จิตวิวัฒน์ในความหมายของผม

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 11 พฤศจิกายน 2549

เวลาที่เราเขียนถึงเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวนั้นเป็นเรื่องราวที่เป็น “นามธรรม” หรืออาจจะ “ไม่มีรูปธรรมชัดเจน” เรามักจะต้องใส่คำว่า “ในความหมายของผม” หรือ “ในความเห็นของผม” เช่นเวลาที่เราจะถามว่า “ใครสักคนสวยหรือไม่?” เราก็มักจะตอบว่า “อืมม..ผมว่าก็สวยดีนะ” อะไรทำนองนี้

ผมคิดว่า “ความหมายของจิตวิวัฒน์” เองก็เช่นกัน ค่อนข้างเป็น “นามธรรม” ที่หลายๆ คนก็สงสัยว่ามันคืออะไรและ “รูปธรรม” ที่ออกมาเป็นกลุ่มต่างๆ เป็นการปฏิบัติการหลายๆ อย่างก็อาจจะเป็นเพียง “การให้ความหมายของ” คนบางกลุ่มคนบางคนเท่านั้นกระมัง??

ผมมีความรู้สึกว่า อยากจะเขียนถึงเรื่องนี้ในตอนนี้ก็ด้วยเหตุผลบางประการ

หนึ่ง คือเรามีกลุ่มจิตวิวัฒน์มาร่วมสามปีเต็มๆ แล้วนับตั้งแต่การประชุมครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๖ มีการพูดคุยกันเดือนละหนึ่งครั้งๆ ละหนึ่งวันเต็มๆ

สอง ข้อนี้อาจจะเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผม คือผมมีความเข้าใจว่า “รูปธรรม” หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นมาจากคำว่า “จิตวิวัฒน์” อาจจะไม่ได้ตรงกับ “รูปธรรม” ที่ตัวผมเองนึกคิดเอาไว้และก็อาจจะไม่ได้ตรงกับรูปธรรมกับที่หลายๆ ท่านนึกคิดเอาไว้

บางคนถามว่า จิตวิวัฒน์หมายถึงจะต้องเข้าวัดใช่มั๊ย? หมายถึงจะต้องไปนั่งสมาธิกันใช่มั๊ย? หมายถึงว่าจะต้องคุยกันเรื่องปรัชญาหรือวิทยาศาสตร์ยากๆ ใช่มั๊ย? หมายถึงว่าจะต้องเป็นคนดีเท่านั้นใช่มั๊ย?

หรือแม้แต่ว่าเมื่อนำ “แบรนด์เนมจิตวิวัฒน์” ไปใช้แล้วเหมือนกับการ “ตีตราแบบเชลล์ชวนชิม” เลยว่า “คุณจะต้องเป็นคนดี” ตรงนี้น่าเป็นห่วงครับ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เรา “ตีตรา” อะไรก็อาจจะมีความหมายไปว่า “คนอื่นๆ แย่กว่าคุณ” หรือ “คนอื่นๆ ไม่ได้เป็นคนดีเหมือนกับคุณ”

นอกจากนั้นยังอาจจะเป็นเรื่องที่ “น่าชวนหมั่นไส้” ให้กับหลายๆ คนอีกด้วย

ผมเชื่อว่าพวกเราที่ทำงานในกลุ่มจิตวิวัฒน์ไม่ได้ต้องการ “ตีตรา” แบบนั้น อาจารย์หมอประเวศ วะสี ต้องการให้พวกเรารวมกลุ่มกันเพื่อที่จะ “เป็นหลัก” ในการ “สร้างสรรค์สังเคราะห์” องค์ความรู้ที่สำคัญๆ และจะเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์กับคนไทยต่างหาก

และผมก็รู้สึกว่าพวกเราทำหน้าที่ได้ “ดีในระดับหนึ่ง” แต่โดยส่วนตัวผมไม่ต้องการรับ “การตีตรา” ว่าเป็นคนดี ผมรู้สึกไม่อิสระ ผมรู้สึกว่าการเป็นคนดีก็เป็นกับดักอย่างหนึ่งเหมือนกันเป็น “กับดักของอัตตา” ที่อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู ใช้คำว่า “อัตตาหยดสุดท้าย” เพราะหลายคนที่เป็นคนดีจะรู้สึกว่า “อัตตาของตัวเอง” นั้นเหลือน้อยมากเต็มที น้อยจนกลายเป็น “อัตตาหยดสุดท้าย” แต่แท้ที่จริงแล้วถ้าเราไม่เท่าทันมันจริงๆ เจ้าอัตตาหยดสุดท้ายนี่แหละที่ “แสบชะมัด” เพราะมันพร้อมจะขยายตัวไปเป็น “อัตตาตัวโต” ได้อย่างรวดเร็วทันทีภายในเสี้ยววินาที

ผมรู้สึกว่าผมเพียงทำหน้าที่ที่อยากจะทำ เพราะเมื่อเวลาที่อาจารย์ประเวศชวนผมนั้น ผมปิ๊งทันทีและตอบรับด้วยความเต็มใจทันทีเลย เพราะเป็นงานที่ผมทำอยู่แล้วกับกลุ่มที่เชียงรายถึงแม้จะไม่มีกลุ่มจิตวิวัฒน์

ผมเชื่อว่าคนหลายคนที่หลากหลายมากขึ้นทำงานร่วมด้วยกันจะมีพลังมากกว่าทำคนเดียวหรือกลุ่มเดียว

ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่จะต้องรู้สึกไม่ดีอะไรหรือจะเป็นการคิดขัดแย้งหรือตัดพ้อแต่อย่างไรนะครับ ผมเพียงรู้สึกว่าในฐานะที่ตัวผมเองมีส่วนร่วมกระทำอยู่ในความหมายของคำว่า “จิตวิวัฒน์” ผมน่าจะใช้เวลาที่ครบรอบสามปีเต็มของกลุ่มจิตวิวัฒน์นี้ได้ใคร่ครวญถึง “ความหมาย” ตามที่ผมเข้าใจและบอกกล่าวกับเพื่อนๆ ที่ร่วมคิด เหมือนกับว่าเวลาที่เราเดินทางไกลไปด้วยกัน เมื่อเดินทางถึงจุดพักจุดหนึ่งเราก็ควรจะต้องเช็คแผนที่ของเรา เช็คเป้าหมายของเราว่าเราเดินทางมาอย่างไร ถูกเส้นทางแล้วหรือยัง แน่นอนว่าเส้นทางอาจจะมีได้หลายเส้นทางและหลายๆ ท่านที่ร่วมเดินทางก็อาจจะอยากแวะไปเที่ยวน้ำตกก่อน บางท่านอาจจะขอแวะชมนกชมไม้กันก่อน หรือแม้แต่หลายท่านอาจจะไม่อยากพักเลย อยากจะขับรถทั้งวันทั้งคืนเพื่อให้ถึงเป้าหมายโดยเร็ววันที่สุด

ผมเคารพทุกความเห็น เพราะผมเชื่อว่าทุกเส้นทางสามารถนำพาเราไปสู่เป้าหมายได้

ที่อยากจะบอกเล่าในบทความชิ้นนี้จึงเป็นหรือหมายถึงเฉพาะ “เส้นทางของผม” ที่อยากจะแลกเปลี่ยนเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเส้นทางของผมจะดีที่สุดเลิศที่สุดประเสริฐสุด

โดยส่วนตัวแล้วผมไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยกับคำว่า “จิตวิวัฒน์” ผมคิดว่า “เป้าหมายนี้” สำคัญมากและสำคัญที่สุดจริงๆ และผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ศึกษาเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางสังคมต่างก็จะมองเห็นความจริงข้อนี้กันทุกคน

สำหรับผมแล้วผมเชื่อว่าการเดินทางสู่ “จิตวิวัฒน์” เป็นเส้นทางที่ธรรมดาๆ ธรรมดาและสามัญเหลือเกิน เป็นเส้นทางที่อาจจะไม่ต้องทำอะไรมากมาย เพียงแต่เรา “ใช้ชีวิตให้เต็ม” ใช้ชีวิตให้พอเหมาะพอดี สร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวโดยไม่ต้องแยกมันออกไปแบบที่ฝรั่งเคยสอนไว้

เพียงแต่ “ขอเวลา” หรือ “มีเวลา” ให้กับการดูแล “เรื่องราวภายในตัวเอง” ให้มากขึ้นกว่าที่เดิมคนส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาในการดูแลเรื่องราวภายนอกตัวเรา และคำว่า “มากขึ้นกว่าเดิม” จะเป็นสัดส่วนเท่าไรที่แม้จะเพียงสิบยี่สิบเปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมดของคุณ ก็เป็นที่ยอมรับได้สำหรับผมแล้ว

ขอเพียงให้เรา “มีเวลา” ที่จะพูดคุยกันให้มากขึ้น พูดคุยกันให้ลึกซึ้งขึ้น และมีความเป็นชุมชนที่ไม่ใช่พูดคุยกันแต่เฉพาะเรื่องงานเท่านั้น แต่ “ดูแลกันและกัน” เพราะบางทีเพียงแค่การได้มาพบกันก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

ไม่ต้องมาถามว่าคุยกันแล้วได้งานอะไรซึ่งดูเป็นนิวตันเสียเหลือเกิน

ผมเห็นด้วยกับ วิจักขณ์ พานิช ที่เคยบอกไว้ว่า บางทีถ้าเราพยายามอธิบายเรื่องราวมากจนเกินไปก็จะยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดและสับสน ผมเองก็พบว่าบางทีเรื่องราวก็ไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพียงแต่จะต้องกระทำอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างแรงบันดาลใจของตัวเองและของกลุ่มชุมชนเล็กๆ ที่ดำรงอยู่

ผมรู้สึกว่าบางทีพวกเราหลายคนไปแบกโลกไว้มากเกินไป บางทีโลกอาจจะไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือหรอกนะ เพราะยังไงๆ เสียโลกก็ไม่แตกหรอก อย่างมากก็แค่เกิด 6th Extinction (การสูญพันธุ์ครั้งที่ ๖)

ผมรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสบอกเล่า แม้ว่าจิตวิวัฒน์ในความหมายของผมอาจจะไม่ได้ตรงกับหลายๆ ท่านคิดหรืออยากให้เป็นเสียทีเดียว

Back to Top