เสียหน้าไม่ได้...ก็เรียนรู้ไม่ได้



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2557

กระแสเรื่องโค้ชเทควันโดชาวเกาหลีกับนักกีฬาสาว ทำให้ผมย้อนนึกไปถึงประสบการณ์ส่วนตัว มีครั้งหนึ่งผมไปทำกระบวนการอบรมละครให้กับกลุ่มเยาวชนที่จังหวัดแห่งหนึ่ง ผมได้เชิญน้องผู้หญิงซึ่งเป็นกระบวนกรฝึกหัด เธอเพิ่งเริ่มเข้าวงการได้ไม่นานและตอบรับคำเชิญของผม นัยยะคือการหาประสบการณ์เพิ่มเติม

ในครั้งนั้น หลังจากทำกระบวนการไปได้เพียงวันเดียว ผมรู้สึกได้ถึงแรงต่อต้านและการไม่ให้ความร่วมมือ โดยเธอปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในการเตรียมการ หมายถึงเธอไม่ได้ร่วมพูดคุยเพื่อวางแผนงานโดยอ้างว่าติดงาน เป็นที่รู้กันว่าการทำงานอบรมในเชิงจิตตปัญญานั้น การ “วางแผนงาน” ไม่ได้หมายถึงการวางแผนอย่างเป็นทางการแบบในวงการธุรกิจหรือราชการ แต่เป็นการบรรสานปรับคลื่นใจให้สอดคล้องกันรับรู้จังหวะชีวิตของกันและกัน เพื่อที่จะ “เต้นรำ” ไปได้ในจังหวะที่ต่างฝ่ายต่างสามารถไว้เนื้อเชื่อใจกันได้

มันเป็นศิลปะของการทำกระบวนการ...



เมื่อละเลยกระบวนการนี้ไปเสียแล้ว การเริ่มทำงานด้วยกันก็จะส่งผลเป็นความไม่ราบรื่น โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยทำงานด้วยกัน โอกาสที่จะเกิดความคิดไปในเชิงลบก็เป็นไปได้มาก เพราะกระบวนการอบรมที่ผมทำนั้นเป็นกระบวนการด้นสด ซึ่งต้องเลื่อนไหลเปลี่ยนแปรให้สอดคล้องกับวาระของผู้เข้าร่วมอบรม ไม่สามารถจะกำหนดแน่นอนตายตัวเป็นหลักสูตรอย่างเป็นทางการได้

การวางใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ...

ในแง่หนึ่ง กระบวนกรจะต้องสร้างภาชนะที่เหมาะสมให้กับผู้เรียน เรื่องนี้ พาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ ก็ได้กล่าวว่า ต้องอาศัยแรงกดดันที่เหมาะสมการเรียนรู้จึงจะงอกงาม เพราะการปล่อยปละละเลยย่อมชักนำการเรียนรู้ไปไม่ถึงจุดที่ผู้เรียนส่วนใหญ่จะค้นพบแรงจูงใจด้วยตัวเอง กระบวนกรที่ดีจะต้องสามารถสร้างภาชนะของการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมอบรม และทั้งหมดต้องทำงานร่วมกันอย่างเข้าขา ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้แล้วก็ยากที่จะเหนี่ยวนำสภาวะการเรียนรู้ที่เหมาะสม (optimal learning state) ให้เกิดขึ้นได้

ผมพบว่าน้องกระบวนกรฝึกหัดผู้ร่วมทีมของผมไม่เข้าใจเรื่องนี้ เธอปฏิเสธที่จะแชร์ความรู้สึกและไม่สะท้อนการเรียนรู้กับทีม (reflection) มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมต้องรอให้เธอแชร์ความรู้สึกถึงยี่สิบนาที ยี่สิบนาทีที่เธอปล่อยให้ทุกคนในทีมรอโดยไม่พูดอะไรเลย และหลังจากนั้น เธอก็ “ทำงาน” ในแบบของเธอ ก็คือหลีกเลี่ยงการประชุมสะท้อนความรู้สึก (after action review) ไม่ทานอาหารร่วมกับทีม เลือกที่จะไปคุยกับผู้เข้าร่วมอบรมเป็นรายตัว โดยเธอคิดว่าด้วยวิธีนั้นเธอจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เข้าร่วมอบรมมากกว่า เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการทำอย่างนั้นเป็นการแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลด้านลึกของผู้เข้าร่วมอบรมเพื่อผลประโยชน์ของกระบวนกร ซึ่งตรงนี้เป็นเส้นบางๆ เพราะเจตนาของคนเราไม่เข้าใครออกใคร ในวินาทีที่เรานึกว่าเราทำเพื่อ “วาระของเขา” พลิกนิดเดียวกลายเป็นการทำเพื่อ “วาระของเรา” ไปเสียแล้ว

วันต่อมา เธอนัดให้เพื่อนมารับกลับบ้านทั้งๆ ที่เหลือเวลาอีกหนึ่งวันสำหรับการอบรม เพื่อนของเธอต่อว่าผมว่าเป็นพวกลุแก่อำนาจ ไม่มีความเมตตากับน้องผู้หญิงคนนี้ เวลาที่เธอพยายามจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการ ผมมักจะตัดบทไม่ยอมฟังเธอ มันเป็นเรื่องแปลกอย่างมาก สิ่งที่เธอพบเจอนั้นล้วนแต่เป็นกระบวนการที่ผมผ่านมาแล้วทั้งสิ้นบนเส้นทางของการเป็นกระบวนกร นั่นคือ สิ่งที่จะต้องเจอคือความขุ่นข้องหมองใจ การไม่เห็นด้วยกับการนำของกระบวนกรหลัก เมื่อเวลาผ่านไป ผมพบว่ามันเป็นโชคดีของผมที่ได้ผ่านตรงนั้นมาแล้ว เพราะถ้าผมไม่ผ่าน ผมก็คงจะติดอยู่แค่ตรงนั้น ก้าวต่อไปไม่ได้ เพราะถ้า...

เสียหน้าไม่ได้ก็เรียนรู้ไม่ได้...

แรงจูงใจของคนที่ทำให้เราเสียหน้าคืออะไร? น่าประหลาดใจที่คนรุ่นใหม่รวมทั้งผมมักจะไม่ยอมรับว่า เราต้องการที่จะเรียนรู้จากผู้อื่น เรามักจะไปเลียบๆ เคียงๆ หาความรู้จากคนนั้นคนนี้ แต่ด้วยเงื่อนไขที่ว่าเราจะไม่ผูกพัน จะเป็นอิสระ เรารังเกียจคำว่า “ลูกศิษย์-อาจารย์” เพราะมันเตือนเราถึงพันธนาการที่ไม่ดีในอดีต เราจึงตกใจถ้าจะมีใครวางตัวเป็นอาจารย์เราหรือสอนสั่งเรา บางคนจะหลีกหนีให้ไกล ในขณะที่บางคนก็รู้สึกเฉยๆ กับดักของอิสรชนอยู่ตรงนี้ ตรงที่ไม่ยอมรับการถูกจองจำในสถานภาพครู-ศิษย์ กระบวนกรรุ่นใหม่จึงใช้คำว่า “เรามาเรียนรู้ร่วมกัน โดยไม่ต้องมีใครเป็นครู ไม่ต้องมีใครเป็นศิษย์” นั่นเป็นคำพูดเพื่อทำให้ทุกคนสบายใจเท่านั้น ผมนึกถึงครูสอนศิลปะป้องกันตัวท่านหนึ่งที่บอกให้ลูกศิษย์ทุกคนในสำนักเรียกกันว่า “ศิษย์พี่” รวมทั้งเรียกตัวเขาว่าอย่างนั้นด้วย แต่ทุกคนย่อมรู้ว่าเป็นเพียงถ้อยคำเท่านั้น ในพฤตินัยเราไม่สามารถจะเถียงหรือโต้แย้งครูในหลักการที่เขากำลังจะสอนเราได้ เพราะนั่นหมายถึงว่าเราไม่เชื่อในความสามารถหรือความรู้ของเขา และถ้าเราไม่เชื่อในตัวเขา เราก็คงไม่ยอมตัวมาเป็นลูกศิษย์เขา หรือไม่มาเรียนรู้กับเขาตั้งแต่แรกแล้ว แน่นอนว่าผมกำลังพูดถึงคนที่มีความเป็นครูจริงๆ ไม่ใช่พนักงานรับจ้างสอนทั่วๆ ไปที่ทำเพื่อเห็นแก่สินจ้างอามิส

ไม่แปลกที่น้องกระบวนกรฝึกหัดผู้นั้นก็ใช้เหตุผลนี้กับผมว่า เธอไม่ได้มาเรียนรู้กับผม แค่มาร่วมงานเฉยๆ และต้องปฏิบัติต่อเธอด้วยความเท่าเทียม สงสัยเธอคงมองว่างานที่ผมชวนเธอทำ คล้ายๆ กับการบรรจุข้าวสารอาหารแห้งลงในถุง เพื่อไปบริจาคช่วยน้ำท่วมในงานจิตอาสาอย่างนั้นกระมัง

ถ้าหากยังจำกันได้ ผมเขียนเรื่อง “K กับ M : สองโหมดของความรัก” ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์เมื่อปีที่แล้ว โดยผมได้พูดถึง M กับ K โดย M หมายถึงเมตตา และ K หมายถึงกรุณา เมตตาตัว M คือความรักที่ไม่มีประมาณและไม่เจาะจงผู้รับ เปรียบเหมือนอ้อมแขนอันยิ่งใหญ่ที่โอบรับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ K หมายถึงกรุณา คือมีดคม เป็นศาตราแข็งแกร่งดั่งเพชรที่ตัดฉับเมื่อเห็นว่าผู้ที่ตนรักและห่วงใยกำลังพาตัวเข้าสู่ความเดือดร้อน

ในบางครั้งต้องใช้ K และบางครั้งต้องใช้ M ในการทำงานการ ใช้ผิดบริบทงานย่อมเสียหาย ในกรณีน้องก้อยนักกีฬาเทควันโด โค้ชไม่สามารถใช้ M คือเมตตาได้ เพราะถ้าทำอย่างนั้น น้องก็จะไม่ได้เรียนรู้ และในอนาคตก็จะสร้างความเสียหาย ไม่กับตนเองก็ผู้อื่น โค้ชจึงใช้ K ซึ่งก็คือการลงโทษด้วยกำลังคือมีดที่ตัดฉับให้เจ็บ ให้อาย ให้เสียหน้า เพื่อข่มความลำพองที่ศิษย์มีจนทำให้เสียหน้าที่เสียการงาน

การใช้กำลังของโค้ชเชจะผิดหรือไม่ผิดเมื่อมองในแง่ของสิทธิมนุษยชน แต่ในแง่ของความเป็นครูแล้วถูก เพราะนั่นคือหน้าที่ของครูที่ต้องลงโทษศิษย์ เมื่อไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่อันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น ส่วนเจตนาที่แท้จริงของโค้ชเชเป็นอย่างไร ใครจะไปรู้ได้นอกจากตัวเขาเองว่า ในขณะที่ลงมือนั้น ลงมือไปด้วยความกรุณาหรือความโกรธแค้นส่วนตัวเพื่อความสะใจ ถ้าเป็นอย่างแรกผมเชื่อว่าโค้ชย่อมมีความยับยั้งชั่งใจและไม่ทำเกินกว่าเหตุ ถ้าเป็นอย่างหลังถึงแม้จะถูกด้วยหน้าที่ของความเป็นครู แต่ก็ต้องถือว่าผิด เพราะผิดต่อตัวโค้ชเองที่ใช้อารมณ์ส่วนตัวมาละเมิดเกียรติและความไว้วางใจของศิษย์

ส่วนกรณีของผม ผมได้ทดลองใช้ M คือเมตตากับน้องคนนั้น โดยในเช้าวันหนึ่ง ผมยอมให้น้องได้ทำกระบวนการในแบบที่เธอต้องการ แต่ผลที่ออกมาก็คือล้มเหลว ไม่เกิดผลอย่างที่เธอได้วาดเอาไว้อย่างเลิศหรู เมื่อผมพยายามจะชี้ตรงนี้ให้เธอเห็นเพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้ เธอกลับปฏิเสธที่จะเข้าร่วมและหลีกเลี่ยงการประชุมทีมอย่างที่ผมได้บอกไปแล้ว

สุดท้าย ผมต้องปล่อยให้น้องกระบวนกรผู้ช่วยคนนั้นได้กลับไปตามความประสงค์ของเธอ เธอได้ทิ้งภาระเอาไว้เบื้องหลังให้กับทีมงานที่ต้องทำงานกันต่อไป เพราะเธอเสียหน้าไม่ได้ จึงยอมรับไม่ได้ที่ผมได้ตำหนิเธอต่อหน้าผู้ช่วยกระบวนกรรุ่นเด็กกว่าเธอ ทำไมผมไม่ใช้ M คือเมตตากับเธอ ปลอบประโลมเธอ ชมว่าเธอเก่งและทำดีแล้ว และการตำหนิของผมมีตัวความกรุณา หรือ K เข้าประสมในวิถีจิตขณะนั้นหรือไม่? ใครจะไปตอบได้ ผมหรือ? ถ้าผู้ตอบไม่สามารถแยกแยะสภาวะที่เกิดในใจของตนได้ก็ย่อมรู้ไม่ได้

แต่สำหรับผู้ที่ได้ยินได้ฟังเรื่องราว ก็ล้วนแล้วแต่จะคิดกันไปวิเคราะห์กันไปในมุมของตนเอง ต่างฝ่ายต่างหาเหตุผลมาสนับสนุนเรื่องราวของตนเอง จนเราได้เรื่องราวที่หลากหลายไม่ต่างอะไรกับในภาพยนตร์เรื่อง “ราโชมอน” ของอากิระ คูโรซาวา แล้วจบตรงไหน เริ่มตรงไหนก็จบตรงนั้นนั่นแล.

Back to Top