เหตุผลกับบุคคลเป็นใหญ่ - โลกจึงพัง

โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2551

ขณะนี้ สำหรับข่าววิทยาศาสตร์ ผู้เขียนไม่เห็นว่ามีอะไรจะสำคัญไปกว่าสภาวะโลกร้อน และปัญหาอยู่ที่คนเราส่วนใหญ่มากๆ ไม่รู้ตัวว่า โลกอาจจะพังหรือเหลือเผ่าพันธุ์มนุษย์แค่หยิบมือเดียวในอีกไม่กี่สิบปีนี้เพราะน้ำมือของเราเอง กับความรู้ที่ตั้งบนเหตุผลและมีบุคคลเป็นใหญ่ ซึ่งได้มาจากทั้งความเข้าใจผิดในการแปลศาสนาเป็นภาษามนุษย์ กับวิทยาศาสตร์ ทำให้เราทั้งโลก รวมทั้งที่บ้านเราแย่งกันเป็นใหญ่ แย่งกันมีอำนาจ แบบถึงจะตายก็ไม่ว่า ขอให้ใหญ่ให้รวยก่อน แต่อย่าคิดว่านั่นคือ “สันดานของมนุษย์” นะครับ บทความนี้จะวิเคราะห์ที่มานั้นและดูว่าเราจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง

วิวัฒนาการของมนุษย์กับสังคมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิวัฒนาการของกาย ที่ทำให้มนุษย์แยกจากธรรมชาติและใหญ่ขึ้นไปนั้น ว่าไปแล้วส่วนหนึ่งเกิดขึ้นดังที่ จอร์จ วอลด์ (George Wald) นักชีววิทยารางวัลโนเบลจากฮาร์วาร์ดว่า เราน่าจะแปล เจเนสิส (Genesis) ในคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนาผิด คือแปลเป็นตรงกันข้ามว่า “ให้สร้างมนุษย์ในภาพลักษณ์ของพระเจ้า” แทนที่จะเป็น “ให้มีพระเจ้าในภาพลักษณ์ของมนุษย์” (in man’s image) และแถมให้มนุษย์มีสิทธิ์เหยียดหยามย่ำยีชีวิตอื่นๆ ที่พระเจ้าสร้างมาก่อนหน้านั้น อย่างกับว่าเราคือพระเจ้าผู้สร้างเสียเอง เพราะมนุษย์ยิ่งใหญ่เหลือเกิน - ฆ่า ตัด ขุด เจาะ ถาง เผา - แทนที่จะปกครองและคุ้มครอง “ทุกชีวิตด้วยความเคารพ” ดังนั้นบาปกรรมทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของฝรั่งชาวตะวันตกในทวีปยุโรปแต่เพียงสายพันธุ์เดียวในช่วงเวลานั้น ที่เข้าใจศาสนาผิดและคิดเช่นนั้น ส่วนคนที่อยู่ในทวีปอื่นๆ ไม่เกี่ยว

ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่จะต้องรับเคราะห์กรรมจากสภาวะโลกร้อนและรุนแรงเป็นพิเศษ จึงต้องคิดใหม่ให้ดี ในการจะเอาแต่ตามฝรั่งและการแปลคำพูดของพระเจ้า (Words of God) อย่างผิดๆ ดังที่ จอร์จ วอลด์ กล่าว (George Wald: The Cosmology of Life and Mind; in New Metaphysical Foundation of Modern Science, 1994)

จากวันนั้นถึงวันนี้ วิวัฒนาการของมนุษย์และสังคมของมนุษย์โดยรวม ทั้งการแยกตัวเองออกจากธรรมชาติได้ค่อยๆ มีมากขึ้นและเด่นชัดขึ้นเรื่อยมา - ซึ่งสำหรับนักวิชาการปัญญาชนบางคนรวมทั้งผู้เขียน - เชื่อว่าเป็นไปตามแม่แบบพิมพ์เขียวของจักรวาล

เพราะใหญ่เกิน สันดานของมนุษย์ส่วนใหญ่จึงรับผิดไม่เป็น ต้องหานายหน้าหรือตัวแทน - ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจมารับผิดแทนตัว - เรียกว่าแพะ ซึ่งเป็นคนธรรมดานี้เองที่มีผู้สวมเขาให้ คนที่ถูกสวมเขาไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดไหน จึงเป็นคนโง่ที่สุด หรือจำยอมเพื่อการอยู่รอด เมื่อคนทั่วไปไม่ชอบรับผิด และยิ่งไม่ต้องการเป็นคนโง่ เราส่วนใหญ่มากๆ จึงไม่ต้องการมานั่งคิดถึงความผิดสุดมหันต์ของเผ่าพันธุ์ ที่จะเป็นสาเหตุโดยตรงทำให้มนุษย์ต้องล้มตายไปเป็นพันๆ ล้านคนในช่วงเวลาไม่ช้าไม่นานนัก ด้วยสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นเพราะความโลภและความไม่รู้ของเราเอง

เริ่มจากความตื่นเต้นดีใจอย่างสุดขีดของปวงมนุษย์ในประเทศทางตะวันตกเมื่อ ๔๐๐ กว่าปีก่อน ซึ่งตั้งชื่อยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงเสียสวยหรูว่า เป็นยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ ยุคสมัยแห่งเหตุผล และยุคแห่งการรู้เเจ้งเห็นจริง (ages of reason and enlightenment) ทั้งๆ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเพียงอย่างเดียว เป็นการโผล่ปรากฏ - ของ “เหตุผลและองค์ความรู้” - จากการจัดองค์กรตนเองทางกายภาพหยาบดิบ แต่การโผล่ปรากฏของ “เหตุผล” ได้ทำให้ความเชื่อที่เป็นความรู้ของจิตและศาสนาในยุคมืดบอดทางปัญญาต้องสิ้นสุดลง กลายไปเป็นความงมงายและไสยศาสตร์ตราบจนปัจจุบันนี้

โดย “เหตุผล” ที่สำคัญที่สุดคือ “จิตและศาสนาไม่มีจริงและไม่จริง” เพราะศาสนาล้วนมีความแตกต่างกัน บางศาสนามีพระเจ้าเทวดา บางศาสนามีแต่เทพเทพี บางศาสนามีผู้สร้าง บางศาสนาไม่มีผู้สร้าง เมื่อศาสนาล้วนขัดแย้งกันเอง เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าอันไหนถูกอันไหนจริง? ศาสนามีแต่จะให้ความแตกต่าง สร้างความแปลกแยกระหว่างกัน มีแต่ “เหตุผล” เท่านั้นที่เป็นความจริง และนั่นคือความเชื่อมั่นที่ปัญญาชนส่วนนำของโลก รวมทั้งบ้านเรายึดถือมาตราบจนปัจจุบันนี้ นั่นคือช่วงเวลาเริ่มต้นของความจริงสูงสุดของมนุษยชาติ การตีจากยุคมืดบอดทางปัญญาของยุโรปและศิลปะโกธิคของเยอรมันตะวันออกในขณะนั้น

ความหลงผิดของมนุษยชาติด้วยการค้นพบหลักการของเหตุผล - การเริ่มต้นของสิทธิมนุษยชนในยุคปัจจุบันและความไม่มีอะไรแม้แต่สิทธิ์ที่จะดำรงอยู่ของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม - มนุษย์ในภาพรวม (collective universality) จึง “ใหญ่” ขึ้นเรื่อยๆ และหลงในศักยภาพความยิ่งใหญ่ของตนเองอย่างเกินขอบเขต (anthropocentric) จนลืมไปว่าไม่มีอะไรในจักรวาลที่เกิดขึ้นมาโดยเปล่าๆ ชนิดไม่ต้องทำอะไร การเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐนั้น มาพร้อมกับหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทั้งหลายทั้งปวง เพราะในด้านหนึ่ง มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่มีจิตใจดีงามกอปรไปด้วยความรักเมตตาอย่างไม่หวังผลตอบแทน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความหลงผิดที่มีอีโก้เป็นพื้นฐานและเหตุผลบนความรู้และจิตรู้ (anthropocentric) ตามที่ตาเห็น ทำให้มนุษย์แยกตัวเองออกจากธรรมชาติมากขึ้น มองธรรมชาติประหนึ่งอาณาจักรแห่งทาสผู้รับใช้ที่มนุษย์เราจะทำอะไรก็ได้ ความทะนงตนจากความสามารถในการเอาชนะธรรมชาติได้มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มนุษย์ค่อยๆ ลืมเลือนศักยภาพในด้านแรกหรือโยนทิ้งไป เพราะปรารถนาความสุขผิวเผินของตัวเองที่คิดว่าสำคัญที่สุด ภายใต้หลักการที่ว่า มนุษย์คือผู้ยิ่งใหญ่ในสากล (collective universality) ที่ว่านั้น

“ความรู้กับเหตุผลปลดโซ่ตรวนที่จำจองเราไว้
เป็นอิสระ - จึงเข้าใจว่าอะไรคือ “ความจริง”
ความจริงที่ตาเห็นจึงไม่ต้องแต่งไม่ต้องเสริม
สร้างสรรค์ “ความจริง” อันสากลให้มนุษย์โดยรวม”


นั่นคือ โคลงที่กวีเอกของอังกฤษ ธอมัส วาร์ตัน (Thomas Warton) แต่งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๗๘๒ ที่อ้างถึงความปรารถนาของมนุษยชาติ - ที่มีฝรั่งชาวยุโรปเป็นแกนนำหรืออาจจะหมายถึงชนชาติฝรั่งเท่านั้น - ต่อเผ่าพันธุ์ที่ในตอนนั้นเป็นสากลของโลกโดยรวม ความจริงที่ตั้งบนเหตุผลและการรับรู้โลกและจักรวาลตามที่ตาและประสาทสัมผัสทั้งห้าบอกเรา และเราเชื่อมั่นว่านั่นคือความจริงที่แท้และเป็นสากล โดยไม่เคยรู้สึกว่า เราเข้าข้างตัวเองว่ามนุษย์คือ “ผู้ยิ่งใหญ่” แต่เพียงเผ่าพันธุ์เดียวในโลก เพราะคิดว่ามนุษย์ไม่ใช่ธรรมชาติ หรือแยกออกจากธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง เพราะมนุษย์มีจิตรู้ หรือ “รู้ว่าตัวเองคือผู้รู้” แต่เพียงเผ่าพันธุ์เดียว

นั่นคือสิ่งที่มนุษย์เข้าใจในตอนนั้น และพยายามทำให้เป็นไปตามนั้น มนุษยชาติที่มีจิตรู้เป็นสากล มนุษยชาติที่มีรูปกายเหมือนๆ กัน มนุษยชาติที่พูดได้และมีภาษาในทางสังคมและคณิตศาสตร์เป็นภาษาเดียวกัน นั่นช่างเป็นความคิดที่สวยหรู แถมยังมีส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงเสียด้วย มนุษย์ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็มีจินตนาการและคิดเหมือนๆ กัน มีการรับรู้ มีจิตรู้ และมโนทัศน์เช่นเดียวกัน มีแรงบันดาลใจและมีความหวังความใฝ่ฝันเหมือนๆ กัน

แต่ว่าความคิดและความเข้าใจ (ในตอนนั้น) การมีรูปแบบและโครงสร้างของแต่ละสังคมที่เหมือนกัน หรือต้องการให้มนุษย์พูดเขียนภาษาเดียวกัน หรือมีภาษาทางสังคม เช่น มีประชาธิปไตยและกฎหมาย เหมือนๆ กัน โดยเฉพาะศาสนากับความเชื่อของแต่ละบุคคล ย่อมกระทบกับปัจเจกบุคคลด้วย เพราะมนุษย์นั้นชอบที่จะเป็นเจ้าของและมีความหวงแหนสิ่งที่เป็นส่วนตัวในขอบเขตหนึ่ง หากเกินไปจากนั้นจะไม่ยอม แต่ความเป็นสากลเป็นของที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะร่วมใช้ได้ จึงเป็นปัญหาขึ้น ดังนั้นในปลายศตวรรษที่ ๑๗ จึงเกิดขบวนการต่อต้านการมีเหตุผล หรือขบวนการ “เชิดชูความเป็นเลิศของความหลากหลาย” (anti-rationalism or the great diversities movement) ขึ้นมา


ซึ่งตรงนี้มีแง่คิดในเรื่องวิวัฒนาการของธรรมชาติ วิวัฒนาการของมนุษย์กับสังคมของมนุษย์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งอยู่ และเป็นสิ่งที่หลายคนไม่เข้าใจว่า ทำไมคนบางคนจึงคิดไม่เหมือนกับคนอื่นๆ เขา หรือคนบางคนที่เป็นผู้ทรงศีลทรงธรรมบริสุทธิ์ประหนึ่งเข้าถึงวิมุติ แต่ยังไร้วิวัฒนาการทางจิตโดยไปติดอยู่กับโลกียกามจนน่าแปลกใจ ทำให้ถูกติฉินนินทากระทั่งกลายเป็นกาในฝูงหงส์ไปก็มี ซึ่งถ้าหากว่าเราเข้าใจจิตวิวัฒนาการและวิวัฒนาการของสังคม จากปัจเจก – สู่โดยรวม – สู่โดยรวมที่ใหญ่กว่า – สู่โดยรวมที่ใหญ่กว่านั้นขึ้นไปอีก – สู่ประเทศชาติ – สู่โลกและมนุษยชาติ – สู่ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสรรพชีวิต – สู่จักรวาล – สู่ความว่างอันไม่สิ้นสุด แล้วเราจะเข้าใจ

ในความเห็นของผู้เขียนที่ได้จากการสังเกตตัวเอง ผู้เขียนเชื่อว่าการเจริญเติบโตทางจิตรู้ (conscious mind) ของมนุษย์เป็นเรื่องของชีววิวัฒนาการหรือสัมพันธ์กับชีววิวัฒนาการ ที่มีความซับซ้อนและละเอียดเหมือนๆ กัน และมาจากเส้นทางสองสายเท่าๆ กัน คือ หนึ่ง เป็นผลทางพันธุกรรมของเผ่าพันธุ์ (genetics) กับ สอง การเลี้ยงดูอุ้มชูจากครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแม่ รวมทั้งธรรมชาติแวดล้อมและภูมิประเทศที่ประกอบเป็นสังคมหรือวัฒนธรรม (ผลการวิจัยของสถาบันสุขภาพจิต ภายใต้สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NIH) ที่ทำในเด็กอายุระหว่าง ๙-๑๖ ปีจำนวน ๖๐ คนในปี ค.ศ. ๒๐๐๓ พบว่าพันธุกรรมให้ผล ๔๐-๕๐ เปอร์เซ็นต์ สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะสังคมวัฒนธรรมให้ผลรวมๆ กันอีก ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็นต์) ที่ทำให้มนุษย์ทุกคนได้เรียนรู้สิ่งที่จำเป็นหรือสำคัญต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีสามมิติ (บวกที่ว่าง - เวลาเป็นสี่มิติ) ลดหลั่นลงมาตามวันและเวลาของช่วงแห่งการเจริญเติบโตของบุคคลนั้นๆ

ซึ่งจากการสังเกตตัวเองและคนอื่นๆ ของผู้เขียน - ที่ค่อนข้างจะสอดคล้องตามที่คนในสมัยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลกสังเกตไว้เหมือนๆ กัน - สอดคล้องกับการวิจัยของ ญอง เปียเจต์ นั่นคือ

๐-๒ ปี เรียนรู้ตัวเอง ช่วง ๒-๗ ปี เรียนรู้สิ่งแวดล้อม ทั้งสองช่วงวัยคือ การเรียนรู้เพื่อเตรียมตัวเองให้อยู่รอดซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่สุด ที่ผู้เขียนเรียกว่าการเรียนรู้เพื่อ “รู้รอด”

ช่วงที่สาม ๗-๑๑ ปี อันเป็นช่วงจำเป็นถัดลงมา - ซึ่งในช่วงที่ผู้เขียนยังเรียนอยู่ประถมหนึ่งเมื่อ ๗๗ ปีมาแล้ว ทางราชการบังคับให้ผู้ปกครองต้องส่งลูกๆ เข้าโรงเรียนอย่างช้าเมื่ออายุ ๗ ปีบริบูรณ์ - และช่วงที่สี่ หลังอายุ ๑๑ ปีขึ้นไป อันเป็นช่วงวัยของการเรียนรู้ในโรงเรียนที่สำคัญ แต่ไม่จำเป็น จะเป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนเรียกว่า การเรียนรู้เพื่อ “รู้ว่าตัวเองคือผู้ที่รู้” นั้น หรือ “รู้ว่ารู้”

นั่นคือการเรียนรู้ที่มนุษย์เราทุกคนต้องรู้เพื่อดำรงอยู่ในโลกสามมิตินี้ร่วมกัน

ส่วนการเรียนรู้อันที่สามคือ การเรียนรู้ความจริงแท้หรือการแสวงหาสภาพจิตวิญญาณเพื่อนำไปสู่การ “รู้แจ้ง” นั้น แม้ไม่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ในโลก (existence) ที่อยู่ในสภาพสมดุลตามปกติ แต่สภาวะโลกร้อน มลภาวะและอื่นๆ คือความเสียสมดุลไม่ปกติที่ปราศจากการแก้ไขบรรเทาได้ในทางวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีกายภาพ โดยมีดวงอาทิตย์ที่แก่ตัวลงไปทุกๆ วันและร้อนขึ้นทุกๆ วัน และเรายิ่งไปทำให้ร้อนขึ้นด้วยเศรษฐกิจเสรีและความโลภกับการชิงกันเป็นใหญ่ จึงยิ่งไปกันใหญ่

สิ่งที่จะบรรเทาแบ่งเบาลงได้มีเพียงอย่างเดียวคือ การตื่นและการเปลี่ยนแปลงทางจิตสู่สภาวะจิตวิญญาณ (spirituality) ซึ่งเมื่อถึงสภาวะเช่นนั้น เราก็จะเข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่งว่าไม่มีอะไรคงที่ ไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นจะไม่รู้สึกกังวลกับความไม่เที่ยงนั้นๆ และการเข้าถึงสภาพเช่นนั้น ในระดับแรกๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินคาด ทั้งยังเป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่ทุกคนที่มีจิตเป็นปกติล้วนทำได้อย่างสบาย

Back to Top