เหตุผลที่คนไม่เปลี่ยน



โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2553

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาด้วยนโยบาย “เปลี่ยน” ผมอยากเห็นการเลือกตั้งครั้งใหม่ในประเทศไทย ว่ามีใครสักคนที่ยกนโยบาย “เปลี่ยน” มาหาเสียง และอยากให้เขาและพรรคของเขาได้เริ่มเห็นว่า เหตุผลอะไรที่ทำให้เขาไม่เปลี่ยน หรือเปลี่ยนอย่างไม่ยั่งยืน ก่อนจะเริ่มไปเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนเศรษฐกิจ เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนการเมือง หรือเปลี่ยนใจใคร

คำถามสำคัญที่ว่า เพราะอะไรคนถึงเปลี่ยนไม่ได้ เปลี่ยนได้ยาก หรือเปลี่ยนอย่างไม่ยั่งยืน ตอบอย่างรวดเร็วก็คือ เพราะทุกคนมีสิ่งที่เรียกว่า "ภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง" (Immunity to Change)

หากจะอธิบายให้เข้าใจมากขึ้นว่า ภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลงคืออะไร ก็จะขอขยายความว่าเป็นกระบวนการธรรมชาติของจิตมนุษย์ที่จะรักษาสมดุลให้กับตัวเอง โดยธรรมชาติ จิตจะสร้างภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา เพื่อป้องกันตนเองจากความเจ็บปวด เมื่อจิตรู้สึกปลอดภัยและสะดวกสบายแล้ว ก็จะคงอยู่กับที่ หรือติดยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ คนจึงเปลี่ยนแปลงได้ยาก และทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น กลัวอ้วน ทั้งที่รู้ว่ากินแล้วไม่ออกกำลังกายก็จะอ้วน แต่เราก็ยังทำอยู่ต่อเนื่อง หรือรู้ว่านัดกับใครแล้วต้องไปก่อนเวลา แต่เอาเข้าจริงก็ไปสายทุกที หรือตกปากรับคำใครแล้วอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำตามสัญญา หรือตั้งใจว่าจะทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งใจ แต่สุดท้ายก็ไปทำอย่างอื่นที่นอกเหนือแผนที่ตั้งไว้ หรือมักจะทำอะไรแบบเดิม ไม่กล้าลองทำอะไรใหม่ๆ เพราะลึกๆ เชื่อว่าตนเองทำไม่ได้

สุดท้ายคนส่วนใหญ่มักจะเลือกกลับไปมีชีวิตแบบเดิม เพราะรู้สึกว่ามันก็ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปลำบากเปลี่ยนแปลงอะไร

แล้วทำไมต้องเปลี่ยนด้วยล่ะ?

คำตอบมีอยู่ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องเปลี่ยน และไม่ใช่ทุกเรื่องในชีวิตที่จำเป็นต้องเปลี่ยน ขึ้นอยู่กับว่า ใครพบว่าตนเองถึงจุดตันของชีวิตในเรื่องใด และอาจเอาตัวไม่รอดจากการมีพฤติกรรม นิสัย หรือความเชื่อในแบบเดิมๆ

ตัวอย่างเช่น เรื่องการมีชีวิตคู่ สามีภรรยาที่รักกันมานาน แต่สามีไม่เคยช่วยภรรยาทำงานบ้านเลย เพราะเข้าใจว่านี่เป็นหน้าที่ของภรรยา ต้องทำอยู่แล้ว ภรรยาก็บ่นทุกวัน จนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายและสิ้นหวังในการเปลี่ยนแปลงของสามี ในที่สุดก็พบกับทางตันของชีวิตคู่ และอาจต้องหย่าร้างกันไป

ด้วยเหตุผลที่ว่า ต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่า อยากให้อีกฝ่ายเป็นคนเปลี่ยน โดยไม่ได้กลับมามองที่ตัวเองว่า มีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลง และคู่ส่วนใหญ่ก็มักจะหมดความรักและเลิกรากันด้วยเรื่องเล็กๆ แบบนี้

การเปลี่ยนแปลงอาจจะเริ่มต้นได้ ด้วยการกลับมาสังเกตในชีวิตประจำวันว่ามีเรื่องอะไรที่เรามองข้ามไปบ้าง แม้ว่าเรื่องนั้นจะเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อสังเกตและใคร่ครวญให้ดี ก็จะพบว่า เรื่องเล็กๆ เหล่านี้ อาจกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ๆ ในชีวิต ที่พาเราไปพบจุดจบของเรื่องนั้นๆ ได้

ศาสตราจารย์ ดร.โรเบิร์ต คีแกน แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ศึกษา ค้นคว้าวิจัยการเปลี่ยนแปลงมานานกว่า ๓๐ ปี พบว่า คนเปลี่ยนได้อย่างไม่ถาวร ส่วนหนึ่งเพราะคนมีภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง หากต้องการเปลี่ยนแปลง การค้นหาภูมิต้านทานดังกล่าวก็เป็นสิ่งจำเป็น และไม่ใช่เรื่องยากที่จะค้นหา นั่นเพราะภูมิต้านทานนี้มีอยู่แล้วในตัวเราทุกคน

กระบวนการค้นหาภูมิต้านทานเริ่มจากการเข้าประตูให้ถูกต้อง อาศัยการสังเกตว่าตนเองต้องเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิต ถ้าเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว ชีวิตก็จะพบกับทางตัน เช่นพบว่า ฉันเป็นคนไม่ใส่ใจคนรอบข้าง ฉันมักพูดมากกว่าฟัง คำพูดของฉันมักจะทำร้ายจิตใจของผู้ฟัง เป็นต้น

เมื่อพบประตูที่ใช่แล้ว จึงเอกซ์เรย์จิต หรือทบทวนเข้าไปให้ถึงจิตถึงใจ ด้วยการนำข้อสังเกตข้างต้น มาแปลงให้เป็นความตั้งใจดีๆ ที่จะเปลี่ยนตนเอง เช่น ฉันตั้งใจว่าจะใส่ใจคนรอบข้างให้มากขึ้น เป็นต้น

ความตั้งใจดีๆ นี้ เปรียบเสมือนเราเหยียบคันเร่งรถยนต์ ต้องการขับเคลื่อนชีวิตไปข้างหน้า แต่พอเอาเข้าจริง คนส่วนใหญ่ก็มักจะกลับไปทำสิ่งตรงข้ามกับที่ตัวเองตั้งใจไว้ โดยมีความตั้งใจที่ซ่อนอยู่ สนับสนุนให้ทำในสิ่งตรงข้ามอยู่เสมอ เปรียบเสมือนเราเหยียบเบรครถยนต์เอาไว้ และเราก็ขับเคลื่อนชีวิตไปไหนไม่ได้

หากเราเหยียบทั้งคันเร่งและเบรกไปพร้อมๆ กัน ชีวิตของเราก็จะหยุดและไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ด้วยการขับรถแบบนี้ นานๆ ไป เครื่องยนต์ก็จะพัง ชีวิตเราก็จะไปไม่รอด

ความตั้งใจดีๆ ก็ไปทางหนึ่ง ความตั้งใจที่ซ่อนอยู่ก็ไปอีกทางหนึ่ง ภาวะสองจิตสองใจอย่างนี้ มีสมมติฐานใหญ่ (Big Assumption) ที่กำลังทำหน้าที่ประคองทั้งสองด้านไว้อย่างสมดุล อาจกล่าวได้ว่า สมมติฐานใหญ่ คือความเชื่อหรือข้อสรุปที่เรามักมีให้ต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวว่าจริง โลกของเราแต่ละคนถูกสร้างขึ้นภายใต้ความเชื่อดังกล่าว เปรียบเสมือนธรรมนูญชีวิตที่เรากำหนดใช้กับตัวเอง เพื่อบริหารจัดการชีวิตให้อยู่ในระเบียบตามความเชื่อที่เรายึดไว้

และนี่คือเหตุผลที่คนไม่เปลี่ยน

เราทุกคนมีสมมติฐานใหญ่ ทำงานอยู่ในจิตใจเสมอ และสมมติฐานใหญ่นี้ก็ปิดกั้นศักยภาพภายใน ทำให้เราเปลี่ยนแปลงได้อย่างไม่ยั่งยืน ทั้งหมดนี้คือ ภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาระหว่างการใช้ชีวิตของเราในแต่ละวัย

หากเราพบกับภูมิต้านทานที่แท้จริงแล้ว และได้มีโอกาสทำงานกับภูมิต้านทานดังกล่าว เราจะพบกับการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ซึ่งศาสตราจารย์คีแกน ได้ทดลองทำมาแล้วกับผู้นำรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเปลี่ยนแปลงตนเอง ทั้งภาครัฐ และเอกชนทั่วโลก เช่น บริษัท Microsoft, McKinsey & Co, Disney Media Networks เป็นต้น นอกจากนั้น ท่านยังได้รับทุนจากมูลนิธิบิลเกต ให้ใช้กระบวนการนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของผู้นำทางการศึกษาทั่วสหรัฐอเมริกา

การได้ค้นพบภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลงภายในตัวเรา ทำให้ได้เรียนรู้ว่า มีอะไรบางอย่างที่เรายังคงยึดติดในชีวิต และเริ่มเปิดทางให้เห็นว่า ยังมีความเป็นไปได้อีกหลากหลายที่จะเป็นอะไร และทำอะไรได้ มากกว่าชีวิตที่เป็นอยู่อย่างเดิม

หากคุณเชื่อว่า คุณเปลี่ยนแปลงแล้วทำให้ชีวิตที่ดีขึ้น ผมก็อยากชวนให้ลองค้นหาว่า อะไรในตัวคุณที่ต้านทานการเปลี่ยนแปลงอยู่ แล้วคุณอาจพบความลับของชีวิต ที่เก็บซ่อนศักยภาพเอาไว้ และนำมาใช้ได้ เพื่อจะมีพลังชีวิต หรือพลังใจที่มากขึ้น แม้จะอยู่ในสถานการณ์แย่ๆแบบเดิมๆ อยู่กับคนเดิมๆ ด้วยจิตที่มีความสงบ อิสระ และเห็นคุณค่าภายในตนเองและผู้อื่น

Back to Top