มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2550
เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ มิถุนายน สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ได้พบกับเพื่อน ๓ คน ซึ่งเป็นแกนนำของสถาบันขวัญเมือง เชียงราย มีการทบทวนการทำงานและการเรียนรู้เรื่องพัฒนาจิตในประเด็น ๗ ขวบปีของสุนทรียสนทนา
ผู้เขียนฟังการพูดคุยด้วยความรู้สึกตื่นรู้และเบิกบาน เป็นช่วงเวลาที่ปลุกให้ฉุกคิดว่าการฝึกฝนตนเองร่วมกับกัลยาณมิตรนั้น ทำให้ชีวิตสงบสุขและมีความหมาย ความคิดหนึ่งฉายวาบขึ้นมา ว่าตลอดระยะเวลากว่า ๕๐ ปีที่ทำงานเกี่ยวกับการศึกษา หลักสูตร วิธีการสอนและการฝึกอบรม เหตุใดจึงมิได้เกิดผลต่อผู้เรียนสมดังใจ มันมีกรอบทฤษฎีทางการศึกษามาครอบงำและกักขังจินตนาการของผู้เขียนหรือไม่ ทำให้ไม่กล้าทำลายรั้วของความคุ้นชิน ออกไปสู่ความนอกคอก
หรือว่า ความนอกคอกนั้นเป็นเรื่องผิดบาปอย่างยิ่ง?
หรือว่า ความคิดของเราควรจะผสมกลมกลืนกันระหว่างพื้นฐานหลักการที่เป็นกรอบ กับการริเริ่มออกนอกกรอบ เพื่อแสวงหาปัญญาใหม่ที่ใช้ฐานความรู้และจินตนาการ
วงการแพทยศาสตร์ศึกษา กำลังเริ่มตื่นตัวปฏิรูปหลักสูตรแพทยศาสตร์ครั้งใหม่ เพื่อสร้างและผลิตแพทย์ที่มีหัวใจเป็นมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับจุดเน้นของระบบสาธารณสุขแห่งชาติ คือ Humanized Health Care
ผู้เขียนคิดเชื่อมโยงมาสู่หลักสูตรฝึกหัดครู ของคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ กรอบของหลักสูตรนั้นคงที่แน่นอนมาไม่น้อยกว่า ๕ ทศวรรษ ว่าต้องประกอบด้วย ๔ หมวดวิชา คือ หมวดการศึกษาทั่วไป หมวดวิชาการ หมวดวิชาชีพ และหมวดวิชาเลือกเสรี ในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไปนั้น ก็ยังมีสูตรว่าต้องครอบคลุมสาระทางมนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์ นอกจากนั้น การฝึกหัดครู ยังมีเกณฑ์มาตรฐานที่สำคัญอีก ๓ มาตรฐาน คือมาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานการผลิต และมาตรฐานบัณฑิต กรอบและเกณฑ์เหล่านี้มุ่งไปสู่คุณภาพและสมรรถภาพทางวิชาการที่สามารถวัดและประเมินได้ ด้วยการทดสอบและแบบประเมิน ซึ่งจะคิดสรุปออกมาเป็นตัวอักษรและตัวเลข แต่สิ่งที่ไม่สามารถรับประกันได้ด้วยวิธีใดๆ ก็คือหลักสูตรการฝึกหัดครู (หรือจะเรียกว่า “การผลิตครู” ก็แล้วแต่) นั้นได้สร้างหัวใจของความเป็นครูมากน้อยเพียงใด
กรอบและเกณฑ์ดังกล่าว จะไม่สามารถครอบงำการพัฒนาหลักสูตรฝึกหัดครูได้ ถ้าผู้พัฒนาหลักสูตรก้าวพ้นจากความคุ้นชินเดิมๆ และก้าวออกมาสู่การออกแบบสาระและกระบวนการเรียนรู้ใหม่
ก้าวพ้นออกจากวิธีการทาบกิ่ง ซึ่งเป็นวิธีทางลัด เอาความรู้จากภายนอกมาทาบ และฉาบทาสมองของนิสิตนักศึกษา ให้เขาเติบโตตามกิ่งตอนที่เอามาทาบติด ดอกผลที่เกิดจึงไม่ใช่เนื้อในและสายพันธุ์ของตนเอง
คนทำสวนจะเปลี่ยนวิธีคิดได้หรือไม่ แสวงหาวิธีเพาะเมล็ดพันธุ์ให้นิสิตนักศึกษาได้รับการพัฒนาจากภายในตน ค้นหาจิตสำนึก ความรู้สึก ความสามารถ ความถนัดที่ตนเองมี
มหาวิทยาลัยเปรียบดุจอุทยานแห่งปัญญา ที่คณาจารย์เป็นเสมือนคนทำสวน ที่จะเตรียมดิน บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ จัดแสงสว่าง รดน้ำ พรวนดิน กำจัดศัตรูพืช เพื่อให้นิสิตนักศึกษา คือไม้ดอกอันงดงามได้เติบโตจากภายใน งอกงาม แตกกิ่งก้าน ผลิดอกสวยสดสมบูรณ์
เป็นการพัฒนาเติบโตจากภายในตนของนิสิตนักศึกษา ผลิบานออกมาผสมกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมและความรู้ภายนอก สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปรับตนอย่างลึกซึ้งกว้างขวาง
กระบวนการเรียนการสอนในสถาบันฝึกหัดครู จึงมิใช่การถ่ายทอดทฤษฎี เนื้อหา และฝึกฝนประสบการณ์ที่จะไปถ่ายทอดบทเรียนให้แก่นักเรียนอีกต่อหนึ่ง แต่จะต้องเริ่มกล่อมเกลาจิตใจ อารมณ์ บุคลิกภาพ และการรู้จักผิดชอบชั่วดี ควบคู่กันไปตลอดหลักสูตรการศึกษา
นิสิตฝึกหัดครูใช้เวลามากเหลือเกินในการเรียนเนื้อหาวิชาที่เป็นตัวบท (text) แต่มีโอกาสน้อยในการที่จะได้ศึกษาบริบท (context) ซึ่งจะทำให้การเรียนมีสีสันและชีวิตชีวา นำไปสู่กระบวนการที่อาจารย์และศิษย์จะได้โต้ตอบ สนทนา ฝึกหัด ฝึกฝน แก้ปัญหาในกรณีศึกษาที่ต้องขบคิด เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจตนเองและเพื่อนร่วมชะตากรรม
การถักทอเส้นใยของความเมตตาในหัวใจครู คือการจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย ให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสออกจากห้องบรรยายไปสร้างความสัมพันธ์กับเด็กและผู้คนทุกช่วงวัย หลายสถานภาพ
เราสำนึกความผิดมามากครั้ง
ความพลาดพลั้งพานพบมาหลายหน
แต่บาปอันมหันตโทษของผู้คน
คือทิ้งเด็กต้องผจญความเดียวดาย
อีกเมินผ่านธารทองของชีวิต
ทุกสิ่งสิทธิ์ปรารถนาวิญญาณ์หมาย
เราอาจคอยเวลาเฝ้าท้าทาย
แต่เด็กสายเกินนักจักรอไว้
ทุกเวลาก่อร่างและเลือดเนื้อ
จิตสำนึกโอบเอื้อเพื่อเติบใหญ่
สำหรับเด็กมิอาจรอ “วันต่อไป”
ชื่อเด็กไซร้แม่นมั่นคือ “วันนี้”
แสดงความคิดเห็น