จากเงินตราสู่การเฉลิมฉลองชีวิต

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 มกราคม 2549

เงินไม่ใช่ทุกสิ่ง และความสุขก็ไม่จำต้องมาจากการเสพ

เพื่อนคนหนึ่งเขียนมาว่า “พี่ชายคนหนึ่ง มาใช้แรงงานที่สิงคโปร์ตั้งแต่ลูกเล็กๆ จนลูกอายุ ๒๒ปี และลูกก็เสียคน เหมือนคนป่วย เป็นกระเทย ติดผู้ชาย ใช้เงินเยอะมาก

มันมีรายละเอียดในชีวิตมากกว่านั้น คือการใช้เงินหรือวัตถุเข้าไปชดเชยสิ่งอื่นในชีวิต มันทำให้การรับรู้ที่ละเอียดอ่อนของมนุษย์ขาดหายไป วัตถุมันกดทับภูมิต้านทานในชีวิตด้วย

ผมสนใจความเป็นพี่น้องในสังคมไทย มันช่วยเยียวยารักษาโรคเรื้อรังได้หลายโรค เมื่อก่อน พี่อีกคนหนึ่งดื่มเหล้าบ้าง เพราะคิดถึงครอบครัวที่เมืองไทย

หลังจากที่เราสนิทกันมาก ผมพูดกับพี่เขาบ่อยๆ ว่า “พี่เป็นพี่ชายผมนะ ผมเป็นห่วง...” พี่เขาก็รู้สึกอย่างนั้น (ปริญญาแพทย์ศาสตร์ ไม่ได้สอนเราใช่ไหม) ทุกวันนี้ พี่เขาไม่ดื่มเหล้า เวลาโทรกลับบ้าน ก็คุยกันรู้เรื่องดี”

เรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่า เราไม่เข้าใจเรื่องการเลี้ยงลูกกันเลย คนรุ่นที่ผ่านมา เวลานี้อายุสามสิบถึงหกสิบ เลี้ยงลูกด้วยการปรนเปรอทางวัตถุ มันเป็นการชดเชยอะไรบางอย่างที่เราก็ไม่รู้ว่าหายไป เวลากระมัง เราเอาเวลาของเราทั้งหมดไปแลกกับเงิน เราไปด่าโสเภณี ที่จริงการเอาชีวิตไปแลกกับเงิน แม้เราไม่ได้ขายเซ็กส์ แต่มันจะแตกต่างอะไรกันมากมาย ในเมื่อเราก็ได้ขายชีวิตของเราไป

ชีวิตเราจึงดำรงอยู่กับความน่าเบื่อหน่าย เราจึงต้องเสพ ต้องบริโภค นั่นหมายความว่าเราต้องหาเงินมากขึ้น ชีวิตเราจึงวนเวียนอยู่กับการหาเงินและการบริโภค พอมีลูกออกมา เราก็ปรนเปรอเขาด้วยการเสพต่างๆ ลูกเราก็เป็นแต่เสพ ความสามารถในการทำ ในการสร้าง ในการสัมพันธ์กับผู้คนก็หายไป ปากและท้องโตขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ทุกอย่างเล็กลีบลงหมด รูปร่างออกมาคล้ายๆ เปรตนั่นเอง หรือชีวิตเราทุกวันนี้เป็นเพียงเปรต ที่หวังจะเสพโดยไม่ต้องทำ ไม่ต้องสร้าง ไม่ต้องก่อสร้างสานฝันหรือแรงบันดาลใจอะไรให้เป็นจริง

เราจะเริ่มต้นอย่างไรที่จะแหวกออกมาจากการขายตัวขายวิญญาณเช่นนั้น โดยไม่ใช่แต่ขายตัวเอง โดยไม่รู้ตัว เราขายลูกเราออกไปด้วย ทำให้พวกเขาง่อยเปลี้ยเสียขา เสียแขนและมือ โดยทำอะไรไม่เป็น ได้แต่เสพ

เราจะเริ่มต้นอย่างไร?

เฉลิมฉลองชีวิต

หญิงสาวคนหนึ่ง มาเล่าให้ฟังในช่วงเคลิ้มฝันว่า เธอสร้างภาพไว้ในใจว่า ผู้ชายของเธอจะต้องหน้าตาแบบฝรั่งๆ แต่แล้ววันหนึ่ง ผู้ชายคนนั้นก็เข้ามาในชีวิตของเธอ หน้าตาเขาไม่เข้ากับภาพที่สร้างเอาไว้เลย อยู่กันมาหลายปี จนกระทั่งคืนวันหนึ่ง ก่อนนอนเธอจึงนึกเรื่องราวทั้งหมดออก ผู้ชายคนนี้หน้าตา เหมือนคุณตาของเธอนี่เอง ไม่เคยคิดมาก่อนเลย ใช่แล้ว หน้าตาเหมือนคุณตาของเธอนี่เอง คุณตาใจดีที่เธอรัก คุณตาที่อยู่กับเธอในวัยเด็ก สนับสนุนเธอทุกอย่างในเงามืดอย่างไม่แสดงตัว กลมกลืนอยู่ในทุกอย่างที่เป็นเธอ

เธอเพิ่งได้ดูหนังเรื่องหนึ่ง ชื่อ Final Cut นำแสดงโดย โรบิน วิลเลียม คนๆ นี้แสดงหนังให้คนคิดกันมากๆ และหนังเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ให้คนคิดกันมากๆ อีกเรื่องหนึ่ง จะไม่ลงรายละเอียดในเรื่องหนังที่เธอเล่า เพียงมีข้อสรุปหนึ่งจากหนังเรื่องนี้ว่า ความทรงจำของเราไม่ได้เป็นตัวประสบการณ์จริงเสมอไป พวกมันมักจะถูกตีความด้วยอคติของเราเสียแล้ว หรือว่าข้อเท็จจริงก็ไม่มี เพราะมันถูกตีความเสียก่อนเช่นนี้นี่เอง กระมัง

เธอคิดว่า อะไรที่เธอเคยคิดเคยเชื่ออย่างจริงจังก่อนหน้านี้ ช่างเป็นเรื่องตลกสิ้นดี สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ควรจะเป็น ไม่ได้มีที่ทางที่แท้จริงเลย มันล้วนเป็นเพียงความหมายที่เรากำหนด ให้ค่ากับสิ่งต่างๆ นั้นเอง ที่พบในการปะทุของญาณทัศนะครั้งนี้ก็คือ ถ้าเราดำรงตนอยู่ในปัจจุบันขณะ และพยายามไม่ตีความ เราจะพบกับความประหลาดใจเท่านั้น มันไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากความประหลาดใจ และยิ่งเข้าใจเรื่องราวในมุมมองเช่นนี้ ยิ่งเห็นเรื่องราวทั้งหมดเป็นความประหลาดใจทั้งสิ้น

ในความประหลาดใจนั้น สิ่งที่คิดว่าควรจะเป็น สิ่งที่คิดว่าจะต้องเป็นไป เป็นเพียงความโง่เขลาทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าความโง่เขลาเลย ผมหยอดไปว่า สมเด็จองค์ทะไลลามะคงจะพูดว่า ความประหลาดใจเหล่านี้ ก็คือความว่าง และความว่างคือความเป็นไปได้ที่อยู่เหนือการพยายามบังคับควบคุม เราอาจจะหล่อเลี้ยงดูแลเรื่องราวต่างๆ ได้ แต่เราบังคับควบคุมเรื่องราวต่างๆ ไม่ได้

เธอบอกว่า มันคือความเป็นไปของมันเช่นนั้น ทุกอย่างล้วนเป็นไปเองเช่นนั้น ผมว่าท่านพุทธทาสก็ชอบใช้คำว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง” หรือที่จริงก็คือคำ “ตถาตา” ของพระพุทธองค์
เมื่อเราหลุดออกจากการพยายามตีความ การให้ความหมาย เมื่อเรามีอิสระอย่างแท้จริงที่จะอยู่กับสิ่งต่างๆ ตามความเป็นไปของมัน เราได้ร่วมเฉลิมฉลองกับชีวิตแล้ว แต่มีอยู่กี่มากน้อยที่เราจะมีโอกาสเช่นนี้

ปลดปล่อยแรงบันดาลใจด้วยการสานฝัน

คำหลักที่จะเป็นประตูที่ปลดปล่อยเราออกจากกรงขังของบริโภคนิยมก็คือ “แรงบันดาลใจ”

ชีวิตที่ดำเนินไปในร่มเงาของแรงบันดาลใจ ก็คือชีวิตที่สามารถสานฝันได้ เชื่อในฝัน และกระทำตามฝัน ดำเนินชีวิตตามฝัน ชีวิตปัจจุบันเป็นชีวิตที่แล้งฝัน จึงแห้งผาก เหือดแห้ง ไร้พลัง เมื่อเป็นเช่นนั้น เราต้องเสพ บริโภคนิยมคือการเสพที่ไม่เคยอิ่ม ไม่เคยพอ เหมือนใครบางคนถามขึ้นว่า ทำไมคนบางคนจึงเสพอย่างไม่รู้จักพอ คำตอบก็คือชีวิตของพวกเขาแห้งแล้งจากฝัน ชีวิตของพวกเขาแห้งแล้งจากแรงบันดาลใจ

แรงบันดาลใจเป็นเหมือนกับแหล่งน้ำใต้ดินที่อยู่ลึกๆ ใสเย็น เมื่อเราสัมผัสถึงหรือเมื่อมันโผล่ขึ้นมาบนดิน มันคือน้ำพุแห่งชีวิต ความอยากเป็นอะไรที่สั้นๆ ไม่คงทน แต่แรงบันดาลใจจะไหลลึก ไหลนาน และทรงพลัง เมื่อเราค้นพบแรงบันดาลใจ ชีวิตจะมีความหมายและไม่เหือดแห้งพลังที่จะนำพาชีวิตไปข้างหน้า

Talking Self หรือ ไออาโก (ชื่อตัวละครในบทละครของเชกสเปียร์) จะมีแรงขับเคลื่อนของมันอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างจากแรงบันดาลใจโดยสิ้นเชิง มันมีความจริงอีกชุดหนึ่งอันโหดร้ายทารุณ ทำให้เราไม่ไว้วางใจต่อโลก ต่อจักรวาล เราจะไม่ไว้ใจใคร เหมือนกับว่าเราต้องอยู่แบบตัวใครตัวมัน เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงต้องหาวัตถุมาให้ความมั่นคงปลอดภัยต่อตัวเองและครอบครัวของเรา พวกเรา ประเทศเรา บริษัทเรา และอื่นๆ ที่เป็นของเรา เราต้องดำรงอยู่ท่ามกลางคนอื่นและพวกอื่นที่ไว้ใจไม่ได้ Talking Self มันไม่เชื่อเรื่องความประหลาดใจ ไม่เชื่อในความว่างและความเป็นไปได้ ไม่เชื่อในฝันและการสานฝัน มันเห็นว่าคนที่เชื่อเช่นนี้เป็นคนเพ้อเจ้อ ชีวิตจึงเหือดแห้ง ชีวิตจึงต้องบริโภคและสะสมเพื่อตัวเองและพวกของตัวเอง เพื่อความอยู่รอดของสัตว์ที่สมบูรณ์ที่สุด

แล้วเราจะเลือกทางไหนดี?

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ในยุคสมัยนี้ใครจะเชื่อว่า “ปาฏิหาริย์มีจริง” แต่ก็แปลกที่หนังสือและภาพยนตร์อย่างแฮรี่ พอตเตอร์ขายดีมาก หรือว่าในส่วนลึก มนุษย์ยังหวนหาปาฏิหาริย์

ผมอ่าน ชัมบาลา ภาคภาษาอังกฤษของเชอเกรียม ตรุงปะ ถึงวิธีเรียกมนตราแห่งความศักดิ์สิทธิ์ หรือสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ สองประเด็นแรก เขาพูดเรื่องการจัดพื้นที่รอบตัว เช่น จัดห้อง จัดบ้าน จัดที่ทำงาน คือสิ่งแวดล้อมรอบตัว และการแต่งกาย เมื่อสิ่งแวดล้อมและการแต่งกายเป็นไปอย่างมีระเบียบ สง่างาม เราก็มีความพร้อมที่จะเข้าสู่พื้นที่ของความศักดิ์สิทธิ์

ประเด็นที่สาม ก็คือเรื่องทางจิต เมื่อเตรียมกายภาพ คือทั้งสิ่งแวดล้อมและร่างกายของเราเรียบร้อย ที่เหลือก็คือการเตรียมเรื่องทางจิต การเพรียกมนตราแห่งปาฏิหาริย์ทางจิตนั้น ตรุงปะพูดถึงสองเรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก ก็คือเรื่องของการจัดการกับอหังการ์ หรือ “อัตตา” เพราะอัตตาหรืออหังการ์เป็นอุปสรรคต่อการเรียกความศักดิ์สิทธิ์หรือการสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เราสามารถจัดการหรือชำแรกอหังการ์ได้ด้วย “ความอ่อนโยน” หรือ “ความรัก” เมื่อเรามีความอ่อนโยน เราจะสร้างพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาได้

เรื่องที่สอง ก็คือเรื่องของการจัดการกับวิถีแห่งความคุ้นชิน แบบแผนที่เราคุ้นชิน ไม่ว่าจะเป็นความคิด อารมณ์ความรู้สึก หรือพฤติกรรม ที่เราจะทำไป ทำไป อย่างเป็นอัตโนมัติ อย่างหลับใหล ไม่ได้ตื่นรู้ สิ่งที่จะมาขัดลำกับแบบแผนแห่งความคุ้นชินนี้ก็คือ “การตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน” การตื่นขึ้นย่อมอยู่ตรงกันข้ามกับความหลับใหล

เพราะฉะนั้น การเข้าสู่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางจิต จะต้องผ่านความอ่อนโยนและการตื่นรู้ อย่างสามารถดำรงอยู่ในปัจจุบันได้

เพราะในรักหรือความอ่อนโยน ความกลัวและความวิตกกังวลจะไม่มีที่ตั้งอยู่ได้ หรือในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่มีความกลัวและความวิตกกังวลอยู่ สิ่งเหล่านั้นจะปลาสนาการไปเอง ด้วยฤทธาแห่งความอ่อนโยนและการตื่นรู้อยู่ในปัจจุบันนั้น

การตื่นรู้จะหล่อเลี้ยงความอ่อนโยน และความอ่อนโยนจะหล่อเลี้ยงการตื่นรู้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะสามารถดำรงอยู่ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ได้ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตจึงสามารถเฉลิมฉลองชีวิตได้ตลอดเวลา ใช่หรือไม่?

Back to Top