มนุษย์และการศึกษาที่แท้



โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 มิถุนายน 2551

วงการศึกษาในปัจจุบัน มีหัวข้อซึ่งเป็นที่สนใจมากอยู่หัวข้อหนึ่งคือ “การศึกษาที่ทำให้เกิดหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์” สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง มุ่งเข็ม ตั้งใจมั่น ที่จะปรับปรุงระบบการเรียนการสอนให้เอื้ออำนวยต่อการหล่อหลอมบัณฑิตผู้มีคุณสมบัติอย่างที่ว่านี้ให้กลายเป็นมาตรฐานของระบบการศึกษาให้ได้ จึงทำให้เกิดข้อน่าคิดว่า แล้วหลักสูตรแต่ก่อนๆ นี้ไม่ได้มีส่วนที่ทำให้วัตถุประสงค์ดังกล่าวบรรลุหรอกหรือ?

คุณพ่อผมเคยเล่าให้ฟังว่า วิชาที่ท่านเรียนสมัยก่อนนั้น มีรายวิชาน้อยกว่าสมัยที่ผมเรียน (ท่านจบมัธยมแปดประมาณก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) ตอนที่ท่านได้ทุนไปเรียนต่อที่สหราชอาณาจักร ท่านเรียนคณิตศาสตร์ วรรณกรรม ภาษาอังกฤษ และประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่กลับมาเมืองไทยก็สามารถทำงานได้หลากหลาย และประสบความสำเร็จพอสมควร ท่านบอกว่าอาจจะเป็นเพราะสมัยก่อน เราเรียนเพื่อแสวงหาความเฉลียวฉลาด (wisdom) มากกว่าแสวงหาความรู้ (knowledge) กระมัง โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้มีการค้นพบความรู้เพิ่มเติมมากขึ้นๆ ศาสตร์ต่างๆ มีการแตกแขนง และลงลึกซึ้งไปถึงระดับโมเลกุล ระดับพันธุกรรม ใครจะเรียนอะไรในตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าจะมีสาขาเฉพาะทางที่ลงรายละเอียดไปหมด ซึ่งก็เป็นประจักษ์พยานถึงความก้าวหน้าทางวิทยาการของมนุษยชาติ และน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ปรากฏว่าเรากลับเดินหมิ่นเหม่อยู่กับการหมกมุ่นในเรื่องราวระดับเล็ก ลงลึก จนกระทั่งมองไม่เห็นภาพรวม ภาพใหญ่ เสมือนมดเดินอยู่บนแนวตะเข็บผ้า ซึ่งไม่มีทางทราบว่าเสื้อผ้าทั้งชุดนั้นสวยงามเพียงไร

มนุษย์เป็นตัวอย่างของชีวภาพที่น่าทึ่ง เรามีร่างกายที่ใช้รับรู้โลกภายนอก เพื่อเชื่อมต่อกับโลกภายใน เรามีระบบสัมผัสและมีระบบความรู้สึกที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อน ทำให้ไม่เพียงแต่รับรู้ความเจ็บปวด ความนุ่ม ความแข็ง แต่เรายังมีความรู้สึกรักใคร่ โกรธเกลียด ไม่เพียงแต่เท่านั้น มนุษย์ยังมีสมองส่วนหน้า ซึ่งมีหน้าที่ระดับสูงไปกว่านั้นคือ บูรณาการความทรงจำทั้งหลาย ความรู้สึก กอปรเป็นความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ เราจึงมี “ความรู้สึก” ที่มากไปกว่าระดับพื้นฐาน อาทิ เรามีความภาคภูมิใจ ความทรนง ศักดิ์ศรี ไปจนถึงความสามารถในการพัฒนาจิตไปสู่ความสงบสันติสุข และมีความเข้าใจอย่างถึงที่สุดจนหลุดพ้น (transcendence) อย่างที่สัตว์อื่นไม่สามารถกระทำได้

ดังนั้น ถ้าหากจะมีการทำให้ศักยภาพที่ว่านี้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ จะต้องเกิดจาก “บริบท” บางประการที่ทำให้เกิดความถดถอยในสิ่งที่คนเราสามารถกระทำได้ บริบทที่ว่านั้นคืออะไร?

ศักยภาพสูงสุดของมนุษย์นั้น เกิดจากความสามารถในการเชื่อมโยงการรับรู้ ความรู้สึก ความทรงจำ ประสบการณ์ ความคิด จินตนาการ หรือหน้าที่ทั้งหมดของสมองเข้าหากันอย่างไร้ตะเข็บ ไร้รอยต่อ เกิดเป็นสภาวะแห่งองค์รวม (holistic) ที่สิ่งแวดล้อมภายในเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกันกับปรากฏการณ์ภายนอก ความเป็นไปได้จึงมีอย่างไม่สิ้นสุด ไร้ขอบเขต

การศึกษาที่ทำให้การเชื่อมโยงดังที่ว่านี้ขาดสะบั้น จะเป็นบริบทที่จำกัดศักยภาพของมนุษย์ลง ทำให้เราทำกิจกรรมต่างๆ โดยขาดความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมในนิเวศ หรือบางครั้งถึงขนาดขาดความเชื่อมโยงระหว่างอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเราเองเสียด้วยซ้ำไป บางคนทุ่มเททำงานจนขาดการดูแลตนเอง หรือทุ่มเทให้กับอารมณ์จนความรู้สึกเป็นตัวชี้นำร่างกาย และที่ไม่ควรเกิดมากที่สุดก็คือ บางคนที่เรียนมากขนาดไหนก็ตาม กลับไม่สามารถเชื่อมโยงความดีของศาสตร์ ของความรู้ต่างๆ นั้น เข้ากับความภาคภูมิใจในตนเอง เข้ากับความดีของตนเอง และไม่เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อครอบครัว คนรอบข้าง และสังคมได้ ภาพรวมของการผลิตบัณฑิตในระบบการศึกษาแบบนี้ก็คือ ความโกลาหลอลหม่าน การสูญเสียความสัมพันธ์ ที่การสื่อสารไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการสื่อสารเพื่อรัก เพื่อสามัคคี เพื่อเชื่อมโยง หากเป็นการสื่อสารด้วยความเกลียดชัง บ่อนทำลาย และแบ่งแยกมากขึ้นเรื่อยๆ

สังคมไทยที่แล้วมา มีข่าวด้านลบเกี่ยวกับวงการแพทย์อยู่เสมอๆ มีการพบเห็นแพทย์ที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมในที่นี้บ้าง ที่นั้นบ้าง จนกระทั่งคนในระบบการศึกษาของแพทย์ คือ โรงเรียนแพทย์ ต้องหันมาคุยกันว่าระบบการศึกษามีส่วนอะไรหรือไม่ต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ความซับซ้อนของพฤติกรรมผลลัพธ์ในการศึกษานั้นลึกซึ้งยิ่งนัก จนมีการกล่าวอย่างทีเล่นทีจริงว่า “เราใช้เวลา ๖ ปี ในการผลิตแพทย์ออกมา แต่เราอาจจะต้องใช้เวลาทั้งชีวิตหรือไม่ที่จะทำให้เขากลับมาเป็นคนอีกครั้ง”

“เราไม่เพียงต้องการให้เธอเป็นหมอเท่านั้น เรายังต้องการให้เธอเป็นคนด้วย”

พระราชดำรัสใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
พระราชบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย



หากระบบการศึกษาของเรา ไม่ว่าจะวงการไหนก็ตาม ไม่ได้ทำให้ความรู้ เทคโนโลยี หรือศาสตร์ต่างๆ นั้นเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราพึงกระทำต่อกันและกัน ไม่ได้ทำให้เกิดสำนึกในหน้าที่ต่อสังคม การศึกษานั้นไม่เพียงแต่ไม่สมบูรณ์ หากแต่กำลังลดศักยภาพโดยรวมของมนุษยชาติลงอีกด้วย

กับดักที่สำคัญสำหรับ “การเรียนเพื่อความรู้” นั้นก็คือ ความลึกซึ้งในศาสตร์ต่างๆ ที่ทำให้ผู้เรียนต้องใช้เวลามหาศาลในการจดจำ เรียนรู้ให้หมด เพียงเพื่อจะพบว่า สิ่งที่จดจำเรียนรู้มานั้น ในเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือนข้างหน้า บางครั้งก่อนที่จะจบการศึกษาเสียด้วยซ้ำไป กลายเป็นความรู้เก่าที่หมดความน่าเชื่อถือไปเสียแล้ว อาจารย์ที่จบการศึกษาสูงๆ เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มามากมาย และมีความภาคภูมิใจในความรู้ ย่อมอยากจะถ่ายทอดให้แก่นักเรียนทั้งหมด แต่การเรียนที่ดีนั้น เหมือนการทานอาหาร คุณานุประโยชน์ไม่ได้เกิดขึ้น “ตอนกำลังเรียน” แต่เกิดขึ้นตอนดูดซึมและสารอาหารต่างๆ ค่อยๆ กระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ เดี๋ยวนี้การเรียนที่นักเรียนนักศึกษาไม่มีเวลาสะท้อนสิ่งที่ตนเรียนให้บูรณาการเข้ากับสิ่งที่ตนเองเป็น หรืออยากจะเป็น จะทำให้การเรียนนั้นลงลึกแต่ไม่ลึกซึ้ง รู้มากแต่ไม่ซึมซับ มองไม่เห็นว่าสิ่งที่ตนเรียนไปนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องนำไปทำให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติด้วยอย่างไร

ขอเพียงสอนบัณฑิตให้เป็นคนดี สำนึกในหน้าที่ เมื่อนั้นเขาจะมีพลัง มีกำลังใจศึกษาค้นคว้าต่อไปด้วยตนเอง จนได้เรียนรู้ศาสตร์ที่ทันสมัยตลอดเวลา เพราะแรงบันดาลใจแห่งความเป็นมนุษย์ต่างหาก ที่ทำให้การศึกษานั้นมีคุณค่าและมีความหมาย

Back to Top