องค์กรจริยะ: จิตสำนึกใหม่ในการดำเนินธุรกิจ

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2549

เราได้ยินผู้บริหารไม่ว่าจะภายในประเทศหรือต่างประเทศ ต่างก็พูดถึงการทำองค์กรของตนให้เป็นองค์กรอัจฉริยะเพื่อให้ทันสมัย แข่งขันได้ และเพื่อเป็นผู้นำในธุรกิจของตนอยู่บ่อยๆ

มีการประชุมชี้แจงภายในองค์กรเพื่อให้พนักงานทุกคนทุกระดับได้รู้ถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ และนโยบายของผู้บริหารที่จะนำพาองค์กรของตนไปสู่ความเป็นเลิศ

มีการจัดอบรมทั้งภายในและมีการส่งบุคลากรไปอบรมภายนอก เพื่อนำความรู้และทักษะทั้งหมดที่ได้รับมาพัฒนาองค์กรเพื่อให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุด

บางแห่งมีการปรับรื้อระบบใหม่ทั้งระบบที่เรียกว่า Reengineering บางแห่งมุ่งพัฒนาคุณภาพผ่านระบบ QC, TQC, TQM และอื่นๆ ที่มาใหม่อยู่เรื่อย เช่น Balance Score Card, JIT, Futuristic Management

มีการเชิญกูรูทางการบริหารชาวต่างชาติมาพูดให้ฟังในราคาที่แพงอย่างไม่น่าเชื่อ

แนวความคิดทางการบริหารและการจัดการใหม่ๆ ที่บรรดากูรูหรือผู้รู้ทางการบริหารเสนอแนะ ถูกนำมาเรียนรู้ เลียนแบบ เพื่อจะได้ “ทันสมัย” หรือ “ทัน”กับความก้าวหน้า

ทั้งหมดที่ทำไปเพียงเพื่อตามให้ทัน ไหลไปตามกระแส เพียงเพื่อจะรู้เท่า แต่ไม่รู้ทันหรือไม่รู้เท่าทันเขา

เครื่องจักรใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับลิขสิทธิ์ราคาแพง มาตรการและมาตรฐานใหม่ๆ ได้รับการพัฒนาและนำเสนอแกมบังคับให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน “สากล” ระดับ”นานาชาติ” ทยอยออกมาเรื่อยๆ

ผู้นำและผู้บริหารประเทศและบริษัทห้างร้านส่วนใหญ่ทั่วโลก ถูกครอบงำด้วยระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

ระบบการบริหารจัดการ วิธีคิด วิธีทำงานถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองทิศทาง “การค้าเสรี” ของ “ทุนนิยม”ทั้งสิ้น

หนังสือประเภท Know How และวิธีเรียนลัดแบบสำเร็จรูปสำหรับการเป็นผู้บริหารชั้นยอด และการเป็นเศรษฐีในเวลาอันสั้นมีออกมาขายมากมาย เสมือนหนึ่งมีคำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุด

สิ่งที่ไม่ค่อยได้ยินและขาดอย่างมากจากองค์กรธุรกิจ คือเรื่องของคุณธรรม จริยธรรมขององค์กร ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร การคืนและการสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ให้กับโลก

ภายนอกมีแต่โฆษณาชวนเชื่อ การสร้างภาพพจน์ที่หลอกลวง และเลือนรางจากความดีความมีคุณธรรม

ภายในเน้นระบบบริหารและจัดการที่มุ่งตอบสนองผลประโยชน์ขององค์กร เช่นกำไร การขยายกิจการ ความมั่นคงขององค์กรเป็นหลัก โดยมิได้มีเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) อยู่ในระบบและกระบวนการบริหาร ไม่ว่าจะในส่วนของปัจจัยป้อนเข้าของระบบ (Inputs) ในส่วนของกระบวนการบริหาร (Processes) ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การจัดโครงสร้างองค์กร การจัดคนเข้าระบบ...และในส่วนของผลผลิต (Outputs) มิต้องพูดถึงเรื่องของ Outcomes และ Impacts

ที่น่าเสียดายและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือ ระบบการศึกษาก็ถูกอิทธิพลของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมเข้ามาครอบงำด้วย ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการกำหนดนโยบายทางการศึกษาของรัฐบาลทุนนิยม

ความสำเร็จและความร่ำรวยของคนส่วนน้อย บนซากที่เสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ มลภาวะทางศีลธรรม จริยธรรม สังคมที่เสื่อมทรามลง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเห็นได้ทั่วไป ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้นำและผู้บริหารองค์กรธุรกิจทั้งหลายจะเริ่มคิดและทำอย่างจริงจังที่จะพัฒนาองค์กรของตนให้เป็นองค์กรจริยะ แทนที่จะมุ่งเน้นการเป็นองค์กรอัจฉริยะตามแบบอย่างองค์กรกระแสหลักทุนนิยมแต่อย่างเดียว

ระยะนี้ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปบรรยายให้กับองค์กรต่างๆ ค่อนข้างบ่อย หัวข้อที่ได้รับเชิญให้ไปบรรยายก็น่าสนใจและท้าทาย เช่นการสร้างและการพัฒนาจริยธรรมในองค์กร การบริหารตามแนวอนาคตนิยม การสอนงานการพัฒนาบุคลากร... ในทุกหลักสูตรที่ผู้เขียนได้รับเชิญเป็นวิทยากร จะมีการสอดแทรกเรื่องของคุณธรรม จริยธรรมในการบริหารและการดำเนินธุรกิจเสมอ ด้วยความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า หากผู้บริหารมีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นฐานและเป็นแกนในการบริหาร จะทำให้คนในองค์กรมีความภาคภูมิใจ เต็มใจ และมีความสุขที่จะทำงานให้กับองค์กรอย่างเต็มที่ นำให้เกิดผลงานที่ดี (Productivity) และมีความพึงพอใจ (Satisfaction) ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คุณธรรมและจริยธรรมจะเป็นแกนกลางและตัวเชื่อมประสานคนในองค์กรให้เป็นหนึงเดียวกันได้เป็นอย่างดี

ในปัจจุบันเริ่มมีองค์กรทางธุรกิจหลายแห่งในโลกประกาศตัวเป็นจริยองค์กรทางธุรกิจหรือที่ผู้เขียนเรียกว่าองค์กรจริยะ เพื่อให้แตกต่างไปจากแนวคิดกระแสหลักที่มุ่งเน้นสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะที่มีฐานของแนวคิดเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมเป็นกลไกผลักดัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในระบบตลาดเสรี มีการพัฒนาระบบการบริหาร การผลิต การบริการ...ด้วยการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัยราคาแพง เพื่อที่จะได้เป็นองค์กรอัจฉริยะ แต่ละเลยเรื่องความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะละเลยเรื่องคุณธรรมจริยธรรม

ในต่างประเทศมีคำใหม่ที่เรียกองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมว่า Corporate Social Responsibility (CSR) ในเมืองไทยก็เริ่มมีกลุ่ม CSR เกิดขึ้น

นับเป็นนิมิตหมายที่ดี

CSR คืออะไร

CSR คือองค์ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้การบริหารการจัดการเพื่อก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมโดยภาพรวม มีการดำเนินการกิจกรรมทุกอย่าง อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมไปถึงจิตสำนึกต่อโลก (Global Consciousness)

CSR เป็นองค์กรที่จะต้องตั้งคำถามหลักสองประการเป็นอย่างน้อยในการดำเนินธุรกิจ

๑. คุณภาพของการบริหารจัดการในแง่ของคนและกระบวนการบริหารภายในองค์กร

๒. ธรรมชาติและปริมาณของผลกระทบที่มีหรือที่จะเกิดต่อสังคมในด้านต่างๆ อันเกิดจากการดำเนินกิจกรรมขององค์กร

โดยนัยนี้ความรับผิดชอบต่อสังคม(Social Responsibility) เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสร้างความอุดมสมบูรณ์ (Wealth Creation Process) ขององค์กร และถ้ามีการบริหารจัดการที่ดีในเรื่องนี้ องค์กรก็สามารถที่จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจ และในขณะเดียวกันก็เพิ่มคุณค่าด้าน Wealthให้กับคนในองค์กรและสังคมได้

CSR จะยึดถือแนวทางในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้อย่างมีความรับผิดชอบ

  • ทำให้โลกมีความปลอดภัยมากขึ้น เช่นไม่ปล่อยของเสียหรือสร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม
  • ทำให้โลกดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น และมีความยุติธรรม
  • ทำให้โลกมีความมั่นคงและทำนายได้มากขึ้นโดยเฉพาะในทางที่ดีต่อมวลมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อม
  • ไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่ทำลายวัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชน
  • ลด / เลิกพฤติกรรมหลอกลวง ทรยศหักหลังทั้งต่อองค์กร ลูกค้าและสังคม
  • ส่งเสริมและกระตุ้นเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามภายในมนุษย์ให้เติบโต
  • มีความรับผิดชอบต่อความคิดและการกระทำของตัวเอง
  • ทำทุกสิ่งเท่าที่จะทำได้ในการเตือนภัยล่วงหน้าให้สาธารณชนใด้รับทราบจากวิกฤตการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น


มาเริ่มต้นคิดและทำในสิ่งที่ถูกต้อง

มาเริ่มต้นสร้างและพัฒนาองค์กรของตนเองให้เป็นองค์กรจริยะไปพร้อมๆ กับการเป็นองค์กรอัจฉริยะ จะดีหรือไม่

ชุมชนจะเข้มแข็ง สังคมจะมั่นคง ปลอดภัย และมีสันติสุข โลกจะน่าอยู่เพิ่มมากขึ้น

CSR ไม่ใช่คำตอบเดียวและไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของเรื่องนี้

แต่ CSR เป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบของบุคลากรต่อสังคม ต่อโลก โดยเริ่มต้นที่ตนเอง

มาเริ่มต้นคิดและทำสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ที่มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นฐานตั้งแต่ต้น ดีกว่าที่จะมาพยายามหาทางทำสิ่งที่ไม่ดีงาม ไม่ถูกต้อง ให้ถูกกฏหมายในภายหลัง

Back to Top