โดย
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2557
ก่อนหน้าปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ประเทศไทยยังไม่มีคำว่า “จิตอาสา”
เวลานั้นเราใช้คำว่า “อาสาสมัคร” และ “บำเพ็ญประโยชน์” เป็นหลัก เรามีคนกลุ่มหนึ่งทำงานอาสาสมัครอยู่ก่อนแล้ว มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งทำงานบำเพ็ญประโยชน์อยู่ก่อนแล้ว
มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมัยนั้นได้เริ่มต้นแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพในปีแรกๆ ได้เข้าไปสนับสนุนเอ็นจีโอหลายกลุ่มเพื่อทำงานด้านพัฒนาจิตหลายรูปแบบ
หนึ่งในหลายกลุ่มที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันนั้นคือ “กลุ่มจิตวิวัฒน์”
อีกหนึ่งคือ “เครือข่ายจิตอาสา”
กลุ่มจิตวิวัฒน์เป็นการรวมตัวกันของนักคิดหลายท่าน เป็นที่สงสัยและไม่เข้าใจเสมอมาว่ากลุ่มจิตวิวัฒน์คุยกันเรื่องอะไร เมื่อผมเข้ามาช่วยดูแลงานใหม่ๆ นั้นก็ไม่เข้าใจเช่นกัน พยายามเทียบเคียงกับกลุ่ม นิวเอจ (new age) รูปแบบต่างๆ ก็พบว่าไม่เหมือนเสียทีเดียว พยายามเทียบเคียงกับกลุ่มพัฒนาจิตวิญญาณก็มิใช่อยู่ดี หลังจากนั่งฟังประชุมเป็นบางครั้งและตรวจรายงานการประชุมอยู่พักใหญ่จึงได้คำสำคัญมาสองสามคำ
คือ “วิทยาศาสตร์ใหม่” “จิตสำนึกใหม่” และ “กระบวนทัศน์ใหม่”
หากพิจารณาบทความที่ตีพิมพ์ในคอลัมน์นี้ติดต่อกันมาหลายปี ก็คงเห็นได้ว่าบทความแต่ละบทอยู่ภายใต้แนวคิดของคำสำคัญสามคำนี้ ไม่คำใดก็คำหนึ่ง แต่จะนิยามให้ชัดนั้นทำไม่ได้
เมื่อจนปัญญา ตกลงไม่รู้ว่ากลุ่มจิตวิวัฒน์พูดคุยเรื่องอะไรกัน ก็เลิกพยายามแล้วปล่อยให้ผู้อ่านหรือสังคมภายนอกตัดสินเองจากบทความหลากหลายทุกวันเสาร์
ปีหนึ่งสอบถามกองบรรณาธิการครั้งหนึ่งก็ได้รับคำตอบว่าเสียงตอบรับยังดีอยู่ทุกครั้งไป ครั้นประเมินจากเว็บไซต์จิตวิวัฒน์ซึ่งรวบรวมผลงานเขียนหลายร้อยชิ้นเหล่านี้ก็ได้รับคำตอบเดียวกัน บทความเหล่านี้ถูกรวมเล่มเป็นหนังสือสามเล่ม ทั้งนี้ยังไม่นับว่าสมาชิกกลุ่มยังได้ปรากฏตัวในหนังสือเฉพาะกิจอีกหลายเล่ม ทุกเล่มล้วนได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี
เช่นนี้ก็ต้องยอมรับว่าบทความเหล่านี้ได้ช่วยจุดประกายความคิดใหม่ๆ ให้แก่สังคม มากบ้างน้อยบ้าง เข้าท่าบ้างพอใช้ได้บ้างเสมอมา
โดยส่วนตัว ผมเสียดายรายงานถอดเทปการประชุมของกลุ่มจิตวิวัฒน์นับร้อยครั้งที่ผ่านไป บันทึกถอดเทปครั้งละเป็นร้อยหน้าเหล่านั้น เมื่อนำมาอ่านครั้งใดก็ยังน่าตื่นเต้นได้ทุกครั้งว่าช่างยอดเยี่ยมเสียนี่กระไร ให้ความรู้แปลกใหม่ สร้างความคิดใหม่ๆ และกระตุ้นจิตสำนึกใหม่ได้สมดังจุดมุ่งหมายของกลุ่ม น่าจะมีใครสักคนอาจหาญจัดพิมพ์เผยแพร่แทนที่จะปล่อยให้เป็นที่เกาะฝุ่นอิเล็กตรอนอยู่ในฮาร์ดไดรฟ์
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวอีกเช่นกัน ผมมักวิจารณ์กลุ่มจิตวิวัฒน์ว่าออกจะลอยตัวขาดจากสังคมมากไปหน่อย เวลานั่งฟังกลุ่มคุยกันชวนให้คิดถึง สถาบันสถาปนาแห่งที่สอง (Second Foundation) ในนวนิยายวิทยาศาสตร์ไตรภาคคลาสสิกของ ไอแซ็ค อะสิมอฟ (อันที่จริงไม่ไตรภาคแล้ว อะซิมอฟเขียนเพิ่มอีก ๓ เล่ม มีนักเขียนอื่นมาเขียนเติมอีก ๓ เล่ม รวมแล้ว ๙ เล่ม หลังจากเล่มที่ ๙ ก็ไม่ได้อ่านอีก)
นวนิยายสามเล่มแรกเล่าเรื่องจักรวรรดิสากลจักรวาลกำลังล่มสลาย นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเป็นสถาบันสถาปนา (Foundation) สร้างสารานุกรมจักรวาลเอ็นไซโคลปิเดีย กาแล็คติกา เพื่อสืบทอดความรู้ของมนุษยชาติให้คงอยู่ เป็นรากฐานของการเริ่มต้นอารยธรรมใหม่ แต่แล้วเป็นที่กังขาและเปิดเผยในภายหลังว่าสารานุกรมจักรวาลเป็นเพียงเป้าล่อ เป้าหมายที่แท้จริงของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้คือก่อตั้งกลุ่มพลังจิตที่สุดขอบจักรวาลเรียกว่า สถาบันสถาปนาแห่งที่สอง ด้วยความที่สถาบันสถาปนาแห่งที่สองคุยกันด้วยจิต จึงจำเป็นต้องมีผู้ “พูด” คนที่หนึ่งเรียกว่า “เอกวาจก”
เมื่อคิดย้อนหลังก็อดขำมิได้ว่า กลุ่มจิตวิวัฒน์มีเอกวาจกจริงๆ เสียด้วย
ทั้งหมดที่เล่ามาคือเรื่องกลุ่มจิตวิวัฒน์ นักคิดนักปฏิบัติหลายคนจากกลุ่มจิตวิวัฒน์มีส่วนก่อตั้ง “จิตตปัญญาศึกษา” ในเวลาต่อมา ดังที่เรียนให้ทราบว่า ในเวลาใกล้เคียงนั้นประเทศไทยก็เกิด “เครือข่ายจิตอาสา” เป็นเอ็นจีโอมากหน้าหลายตาซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนหนุ่มจริงๆ สาวจริงๆ ในเวลานั้นมาช่วยกันทำงาน
ในตอนแรกไม่มีคำว่าจิตอาสา
ผู้จัดการแผนพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพสมัยนั้นกล่าวว่า เป็นสมาชิกเครือข่ายอาสาสมัครสามคนช่วยคิดคำว่า “จิตอาสา” ขึ้น โดยมีสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ซึ่งเป็นที่เคารพท่านหนึ่งสนับสนุนให้ใช้คำนี้อย่างต่อเนื่อง หนุ่มสาวที่ขยันขันแข็งพัฒนาจิตอาสาสมัยนั้นบางคนกล่าวว่าคำนี้เริ่มปรากฏเป็นทางการในชื่อโครงการ “ฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา” ของเครือข่ายพุทธิกาเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม แล้วหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ท่านได้ใช้อย่างต่อเนื่องจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป
คำว่าอาสาสมัครหรือบำเพ็ญประโยชน์เป็นคำกิริยา ให้ความหมายเพียงการกระทำ แต่จิตอาสาเป็นคำนาม สะท้อนถึงจิตใจของผู้อาสาหรือผู้ให้ที่เปลี่ยนแปลงไป
พูดง่ายๆ ว่า ผู้ให้คือผู้ได้ ได้จิตใจที่ดีงามกลับมา
คำนี้ถูกใช้กันแพร่หลายทั่วไปจนถึงวันนี้ หากประเทศไทยจะมีผู้จัดทำพจนานุกรมแบบอ๊อกซฟอร์ดที่ไล่กำเนิดของคำภาษาอังกฤษทุกคำ คำว่าจิตอาสาเป็นคำหนึ่งที่เกิดใหม่ไม่เกินสิบปี น่าจะสืบเสาะจุดเริ่มต้นได้ไม่ยาก
เวลานั้นเครือข่ายจิตอาสามีมากมาย นอกจากเครือข่ายพุทธิกาฯ แล้ว มูลนิธิกระจกเงาเป็นองค์กรหนึ่งที่โดดเด่นและทำงานเกาะติดสม่ำเสมอในทุกๆ งานที่จับ
อาสาสมัครคนหนึ่งที่ทำงานหนัก จิตใจดีมาก อีกทั้งเป็นหนึ่งในสามคนที่ถูกอ้างอิงว่าอยู่ในที่ประชุมที่ช่วยคิดค้นคำนี้ขึ้นมาแต่แรกคือคุณหนูหริ่ง สมบัติ บุญงามอนงค์
แสดงความคิดเห็น