แอ่งน้ำใจแห่งการรับฟัง



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552

การชุมนุมของชาวดีโอ หรือ Dialogue Oasis ครั้งที่ ๓ ที่บ้านพักคริสเตียน ถ.คอนแวนต์ ซ.ศาลาแดง ๒ เกิดขึ้นด้วยผู้คน ๒๑ ชีวิตที่พร้อมรับฟังและเรียนรู้จากกันและกัน ทำให้ตาน้ำแห่งมิตรภาพในเมืองกรุงนี้ผุดเผยเติมเต็มช่วงเวลาดีๆ ให้กับชีวิต โดยส่วนมากเป็นผู้คนที่ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ Dialogue มา หรือไม่ก็สนใจที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านการบอกเล่าบอกต่อ หรือผ่านเว็บไซต์วงน้ำชา (www.wongnamcha.com) หลายคนอยู่ในแวดวงของการเรียนรู้ด้านในที่เป็นการแสวงหาพื้นที่เปิดแบบนี้ในการตอกย้ำการฝึกฝน บางคนได้เข้าเรียนรู้กับเสมสิกขาลัยเป็นช่วงๆ ในหลักสูตรต่างๆ ที่หลากหลาย บ้างก็ได้เข้าปฏิบัติการฝึกตนกับคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดาอย่าง วิจักขณ์ พานิช ครึ่งหนึ่งเป็นคนทำงานประจำที่แสวงหาชีวิตที่มีคุณค่าและสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงสัมพันธ์และเกิดการเรียนรู้จากกันและกัน บ้างก็เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์ของพวกเขาได้ช่วยให้เขาได้สัมผัสและเกิดแรงบันดาลใจผ่านกระบวนการสนทนาแนวลึก จนได้มาเดินอยู่บนเส้นทางของการเรียนรู้และชีวิตที่มีความหมาย

พวกเราเริ่มต้นจากการแนะนำตัวให้ได้รู้จักที่ไปที่มาของกันและกัน เพียงแค่การได้รับฟังเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันก็เป็นความอิ่มใจอย่างหนึ่ง มีเพื่อนคนหนึ่งพูดถึงความรู้สึกถึง "ความแปลกแยก" (Alienation) ที่เกิดขึ้น ทั้งในเวลาที่อยู่ในองค์กรของตัวเองที่ยังคงเป็นไปตามวิถีของการแข่งขันกับเวลาและเป้าหมาย จนไม่มีเวลาให้ชีวิต และมองพวกที่พยายามแสวงหาคุณค่าว่าเป็นพวกแปลกๆ เป็นเหมือน "มะนาวต่างดุ๊ด"(กรุณาผวน) และแม้แต่เวลาที่อยู่ท่ามกลางผู้คนที่แสวงหา ที่อาจไม่ได้ทำงานให้กับองค์กรธุรกิจที่ใช้ชีวิตไปกับการแสวงหากำไร ก็รู้สึกว่าอยู่นอกเหล่านอกกอไปอีกแบบ ทั้งนี้ การที่ต้องเดินระหว่างโลก ๒ ใบนี้เองที่บางครั้งก็รู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว เอาเข้าจริงๆ ผมคิดว่าคนจำนวนมากคงมีความรู้สึกถึงความเป็นชนกลุ่มน้อยที่แปลกแยก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรืออาจเป็นว่ายุคนี้เป็นยุคแห่งความแปลกแยก ดังนั้นกระบวนการหรือเครื่องมือต่างๆ ที่กำลังเป็นที่สนใจ ก็คือเครื่องมือที่ช่วยลดความแปลกแยกเหล่านี้ลง ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการสร้างสรรค์ชุมชน การสร้างจิตร่วมในทีมงาน การสื่อสารอย่างสันติ การเป็นคนกลาง สานเสวนา การรับฟังอย่างลึกซึ้ง และกระบวนการภาวนาในรูปแบบต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้คนได้ลดความรู้สึกแปลกแยกกับ "ตัวเอง" ลงไปบ้าง เพื่อยอมรับตนเองอย่างที่เป็น ล้วนสะท้อนความปรารถนาที่จะ “อยู่ร่วม” ในความรู้สึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของชีวิต

เพื่อนวัยเยาว์ผู้เป็นศิษย์ของอาจารย์สรยุทธ รัตนพจนารถ ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจัยหนึ่งอาจเป็นเพราะสังคมอยู่ในกระบวนการสร้างความหลากหลาย ความเป็นตัวของตัวเองที่มีเอกลักษณ์และแตกต่างนี้เองอาจทำให้ความรู้สึกแปลกแยกกลายเป็นท่วงทำนองร่วมของสังคมยุคนี้ ความท้าทายอยู่ตรงที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ความ “แปลก” นี้ไม่ “แยก” ออกจากกัน แต่กลับมาเชื่อมโยงและเรียนรู้จากกันและกันได้

และแล้วเพื่อนอีกคนหนึ่งก็ตั้งคำถามอย่างเปิดกว้างและจริงใจว่า ในฐานะที่ทำงานขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง หรือ facilitator (ที่บางคนเรียกสั้นๆ ว่า ฟา) หรือการเป็นกระบวนกรนั้น มีเป้าหมายหนึ่งคือทำให้ผู้คนในองค์กรเข้าใจถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้ ดังนั้น ฟาจำต้องสามารถทำการ โน้มน้าว (convince) อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่? คำถามนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนอย่างตื่นตัวในวงสนทนา

สิ่งที่เราค้นพบกันหนึ่งคือ หลายคนได้ค้นพบบางอย่างที่มีคุณค่ากับชีวิตและอยากแบ่งปันให้คนรอบข้าง ครอบครัวหรือองค์กรได้รับรู้และ "ได้" อย่างที่ตัวเองได้รับ ไม่ว่าจะเป็นความสุขจากการได้เข้าใจแง่มุมชีวิตของตัวเองมากขึ้น การมีสุขภาพดีขึ้น หรือการได้มีแวดวงที่มีการพูดคุยกันอย่างรับฟังและเข้าใจกันและกันได้ บ้างก็แบ่งปันว่า ภาษาหรือแม้แต่ชุดที่สวมใส่ก็อาจทำให้เกิดการรับรู้และตัดสินไปเองที่นำไปสู่ความแปลกแยกได้เช่นกัน บ้างก็ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการรับฟังวาระที่แท้จริงของผู้คน แทนที่จะพยายามทำให้เขาเข้าใจวาระของเรา เพราะนอกจากจะช่วยทำให้เกิดการได้ยินและเข้าใจแล้ว ความเป็นเพื่อนที่ปลอดภัยโดยไม่ตัดสินนี้จะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง คล้ายกับที่อาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ กล่าวว่า "รักแล้วจึงรู้" นั่นคือความสัมพันธ์ที่ดี ปลอดภัย วางใจ ไมตรีนั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการเรียนรู้ และที่สำคัญการสร้างสัมพันธภาพที่ดีนี้ต้องเป็นไปอย่างจริงใจ ไม่ซ่อนเร้น ไม่ทำให้เป็นเครื่องมือรับใช้ความอยากของเราเองที่ต้องการให้เขาทำอะไรสักอย่างตามความคิดของเรา แต่เป็นความปรารถนาดีจริงๆ ที่อยากให้เขาได้พบเจอกับสิ่งดีๆ แม้ว่าสิ่งดีๆ นั้นเราอาจไม่เคยรู้จักพบพานเลยก็ตาม เพื่อนคนหนึ่งที่เป็นกระบวนกรด้านนพลักษณ์ ศาสตร์เพื่อการเข้าใจตัวเอง ได้แบ่งปันว่า “คนส่วนใหญ่บอกว่าไม่ค่อยมีเวลา แต่ท่านสันติกโรแนะนำว่า เราต้องเป็นเวลา ไม่ใช่มีเวลา คือการดำรงอยู่อย่างใส่ใจกับปัจจุบันของชีวิต”

ในความเห็นของผม การทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงคือการทำงานกับการดำรงอยู่ของตัวเอง เป็นการทำงานอยู่กับปัจจุบัน เดี๋ยวนี้และที่นี่เท่านั้น อนาคตแห่งการเปลี่ยนแปลงดำรงอยู่ในปัจจุบัน ดังที่มหาตมะ คานธี กล่าวว่า "จงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราปรารถนาให้เกิดขึ้นในโลกนั้นเถิด" (Be the change you want to see in the world) หากเราไม่ปรารถนาความรุนแรง ก็จงเป็นสันติภาพ หากเราไม่ต้องการความมืด และได้แต่เพียงก่นด่าความมืด เราก็จะเป็นเพียงเสียงก่นด่าและความคับข้องหมองใจ และแล้วความมืดก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน แต่ถ้าเราจุดเทียนไขสักเล่ม ความมืดมิดก็จะมลายหายไป เราเลือกได้ว่าจะก่นด่า หรือจุดเทียน

การมีชีวิตอยู่อย่างเปิดรับ อย่างมีแรงบันดาลใจที่ไม่คาดหวัง คือการดำรงอยู่ในแรงบันดาลใจ อย่างไม่ต้องมีชื่อหรือสถานะอะไร แม้แต่การใช้คำว่า "กระบวนกร" หรือ “ฟา” แทนคำว่า “วิทยากร” นอกจากเพื่อให้เห็นความต่างของวิธีการจัดการกระบวนการเรียนรู้แล้ว ยังต้องการสื่อสารความเป็นธรรมดา ที่ไม่ต้อง "พิเศษ" หรือ "วิเศษ" กว่าใครๆ แต่เป็นเพื่อนคนหนึ่งที่ต้องการให้เพื่อนคนอื่นๆ ได้มีโอกาสให้หรือแบ่งปันสิ่งที่มีค่าแก่กันและกัน เพราะเราทุกคนต่างมีของขวัญล้ำค่าที่จะเป็นผู้ให้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี

ผู้เขียนได้แบ่งปันในวงว่า ไม่ว่าจะยุคไหนๆ มนุษย์ได้สร้างเครื่องมือในการเชื่อมสัมพันธ์กับชีวิตอื่นๆ ไม่ว่าจะกับผู้คนด้วยกัน หรือกับโลกแห่งธรรมชาติ ผ่านพิธีกรรม ประเพณี หรือกิจกรรมธรรมดาสามัญในชีวิต สมัยนี้ก็เช่นกัน เราต้องการการเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างรู้สึกปลอดภัย ไร้วาระซ่อนเร้นหรือกดทับ เพื่อให้เราได้ยินเสียงของตัวเองและของกันและกันอย่างตรงไปตรงมา บนพื้นฐานของการยอมรับ และมากไปกว่านั้นเรายังมีสัญชาติญาณที่โหยหาความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลที่มีชีวิตนี้ แนวปฏิบัติที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาและความเชื่อต่างๆ จึงได้บังเกิดขึ้น ในโลกปัจจุบันก็เช่นกัน การค้นหาจิตอันเป็นหนึ่งเดียวนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป

ไม่ว่าเราจะมีประสบการณ์ของความแปลกแยกมาเพียงใดก็ตาม เมื่อได้แบ่งปัน "ความแปลกแยก" ก็จะทำให้พื้นที่วันเสาร์กลางกรุงกลายเป็นพื้นที่ของการได้ยินและเป็นพื้นที่ที่ "แปลก...แต่ไม่แยก"

One Comment

ครูสุริยะ กล่าวว่า...

การเริ่มต้นการสนทนาที่ดีควรเริ่มจากการเปิดรับ คือเปิดใจรับก่อนโดยไม่ตัดสินใจ ฟังให้จบ ฟังให้ครบและถ้วนถี่ ฟังด้วยสมาธิและจิตที่แน่วแน่ แล้วเราจะมองเห็นแนวทางตามจริง


ผู้พูด ก็ควรพูดในทางสร้างสรรค์และจริงใจ ไร้อารมณ์อื่นที่เป็นกิเลสแอบแฝง

หากเราประยุกต์ใช้สุนทรียสนทนาในทุกๆ หน่วยของสังคม คงจะดีไม่น้อย


ไม่ว่าจะในชุมชน


ในหมู่บ้าน

ในครอบครัว ระหว่างคู่รัก หรือแม้แต่การคุยกันทางโทรศัพท์ ก็จะก่อให้เกิดพลังความคิดอันสร้างสรรค์ได้ดีทีเดียว



แต่คนยุคปัจจุบันกลับเห็นความสำคัญของการกล่าวร้ายนินทาผู้อื่นมากกว่าการกล่าวถึงเรื่องดีดีคนอื่น

ใช้เวลา ใช้คำพูด ใช้พลังงานจากร่างกายไปอย่างสูญเปล่า



สุนทรียสนทนา ควรเกิดกับทุกๆ ที่ ที่มีการสนทนาครับผม

Back to Top