มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 7 มิถุนายน 2551
ในระยะหลังนี้ผมพบว่า ความเข้าใจเรื่อง “สี่ระดับ” ของเรื่องราวต่างๆ ในทฤษฎียู (Theory U) ของออตโต ชาร์มเมอร์ นั้นมีประโยชน์มาก ทั้งในการอธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจและในการนำไปใช้ปฏิบัติจริง
ผมได้เขียนถึง “สี่ระดับ” ของ “การฟัง” (การฟังที่ใช้วิธีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว, การฟังเพื่อจับผิด, การฟังอย่างเปิดหัวใจ และการฟังไปถึง "ความหมายที่แท้จริง") มาแล้วในคอลัมน์ “จับจิตด้วยใจ” มติชนรายวัน ๙ มีนาคม ๒๕๕๑
ในบทความนี้ผมอยากจะเขียนถึง “สี่ระดับ” ของ “การต่อสู้” ซึ่งจริงๆ แล้ว ชาร์มเมอร์ไม่ได้เขียนเรื่องนี้ไว้นะครับ แต่ผมไปอ่านเจอในหนังสือไอคิโดที่ชื่อ Aikido and the Dynamic Sphere ได้เขียนถึง “จริยธรรม” ของการต่อสู้ที่แบ่งออกเป็นสี่แบบ และพบว่าตรงกันกับเรื่องสี่ระดับนี้อย่างน่าสนใจมากและน่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้
ผมคิดว่าความเข้าใจเรื่องนี้อาจจะเป็นประโยชน์กับคนไทยในยามที่ประเทศชาติบ้านเมืองของเรากำลังอยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้
ในระดับที่หนึ่งของการแก้ไขปัญหา เป็นเรื่องของการตอบกลับอย่างรวดเร็ว (Reacting)
คือการดาวน์โหลด (Downloading) เพื่อนำข้อมูลเก่ามาใช้แบบอัตโนมัติ ไม่มีการคิดใหม่ ไม่มีการสร้างสรรค์ใหม่
ในแง่ของการต่อสู้นั้น เราจะพยายามแยกแยะมองมิตรและศัตรูแยกจากกันอย่างเด็ดขาด ประมาณว่า “ถ้าไม่ใช่พวกฉันก็เป็นศัตรูของฉัน” จริยธรรมในระดับที่หนึ่งนี้ เราจะเข้าไปไล่ล่าโจมตีคนที่เราคิดว่าเป็นศัตรูของเราเลย เข้าไปทำร้ายเลยหรือฆ่าให้ตายกันไปเลย เพราะคิดว่าโจมตีก่อนได้เปรียบ ทำลายล้างไปก่อน เราจะได้อยู่รอด เราเลือกที่จะใช้ “ความกลัว” เป็นที่ตั้ง เป็นฐานในการกระทำการต่างๆ ของเรา
ระดับที่สอง เป็นระดับของการที่ออกแบบใหม่ (Redesigning)
พยายามหาหนทางใหม่ๆ แต่ยังเป็นกรอบคิดแบบเดียวกันกับระดับที่หนึ่ง คือ ยังแยกแยะมิตรและศัตรูอย่างชัดเจน และพยายามหาหนทางใหม่ๆ ในการทำให้เห็นว่าใครเป็นมิตรใครเป็นศัตรูให้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
อาจจะมีการทดสอบมิตรว่าจะคิดแบบเดียวกันกับเราหรือไม่ ถ้ามิตรไม่คิดเหมือนเราตามที่เราได้ทดสอบ มิตรคนนั้นก็จะต้องกลายไปเป็นศัตรู
จริยธรรมของการต่อสู้ในระดับที่สองนี้ เราจะไม่โจมตีฝ่ายตรงข้ามก่อน แต่จะหาหนทางในการแยกแยะความเป็นมิตรความเป็นศัตรูให้ชัดเจน หาหนทางใหม่ๆ ในการยั่วยุให้ฝ่ายตรงกันข้ามโกรธ
เมื่อเกิดการต่อสู้ขึ้นก็จะมุ่งทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามด้วยความรุนแรง
ระดับที่สาม เป็นระดับของ “กรอบคิดใหม่” (Reframing)
เป็นระดับสำคัญที่เราเริ่ม “มองเห็น” ว่า “ไม่มีมิตรไม่มีศัตรู” มีแต่ “เพื่อนมนุษย์” เริ่มมองเห็น “ความเป็นคนอื่น” ในตัวเรา เรื่องราวที่เราเคยด่าเคยว่าคนอื่นนั้นบางทีเราเองก็ทำเหมือนเขานั่นแหละ
เราเริ่มมองเห็นแล้วว่าการโจมตีก่อนนั้นไม่มีประโยชน์อะไร เป็นการทำลาย เป็นการสร้างศัตรูมากกว่าการที่จะได้ประโยชน์ร่วมกัน การต่อสู้ในระดับนี้เราเริ่มเข้าใจคู่ต่อสู้หรือศัตรูของเรามากขึ้น เราเลือกที่จะ “ไม่โจมตีก่อน” แต่เราจะยังคงป้องกันตัวเอง แต่ในระดับนี้บางครั้งการป้องกันตัวเองของเราก็ไปทำร้ายคู่ต่อสู้ของเราถึงแก่ชีวิต โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ แต่เป็นเพราะเรายังควบคุมพลังงานของเราได้ไม่ดีเพียงพอ
ระดับที่สี่ เป็นระดับของ “การก่อเกิดตัวตนใหม่” ของเรา (Regenerating)
ในระดับนี้เรากับเขาเป็นหนึ่งเดียวกัน การต่อสู้ในระดับนี้ เราจะเป็นฝ่ายเฝ้าดู สังเกต ตั้งรับ เราจะไม่เป็นฝ่ายโจมตีคู่ต่อสู้ของเราก่อน ในไอคิโดมีคำพูดอยู่คำหนึ่งที่ผมชอบมากๆ ก็คือ “Protect the attacker” คือเราจะปกป้องดูแลผู้ที่มาโจมตีเราไม่ให้เขาบาดเจ็บได้อย่างไร
และนี่คือจริยธรรมระดับลึกที่สุดของศิลปะการต่อสู้
การต่อสู้ในระดับที่สี่ “มีความเป็นไปได้” ที่จะเกิดขึ้น และได้เกิดขึ้นแล้ว ในศิลปะการต่อสู้ชั้นสูงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไอคิโด คาราเต้ ไท้ฉีฉวน หรือแม้แต่มวยไทยของเรา ผู้โจมตีจะถูกปลดอาวุธโดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ
ถึงตรงนี้ ผมอยากจะให้เราลองย้อนมาดูตัวเรานะครับ ความเป็นจริงมีอยู่ว่า “ความขัดแย้ง” เกิดขึ้นตลอดเวลาในชีวิตมนุษย์ ในทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง ไม่สถานที่ใดก็สถานที่หนึ่ง
เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะไม่มีความขัดแย้งในชีวิตนี้
แต่คำถามก็คือ “เราเลือกที่จะ ‘จัดการดูแลความขัดแย้ง’ เหล่านั้นอย่างไร?”
“เราใช้ระดับไหนของศิลปะการต่อสู้ในการจัดการดูแลความขัดแย้งเหล่านั้น?”
มนุษย์ส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะแก้ไขปัญหาทุกอย่างทุกเรื่องในระดับที่หนึ่งและสอง แต่ความเข้าใจเรื่อง “สี่ระดับ” แบบนี้จะช่วยทำให้มองเห็นว่า “เรายังมีหนทาง” และ “เรายังมีทางเลือก” ที่จะใช้ “ระดับการแก้ไขปัญหา” ที่ลึกซึ้งมากขึ้นกว่าเดิม
“การฟังสี่ระดับ” ที่เคยเขียนไปแล้วก็น่าจะพอทำให้เห็นภาพว่า แค่เรื่องง่ายๆ อย่างการฟัง คนส่วนใหญ่ก็ยังใช้ระดับที่หนึ่งและระดับที่สองอยู่ โดยรวมๆ ก็คือ “ยังไม่ฟังกันจริงๆ ด้วยหัวใจ”
เรื่องที่เขียนนี้ ผมยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องอุดมคติ
เป็นเรื่องที่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ สามารถปฏิบัติได้จริง ถ้า “เรามองเห็น” และ “เราเลือก” ผมเชื่อว่าไม่เคยมี “เหยื่อของสถานการณ์” นะครับ มีแต่ว่าเราเลือกที่จะเป็นอย่างนั้นเท่านั้นจริงๆ ต่างหาก
แสดงความคิดเห็น