เลิกถือพุทธ

โดย วิจักขณ์ พานิช
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2549

(๑)

ในอดีต ดินแดนทางตะวันออกอย่าง อินเดีย ศรีลังกา พม่า ลาว สยาม เนปาล หรือธิเบต ต่างคือเป้าหมายของการเดินทางแสวงหาทางจิตวิญญาณของชาวตะวันตก แต่ด้วยเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนไป ประเทศในแถบเอเชียที่ว่าต่างก็ค่อยๆ สูญเสียประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม สู่การดำเนินรอยตามลัทธิบริโภคนิยม การค้าเสรี และการบูชาความมั่งมีทางวัตถุ จนวิถีการปฏิบัติทางจิตวิญญาณได้ค่อยๆ เลือนหายไปจนเกือบจะหมดสิ้น การรุกรานธิเบตของกองทัพจีนดูเหมือนจะเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ได้ส่งสัญญาณถึงวิกฤตการณ์การล่มสลายของอารยธรรมทางจิตวิญญาณอันยากจะเรียกกลับคืนมาได้เหมือนเก่า

หันกลับมาดูที่สังคมไทยเรา วิถีพุทธที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของทุกชุมชนกำลังค่อยๆ หมดความสำคัญลง อย่างวัดวาอารามที่เคยเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและการฝึกฝนทางจิตวิญญาณของผู้คนในชุมชน ปัจจุบันก็ได้กลายเป็นเครื่องมือให้กับลัทธิวัตถุนิยมและบริโภคนิยม พื้นที่ป่าที่เคยมีถึงกว่า ๘๐ เปอร์เซนต์ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ได้ถูกทำลายลงจนเหลือไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซนต์ ส่งผลกระทบถึงสายพระป่าที่เคยเป็นความหวังสุดท้ายของสายการปฏิบัติที่มีชีวิต ให้กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตของการสูญสิ้นอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน

แม้สัญญาณเตือนเหล่านี้ดูจะดังขึ้นเรื่อยๆ แต่ดูเหมือนว่าน้อยคนนักที่จะตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อย่างน้อยภาพของสถาบันทางศาสนา วัดวาอาราม และพระนักบวชที่ยังเห็นได้เกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง ก็พอที่จะอำพรางเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อมถอยไปได้อีกระยะ คนส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะ “ถือพุทธ” ภูมิใจในนามความเป็นชาวพุทธ การมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ พระนักบวชที่ยังสามารถสวดในงานพิธี เสริมสร้างสิริมงคลในโอกาสต่างๆ กับหนังสือธรรมะและพระเครื่องที่ยังมีให้ซื้อหากันได้ไม่ขาดตลาด

แต่กระนั้น เมื่ออำนาจแห่งอาณาจักรได้ครอบงำพลังสร้างสรรค์ทางปัญญาแห่งธรรมจักรจนหมดสิ้น และเมื่อวงล้อแห่งธรรมจักรขาดเชื้อเพลิงแห่งการฝึกฝนตนเองของปัจเจก จนกลับกลายเป็นกลไกทางอำนาจให้กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เมื่อนั้นธรรมจักรก็ไม่สามารถทำหน้าที่ขับเคลื่อนพลังทางปัญญาให้แก่อาณาจักรได้อีกต่อไป มีเพียงอัตตาของความเป็นพุทธแต่เพียงเปลือกที่กำลังปั่นวงล้อแห่งความอหังการ นำความเสื่อมถอยทางจิตวิญญาณให้แผ่ซ่านไปทั่วทุกหัวระแหง

พลังทางปัญญา คือพลังแห่งการเรียนรู้ที่มีชีวิต การเรียนรู้ด้วยปัญญา คือการเรียนรู้ที่ออกมาจากจิตใจที่ถูกฝึกฝน อันเต็มไปพื้นที่ว่างแห่งการเรียนรู้ พื้นที่แห่งจิตที่ว่างนั้นจะนำมาซึ่งความอ่อนน้อมถ่อมตนในการเปิดรับฟังเสียงแห่งความทุกข์จากผู้คนรอบข้าง ตรงข้ามกับพลังแห่งความอหังการ ที่แผ่ซ่านออกมาจากจิตใจอันคับแคบและหยาบกระด้าง เต็มไปด้วยความหยิ่งผยองและความอวดดี แม้จะมีความรู้ทางหลักการเวียนว่ายอยู่เต็มหัวก็ตามที

เป็นความจริงที่ว่าปัญญาจะนำมาซึ่งความรู้ แต่หากความรู้นั้นถูกตัดขาดจากกระบวนการเรียนรู้จนกลายเป็นความรู้ที่ไม่มีชีวิต สิ่งที่กำลังถูกถ่ายทอดออกมาก็หาใช่พลังแห่งปัญญา คงเป็นได้เพียงแค่“อหังการของผู้รู้” เพียงเท่านั้น

(๒)

ท่ามกลางความเสื่อมถอยในโลกทางจิตวิญญาณของสังคมตะวันออก การแสวงหาคุณค่าทางจิตวิญญาณในสังคมตะวันตกเป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในโลกศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตัวของผู้คนกลุ่มเล็กๆ ที่ได้เปิดรับที่จะเรียนรู้ และฝึกฝนตนเองตลอดช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันสังฆะของผู้ปฏิบัติธรรมได้ผุดขึ้นทั่วทุกหัวเมืองใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตำรับตำรามากมายได้ถูกแปลและถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาอังกฤษ อีกทั้งปรากฎการณ์ของผู้คนที่มีความสนใจในการปฏิบัติภาวนามากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ช่วงเวลาสี่ปีที่ผ่านมาที่ผู้เขียนได้ใช้เวลาศึกษาพุทธศาสนาในประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นดินแดนที่มีความเสื่อมถอยทางจิตวิญญาณอย่างเลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กับเพื่อนผู้ปฏิบัติผู้เรียกตัวเองว่า “ผู้ไม่มีประสบการณ์” หรือ “ผู้ไม่รู้” กลับทำให้ผู้เขียนตระหนักว่า วงล้อธรรมจักรกำลังถูกหมุนอย่างช้าๆ ด้วยการฝึกฝนตนเองของกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ในอเมริกา จนพลังทางปัญญาที่มีชีวิตได้ค่อยๆ ถักทอเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้หันมาฝึกฝนปฏิบัติธรรมกันมากขึ้นเรื่อยๆ แม้วัฒนธรรมตะวันตกจะไม่เอื้อต่อการก่อตัวของชุมชนสงฆ์เหมือนอย่างในบ้านเรา แต่การฝึกฝนของฆราวาสผู้ครองเรือนที่นี่ กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงใจแห่งการอุทิศตนสู่สายธารแห่งการตื่นรู้อย่างแท้จริง

จูลี กรีน กัลยาณมิตรของผู้เขียน เรียนจบปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จากนั้นก็เริ่มทำงานธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ จนประสบความสำเร็จมีเงินทองมากมาย แต่ช่วงเวลาสิบปีของการทำธุรกิจ เธอได้มีโอกาสสัมผัสความทุกข์ของผู้คนในโรงพยาบาล ที่ล้มป่วยลงด้วยความเครียด ความว้าเหว่ และการดำเนินชีวิตที่สุดโต่งไปในทางวัตถุของสังคมตะวันตก จนวันหนึ่งเธอจึงตัดสินใจเลิกทำธุรกิจ หันมาศึกษา ปฏิบัติธรรม ปัจจุบันนอกจากการอุทิศตนให้กับการภาวนาปีละไม่ต่ำกว่าสามเดือน เธอยังทำงานเป็นนักจิตบำบัดแนวพุทธ ให้คำปรึกษาแก่ผู้คนมากมาย

แอล บลูม นักธุรกิจผู้ร่ำรวยจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เขาเริ่มต้นเมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้ว ใช้เงินที่เขาได้จากธุรกิจ บริจาคสนับสนุนให้แก่ศูนย์ปฏิบัติธรรมมากมาย การบริจาคของเขาไม่ได้ทำไปด้วยการหวังบุญกุศลใดๆ แต่ด้วยความเป็นผู้ปฏิบัติธรรมที่หวังที่จะเห็นวงล้อพระธรรมขับเคลื่อนพลังทางปัญญา หวังที่จะเห็นผู้คนในทุกวัย ทุกฐานะ มีโอกาสที่จะได้มาสัมผัสพลังแห่งการตื่นรู้ในเส้นทางการฝึกฝนตนเอง เขาจึงดำเนินรอยตามอนาถบิณฑิกเศรษฐี สนับสนุนอริยธรรมาจารย์ในการเผยแผ่ธรรมะในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ แอลยังเป็นผู้ปฏิบัติธรรมที่อุทิศตนให้กับการฝึกฝนอย่างแท้จริง เขาจะใช้เวลาสามถึงสี่เดือนในการฝึกเงียบ อีกทั้งยังช่วยสอนภาวนาให้กับกลุ่มเยาวชนอีกด้วย

ฟลีต มอลล์ อาจารย์ผู้เป็นแบบอย่างของการนำพุทธศาสนาไปสู่การช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากในสังคม นอกจากการสอนธรรมะในชั้นเรียน และการนำภาวนาแล้ว ฟลีทยังริเริ่มโครงการมากมายที่จะสร้างโอกาสให้นักเรียนได้นำธรรมะไปสู่การปฏิบัติ ฟลีทเชื่อว่าพลังแห่งการตื่นรู้ จะต้องนำไปสู่การเผชิญหน้ากับทุกขสัจจ์ ทั้งในตนเองและในโครงสร้างอันอยุติธรรมทางสังคม ฟลีตได้ริเริ่มโครงการภาวนาข้างถนน นำนักเรียนกลุ่มเล็กๆ ไปใช้ชีวิตกินนอนตามท้องถนนใจกลางเมืองเดนเวอร์ เป็นเวลาเจ็ดวัน เพื่อที่จะได้ไปเรียนรู้สภาพชีวิตอันสุดแสนลำเค็ญของผู้คนชั้นล่างที่สังคมไม่เคยให้ความสนใจ นอกจากนั้นเขายังนำการภาวนาให้นักโทษในคุก ซึ่งเขาได้ถ่ายทอดประสบการณ์ไว้ในหนังสือ Dharma in Hell เช่นเดียวกัน ฟลีต ใช้เวลาอย่างน้อยสองเดือนในแต่ละปีในการเข้าฝึกเงียบ

กัลยาณมิตรทั้งสามของผู้เขียน เป็นตัวอย่างของเพื่อนชาวอเมริกันผู้อุทิศตนบนเส้นทางแห่งการภาวนา บ่มเพาะพลังสร้างสรรค์ทางปัญญา อย่างที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การสร้างภาพของความเป็นคนกึ่งดิบกึ่งดี มีศีลธรรมอย่างผิวเผิน เพื่อนๆ เหล่านี้สามารถค้นพบแรงบันดาลใจที่เขามีอยู่ในตน ก้าวพ้นความกลัว สู่การท้าทายเหตุแห่งทุกข์อย่างอาจหาญ ด้วยความเป็นชาวพุทธที่ไม่ได้เป็นแต่เพียงเปลือก พวกเขาได้ฝึกฝนและหลอมรวมพลังแห่งการตื่นรู้สู่การดำเนินชีวิตในแต่ละวัน กับหัวใจอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญทางจริยธรรม อย่างไม่มีภาพความอหังการของความเป็นพุทธเลยแม้แต่น้อย

หากจะถามเขาเรื่องการถือพุทธ “คุณเป็นชาวพุทธหรือเปล่า?” เขาคงทำหน้าฉงน แต่หากถามเรื่องการภาวนา เขาจะไม่ลังเลที่จะตอบว่า “ฉันเป็นผู้ฝึกปฏิบัติบนวิถีพุทธ” และถ้าจะถามถึงเรื่องเป้าหมายของการตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ เขาก็คงขำกลิ้ง แต่หากถามถึงสิ่งที่ทำอยู่ เขาจะตอบอย่างมั่นใจว่า “ฉันกำลังอยู่ระหว่างการเดินทาง”

การเป็นพุทธกันเพียงแค่ชื่อ ถือกันไว้โดยไม่นำมาปฏิบัติ คงไม่ต่างอะไรจากลิงได้แก้วหรือชะนีได้แหวน แทนที่จะถือๆ แขวนๆ กันไว้ จนกลายเป็นความอหังการ ที่อาจไปเกะกะระรานเพื่อนบ้านต่างศาสนาไปได้โดยที่เราไม่รู้ตัว เราน่าจะเลิกถือพุทธกันเสีย แล้วหันมาลิ้มรสกับประสบการณ์ของการฝึกฝนปฏิบัติในวิถีแห่งพุทธกันดูบ้าง

พุทธที่แท้คือความตื่น คือความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความจริงในทุกแง่มุมของชีวิต วิถีพุทธ คือ เส้นทางการฝึกตนบนสายธารธรรมอันจะนำพาให้เราสามารถที่จะร่วมทุกข์ ร่วมสุข กับผู้คนทุกเชื้อชาติศาสนา ทุกชนชั้นวรรณะอย่างไม่ถือตน ผู้ฝึกฝนบนเส้นทางสายนี้จะเป็นแบบอย่างของนับรบผู้กล้า บุคคลเดินดินธรรมดา ผู้ดำเนินชีวิตด้วยพลังสร้างสรรค์ทางปัญญา อันแผ่ซ่านออกมาจากจิตวิญญาณที่อ่อนน้อม พร้อมที่จะเรียนรู้จากทุกเหตุปัจจัยรายรอบด้วยหัวใจที่ไร้อคติ

“ความกล้าหาญทางจริยธรรมที่แท้เป็นผลของความอ่อนโยน เกิดจากการยอมให้โลกเข้ามาสะกิดหัวใจเธออย่างเปล่าเปลือย หัวใจที่มีเลือดเนื้อและพลังสร้างสรรค์ที่ดีงาม เธอต้องพร้อมที่จะเปิดรับกับทุกสถานการณ์โดยปราศจากแรงต้านหรือการเขินอาย ต้องพร้อมที่จะแบ่งปันหัวใจร่วมกับผู้อื่น นั่นแหละ คือสารัตถะแห่งการเดินทางของจิตวิญญาณ”

เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช

Back to Top