ขอบเขตการคิดที่แตกต่าง



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 มิถุนายน 2551

การคิดของมนุษย์เรานั้น เกี่ยวพันกับพื้นฐานของความรู้ที่ผู้คิดมีอยู่ในขณะนั้นหรือขณะใด และที่สำคัญยังขึ้นกับวิธีคิดวิธีวิเคราะห์ซึ่งขึ้นกับความใจกว้าง ความเป็นกลาง และประสบการณ์ของผู้นั้นอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้น ผลของการคิดหรือความคิดของมนุษย์เราจึงแตกต่างกัน โดยเฉพาะหากเป็นความคิดของคนที่เป็นผู้นำทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ จนบางทีทำให้ประชาชนคนทั่วไปที่ไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงสับสนและไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี คนที่ได้รับความนิยม คนที่มีชื่อเสียง หรือคนที่ทำงานเฉพาะด้านนั้นๆ มานาน หรือเรียนจบมหาวิทยาลัยมาทางด้านนั้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับสติปัญญาความฉลาด (Intelligence) แต่อย่างใด จึงมักได้เปรียบ เพราะทำให้สาธารณชนเชื่อว่า สิ่งที่คนเหล่านั้นพูดหรือเขียนหรือโฆษณานั้นคงจะเป็นข้อเท็จจริง เราถึงได้มีความแตกต่างกระทั่งแตกแยกกัน หรือแบ่งกันเป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นพรรคเป็นพวก ดีไม่ดีถึงกับยกพวกมาตีกัน อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ รวมทั้งบ้านเราในขณะนี้

ฉะนั้น การคิดไม่ว่าของใครจึงต้องรอบคอบรอบด้าน ครอบคลุมทั้งกายและจิต การยกความสามัคคีมาอ้างนั้น หากคิดไม่รอบด้านจริงๆ จะไม่เกิดประโยชน์หรือมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากคนทั่วไปที่กำลังสับสนและไร้ข้อมูล มักจะคิดถึงแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นบรรทัดฐาน ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของสัตว์โลกรวมทั้งมนุษย์ที่อยู่ในสังสารวัฏ

ทอมัส กิเออรีน กับ แอนนี ฟิกเกิร์ต (Thomas Gieryn and Anne Figert: Irregularities for Science in Society, 1990) กล่าวว่า ประชาชนคนทั่วไปมักจะเชื่อถือนักวิทยาศาสตร์ไว้ก่อนในเรื่องข้อมูลทางวิชาการ เพราะตัวเองไม่รู้และคิดว่านักวิทยาศาสตร์ต้องรู้ แต่ทว่าวิทยาศาสตร์ที่นักวิทยาศาสตร์รู้นั้น ก็เป็นเฉพาะเรื่องของธรรมชาติทางด้านกายภาพเพียงอย่างเดียว และบ่อยครั้งที่วิทยาศาสตร์อธิบายธรรมชาติอย่างกำกวม ยืดหยุ่น และโดยประวัติศาสตร์มักจะเปลี่ยนแปลงไปเสมอๆ - โดยนักวิทยาศาสตร์จะโต้เถียงกันเอง - ความจริงทางวิทยาศาสตร์กายภาพจึงไม่แน่ว่าจะถูกเพียงอย่างเดียว (science is no a single thing) ดังนั้น การพูดถึงความจริงทางวิทยาศาสตร์จะต้องมีขอบเขตโดยคำนึงถึงบทบาทของสังคมวัฒนธรรมที่ประชาชนสนใจในขณะนั้นๆ ร่วมไปด้วย ไม่ใช่ไปสรุปว่า อะไรๆ ที่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์เป็นองค์ความรู้จอมปลอมทั้งหมด (pseudoscience or pseudoknowledge) หรือผิดทั้งหมด ทางที่ดีนักวิทยาศาสตร์ต้องคำนึงถึง “ขอบเขต” ความแตกต่างของมโนทัศน์ (concept or perspective) ของประชากรในชุมชนบนฐานของวัฒนธรรมในเวลานั้นๆ พร้อมกันไปด้วย

ผู้เขียนเห็นด้วยครึ่งหนึ่งและไม่เห็นด้วยครึ่งหนึ่งกับที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ที่เห็นด้วยเพราะเข้าใจว่า ประชาชนทั่วไปและแม้ทางการเองก็เชื่อถือในวิทยาศาสตร์จริงๆ ในแง่วิชาการ เพราะไปเอาเทคโนโลยีมาปนเปเข้ากับวิทยาศาสตร์ ซึ่งเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นเครื่องซักผ้า ตู้เย็น พัดลม หรือโทรทัศน์ สาธารณชนที่เอามาใช้จะเห็นได้อย่างเด่นชัด ได้ประโยชน์จริงๆ และมีประสิทธิภาพจริงๆ ด้วย อย่างน้อยเท่าที่ประสาทสัมผัสภายนอกบอกให้เรารู้ เพราะมันให้ความสุขสะดวกสบายกับเราจริง ส่วนจะจริงแท้หรือหยาบและตื้นเขินแค่ไหนเราไม่สนใจ ตราบเท่าที่มันให้ความสุขที่เราต้องการ และที่เรารู้นั้น ก็เป็นการรู้สำหรับมนุษย์แต่เพียงเผ่าพันธุ์เดียว หมาย่อมไม่สนใจโทรทัศน์และไม่รู้จักรถยนต์ว่าแข็งและแรงมากกว่า มันถึงได้ถูกชนจนพิการบ่อยๆ ดังนั้น ขอบเขตของมโนทัศน์ต่อความเข้าใจว่าเป็นความจริงของประชาชนในเรื่องวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีจึงกลายเป็นความเคยชิน กลายเป็นวัฒนธรรมไปด้วย

ส่วนที่ไม่เห็นด้วยก็คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีล้วนเป็นการทำเทียมหรือจำลองโลกธรรมชาติในด้านของกายภาพเพียงด้านเดียว จึงเป็นความจริงเฉพาะทางกายภาพ ไม่จริงทั้งหมด เพราะไม่ได้รวมจิตหรือแม้แต่นามเอาไว้ มันจึงเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวที่หยาบและผิวเผินเท่านั้น แม้วิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่หรือแควนตัมเมคานิกส์เอง ก็เป็นประสบการณ์ของบุคคลที่สามซึ่งเป็นเรื่องทางกายภาพ แต่เนื่องจากเป็นวิทยาศาสตร์ที่ละเอียดที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยคิดมาก่อน คือเล็กละเอียดจนห่างจากความเป็น “กาย” แทบจะโดยสิ้นเชิง มันจึงทำงานคล้อยๆ ไปทางจิต คือให้ความจริงยิ่งกว่าเก่า และแทบจะตรงกันข้ามกับวิทยาศาสตร์เก่า เหมือนกับความแตกต่างของหน้ามือกับหลังมือ คือคล้ายกับจิตซึ่งมีความละเอียดที่สุด จนไม่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสภายนอกทั้ง ๕ ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแควนตัมสตัฟ (quantum stuff) จะเป็นกายที่ละเอียดมากๆ จนมีการทำงานคล้อยไปทางจิต แต่มันก็ไม่ใช่จิตซึ่งเป็นประสบการณ์ของบุคคลที่หนึ่ง รับรู้ด้วยจิตที่สงบนิ่งระหว่างสมาธิเท่านั้น คนทั่วไป - นอกจากผู้ที่ศรัทธา - จึงมักคิดว่าจิตเป็นเรื่องของไสยศาสตร์ เป็นความงมงาย

ที่พูดมาทั้งหมดนั้น ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นการคิดที่แตกต่างกัน ระหว่างนักวิทยาศาสตร์กายภาพ - ที่มองโลกและจักรวาลว่าเป็นเพียงรูปกายที่เกิดมาจากความบังเอิญ - กับผู้เขียน - ที่มองโลกและจักรวาลว่ามีชีวิตหรืออย่างน้อยเป็นองค์กรชีวิตที่บริหารและควบคุมสิ่งมีชีวิต รวมทั้งมนุษย์ให้ดำเนินไปตามแผนหรือรูปแบบพิมพ์เขียวของจักรวาล - ดังนั้น การมองเรื่องทั้งหลาย รวมทั้งเรื่องของชีวิตโดยเฉพาะมนุษย์แต่ละคนหรือโดยรวม (collectively) แทนที่จะเป็นเรื่องของความบังเอิญ หรืออุบัติเหตุ หรือแม้แต่การจัดองค์กรให้กับตนเองซึ่งเป็นเรื่องของกายภาพ หรือเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์แห่งความซับซ้อน (science of complexity) แต่เพียงอย่างเดียว โดยอธิบายว่าที่เหลือเป็นเรื่องของความบังเอิญนั้น ผู้เขียนกลับเชื่อว่ามีกฎแห่งกรรมเข้ามามีส่วนที่อาจจะสำคัญกว่าการจัดองค์กรให้กับตัวเองอีกกฎหนึ่ง นั่นเป็นความจริงที่ทางพุทธศาสนาและศาสนาอื่นๆ ที่อุบัติขึ้นจากอินเดียยอมรับกัน มีทั้งตรรกะเหตุผลและอนุมานที่นักคิดนักปราชญ์ต่างเห็นด้วยกันอย่างเป็นเอกฉันท์มาตั้งหลายพันปีแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ เนื่องจากกรรมเป็นเรื่องของการกระทำในอดีตที่นานมาแล้วจนจำไม่ได้ (very long term memory) อาจจะนานข้ามภพข้ามชาติ จึงเป็นเรื่องของจิตที่มองไม่เห็นและพิสูจน์ให้เป็นวิทยาศาสตร์กายภาพไม่ได้ ทั้งๆ ที่การกระทำใดๆ ไม่ว่าในอดีตกาลนานสักเท่าไหร่ ล้วนเป็นไปตามแรงที่กระทำนั้นๆ (action-reaction) เป็นไปตามกฎแห่งการเคลื่อนที่ข้อที่สามของนิวตัน อันสอดคล้องกันกับที่พุทธศาสนาว่าไว้ว่า กรรมเป็นปฏิกิริยาที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะจิตไม่ได้ตายไปกับกาย โลกก็เช่นนั้น ประชาโลกไม่ว่าปัจเจกหรือโดยรวมก็เช่นนั้น ซึ่งการคิดบนตรรกะและเหตุผลเช่นนั้น ในความคิดของผู้เขียนน่าจะดีกว่าที่จะใช้คำว่าบังเอิญหรือขี้เกียจคิดมากนัก

ใครจะคิดอย่างไรก็ช่าง ที่แน่ๆ คือ โลกกำลังจะพังเพราะภาวะโลกร้อน เรื่องของโลกร้อนนี้ ผู้เขียนต้องขออภัยท่านผู้อ่านที่ต้องเขียนต้องพูดซ้ำๆ ไม่ใช่เพียงแต่มันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับการอยู่รอดของมนุษย์เราเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักฐานว่าจิตจักรวาล คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของจักรวาลกายภาพหรือจักรวาลแห่งปรากฏการณ์ อันเป็นที่มาของวิทยาศาสตร์ที่ไม่สมบูรณ์ แต่เราคิดว่ามันสมบูรณ์แล้ว เป็นความผิดพลาดของมนุษย์อีกครั้งหนึ่งก่อนที่มนุษย์จะมีวิวัฒนาการทางจิตต่อๆ ไป ทั้งนี้เพราะผู้เขียนเชื่ออย่างมีหลักฐานและเหตุผลว่า วิวัฒนาการทางจิตจะต้องเป็นไปจนถึงที่สุดหรือถึงวิมุตตินิพพานเท่านั้น - นั่นคือเป้าหมายสุดท้ายของจักรวาล - ส่วนภาวะโลกพังกับมหันตภัยต่างๆ ที่ก่อความทุกข์ทรมานทั้งในขณะนี้หรือที่จะรุนแรงกว่านี้เป็นร้อยเท่าพันเท่าในอนาคตนั้น คือ คาตาลิสต์ (catalyst - ตัวเร่งปฏิกิริยา) สุดสำคัญต่อวิวัฒนาการทางจิต - อันเป็นเป้าหมายสุดท้ายในงานเขียนของผู้เขียน - ซึ่งถ้าหากเราคิดทั้งเรื่องกายภาพพร้อมกับเรื่องของจิตและความทรงจำไปด้วยกัน ซึ่งไม่ค่อยมีคนคิด มันย่อมไม่มีทางคิดเป็นอื่น นอกจากเรื่องของ “กริยากับปฏิกิริยา” หรือกรรมกับวิบากกรรมเท่านั้น หรือจะพูดว่าเป็นเรื่องของฟ้าที่ลงโทษหรือให้รางวัลแก่มนุษย์และแผ่นดินก็ได้ ผู้เขียนจึงคิดว่าในโลกนี้จักรวาลนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเหตุและผลของการกระทำทั้งนั้น ดังที่อริสโตเติลกล่าวไว้ในเรื่องของเหตุที่ก่อผล (causation) เพราะฉะนั้นเรื่องของโลกพัง (mass extinction) ที่เกิดเฉพาะกับโลกแห่งชีวิตทุกๆ ครั้งทั้ง ๕ ครั้ง – ตั้งแต่ครั้งแรกในยุคไซลูเรียน (Silurian) เป็นต้นมา - จึงเป็นประหนึ่งลิขิตของฟ้าหรือเป็นไปตามแม่แบบพิมพ์เขียวของจักรวาล และหากว่าโลกจะพังอีกครั้งหนึ่งในเร็วๆ นี้ จากสภาวะโลกร้อน ตามที่นักวิทยาศาสตร์แทบจะทุกคนว่าไว้ - เพียงต่างกันที่เมื่อไร - และหากเราคิดในประเด็นของจิตหรือกรรมไปพร้อมๆ กับวิทยาศาสตร์กายภาพด้วย มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะหลีกเลี่ยงสภาวะโลกพังจากโลกที่ร้อนจัดไปได้ ไม่ว่าเราจะหาทางป้องกันและแก้ไขอย่างไร เช่น ด้วยการหาพลังงานทดแทน รีไซเคิล ปลูกป่า หรืออย่างหนึ่งอย่างใดที่ผู้เขียนเอามาเขียน หรือต่อให้ประชากรทุกคนทั้งโลกพากันเปลี่ยนใจจากบริโภคนิยมและหันมาหาวิถีชีวิตแบบกรีนทั้งหมดในวันนี้พร้อมๆ กัน อย่างที่ อัล กอร์ คิดว่าอาจจะช่วยโลกได้ ผู้เขียนก็ยังคิดว่ามันคงไม่ทันการณ์เพราะสายเกินไป

เรารู้อย่างค่อนข้างแน่นอน พร้อมด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พอที่จะเชื่อได้ว่า สภาพโลกพังครั้งที่ ๕ ในสมัยเครตาเซียส (Cretaceous) เมื่อ ๖๕ ล้านปีก่อน มีสาเหตุจากอุกกาบาตขนาดใหญ่วิ่งมาชนโลกจนไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปทั้งหมด และนักวิทยาศาสตร์หลายคนยังเชื่อว่ามีหลักฐานที่ว่า แม้สภาพโลกพังครั้ง ๓ ในยุคเพอร์เมี่ยน (Permian) หรืออาจเป็นไปได้ว่าแม้สภาพโลกพังครั้งที่ ๔ ในยุคสมัยไตรอัสซิค (Triassic) ก็อาจจะเกิดจากอุกกาบาตวิ่งมาชนโลกเหมือนกัน ขณะที่นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า สาเหตุของโลกพังครั้งที่ ๖ ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ มาจากภาวะโลกร้อนอันเป็นฝีมือของมนุษย์ ดังที่ผู้เขียนเอามาเขียนก่อนหน้านี้ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นการห้ามไม่ให้เกิดสภาพโลกพังจากอุกกาบาตวิ่งมาชนโลกอีกครั้ง นั่นอยู่ที่ว่ามนุษยชาติโดยรวม - ในเวลานั้น - ได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้มากจนต้องสูญพันธุ์เหมือนกับไดโนเสาร์หรือไม่ คิดถึง อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย กับจีน ที่แม้โดยรวมจะนิยมวัตถุอย่างหนัก แต่ก็มีนักจิตนิยมหรือจิต-กายนิยมอยู่ไม่น้อยในประเทศเหล่านั้นและในที่อื่นๆ อีก มนุษยชาติจึงอาจจะไม่ถึงกับสูญพันธุ์ไปหมดก็ได้

สรุปจากย่อหน้าข้างบนบอกได้ว่า หากเราคิดบนกาย-จิตพร้อมกัน เรายังมีสิทธิเลือกได้ ระหว่างสูญพันธุ์ไปหมดด้วยอุกกาบาตขนาดใหญ่วิ่งมาชนโลก หรือเหลืออยู่บางส่วน - ราวร้อยละ ๒๐ ของประชากรโลกในเวลานั้นจากภาวะโลกร้อน - ดังที่ เจมส์ ลัฟล็อค ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์การ์เดียน มันจึงอยู่ที่การตื่นและเปลี่ยนแปลงของเราในวันนี้กับวันต่อไปว่าจะตื่นและเปลี่ยนแปลงทางจิตหรือไม่ หากว่าเราสามารถตื่นทางจิตได้ทัน เราอาจจะเหลือมากกว่าร้อยละ ๘๐ ก็ได้ กรรมทางกายนั้นเป็นผลของมโนทุจริตทั้งนั้น ไม่ว่าอย่างไรก็หนีไม่ได้ นอกจากการตื่นทางจิตเท่านั้น

2 Comments

yutkanlaya กล่าวว่า...

ดวงจิตวิญญาณ เป็น พลังงาน หรือไม่???
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า
ทุกสรรพสิ่งในสากลจักรวาล มีหน่วยย่อยที่เล็กที่สุด เป็น สิ่งเดียวกัน
นั่นคือ
สรรพสิ่ง คน สัตว์ พืช มวลสาร เทหวัตถุใดๆ ในสากลจักรวาล ประกอบด้วย
โมเลกุล หลายๆโมเลกุลรวมกัน ซึ่งแต่ละ โมเลกุล ประกอบด้วย
อะตอม หลายๆอะตอมรวมกัน ซึ่งแต่ละ อะตอม ประกอบด้วย
อิเล็กตรอน วิ่งรอบ นิวเคลียส ซึ่งมี โปรตรอน นิวตรอน ฯลฯ เช่นเดียวกันหมด
โดยมี พลังงาน แรงยึดเหนี่ยว(พันธะสัญญา ) ต่อกันและกัน จึงคงอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลได้
สิ่งมีชีวิตจิตใจ ซึ่งประกอบด้วย
รูปกาย(สังขาร คือภาวะแปรปรวนของรูปกาย)+จิตวิญญาณ(เวทนา คือภาวะอารมณืแปรปรวนของจิต) โดยมี แรงยึดเหนี่ยว คือ สัญญา ซึ่งก็คือ ขันฑ์ 5 ที่ถูกต้องนั่นเอง
ดังนั้น
จิตวิญาณ คือ รูปของพลังงาน มวลสาร นั่นเอง โดยมี สัญญา ทำให้เราระลึกได้ว่าเป็นเรา และหลอมรวมพลังงานจิตวิญญาณ ให้เป็นหนึ่งเดียวคือ เรา เพียงแต่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หยาบๆของมนุษย์เรา ยังไม่สามารถสัมผัสได้ ยกเว้น พระอริยะ หรือผู้มีสมาธิขั้นสูง
ดังนั้น
จิตวิญาณ จึงไม่มีวันสูญหาย ตามกฎพลังงาน แม้กายหยาบจะสลาย?(ตาย)??ไปก็ตาม
และแน่นอนพลังงานสามารถถ่ายเท แบ่งปันได้ จึงไม่น่าแปลก ที่เราจะถอดจิตวิญญาณได้ ในขณะที่ ร่างกายยังคงมีชีวิตอยู่ โดยใช้พลังงานจิตวิญญาณต่ำที่สุดรักษาชีวิต คือ การหายใจ ท่านจึงสอนไว้ว่า การทำสมาธิ ที่ถูกต้องเริ่มโดยกำหนดการหายใจ พุธ โธฯลฯ


ธรรมจักรวาล
ธรรม ธรรมชาติ สรรพสิ่งในสากลจักรวาล
ทุกสิ่งคงอยู่ได้ด้วยหลักแห่ง “ความสมดุล” และหลักแห่ง “แรงดึงดูด แรงยึดเหนี่ยว” ระหว่างมวล สสาร เทหวัตถุ ใดๆในสากลจักรวาล ของนิวตัน
ทุกสรรพสิ่งจึงอยู่อย่างสัมพันธ์กันตามหลักแห่ง หลักปกิจสมุทปบาท หรือ“สัมพันธภาพของไอน์สไตน์”
ทุกสิ่งไม่มีวันสูญหายตามหลักของ “กฎแห่งพลังงานไม่มีวันสูญหาย”
เพียงแต่เปลี่ยนรูปไปมาได้ ดังสมการ
E = MC2(c ค่าคงที่)
E พลังงาน = M มวลสาร = E พลังงาน
มนุษย์ ประกอบด้วย เซลล์กว่า 60 ล้านล้านเซลล์
สมอง ประกอบด้วย เซลล์กว่า 10 ล้านล้านเซลล์
เซลล์ มีแหล่งพลังงานในตัวเอง คือ ไมโตรคอนเดรีย
ดังนั้น
การคิดแต่ละครั้ง กว่า 10 ล้านล้านเซลล์ของสมอง ปลดปล่อยพลังงาน
เมื่อมีการตอบสนองของร่างกาย เซลล์กว่า 50 ล้านล้านเซลล์ ก็ปลดปล่อยพลังงาน
ดังนั้น
คลื่นพลังงานความคิด จากสมอง ย่อมกระจายออกจากกะโหลก สู่อากาศ อวกาศได้ เช่นเดียวกับการโยนหิน ลงน้ำ ต่างกันเพียงตัวกลาง น้ำ กับ อากาศ (สมาธิจิต หรือ พลังจิต ถอดจิต ถอดฌาน นั่นเอง)
คลื่นพลังงานร่างกาย จากการกระทำหรือคำพูด ที่ตอบสนองต่อความคิด ย่อมกระจายออกจากตัว สู่อากาศ และอวกาศ ได้เช่นกัน ด้วยพลังงานที่ มากกว่า เป็นหนึ่งเดียวกับความคิด ย่อมเป็นพลังงานที่รุนแรงได้(พลังจิต และ พลังกรรม)


ปัญหา ???????????
มนุษย์ ยังไม่สามารถผลิตเครื่องมือวัดที่ละเอียดพอที่จะวัดและแปรผล พลังงานจิตวิญาณ ได้ แต่มนุษย์ทำได้แค่วัดพลังงานความคิดของสมอง จากเครื่องมือแพทย์ ECG เป็นรูปคลื่นสมอง แต่ก็ไม่สามารถแปรผลอย่างละเอียดเป็นตัวอักษร เสียง หรือภาพ ได้ คงอีกไม่นาน และเรายังไม่สามารถผลิตเครื่องมือรับ(receptor) คลื่นพลังงานความคิด พลังงานจิต ได้ ยกเว้นพระอริยะ หรือผู้มีสมาธิขั้นสูงเท่านั้น ที่ทำได้ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วในยุคพุทธกาล และการทดลองของต่างประเทศปัจจุบัน
ตาของมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถมองเห็นพลังงานจิตวิญญาณได้ เพราะยังไม่ละเอียดพอ ต้องมีเครื่องมือช่วย เช่นเดียวกับที่เรามองเห็นแสงสีขาวธรรมดา ที่ผ่านปริซึมทำให้เราเห็นเป็นแสงหลายสีได้ เพราะคนละความยาวคลื่น ความถี่ จึงทำให้เราอธิบายได้ว่า พระพรหม เทวดา ภูตผี สัมภเวสี ต่างๆ ก็ล้วนเป็นพลังงานจิตวิญญาณ ที่อยู่กันคนละความยาวคลื่น คนละคลื่นความถี่ นั่นเอง และย่อมเข้าใจในภพภูมิต่างๆทั้ง นรก สวรรค์ ฯลฯได้เช่นเดียวกัน ซึ่งต่างก็ซ้อนทับกันอยู่นี่แหละ
เสียง ก็เช่นเดียวกัน เราฟังวิทยุคลื่น Fm 100,100.25,100.5 ที่เครื่องมือมนุษย์รับได้ ฟังได้ แต่เรารู้ว่ามีคลื่น Fm 100.01,100.001,100.000000000001 จนถึงอินฟินีตี้ แต่วิทยุมนุษย์เรารับไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น เพราะมันคนละความยาวคลื่น คนละคลื่นความถี่ นี่เองแล
ดังนั้น
เราจะสามารถสัมผัสพลังงานจิตวิญญาณได้ด้วยการทำ สมาธิ ขั้นสูงๆ(สมองว่างๆสงบๆ คือ ตัวรับคลื่นพลังงานที่ดี Receptor เหมือนกับ มือถือ นี่แหละ) นั่นเอง
จะมีสมาธิขั้นสูงได้อย่างไร ถ้าไม่มีศีลบริสุทธิ์ สุดท้ายก็อยู่ที่ จิตใจ ที่บริสุทธิ์ นั่นเอง แล
สรุป
ท่านคิดว่า ดวงจิตวิญญาณ เป็นพลังงาน หรือไม่???????????
ตัวอย่างง่ายๆ
การคิดที่จะกระดิกนิ้วครั้งหนึ่ง มี กระบวนการดังต่อไปนี้
-แรกเริ่มเลย เราสัมผัสสิ่งแวดล้อมภายนอกด้วย อายตนะหก รับรู้เข้าสู่สมอง แล้วผ่านกระบวนการคิด ประมวลผลด้วยสมอง ดวงจิตวิญญาณ ใจจึงตอบสนองออกมาเป็นอารมณ์ อยากกระดิกนิ้ว
-เมื่อมีอารมณ์อยากแล้ว
-สมองจึงตอบสนองใจด้วยการคิด ที่จะกระดิกนิ้ว เป็นหนึ่งเดียวทุกๆเซลล์
-ระบบประสาทสั่งการ ตอบสนอง โดยกระจายสัญญาณไปตามเส้นประสาท สู่เซลล์กล้ามเนื้อที่นิ้ว
-เซลล์กล้ามเนื้อนิ้ว ทุกๆเซลล์ ตอบสนองเป็นหนึ่งเดียว โดยการทำงานของแต่ละเซลล์ รวมเป็น การกระดิกนิ้ว
-คนอื่นจึงตอบสนอง โดยการมองเห็นด้วยตา อายตนะหก ทั้งหลาย แล้วแต่ละคนจะตอบสนอง ต่อๆกันไป หรือไม่ อย่างไร???ก็สุดแท้แต่ละคน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพลังงานจากดวงจิตวิญญาณ ใจ อารมณ์ ถ่ายทอดเร็วกว่า ระบบประสาทของตัวมนุษย์เอง มากมายหลายเท่านัก
และถ้าเห็นว่า ดวงจิตวิญญาณ เป็น พลังงาน เราจะอธิบาย
พรหม เทวดา ภูตผี สัมภเวสี และ “ภพภูมิ”ต่างๆได้
และตามสมมุติฐานที่ว่าพลังงานไม่มีวันสูญหาย ก็จะเข้าใจคำว่า “วัฎฎสงสาร”เวียนว่าย เกิดดับๆๆในรูปกายใหม่ๆๆไปไม่สิ้นสุด จนกว่าจะละสุข ละทุกข์ ละวางได้ นิพพาน นั่นเอง
สุดท้ายจะเข้าใจคำว่า “นิพพาน”ได้ในขณะมีชีวิต เพียงแค่ “ตัด” สัญญา เวทนา สังขาร เท่านั้นเอง
ในที่สุดมนุษย์ก็ต้องหันกลับมา พัฒนาตัวเอง ด้วยหลักแห่ง “ไตรลักษณ์” คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา และ “ไตรสิกขา”คือ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วจะปฎิบัติตัวต่อผู้อื่น ผัวเมีย ลูกๆ พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนๆ อย่างไร?? วิธีง่ายๆ ใช้หลัก “พรหมวิหาร4”เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้วก็จะมี “สังคหวัตถุ4” ทาน ปิยวาจา อรรถกริยา สมานตตา ต่อกัน หมั่นทำจนเป็นนิสัย ลึกซึ้งจนถึงหัวใจ จิตวิญญาณ ด้วยการมี “อิทธิบาท4”ฉันทะ วริยะ จิตตะ วิมังสะ
และเมืองไทย จะกลายเป็นตัวอย่างให้แก่คนทั้งโลก และจะเป็นหนึ่งเดียวได้ในเวลาไม่นานนัก
ขอความสวัสดีมีชัย แก่ไทยทั่วหล้า เอย
พุทธบริษัท คนรักเมืองไทยคนหนึ่ง
http://yutkanlaya.blogspot.com/

คนหน้างาน ต้องรู้ทุกเรื่อง กล่าวว่า...

คุยกันบ่อยๆๆนะคะ คนคอยอ่าน มีความสุขค่ะ

Back to Top