาการทางกาย ความรู้สึกแย่ที่ปรากฏในร่างกายของเรา แต่กาย ใจ ความคิด (หรือเรื่องราว) มีความผูกพันกันอย่างแยกไม่ออกหรือแยกยากมาก ดังฝรั่งบัญญัติคำว่า neurobiology โดยเอาเรื่องเซลล์ประสาทมาควบรวมอยู่กับชีวภาพ คือเอาสิ่งที่เกิดในร่างกายมาควบรวมกับอารมณ์และความคิดนั่นเอง

ปีเตอร์ เลอวีน (Peter A. Levine) บอกว่าทรอม่าเป็นอาการช็อกทางกาย คือร่างกายแช่แข็ง ถ้าร่างกายได้คลี่คลายออก ทรอม่าก็จะคลี่คลายและหายไปในที่สุด เหมือนกวางเจอเสือก็จะแกล้งตายหรือแช่แข็งตัวเอง ต่อเมื่อเสือจากไปแล้ว กวางจะสั่นทั้งตัวอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็ออกจากอาการช็อกได้อย่างสิ้นเชิง จนต่อมามีคนสร้างกระบวนการช่วยให้ร่างกายสั่นเพื่อใช้บำบัดทรอม่า เรียกว่า TRE (Tension & Trauma Release Exercises)

ส่วน The Little Book of Big Change ของเอมี่ จอห์นสัน (Amy Johnson) ผมได้เรียนรู้เรื่อง urges ว่าเมื่อเราดำรงอยู่กับมัน ไม่ปัดทิ้ง ไม่หลีกหนี ความปั่นป่วนเหล่านี้จะสามารถคลี่คลายได้


ต่อมา ได้เรียนรู้ที่จะแยก "เรื่องราว" (storyline) หรือหมวดความคิดออกไปได้ โดยแยกอาการทางกายกับความคิดออกจากกัน อุบายง่ายๆ คือวางความคิดหรือเรื่องราวไว้ก่อน หากเรายังคงคิดอยู่ ความคิดเหล่านั้นจะไปปั่นอาการทางกายให้เข้มข้นยิ่งขึ้นๆ หมุนวนอยู่ในหลุมดำ ทำให้เราหลุดออกมาได้ยาก

อาการทางกายแย่ๆ นี้ ด้านหนึ่งทำให้เรื่องราวหรือความคิดดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น มันมายืนยันว่าที่เราคิดเราเชื่อเช่นนั้น จริงมากถึงโคตรจริงเลย แล้วทำอย่างไรที่จะทำให้ความคิดเหล่านี้เป็นเท่าที่มันเป็น และมีอิทธิพลกับเราน้อยลง ทางหนึ่งน่าจะเป็นการลดอาการอันเข้มข้นทางกายลง

เราอาจจะคิดว่าการวางความคิดลงได้เป็นเรื่องยากมาก แต่จะบอกว่า เมื่อเราไปจับความปั่นป่วนในกายจุดใดจุดหนึ่งที่เข้มข้น มีพลังดึงดูดมากๆ กลับทำให้เราโฟกัสอยู่กับจุดนั้นได้ง่าย และนั่นคืออุบายของการเข้าสู่สมาธิ

จากประสบการณ์การนำพาคนกลับมาโฟกัสอาการทางกายนี้ ปกติ คนเราจะปฏิเสธความรู้สึกแย่ๆ ทางกาย และพยายามเบี่ยงเบนความสนใจไปทางอื่น เช่น ดูหนัง ฟังเพลง และรวมไปถึงการเสพติดต่างๆ

การน้อมนำคนให้โฟกัสอยู่ที่อาการทางกาย จึงเป็นเคล็ดวิชาอยู่สักหน่อย เราบอกเขาหรือเธอว่า เราไม่ปัดมันออกไปได้ไหม เรามาหัดเผชิญกับความยากๆ อยู่กับความปั่นป่วนทางกายได้ไหม มาเป็นนักวิทยาศาสตร์เฝ้าดูความเป็นไปของความปั่นป่วนนี้ได้ไหม และเราลองอ่อนโยนกับความปั่นป่วนนี้สักหน่อย ได้ผลครับ คนจะสามารถอยู่กับความปั่นป่วนทางกายนี้ได้ ทำให้ความปั่นป่วนค่อยๆ ลดความเข้มข้นลง จนกระทั่งไม่รู้สึกเลยร้ายสักเท่าไร

อธิบายได้ว่าเมื่อจิตจดจ่อติดตามอาการทางกาย (bodily sensations) จิตจะมีสมาธิอย่างเป็นธรรมชาติ ในทางสมอง สมองส่วนหน้าอันเกี่ยวข้องกับการตระหนักรู้ (awareness) ได้รับการกระตุ้นให้ทำงาน คือการออกจากพื้นที่สีเหลืองและกลับมายังพื้นที่สีเขียว อันได้แก่จิตเดิมแท้ ที่เป็นแกนของชีวิต แกนของปัญญาและความรัก แกนของพลังที่ชีวิตจะเยียวยาตนเองได้


เหตุเกิดกับภรรยา เวลาที่สีเหลืองสีแดงของเราปะทะกัน

เหตุการณ์ล่าสุดเป็นโอกาสอันวิเศษยิ่ง ทำให้ผมได้ภาวนาและสามารถสัมผัสการพลิกตนเข้าสู่โลกคู่ขนานต่างๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เวลาเราเอาจิตที่อยู่ในพื้นที่สีเหลือง* มาปะทะกัน และทำให้จิตของเราวิ่งไปมาในพื้นที่เหลืองแดง เรากำลังดำดิ่งในโลกใบหนึ่งอย่างเอาเป็นเอาตาย เราจะจริงจังกับการตีความสิ่งที่เกิดขึ้น จริงจังกับคำตัดสินที่เรามีต่อคู่ตรงข้าม อย่างมัวเมา ไม่อาจเห็นเป็นอื่นได้ การที่เราจะถอนตัวและพลิกตนออกไปจากโลกใบนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

แต่สำหรับกรณีของผมที่ค่อยๆ สะสมพลังความสามารถในการพลิกตนออกจากโลกใบนั้น จนกระทั่งเพียงพอที่จะพลิกตนเข้าออกไปมาได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น เห็นสมควรเขียนบอกเล่า เพื่อเป็นประโยชน์กับเพื่อนพ้องญาติมิตรทั้งหลาย


การสั่งสมพลังความสามารถในการพลิกตน

ผมได้ฝึกฝนการรับรู้ ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในกาย (urges) ต่างๆ โดยเวลาที่เกิดอารมณ์ลบ ความคิดลบ ผมจะกลับมาสังเกตอาการทางกายทุกครั้งไป ทำอยู่อย่างนี้บ่อยๆ ทำแล้วทำอีก ทำให้จิตละเอียดขึ้นเวลาสังเกตความปั่นป่วนในกาย

ต่อมา เริ่มเห็นว่าเมื่อเราดำรงอยู่กับความปั่นป่วนในกาย บางกรณีอาการปั่นป่วนจะค่อยๆ ซาลง จางคลายลง และสงบเงียบลงในที่สุด ท่วงทำนองของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของอาการทางกายเป็นเช่นนี้เอง ผมเลยฝึกฝนทำเรื่อยๆ ทำซ้ำๆ อยู่เช่นนี้

การฝึกฝนเช่นนี้ มีผลต่อความสามารถในการวางความคิด (เทียบได้กับสังขารในพุทธธรรม) เท่ากับเราฝึกฝนการวางความคิดไปในตัว

ในช่วงการฝึกเหล่านี้ ทำให้เราเริ่มเห็นเบาะแสของโลกคู่ขนาน

มันเป็นอย่างนี้ครับ เวลาอยู่ในพื้นที่สีเหลืองสีแดง ผมจะตัดสินภรรยาของผมอย่างรุนแรง และเชื่อจริงจังกับการตัดสินนั้นๆ และเมื่ออาการปั่นป่วนทางกายซาลง ความคิดความเชื่อก็จะแปรเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เหมือนกับว่าไม่มีร่องรอยความคิดลบนั้นๆ อยู่เลย มันเป็นไปได้อย่างไร นอกเสียจากว่ามันมีอยู่สองโลก และผมได้สามารถพลิกตนเองมาอยู่กับโลกอีกใบหนึ่งได้แล้ว


ฝึกฝนจนชำนาญ

ครั้งหลังๆ มานี้ เวลาผมเข้าสู่สีเหลืองแดงของการตัดสินภรรยา ผมสามารถดำรงอยู่ในความปั่นป่วนน้อยใหญ่ทางกายได้ทันที และเมื่อกายปั่นป่วนน้อยลง ผมวางความคิดต่างๆ ลงได้ ผมก็สามารถเห็นการพลิกกลับไปกลับมาของสองโลกอย่างแจ่มชัด และเรียนรู้การพลิกตนไปมาได้ดังใจปรารถนา

คือโลกที่ตัดสินภรรยา มันมีอาการปั่นป่วนทางกาย แต่ก็เป็นโลกที่บางลงไปมากแล้ว ไม่เข้มข้นเหมือนเมื่อก่อน และเราก็เห็นอีกโลกหนึ่งที่ซ้อนทับอยู่ในทันทีเช่นกัน เมื่อพลิกตัวเข้าไป อาการปั่นป่วนทางกายก็หายไปเลย ความคิดความเชื่อในภรรยาก็เปลี่ยนไปเป็นความเห็นอกเห็นใจ และเป็นความคิดความเชื่อบวกๆ ในตัวเธอได้ในทันทีด้วยเช่นกันอย่างน่ามหัศจรรย์

นี้แลคือการพลิกตนไปมาระหว่างโลกคู่ขนาน





* คำอธิบายพื้นที่ของจิตสามสี เขียว เหลือง แดง

สีเขียว เป็นแกนชีวิต แกนของจิตใจ คุณสมบัติหลักๆ คือปัญญาและความรัก (จะใช้คำว่า compassion ก็ได้) คือ จิตเดิมแท้ ความว่าง ภวังค์ จิตจักรวาล พระเจ้า ครูภายใน ไม่จำกัดสถานที่ ไม่ใช่เพียงเรา แต่เชื่อมโยงทั้งเอกภพ เป็นแก่นแกนที่ทำให้เราเยียวยาตนเองได้

สีเหลือง วงจรอัตโนมัติต่างๆ ของสมอง ห้วงทุกข์ที่ฝังเศษเสี้ยวความทรงจำกระจัดกระจายอยู่ในสมอง อวัยวะต่างๆ และร่างกายส่วนต่างๆ อนุสัย อัตวาทุปาทาน กลไกปกป้องทางจิตวิทยา ตัวตนต่างๆ ที่จิตสร้างขึ้นเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดทางจิตและทางกาย คือแยกจิตเป็นส่วนๆ ขังไว้ในห้องที่แยกออกจากกัน กลายเป็นตัวตนต่างๆ ที่เป็นชนวนพร้อมจะประทุระเบิดเป็นสีแดง คือทรอม่า

สีแดง การระเบิดออกของทรอม่าน้อยใหญ่ ฝีทุกข์ทางจิตที่ระเบิดออก ทุกข์ในอริยสัจสี่

Back to Top