สังฆะแห่งความสุข

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 มกราคม 2549

แนวคิดที่น่าสนใจของ ติช นัท ฮันห์ แนวคิดหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของท่านพุทธทาส ก็คือแนวคิดว่าด้วย “สังฆะ”

สังฆะในที่นี้หมายถึง ชุมชน หรือกลุ่มกัลยาณมิตรที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทางธรรม

ชุมชนประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน หากปราศจากความสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว ย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นชุมชน ด้วยเหตุนี้ กลุ่มคนจำนวนมากที่ยืนรวมกันอยู่ตรงป้ายรถเมล์ หรือผู้คนที่เข้าชมภาพยนตร์รอบเดียวกัน จึงไม่อาจนับเป็นชุมชนได้

ขณะเดียวกัน หากความสัมพันธ์นั้นนำไปสู่อบายภูมิ เป็นต้นว่า รวมหัวกันฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นสังฆะ เพราะสังฆะจำต้องประกอบด้วยธรรม มีกัลยาณมิตรที่เอื้อเฟื้อชี้แนะให้เห็นความบกพร่องและแสดงหนทางอันถูกต้อง ในหมู่พาลชนย่อมบังเกิดสังฆะไม่ได้

การกำเนิดของกลุ่มสังฆะแห่งสติในปีพ.ศ. ๒๕๔๖ และกลุ่มสุขวิหารในปีพ.ศ. ๒๕๔๘ ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นในพลังแห่งสังฆะ

ผู้คนสามัญธรรมดาเหล่านี้ มีทั้งแม่บ้าน ข้าราชการ นักธุรกิจ อาสาสมัครเพื่อสังคม ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีจริตความสนใจเกี่ยวกับการพัฒนาคุณค่าด้านใน ตระหนักถึงความสำคัญของการยกระดับจิตใจและหรือจิตวิญญาณเพื่อธำรงเนื้อหาสาระอันเป็นความหมายของชีวิต

กัลยาณมิตรเหล่านี้มารวมตัวกันเดือนละครั้งสองครั้งอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเพื่อภาวนาร่วมกัน พบกันที่พุทธมณฑลบ้าง เรือนร้อยฉนำที่คลองสานบ้าง กิจกรรมในการภาวนามีหลากหลาย เป็นต้นว่า นั่งสมาธิ เดินเล่นผ่อนคลายด้วยความเบิกบาน รับประทานอาหารอย่างมีสติ ผ่อนพักตระหนักรู้ รายงานสภาพอากาศของชีวิตในช่วงที่ผ่านมา และรดน้ำเมล็ดพันธุ์ให้ซึ่งกันและกัน

บางครั้งบางคราก็มีนักบวชเข้าร่วมด้วย ท่านมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี) แห่งวัดเบญจมบพิตร ก็เน้นย้ำบ่อยครั้งว่าพระภิกษุสงฆ์จำต้องเรียนรู้จากฆราวาสเช่นเดียวกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพระสูตรจากพระไตรปิฎกก็เป็นการสร้างวัฒนธรรมสานเสวนาอย่างใหม่ขึ้นระหว่างวัดและบ้าน เป็นไปด้วยกิริยาอาการถ้อยทีถ้อยอาศัย ฝึกฝนการฟังอย่างลึกซึ้งบนหนทางแห่งหัวใจนักปราชญ์ และเต็มไปด้วยอาการแห่งความกรุณา

การภาวนาของกัลยาณมิตรกลุ่มนี้มิได้มีขึ้นเฉพาะวันนัดพบเท่านั้น หากถือเอาชีวิตของตนเป็นการภาวนาเสียด้วยซ้ำ การพบปะเป็นการหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์แห่งมิตรภาพ แบ่งปันประสบการณ์การประยุกต์ใช้หลักธรรมในชีวิตประจำวันของตน ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน ใช้จักษุปัญญาร่วมกัน เพื่อค้นพบปัญญาญาณในตนเอง

ผู้คนในสังฆะมิได้ปรารถนาจะก่อตั้งเผ่าพันธุ์มนุษย์แบบใหม่ที่แปลกแยกไปจากโลกและสังคม หากแต่ตระหนักรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงจำต้องเริ่มจากตนเอง และเนื่องจากมนุษย์ทุกคนยังสัมพันธ์เชื่อมโยงกับโลกและสังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงตนเองก็คือการเปลี่ยนแปลงโลกและสังคม ไม่ได้แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เป็นความเชื่อมโยงตามหลักอิทัปปัจจยตาและเป็นเช่นเดียวกับที่ฝรั่งอธิบายไว้ในทฤษฎีผีเสื้อกระหยับปีกนั่นเอง

มนุษย์ทุกผู้ย่อมเกลียดทุกข์รักสุข หากการมีชีวิตอยู่เป็นความทุกข์ มนุษย์ย่อมไม่รู้สึกว่าชีวิตเป็นสิ่งที่มีความหมาย การรวมกลุ่มสังฆะหรือการภาวนามีคุณประโยชน์หรือความหมายต่อชีวิตเพียงไร ความสุขย่อมเป็นดรรชนีชี้วัดได้ชัดเจนมากที่สุด

สิ่งที่ผู้คนในสังฆะแห่งสติและกลุ่มสุขวิหารให้ความสนใจค่อนข้างมากก็คือเรื่องของความสุขที่แท้ ความสุขที่แท้ไม่ใช่ความสุขประเดี๋ยวประด๋าว หัวเราะหัวใคร่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ความสุขที่แท้เป็นเป็นความพึงพอใจ เป็นความเรียบง่าย เป็นสันติภาวะภายใน

มนุษย์แต่ละคนย่อมมีสุขวิหารภายในตัว เราอาจสร้าง หล่อเลี้ยง ดูแลสุขวิหารภายในตน เมื่อพบกับความสุข รังสีแห่งความสุขย่อมแผ่กำจายออกมาโอบกอดคนรอบข้าง แผ่ขยายออกไปยังสังคม โลก และจักรวาล ด้วยเหตุนี้ ความสุขจึงมิใช่เรื่องส่วนเฉพาะตัวของปัจเจกบุคคล การเข้าถึงสุขวิหารย่อมเป็นการหลอมละลายตัวตนเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับโลก สันติภาพภายในของเราก็คือสันติภาพของโลก ความสุขของเราก็เกี่ยวโยงอย่างแนบแน่นกับความสุขของโลก

แน่ล่ะ! การเข้าถึงความสุขที่แท้มิได้หมายถึงการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับความทุกข์ ไม่ใช่ว่าผู้ที่อยู่ในสังฆะจะไม่รับรู้ถึงความทุกข์ของบุคคลอื่น เขาย่อมมองเห็นความทุกข์ของพี่น้องมุสลิมทางภาคใต้ มองเห็นความทุกข์ของพี่น้องพม่า เขมร ลาว เวียดนาม อันเกิดจากอยุติธรรมของประเทศที่มีกำลังมากกว่ามาเบียนเบียด มองเห็นความเจ็บปวดของรุกขเทวดา แม่คงคา และแม่โพสพ ที่เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบแม่โลกอย่างน่าอดสู มองเห็นความทุกข์อันมีรากเหง้ามาแต่บรรพบุรุษที่กำลังส่งต่อไปให้ลูกหลานที่ยังไม่ได้ถือกำเนิด แต่การมองเห็นของเขานั้นย่อมพ้นไปจากอำนาจของความโกรธเกลียด และเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา

หากตกอยู่ในร่องอารมณ์แห่งความโกรธเกลียด แม้จะเป็นความโกรธเกลียดที่มีต่อผู้ที่เรามองเห็นว่าเป็นคนเลวร้ายฉ้อฉล สิ้นไร้หิริโอตตัปปะทั้งโคตรตระกูล มิช้ามินานนัก อารมณ์ด้านลบเหล่านี้ย่อมกัดกร่อนทำลายตัวเรา ทั้งยังอาจสั่งสมเป็นระเบิดเวลาทำร้ายคนรอบข้าง ภายใต้เงื่อนไขจิตใจเช่นนี้ ปัญหาที่แท้ย่อมไม่ได้รับการแก้ไข ความสุขที่แท้ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้

สังฆะนั้นอาจเปรียบได้กับชุมชนแนวปฏิบัติ Community of Practice – CoP ตามทฤษฎีการจัดการความรู้แบบตะวันตก ซึ่งเชื่อว่าความรู้บางอย่างไม่อาจถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือหรือเอกสารได้ จำต้องส่งผ่านคนต่อคน แต่แนวความคิดเรื่องสังฆะของ ติช นัท ฮันห์ และท่านพุทธทาสนั้นครอบคลุมมิติทางจิตวิญญาณไว้ด้วย นับว่าล้ำหน้าฝรั่งไปหลายช่วงก้าวทีเดียว

กลุ่มปัจเจกนิยมแบบสุดโต่งมักจะรู้สึกเหนื่อยล้าและระโหยโรยแรงเกินกว่าจะลุกขึ้นมาต้านทานอวิชชาในกระแสสังคมร่วมสมัย แต่หากปัจเจกบุคคลเหล่านี้มองเห็นคุณค่าของกัลยาณมิตร มีอุปายโกศลในการเล่นพรรคเล่นพวกอย่างสร้างสรรค์ พลังกลุ่มของผู้คนอันน้อยนิดนี้แหละจะช่วยขับเคลื่อนโลกให้เข้าสู่ยุคของพระศรีอาริย์ได้

สังฆะแห่งสติและกลุ่มสุขวิหารเป็นตัวอย่างอันดีของสังฆะแห่งความสุข เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า จิตวิวัฒน์เป็นสิ่งที่ผู้คนทุกลำดับชั้นเข้าถึงได้ เป็นสิ่งสากล มิได้จำกัดอยู่เฉพาะชนชั้นนำทางปัญญาเท่านั้น การสร้างสังฆะแห่งความสุขก็คือการเดินทางเข้าไปสัมผัสกับความสุขภายในตนเองและแผ่ขยายเชื่อมโยงกับโลกและจักรวาลนั่นเอง

Back to Top