มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2553
เช้าวันที่สามของเวิร์คชอปการจัดการความรู้ครั้งที่หก ผมตื่นมาแต่ตีสี่ มีคำว่า “เล่น” ผุดพรายขึ้นมาในใจ นึกถึงคำว่า “เล่น” ว่าเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก แล้วมาใคร่ครวญต่อว่า หรือว่า แม้แต่ผู้ใหญ่คำว่า “เล่น” ก็ยังเป็นสิ่งที่ดีที่สุดด้วยเช่นกัน หรือเปล่า เหมือนเมื่อไรก็ตามที่เรายังเล่นได้อยู่ เราก็ยังคงสามารถรักษาความเป็น “เด็กน้อย” คือมนุษย์บริสุทธิ์ ที่ยังไม่ได้ถูกละเมิด ถูกรังแก ถูกทำให้กลัว ถูกทำให้เสียความเป็นเด็ก หรือความเป็นมนุษย์อันบริสุทธิ์นั้นไป
นึกถึงอุปสรรคสี่ประการกับการที่ไม่สามารถเข้าสู่แดนฝัน ในวิถีแห่งการเป็นพ่อมดแม่มด (shaman) ซึ่งยกมาจากถ้อยคำของดอนฮวน พ่อมดในเม็กซิโก ที่ คาร์ลอส คาสตาเนด้า ไปศึกษาร่ำเรียนด้วย ดอนฮวนกล่าวถึงอุปสรรคสี่ประการดังกล่าวคือ clear, fear, power and old age แปลเป็นไทยหมายถึง หนึ่ง การต้องการความชัดเจน สอง ความกลัว สาม อำนาจ สี่ ความชรา
พอเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เราก็ชราภาพ เข้าสู่ความรู้สึกนึกคิดแบบว่า “รู้แล้ว” ทุกอย่างต้องการความชัดเจนหมด เราไม่กล้าก้าวล่วงไปสู่ดินแดนที่ขมุกขมัว ดินแดนแห่งความไม่รู้ เราเริ่มสร้างฟาร์มหล่อเลี้ยงความกลัวและความวิตกกังวลทั้งหลาย ดังนั้น เราก็ต้องใช้อำนาจ และจะกักขังตัวเองไว้ใน “ความรู้” หรือโลกแคบๆ ของสิ่งที่เรารู้แล้ว เราไม่สามารถก้าวล่วงไปสู่มิติใหม่ๆ ที่ลึกกว่า เราไม่กล้ารับรู้สิ่งใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ที่เข้ามา เราจะรับอะไรเข้ามาก็ต่อเมื่ออธิบายด้วยความรู้เดิมได้ ด้วยกระบวนทัศน์เดิมได้ “อำนาจ” คือโล่กำบัง ที่เราจะไม่ได้ต้องเผชิญกับความเป็นจริง ที่ต้องการจะบอกเราว่า ความรู้ที่เรามีอยู่มันใช้ไม่ได้แล้ว มันตกยุค มันเป็นกระบวนทัศน์เก่า ที่จะตายไปกับยุคสมัยของเรา
ด้วยความชัดเจนแบบเดิมๆ เราจึงมองไม่เห็นสิ่งแปลกใหม่ ความสดใหม่ของชีวิตจึงจืดจางลง หรี่ดับลงไปในจิตสำนึกของเรา และแล้ว โลกทั้งใบก็แคบลง และมีแต่ความน่าเบื่อ งานกลายเป็นภารกิจอันหนักหนาสาหัส ที่ต้องแบกหาม และเหนื่อยหน่าย อะไรที่อยู่นอกเหนือกระบวนทัศน์ที่เรามี กรอบคิด มุมมอง มิติที่เราดำรงอยู่ ก็คือสิ่งที่ไม่มีอยู่ เป็นไปไม่ได้ บ้าบอคอแตก มันจึงกลับกลายเป็นการท้าทายของคนรุ่นใหม่ที่ไร้สาระ จำเราต้องใช้อำนาจทุกทางที่จะขวางมันเอาไว้ แล้วเราก็เครียดเคร่งและเริ่มป่วยด้วยอาการต่างๆ จากความชราภาพทางจิต กลายมาเป็นความชราภาพทางกาย แล้วเราก็ยิ่งใช้อำนาจมากขึ้น เพื่อจะรักษาความเป็นผู้นำเอาไว้ แม้ว่าสิ่งที่เราเป็นจะไม่สอดคล้องกับยุคสมัยแล้วก็ตาม
ข้างต้นนี้เป็นการบรรยายให้เห็นภาพการทำงานของอุปสรรคสี่ประการ ที่อาจจะเข้ามาทำงานในตัวเรา เมื่อเราหลวมตัว ยอมไหลล่วงไปกับความแก่ชรา โดยที่ความแก่ชราไม่จำต้องมีมาเมื่อเราอายุมาก มันอาจจะมาได้แม้เรามีอายุเพียงยี่สิบสามสิบปีก็ตาม
มิเชล โปลันยี กล่าวว่า เราจดจำใบหน้าผู้คนเป็นจำนวนมากได้อย่างไร มหัศจรรย์มาก สมองทำอะไรได้หลายอย่าง อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง โดยที่เราไม่รู้เลยว่ามันทำได้อย่างไร และโดยที่เราก็ไม่ต้องมีความชัดเจนอะไรเลย
อาร์โนลด์ มินเดล บอกว่าหากเราไปตามวิถีแห่งธรรมชาติ เข้าไปในแดนฝัน และให้ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่อยู่ลึกลงไปในจิตนำพาเรา ให้มันเย้ายวน เชิญชวนเราไปในหนทางของมัน เมื่อเราหรี่ตาให้ภาพที่เห็นเลือนลางลง และให้เดินตามทิศทางอันสิ่งที่เชื้อเชิญเราจะนำพาเราไป
ครับ เรามีธรรมชาติอันยิ่งใหญ่อยู่ในตัวเรา เราเปรียบเหมือนกระจกเงาแห่งจักรวาล จะกลัวอะไรกันเล่า หากเราดำเนินไปตามเสียงกระซิบแรกที่บอกเรา พาร์คเกอร์ เจ. พาลม์เมอร์ บอกว่า เสียงนี้คือครูภายใน เกอเธ่บอกว่า เราต้องเฝ้าดูอย่างเนิ่นนานซึ่งสิ่งที่เรากำลังศึกษา จนกระทั่ง มันก่อเกิดอวัยวะใหม่แห่งจิตขึ้นมาในตัวตนของเรา สิ่งที่เราศึกษานั้น จึงจะกลับกลายมาเป็นความรู้ได้ ผมเติมต่อตรงนี้ว่า หากเราตัดสินอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีความอดทนที่จะเฝ้ารอได้เลย ไม่มีความอดทนที่จะดำรงอยู่ร่วมกับความไม่รู้ ความขมุกขมัวได้เลย เราย่อมไม่อาจก้าวล่วงไปสู่ความรู้ใหม่ๆ ได้
เด็กๆ กล้าเล่น กล้าเข้าไปพัวพันกับความไม่รู้ หรือหากเราที่มีอายุมากขึ้น แต่ยังหล่อเลี้ยงความเป็นเด็กไว้ได้ บางที เราอาจจะไม่แก่ชรา ไม่กลัว ไม่บ้าอำนาจ ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจ และจึงไม่ต้องยึดเกาะกับความรู้ มุมมอง มิติเก่าๆ ไว้อย่างหนาแน่น เด็กคนนั้นในตัวเรา หรือเราในเด็กคนนั้น บางที เขาอาจจะมีความสดใหม่ สุขสดชื่น ไหลเลื่อน เคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยง กับโลก กล้าหาญผ่านเปลี่ยน (brave new world) โลกใบนี้ได้บ้าง
อาร์โนลด์ มินเดล แยกระดับการรับรู้โลกเป็นสามระดับตามความลุ่มลึกที่เราจะหยั่งเข้าไปในจิตไร้สำนึก ระดับแรกก็คือ consensus reality หรือ CR เป็นโลกความเป็นไปปกติธรรมดาประจำวัน อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือโลกสมมติ หากมองจากมุมมองของการจัดการความรู้ มันเป็น explicit knowledge หรือความรู้ที่สำแดงปรากฏออกมาได้ ระดับที่สอง ลึกลงไปกว่านั้น คือแดนฝัน หรือ non consensus reality or dreamland เป็นความรู้แฝงเร้นที่ยังไม่ปรากฏเป็นถ้อยคำ ไม่เป็นอะไรชัดๆ ที่อธิบายออกมาได้ ผมนึกถึง ศิลปะ ปัญญาปฏิบัติ อารมณ์ความรู้สึก เรื่องของหัวใจ ระดับที่สาม ลึกลงไปกว่านั้น ก็คือ “ที่มา” หรือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ หรือวิถีแห่งเต๋า ถ้าหากเปรียบเปรยให้การรับรู้ระดับแรกเป็นดอกผล ระดับที่สองคือลำต้นและกิ่งก้าน ระดับที่สามก็คือราก
หากกล่าวให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โลกสมมติคือเสียงสังคม คือโลกที่ถูกจำกัดความอย่างแน่นอนตายตัว โลกที่เรากับเขาแยกออกจากกัน โลกที่ถือเป็นจริงเป็นจัง มีดีชั่ว มีถูกผิด เราจะแบกหามอย่างเอาเป็นเอาตาย โลกที่ไม่อาจพลิกแพลงผันแปรได้ เป็นดินแดนของจิตสำนึก เป็นคลื่นเบต้าในคลื่นสมอง ส่วนแดนฝัน หรือโลกก่อนสมมติ โลกที่ยังไม่มีการสรุปอะไรลงตัวลงไป ยังไม่ปรากฏเป็นถ้อยคำ ยังไม่มีคำอธิบาย โลกที่ลองผิดลองถูก โลกที่อะไรต่ออะไรยังผันแปรเปลี่ยนแปลงได้ เราเขาไม่ได้แยกออกจากกัน เราต่างดำรงอยู่ในกันและกัน เราอยู่ในเขา เขาอยู่ในเรา เป็นโลกที่ยังไม่มีการแบ่งแยกเหลืองออกจากแดง อำมาตย์ออกจากไพร่ ในโลกที่ทุกคนต่างเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน โลกที่ความเป็นไปได้หลากหลายดำรงอยู่ โลกแห่งความหวัง โลกของเด็กที่มีจินตนาการ ยืดหยุ่นผันแปร ขมุกขมัว จึงอาจกลับกลายและกลายร่างแปรเปลี่ยนได้อเนกอนันต์
ส่วนที่ลึกลงไประดับที่สาม เป็นราก เป็นที่มา เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งจิต ก่อนก่อเกิดเป็นอะไรต่ออะไร เป็นจิตเดิมแท้ เป็นแสงใสกระจ่าง หากเราเข้าไปในแดนฝันได้ โดยฝึกฝนตัวเองให้ช้าลง สามารถดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะได้อย่างผ่อนคลาย ลดความจริงจังในโลกสมมติลงไปบ้าง เราเริ่มเห็นความเป็นไปได้ เราจะสามารถสัมผัสได้กับธาราแห่งความไม่รู้ หรือเต๋า หรือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ หากเราเปิดใจ ไหลเลื่อนไป ตรงนั้น เราจะพบ “ครูภายใน” “เด็กน้อย” “จิตเดิมแท้” เราจะพบทาง พบวิถีแห่งธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ มันไม่มีทางตัน ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งมหัศจรรย์ ความสุขความเบาสบายจึงก่อเกิด
อาร์โนลด์ มินเดล เป็นผู้ก่อตั้งจิตบำบัดสำนัก process oriented psychology (จิตวิทยากระบวนการ) งานของเขาไม่ได้จำกัดอยู่แต่ปัจเจกบุคคลเท่านั้น งานของเขารวมถึง worldwork ที่พร้อมจะทำงานเยียวยาความป่วยไข้ทางสังคม ผมกำลังศึกษางานของเขาซึ่งกว้างขวางและลุ่มลึกมาก อย่างน้อยก็ในระดับทฤษฎี และคิดว่าจะได้เขียนเรื่องราวของเขาอีกมากขึ้นต่อๆ ไป
แสดงความคิดเห็น