ปลูกให้เป็นป่า: มองนิเวศน์ป่าสู่หัวใจตัวเอง

โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2550

เมื่อครั้งที่ยังเด็ก ข้าพเจ้าคิดว่าในกระบวนวิชาทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด นิเวศวิทยาถือเป็นวิชาที่มีความงามมาก เนื่องจากให้ภาพที่ชัดเจนของระบบธรรมชาติ มีความซับซ้อนอันเรียบง่าย และมีองค์ประกอบร่วมจำนวนมากมายมหาศาล ระบบนิเวศเล็กๆ เปรียบได้กับโลกใบย่อย ซึ่งทุกสิ่งในโลกใบน้อยล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์ต่อกันไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

ครั้นเมื่อครูบาอาจารย์ได้อรรถาธิบายหลักของอิทัปปัจจยตา หรือความเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกัน ข้าพเจ้าอดคิดไม่ได้ว่า แท้จริงแล้ว นิเวศวิทยาก็เป็นภาพอุปมาของอิทัปปัจจยตานั่นเอง

การออกแบบระบบที่สมบูรณ์พร้อมไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ที่เคยเลี้ยงปลาในตู้กระจกคงตระหนักดีว่า การจัดระบบนิเวศน์ในตู้ปลาให้สมดุล หรือออกแบบระบบนิเวศน์แบบปิด ซึ่งไม่ต้องให้อาหาร เปลี่ยนต้นไม้ หรือเปลี่ยนปลาอีก เป็นเรื่องค่อนข้างยาก และสำหรับระบบนิเวศน์ที่ถูกทำลายไปแล้ว การจะฟื้นฟูกลับมาให้เหมือนเดิมก็เป็นเรื่องต้องลงแรงลงทุนอยู่มากโขทีเดียว

แล้วการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในป่าที่ถูกทำลายล่ะ? เราจะโคลนนิงระบบนิเวศน์ของป่าให้กลับคืนมาได้อย่างไร?

กิจกรรมปลูกป่าโดยทั่วไปมักจะเป็นการนำอาสาสมัครไปปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่กำหนด กล้าไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้เศรษฐกิจได้มาจากสถานีเพาะพันธุ์กล้าไม้ เมื่อนำกล้าไม้ไปปลูกลงดินหมด อาสาสมัครก็เดินทางกลับ การอยู่หรือตายของกล้าไม้หลังจากนั้นกลายเป็นเรื่องของบุญของกรรม

คำถามก็คือ – การปลูกป่าง่ายเพียงนี้ล่ะหรือ?

ในเมื่อกระบวนทัศน์แบบองค์รวมมิได้หมายถึงผลรวมของส่วนประกอบทั้งหมด ผลรวมของจำนวนต้นไม้ที่ปลูกก็คงมิใช่ดัชนีชี้วัดความเป็นป่าเช่นเดียวกัน

หากมองป่าอย่างเป็นระบบนิเวศน์ ป่าย่อมประกอบด้วยต้นไม้และสัตว์หลากหลายชนิดที่มีความสัมพันธ์แบบอิงอาศัยกัน และหากมีชุมชนอยู่ติดกับป่า ระบบนิเวศน์ย่อมหมายรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างป่ากับชุมชนอีกด้วย

FORRU หรือ หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งประกอบด้วยผู้คนกลุ่มเล็กๆ ทำงานต่อเนื่องกันมาสิบกว่าปี ได้เสนอแนะแนวคิดการปลูกป่าแบบองค์รวมที่น่าสนใจไว้ว่า

๑. ก่อนปลูก ดูว่าไม้เดิมมีต้นอะไรบ้าง พันธุ์ไม้หลักคืออะไร มีสัตว์ใดอาศัยอยู่บ้าง จะช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ได้อย่างไร

๒. เมื่อเลือกพันธุ์ไม้หลักได้แล้ว จะวางแผนเพาะเมล็ดพันธุ์ที่มีระยะเวลางอกแตกต่างกัน ให้งอกออกมาพร้อมกัน เพื่อนำกล้าไม้ไปปลูกทันต้นฤดูฝน อย่างไรบ้าง

๓. เมื่อปลูกแล้ว จะเชื้อเชิญให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้ป่าปลูกมาช่วยดูแลรักษากล้าไม้ที่ยังไม่แข็งแรงได้อย่างไร

การปลูกป่าแบบนี้จึงเป็นไปในลักษณะ “ทำน้อย ได้มาก” เพราะเป็นการทำงานที่ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ทั้งหมด หากเริ่มจากการอิงธรรมชาติ ดูพื้นที่ ดูชุมชน และโยงไปถึงการให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ผ่านเครือข่ายอาสาสมัคร ดังเช่น เครือข่ายจิตอาสา เป็นต้น

ป่าปลูกที่บ้านแม่สาใหม่ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จึงมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างเร็ว มีความหลากหลายทางชีวภาพมากกว่าเดิม นั่นคือ มีต้นไม้หลากชนิดขึ้น มีสัตว์มากมายเข้ามาอยู่อาศัย และเริ่มเชื่อมโยงผืนป่าเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ๆ กัน เข้าหากัน ชุมชนชาวบ้านก็สามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้มากขึ้น ชาวจิตอาสาที่โดยมากเป็นคนเมืองกรุงก็ได้เรียนรู้ทักษะการมองเห็นความเชื่อมโยงอย่างเป็นองค์รวม และโยงกำลังจากฐานกายสู่ฐานใจและความคิดได้อย่างเป็นระบบ

แม้ว่าความมหัศจรรย์ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ในข้ามวัน แต่ก็ทำให้เห็นได้ว่าการฟื้นคืนระบบนิเวศน์ให้กับป่านั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ถ้าเรามีทัศนะที่ถูกต้องในการมองเห็นเครือข่ายความเชื่อมโยงอันซับซ้อน และมีความอดทนเพียงพอในการสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีสัมมาทิฏฐิ

กระบวนทัศน์การปลูกป่าแบบองค์รวมดังกล่าวนั้นเป็นคู่ตรงข้ามกับการทำสวนสำเร็จรูปในเมืองใหญ่ ที่ใช้วิธีขุดเอาไม้ใหญ่จากป่ามาปลูกเป็นสวนในบ้านตัวเอง และคงเป็นคู่ตรงข้ามกับวัฒนธรรมมักง่ายที่หวังผลอะไรเร็วๆ อีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า ร่ำรวยโดยไม่ต้องทำงานหนัก มีผลงานนำเสนอปีต่อปีโดยไม่สนใจการสร้างคนทำงานที่มีคุณภาพ ผลิตกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญสวยๆ โดยไม่สนใจกระบวนการ และแม้กระทั่งการพัฒนาจิตก็ยังต้องหาหนทางอันลัดสั้นที่สุด และถูกที่สุด

แต่การปลูกป่าต้องใช้ทั้งเวลา ต้องใช้ทั้งความอดทน มีศรัทธา มีวิริยะ อุตสาหะ – เรื่องอื่นๆ ก็เป็นเช่นเดียวกัน

คนเมืองอย่างพวกเรา อาจจะหาโอกาสไปปลูกป่าหรือปลูกต้นไม้ได้ยาก แต่ถ้าหากเรามองเห็นสายโซ่ความสัมพันธ์ในวิถีชีวิตของเราที่โยงไปสู่ป่าได้ ดังเช่น การเห็นต้นไม้ที่ถูกแปรรูปมาทำเป็นกระดาษ ในหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสารรายเดือน รายสัปดาห์ ในกระดาษเช็ดปาก ในกระดาษชำระ ในผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูป

หรือเห็นพื้นที่ป่าที่หายไปเพื่อทำพื้นที่เกษตรกรรมหรือปศุสัตว์ ในร้านกาแฟ ในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ในร้านอาหารที่ทำจากสัตว์ปีกบางร้าน ฯลฯ

เพียงเท่านี้ เราก็อาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างได้ โดยไม่จำเป็นต้องคิดมากขึ้น แต่คิดให้ละเอียดขึ้น แล้วเราจะสัมพันธ์กับต้นไม้ สัตว์ป่า ชาวบ้านที่อยู่ไกลออกไป ความกรุณาในใจเราจะแผ่กว้างออกไปแม้ยังสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ไปถึงแม้ยังผู้ที่เราไม่รู้จักหรือไม่เคยเห็นหน้า แล้วเราจะสัมพันธ์กับโลกได้จริงๆ

What is the use of Life,
That full of care,
If there is no place,
To stand and stare.

- กวีนิรนาม



จิตวิวัฒน์คงไปไหนไม่ได้หรอก หากไม่มีอากาศดี-ดีไว้หายใจ – โลกกระซิบบอกดังๆ

Back to Top