ศิลปะแห่งการจัดการความดี: ศึกษาจากฉือจี้

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2550

มูลนิธิฉือจี้เป็นองค์กรการกุศลที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน มีโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานสูงติดอันดับต้น ๆ ของประเทศถึง ๖ แห่ง มีธนาคารไขกระดูกใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของโลก มีสถาบันการศึกษาที่ครบทุกระดับจากประถม มัธยม วิทยาลัย ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ที่มีเอกลักษณ์ในด้านการสอนและการจัดกระบวนการเรียนรู้ มีสถานีโทรทัศน์ที่มุ่งเผยแพร่คุณธรรมผ่านเครือข่ายทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อีกมากมายกระจายทั่วประเทศ เช่น ช่วยเหลือคนยากจน สงเคราะห์คนชรา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งงานแยกขยะ ทั้งนี้โดยมีอาสาสมัครที่ทำงานอย่างแข็งขันถึง ๒ แสนคน

มูลนิธิฉือจี้ถือกำเนิดเมื่อปี ๒๕๐๙ โดยภิกษุณีเจิ้งเหยียนวัย ๒๙ ปี เริ่มต้นด้วยการเชิญชวนแม่บ้านในเมืองห่างไกลความเจริญ จำนวน ๓๐ คน สละเงินทุกวัน ๆ ละ ๕๐ เซ็นต์ (เทียบเท่ากับ ๒๕ สตางค์ในเวลานั้น) ภายในเวลา ๒๐ ปีสามารถสร้างโรงพยาบาลขนาด ๑,๐๐๐ เตียงด้วยทุนสูงถึง ๘๐๐ ล้านเหรียญไต้หวัน (ขณะที่งบประมาณประจำปีของทั้งจังหวัดมีเพียง ๑๐๐ ล้านเหรียญ) อีก ๒๐ ปีต่อมา สามารถขยายกิจการสู่งานด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน และพัฒนาจากองค์กรการกุศลระดับจังหวัด ไปเป็นระดับชาติ และระดับโลกได้ โดยมีสมาชิกเกือบ ๖ ล้านคนในไต้หวัน (เกือบ ๑ ใน ๔ ของประชากร) และอีก ๔ ล้านคนใน ๓๙ ประเทศ ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยกำลังเงินจำนวนมหาศาล และความรู้ที่ทันยุค แต่หัวใจสำคัญก็คือกำลังคนที่มีคุณภาพ

บุคลากรเหล่านี้ไม่ได้อาศัยเงิน ชื่อเสียง อำนาจ หรือผลประโยชน์ส่วนตนเป็นแรงขับเคลื่อนอย่างธุรกิจเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ แต่อาศัยคุณธรรมหรือความดีเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งทำให้เห็นเป็นแบบอย่างว่า แม้ไม่ใช้ผลประโยชน์ส่วนตนหรือตัณหาเป็นแรงจูงใจ องค์กรอย่างฉือจี้ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพระดับชาติหรือระดับโลกได้ไม่แพ้บรรษัทข้ามชาติ โดยก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษย์มากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้

การใช้ความดีเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดงานสร้างสรรค์จำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน ๆ ทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากคนเล็กคนน้อยเพียง ๓๐ คน และเงินบริจาควันละ ๕๐ เซนต์ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่ก็เกิดขึ้นแล้ว จะเรียกว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์ก็คงไม่ผิด สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ลำพังเจตนาดีย่อมไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยความสามารถอย่างมาก ความสามารถที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ การดึงเอาความดีจากแต่ละคนออกมา และนำมารวมกันให้มากพอจนเกิดพลัง ขณะเดียวกันก็รักษาความดีนั้นให้คงอยู่ และพัฒนาให้เพิ่มพูนมากขึ้น กระบวนการเหล่านี้ อาจเรียกได้ว่า “การจัดการความดี”


๑. ศรัทธาในความดีของมนุษย์ทุกคน
ชาวฉือจี้ได้รับแรงบันดาลใจจากท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ซึ่งเน้นเสมอว่ามนุษย์ทุกคนมีโพธิสัตวภาวะอยู่แล้วในตัว แนวความคิดดังกล่าวทำให้ชาวฉือจี้มีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีความเมตตากรุณาและคุณงามความดีอยู่แล้วในจิตใจ เป็นแต่ว่าทำอย่างไรจึงจะนำคุณธรรมดังกล่าวออกมา หรือดูแลรักษาให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น แนวความคิดนี้เป็นที่มาของท่าทีและวิธีการที่เป็นเอกลักษณ์ของฉือจี้ เช่น การมองคนในแง่บวก การกล่าวคำชื่นชมมากกว่าการตำหนิ การแสดงความเคารพและอ่อนน้อมต่อผู้อื่น แม้ในยามที่ไปช่วยเหลือเขาก็ตาม

๒. น้อมนำความดีออกมาจากใจ
ฉือจี้มีวิธีการหลากหลายในการดึงความดีออกมาจากใจของผู้คน เริ่มจาก

ก. เปิดโอกาสให้เขาได้ทำความดี
เมื่อคนเราได้ทำความดี ย่อมเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะได้ตอบสนองความใฝ่ดีในส่วนลึก ขณะเดียวกันก็ทำให้ความใฝ่ดีหรือคุณภาพฝ่ายบวกมีพลังมากขึ้น จนสามารถควบคุมคุณภาพฝ่ายลบ (เช่น ความเห็นแก่ตัว โลภะ โทสะ โมหะ) การที่บางคนทำความชั่ว ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความใฝ่ดีหรือคุณธรรมในจิตใจ เป็นแต่ว่าคุณภาพฝ่ายบวกเหล่านั้นไม่มีกำลังที่จะต่อสู้ทัดทานคุณภาพฝ่ายลบได้ต่างหาก

ฉือจี้พยายามเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ทำความดี โดยเริ่มตั้งแต่การให้ทานหรือบริจาคเงิน จากนั้นจึงเขยิบมาสู่การทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ อาทิ งานแยกขยะ การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือช่วยเหลือผู้ประสบภัย งานเหล่านี้นอกจากเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อตัวอาสาสมัครเอง หลายคนรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่อสังคม คนชราซึ่งมาช่วยแยกขยะบางคนถึงกับพูดว่า ตนเองเป็นเสมือน “ขยะคืนชีพ”

ข .ชื่นชมมากกว่าตำหนิ
ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนจะเน้นให้ชาวฉือจี้กล่าวแสดงความชื่นชมผู้อื่นให้มาก มิใช่เพื่อประโยชน์ของผู้พูด แต่เพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง กล่าวคือเมื่อได้รับคำชม ก็ทำให้ผู้ฟังอยากทำความดีหรือสิ่งที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์มากขึ้น คำชมจึงเปรียบเสมือนการชักชวนความดีหรือคุณภาพฝ่ายบวกให้ออกมาจากใจมากขึ้น ตรงกันข้ามกับคำตำหนิ ที่มักกระตุ้นให้คุณภาพฝ่ายลบออกมาจากใจของผู้ฟัง เช่น เกิดความโกรธ ปฏิเสธความผิดพลาด โทษผู้อื่น หรือโกหกเพื่อปกป้องตนเอง

ค. เห็นความทุกข์ของผู้อื่น
ความทุกข์ยากลำบากของเพื่อนมนุษย์สามารถกระตุ้นความเมตตากรุณาในใจเราให้เกิดพลังที่อยากทำความดีเพื่อช่วยเขาออกจากทุกข์ได้ อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจเขา ดังนั้นกิจกรรมส่วนหนึ่งของฉือจี้ คือการพาสมาชิกไปประสบสัมผัสกับผู้ทุกข์ยาก เริ่มตั้งแต่คนชรา คนป่วย คนพิการ ไปจนถึงผู้ประสบภัยพิบัติ สมาชิกเหล่านี้เริ่มต้นด้วยการบริจาคเงิน หลังจากที่ได้รับฟังกิจกรรมของฉือจี้จากอาสาสมัครที่ไปเยี่ยมเยือนเป็นประจำ ใครที่สนใจก็จะได้รับการเชื้อเชิญให้เยี่ยมดูงานสงเคราะห์ผู้ทุกข์ยากของฉือจี้ ทำให้เกิดความอยากที่จะช่วยเหลือคนเหล่านั้น

ง. แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกัน
การได้รับรู้เรื่องราวของคนที่ทำความดี ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดี ฉือจี้จึงให้ความสำคัญกับกิจกรรมส่วนนี้มาก ส่วนหนึ่งด้วยการใช้สื่อเป็นเครื่องมือ เช่น หนังสือ ละคร หรือรายการโทรทัศน์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของคนทำดี (เรียกว่า “โพธิสัตว์รากหญ้า”) แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือ การสนทนาแลกเปลี่ยนกันในหมู่สมาชิก การนำเอาประสบการณ์ของแต่ละคนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ย่อมทำให้ผู้ฟังเกิดกำลังใจอยากทำความดี ฉือจี้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำนองนี้ในหลายระดับ ทั้งในระหว่างสมาชิกกลุ่มเดียวกัน และแลกเปลี่ยนข้ามกลุ่ม

๓. รวบรวมและประสานความดีให้เกิดพลัง
เมื่อสามารถดึงความดีของแต่ละคนออกมาแล้ว ฉือจี้ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ แต่ยังสามารถรวบรวมความดีของแต่ละคนมาผนึกให้เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ได้ ตรงนี้อาจแตกต่างจากองค์กรศาสนาทั่ว ๆ ไป เช่น วัด ซึ่งเมื่อสอนให้คนทำดี หรือดึงความดีออกมาจากใจเขาแล้ว ก็มักจะปล่อยให้ต่างคนต่างทำความดีในชีวิตประจำวันตามปกติ เช่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น ทำบุญให้ทาน ความดีที่กระทำจึงมักเป็นความดีส่วนบุคคล ซึ่งแม้จะมีคุณค่า แต่ขาดพลังที่จะก่อให้ความเปลี่ยนแปลงในระดับสังคม

ความสามารถในการประสานเชื่อมโยงความดีของบุคคลจำนวนมากมายให้เกิดพลัง เป็นเรื่องของการจัดองค์กร จุดเด่นของฉือจี้อยู่ตรงที่มีการบริหารและจัดการอาสาสมัครที่ดี อาสาสมัครเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการรักษาและขยายจำนวนสมาชิก (อาสาสมัครที่ “ฝึกงาน” มีหน้าที่บอกบุญหาสมาชิกหรือผู้บริจาค ๒๕ รายเป็นประจำทุกเดือนในปีแรก และเพิ่มเป็น ๔๐ รายในปีที่สอง อีกทั้งยังไปเยี่ยมเยือนผู้บริจาคอย่างสม่ำเสมอ) ขณะเดียวกันยังมีการสร้างสายสัมพันธ์ในระดับต่าง ๆ อีกหลายด้าน เช่น สายสัมพันธ์ระหว่างอาสาสมัครกับพี่เลี้ยง สายสัมพันธ์ระหว่างอาสาสมัครด้วยกันตามศูนย์ต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนั้นในแต่ละเมืองยังมีการซอยย่อยออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่ละกลุ่มมีสมาชิกไม่เกิน ๒๐ คน มีหัวหน้ากลุ่มเป็นผู้ประสานงาน การจัดองค์กรในระดับนี้เอื้อให้เกิดกลุ่มกัลยาณมิตรที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้อย่างใกล้ชิด

๔. หล่อเลี้ยงและเพิ่มพูนความด
ความดีนั้นนอกจากจะต้องนำออกมาและใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว จำเป็นต้องมีการหล่อเลี้ยงรักษาและทำให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น จึงจะก่อให้เกิดผลสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน กระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องของ “การศึกษา” หรือ ไตรสิกขาตามหลักพุทธศาสนาโดยตรง แต่เวลาพูดถึงการศึกษา เรามักนึกถึงครูและห้องเรียน แท้ที่จริงการศึกษาสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและในทุกรูปแบบ กรณีฉือจี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่ใช้วิธีการหลากหลายในการหล่อเลี้ยงและเพิ่มพูนความดีของบุคคล เช่น การปลูกฝังคุณธรรมผ่านการทำงานอาสาสมัคร (เป็นธรรมดาที่จะเห็นนักธุรกิจหรือซีอีโอของฉือจี้ยืนถือกล่องรับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย นั่งแยกขยะ หรือกวาดใบไม้ในโรงพยาบาล เช่นเดียวกับเด็กเรียนดีจะได้รับเกียรติให้ทำความสะอาดห้องน้ำในโรงเรียน) การเคารพและเห็นคุณค่าของผู้อื่นผ่านการเรียนรู้ชีวิตของเขา การมีกำลังใจทำความดีผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้อื่น การซึมซับความดีงามผ่านการเล่านิทาน เล่นละคร หรือวาดภาพ (ซึ่งใช้มากในโรงเรียนประถมของฉือจี้) ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การส่งเสริมคุณธรรมด้วย “จริยศิลป์” ได้แก่ การจัดดอกไม้ ชงชา และเขียนพู่กันจีน ซึ่งแม้แต่นักศึกษาแพทย์ก็ยังต้องเรียน ทั้งนี้เพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้ละเมียดละไม และหล่อหลอมให้นักศึกษามีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์

กระบวนการจัดการความดีทั้ง ๔ ประการ จะเห็นได้ว่ามีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เริ่มจากการเชื่อมั่นและมองเห็นความดีในมนุษย์ทุกคน จากนั้นก็พยายามน้อมนำความดีออกมาจากใจของเขา แล้วรวบรวมความดีเหล่านั้นมาผนึกเป็นพลังสร้างสรรค์ พร้อมกันนั้นก็มีการหล่อเลี้ยงและต่อเติมความดีเพื่อให้มีความยั่งยืนและเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ

ในยุคที่เมืองไทยกำลังแสวงหาทางออกจากวิกฤตทางศีลธรรมที่กำลังรุมเร้าอยู่ในเวลานี้ แทนที่จะนึกถึงแต่การเพิ่มวิชาศีลธรรม ระดมคนเข้าวัด นิมนต์พระมาเทศน์ให้มากขึ้น เซ็นเซอร์สื่อ หรือกวดขันกับการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ น่าจะช่วยกันคิดค้นและสร้างสรรค์ศิลปะในการส่งเสริมคุณธรรมและจัดการความดีให้มากกว่านี้ อย่างน้อยฉือจี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าศึกษา

Back to Top