เปลื้องใจให้เป็นไทจากความคิด

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 มีนาคม 2549

ความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งของมนุษย์ คือ การคิด เราคิดได้เก่งและซับซ้อนพิสดารอย่างไม่มีสัตว์ใดเทียบได้ เราสามารถใช้ความคิดเพื่อจัดการธรรมชาติ รวมทั้งสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มากมาย กล่าวได้ว่าความคิดเป็นเครื่องมือที่สำคัญของมนุษย์ในการดำรงชีวิตและสร้างโลก แต่ใช่หรือไม่ว่าบ่อยครั้งเราก็เผลอปล่อยให้ความคิดขึ้นมาเป็นนายเรา และสั่งให้เราทำตามบัญชาของมัน เวลาเกลียดใครก็ตาม เมื่อความคิดสั่งให้เราด่า เราก็ด่าตามคำสั่งของมัน เมื่อความคิดสั่งให้เราทำร้าย เราก็ทำร้ายตามคำสั่งของมัน คนจำนวนไม่น้อยตกเป็นทาสของความคิดจนนอนไม่หลับ แม้ใจอยากจะหลับ แต่ถ้าความคิดยังไม่ต้องการหลับ เราก็หลับไม่ได้ จนกว่ามันจะหยุดคิดหรือเหนื่อยไปเอง

ความคิดนั้นเกิดจากการปรุงแต่งของเราก็จริง แต่ทันทีที่มันเกิดขึ้น มันก็ดูเหมือนจะมีชีวิตของมันเอง มันพยายามที่จะดำรงคงอยู่ให้ได้นานที่สุด ด้วยการกระตุ้นให้เราหวนคิดถึงมันบ่อยๆ และนานเท่าที่จะนานได้ ยิ่งคิดถึงมัน มันก็ยิ่งเติบใหญ่และเข้มแข็ง เช่นเดียวกับกองไฟซึ่งโหมไหม้และแรงกล้าขึ้นเรื่อยๆ หากมีคนเติมเชื้อให้มันอยู่เสมอ ใช่แต่เท่านั้นมันยังต้องการ “แพร่พันธุ์” ไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เวลาเรานึกคิดเรื่องอะไรได้ขึ้นมาก็ตาม เราจึงอยากเผยแพร่ความคิดนั้นให้คนอื่นได้รับรู้ เริ่มจากการบอกเล่าจากปากต่อปาก ส่งอีเมล เขียนบทความ ไปจนถึงเขียนหนังสือเป็นเล่ม เท่านั้นยังไม่พอ มันยังต้องการการปกป้องคุ้มครองจากเราด้วยเพื่อที่มันจะได้มีชีวิตยืนนานและแพร่พันธุ์ได้ไม่จบสิ้น ดังนั้นมันจึงสั่งให้เราโต้เถียงหักล้างเหตุผลของคนที่คิดต่างจากเรา ยิ่งไม่เห็นด้วยกับความคิดของเรามากเท่าไร เรายิ่งต้องออกแรงทุ่มเถียงมากเท่านั้นเพื่อเอาชนะคะคานให้ได้ โดยอาจไม่คำนึงด้วยซ้ำว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อให้ความคิดของเราผงาดต่อไปได้ และยิ่งเป็นอมตะได้ก็ยิ่งดี

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนจะทำร้ายหรือรบราฆ่าฟันกันเพียงเพื่อปกป้องและเผยแพร่ความคิดของตน ไม่ว่าจะเป็นความคิดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับทีมฟุตบอลที่ตนโปรดปราน ไปจนถึงความคิดใหญ่ๆ ที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองหรือศาสนา บ่อยครั้งผู้คนที่ทำร้ายกันก็มิใช่ใครอื่น หากเป็นพี่น้อง มิตรสหาย เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนร่วมชาติ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมนุษยชาติไม่เคยขาดการรบพุ่งทำสงครามกันเพียงเพราะมีความคิดเห็นที่ต่างกัน ความคิดนั้นมีอานุภาพและอำนาจเหนือมนุษย์อย่างไม่อาจประมาทได้เลย

อะไรทำให้ความคิดมีอานุภาพต่อมนุษย์ปานนั้น เหตุผลสำคัญประการหนึ่งได้แก่ความยึดติดถือมั่นจนลืมตัว ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า “อุปาทาน” นั่นเอง การที่คนเราจะเห็นด้วยหรือสนับสนุนความคิดใดนั้น เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งเสียหาย แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเราเกิดยึดติดถือมั่นในความคิดนั้นๆ (ทิฏฐุปาทาน) จนทนไม่ได้กับความคิดที่เห็นต่าง จริงอยู่ตอนที่สมาทานความคิดนั้นใหม่ๆ เราอาจเห็นว่าเป็นความคิดที่ดีและถูกต้อง แต่ถ้าเผลอไปเมื่อไร ก็จะมีอัตตาหรือตัวตนเข้าไปผูกติดกับความคิดนั้น เกิดความยึดมั่นสำคัญหมายในความคิดนั้นว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ถึงตรงนี้ก็จะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของความคิดนั้น (หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นคือกลายเป็นทาสของความคิดนั้น) จากเดิมที่สมาทานความคิดนั้นด้วยเหตุผลเพราะว่าเป็นความคิดที่ “ถูกต้อง” ก็เปลี่ยนมาเป็นเพราะว่าความคิดนั้นเป็น “ของกู” ทีนี้ก็จะไม่สนใจแล้วว่าความคิดของคนอื่นนั้นถูกต้องหรือไม่ แต่จะสนใจแค่ว่าเป็นความคิดที่ “ถูกใจ” ตนเองหรือไม่ ถ้าไม่ถูกใจ แม้จะถูกต้องหรือมีเหตุผล ก็ไม่รับฟัง หรือยิ่งกว่านั้นคือเห็นเป็นศัตรูที่ต้องจัดการ เช่น กล่าวร้าย ประณาม ปิดปาก ไปจนถึงทำร้าย จากเดิมที่ใช้เหตุใช้ผล ก็กลายมาเป็นการใช้อารมณ์หรือความรู้สึก อัตตาเข้ามาแทนที่ปัญญา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือกลายเป็นการยึดติดถือมั่นด้วยกิเลส มุ่งที่การแพ้-ชนะเป็นสำคัญ ไม่สามารถมองเห็นอะไรที่เกินเลยไปกว่านั้นได้ ทั้งๆ ที่มีความสำคัญมากกว่า

เมื่อยึดติดถือมั่นกับความคิดจนเห็นเรื่องแพ้-ชนะเป็นสิ่งสำคัญแล้ว อันตรายก็เกิดขึ้นทันที เพราะมันสามารถผลักดันให้เราทำอะไรก็ได้เพียงเพื่อให้ “ความคิดของกู” เป็นผู้ชนะ ซึ่งแม้จะลงเอยว่า “ความคิดของกู” เป็นผู้ชนะ แต่ “กู” หรือผู้กระทำกลายเป็นผู้แพ้ก็ได้ หลายปีก่อนในสหรัฐอเมริกามีการชุมนุมประท้วงหน้าคลินิกทำแท้งแห่งหนึ่ง ผู้ประท้วงซึ่งเรียกตัวว่าเป็นผู้เชิดชูชีวิต (pro-life) เห็นว่าการทำแท้งนั้นเป็นการทำลายชีวิตซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าประทานมา ในขณะที่ผู้ที่สนับสนุนการทำแท้งนั้นเห็นว่าเป็นสิทธิที่ผู้หญิงสามารถเลือกได้เพราะเป็นเจ้าของร่างกายของตนเอง ฝ่ายประท้วงพยายามปิดล้อมคลินิกเพื่อขัดขวางมิให้ผู้หญิงเข้าไปทำแท้ง แต่ไม่สำเร็จ เพราะกฎหมายในรัฐนั้นอนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ ผู้ประท้วงคนหนึ่งโกรธแค้นมาก ถึงกับบุกเข้าไปในคลินิกและชักปืนยิงหมอและพยาบาลในนั้นจนถึงแก่ความตาย แม้การกระทำดังกล่าวสามารถยุติการทำแท้งได้ (ชั่วระยะหนึ่ง) สมใจผู้ประท้วงก็จริง แต่ก็ทำให้ผู้ประท้วงกลายเป็นฆาตกรซึ่งต้องรับโทษหนัก

อะไรทำให้ “ผู้เชิดชูชีวิต” กลับกลายเป็น “ผู้ทำลายชีวิต” หากไม่ใช่เป็นเพราะความยึดติดถือมั่น เมื่อยึดติดถือมั่นในความคิดว่าชีวิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันละเมิดมิได้ ก็ง่ายที่จะมองเห็นผู้สนับสนุนการทำแท้งเป็นคนเลวร้าย ดังนั้นจึงสมควรที่จะถูกฆ่า ผลก็คือผู้เชิดชูชีวิตกลับทำอย่างเดียวกับ (หรือร้ายแรงกว่า) คนที่ตนเองประณาม

เมื่อเรายึดติดถือมั่นกับอะไรก็ตาม มีโอกาสง่ายมากที่เราจะทำตรงข้ามกับสิ่งที่เรายึดมั่น ที่วัดป่าแห่งหนึ่งมีชาวบ้านนิยมมาเก็บเห็ด หนักเข้าแม้กระทั่งเห็ดที่ยังโตไม่ได้ที่ก็ถูกเก็บไปด้วย แม่ชีไม่พอใจมากเพราะนอกจากจะเสียของแล้ว ยังเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงคนอื่นที่มาทีหลัง แม่ชีพยายามขอร้องชาวบ้านว่าอย่าทำเช่นนั้น แต่ก็ไม่ได้ผล วันหนึ่งขณะที่แม่ชีกำลังหาเห็ดเพื่อไปทำอาหารถวายพระ เห็นเห็ดเกิดขึ้นเป็นกลุ่ม แต่ยังโตไม่ได้ที่ ทีแรกก็เดินผ่านไป แต่พอนึกได้ว่าถ้าคนเห็นแก่ตัวมาเห็นเข้าก็จะต้องเก็บเอาไปแน่ แม่ชีต้องการขัดขวางคนพวกนี้ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ในที่สุดก็นึกขึ้นมาได้ แม่ชีตรงเข้าไปถอนเห็ดเล็กๆ นั้นเสียเอง แล้ววางไว้ที่เดิม หมายจะสั่งสอนพวกนั้นว่า “ทีหลังอย่าทำๆ ”

แม่ชีต้องการเอาชนะชาวบ้านที่ชอบถอนเห็ดที่ยังเล็ก แต่แล้วในที่สุดก็กลับทำอย่างเดียวกับคนเหล่านั้น ทั้งๆ ที่สวนทางกับความคิดดั้งเดิมของตนเอง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?

ความยึดติดถือมั่นทำให้เราลืมตัวได้ง่าย รวมทั้งลืมสิ่งอื่นๆ หมด เพียงเพื่อจะเอาชนะ นี้คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ที่สนับสนุนและต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่ในขณะนี้ ลูกทะเลาะกับพ่อแม่ สามีทะเลาะกับภรรยา เพื่อนทะเลาะกับเพื่อน เพียงเพื่อยืนยันและปกป้องความคิดของตน แต่ผลที่ตามมาคือสายสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน เราลืมไปว่าสักวันหนึ่งคุณทักษิณก็ต้องไป (จะด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่) แต่เราทุกคนก็ยังจะต้องอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน ร่วมสำนักงานเดียวกัน และร่วมประเทศเดียวกันไปอีกนาน จริงอยู่ทุกคนต้องมีจุดยืนทางความคิด แต่ไม่ควรให้ความคิดนั้นมาเป็นใหญ่จนกลายเป็นนายเรา และสั่งให้เราทำอะไรตามใจมันโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับสายสัมพันธ์ระหว่างคนใกล้ชิด หรือกับความสงบสุขในบ้านเมือง

ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านใคร ก็ไม่ควรมองผู้ที่เห็นต่างเป็นศัตรู คนที่เห็นต่างจากเราถึงอย่างไรก็มิใช่คนเลว คนดีก็มีสิทธิเห็นต่างจากเราได้ เราลืมไปแล้วหรือว่าคนที่เห็นต่างจากเราในวันนี้ เมื่อวานนี้เขาก็เคยเห็นเหมือนกับเรา (เช่น ต่อต้าน รสช. รวมกำลังกู้ภัยสึนามิ) และวันพรุ่งนี้ก็อาจจะเห็นเหมือนกับเราอีก เมื่อมองให้ไกลและไม่ติดจมอยู่กับความขัดแย้งขณะนี้ จะพบว่าไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะทุ่มเถียงหรือทะเลาะวิวาทกันอย่างเอาเป็นเอาตายจนตัดญาติขาดมิตรกัน

อย่ายึดติดถือมั่นกับความคิดใดมากเกินไป ปล่อยวางความคิดนั้นๆ เสียบ้างด้วยการหันไปสนใจกับเรื่องอื่น แทนที่จะเอาแต่ครุ่นคิดว่าคุณทักษิณจะอยู่หรือไป ควรเอาใจไปอยู่กับงานการและกิจวัตรประจำวัน รวมทั้งมีเวลาให้กับคนใกล้ชิดบ้าง ถึงเวลาพักผ่อนก็พักผ่อนอย่างเต็มที่ เอาคุณทักษิณออกไปจากใจบ้าง จิตใจจะได้หายอึดอัด โปร่งโล่ง ผ่อนคลาย ข่าวสารแม้จะควรติดตาม แต่อย่าเสียเวลากับมันจนไม่เป็นอันทำอย่างอื่น ถ้ารู้สึกเครียดขึ้นมา ลองทำใจให้สงบด้วยการน้อมจิตอยู่กับลมหายใจเข้าและออก พร้อมกับนับจาก ๑ ถึง ๑๐ ไปด้วยก็จะดี

ที่สำคัญก็คือพยายามมีสติรู้ทันความคิดอยู่เสมอ อย่าให้ “ตัวกูของกู” เข้ามาพัวพันจับจองความคิด จนคิดแต่จะเอาชนะอย่างเดียว เพราะในท้ายที่สุด “มาร” หรือกิเลสต่างหากที่ชนะ หาใช่เราไม่

Back to Top