กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาบนพื้นฐานแนวคิดไทย

โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2551

ผู้เขียนได้มีโอกาสทำวิจัยเรื่อง “กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาบนพื้นฐานแนวคิดไทย” โดยมี ผศ. ดร. สุรภี รุโจปการ เป็นผู้ร่วมวิจัย และมีผู้ช่วยวิจัยที่เป็นลูกศิษย์อีกสามคนคือ ดร. วิศนี ศิลตระกูล ดร. ปาน กิมปี และ ดร. วิมลลักษณ์ ชูชาติ เห็นว่าผลการวิจัยมีคุณค่าที่จะเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รู้ในวงกว้าง จึงนำมาเสนอในคอลัมน์จิตวิวัฒน์นี้

งานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาบนพื้นฐานแนวคิดไทย และสังเคราะห์กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาบนพื้นฐานแนวคิดไทย โดยศึกษาเอกสาร กรณีศึกษาบุคคลจำนวน ๕ ราย คือ พระครูมานัสนทีพิทักษ์ ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ นายยงยุทธ ตรีนุชกร นายฝาก ตรีถวัลย์ และนางสมหมาย หนูแดง สำหรับกรณีศึกษา นางสมหมาย หนูแดง ได้ใช้การวิจัยภาคสนามเพิ่มเติมด้วย งานวิจัยนี้ใช้วิธีการเชิงคุณภาพ ประกอบด้วยการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์เจาะลึก และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม หลังจากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการจำแนกข้อมูลตามประเด็นต่างๆ แล้วสรุปเป็นรูปแบบของกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาบนพื้นฐานแนวคิดไทย โดยที่กรอบแนวคิดไทยมาจากสามแนวคิดหลักคือ พุทธศาสนา เกษตรกรรม และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

๑. ปัญญา คือ ความสามารถในการคิด และการกระทำอย่างรู้รอบและรู้ลึก โดยใช้ความรู้ ประสบการณ์ ความเข้าใจ สามัญสำนึก และความหยั่งรู้ภายในที่มีอยู่ เพื่อแก้ปัญหาได้ทันกาลและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างสมดุล แบ่งได้เป็น ๓ ระดับตามแหล่งกำเนิด คือ
(๑) ความรู้รอบและรู้ลึกที่เกิดจากการรับข้อมูลจากแหล่งความรู้ภายนอกตัวเรา
(๒) ความรู้รอบและรู้ลึกที่เกิดจากการคิดซึ่งเป็นกระบวนการทำงานของจิตภายในตัวเรา
(๓) ความรู้รอบและรู้ลึกที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติ

๒. กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาบนพื้นฐานแนวคิดไทย ประกอบด้วย ๔ ขั้นตอนหลัก ได้แก่ (๑) ขั้นการรับรู้และตระหนักถึงปัญหา ซึ่งอาจเริ่มต้นจากปัญหาหรือความสนใจ (๒) ขั้นค้นหาสาเหตุแห่งปัญหา ซึ่งมักจะมองปัญหาและสาเหตุอย่างเป็นระบบและมองในภาพรวม (๓) ขั้นแสวงหาทางออกของปัญหา ซึ่งมองหาทางป้องกันมากกว่าการแก้ไข (๔) ขั้นค้นพบทางออกของปัญหา ซึ่งเน้นความเรียบง่าย กลับคืนสู่ธรรมชาติ และสอดคล้องกับวิถีชีวิต

๓. รูปแบบของกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาบนพื้นฐานแนวคิดไทย มี ๓ รูปแบบ คือ

รูปแบบที่ ๑ กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาจากภายนอก
กระบวนการเรียนรู้ของบุคคลเริ่มต้นจากการเรียนรู้ความรู้เดิม จากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่ได้รับการยอมรับและสืบทอดต่อกันมา วิธีการเรียนรู้มีทั้งการศึกษาด้วยตนเองจากตำรา จาก ผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน จากครู ผู้สอน เป็นต้น

รูปแบบที่ ๒ กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาจากภายใน
กระบวนการเรียนรู้ของบุคคลเริ่มต้นจากกระบวนการคิดแบบหนึ่งแบบใด หรือหลายแบบ ได้แก่ การคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชื่อมโยง การคิดสร้างสรรค์ การคิดแบบอุปมา-อุปมัย เป็นต้น การคิดเหล่านี้จะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่แตกต่างไปจากความรู้เดิมที่ได้จากตำรา

รูปแบบที่ ๓ กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาจากการปฏิบัติ
กระบวนการเรียนรู้ของบุคคลในระดับนี้เป็นการนำความรู้หรือปัญญาที่เกิดทั้งจากรูปแบบที่ ๑ และ ๒ มาประกอบกัน เพื่อเป็นการสร้างปัญญาที่สูงขึ้น การเรียนรู้ในรูปแบบนี้ เน้นการลงมือทำจริง ปฏิบัติจริง หรือทำการทดลอง ทดสอบในรูปแบบต่างๆ เพื่อการแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งความรู้ที่เกิดขึ้นในระดับนี้มักเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ จากการสั่งสมองค์ความรู้ของบุคคลนั้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ผลการวิจัยที่สำคัญทั้งสามประเด็นสมควรนำไปเผยแพร่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาไทยสู่การเป็นภูมิปัญญาสากลต่อไป

Back to Top