ชีวิตที่ได้เปรียบ



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2558

(๑)

ในวันปฐมนิเทศผู้พิพากษาหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ผู้พิพากษาที่เป็นวิทยากรแจกกระดาษให้คนละแผ่น บนกระดาษมีตารางแนวนอนหัวข้อว่าด้วยความสมบูรณ์ของร่างกาย เพศ เชื้อชาติ ที่อยู่อาศัย การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ ความเชื่อทางศาสนา จุดยืนทางการเมือง ฯลฯ และให้เลือกช่องคะแนน ๑ – ๑๐ ในแนวตั้งว่า แต่ละคนอยู่ตรงไหน? - แน่นอนล่ะว่าผู้พิพากษาใหม่เอี่ยมทั้ง ๖๐ คน ได้คะแนนค่อนไปทางสูงถึงสูงมาก

เมื่อวิทยากรถามว่า มีใครที่ได้คะแนนในบางข้อต่ำกว่า ๕ บ้าง ก็มีคนยกมือหลายคน คนหนึ่งในนั้นบอกว่าเขารู้สึกว่าเกิดมาตัวเล็กกว่าคนอื่น เรียนหนังสือก็ตัวเล็กกว่าเพื่อน ทำงานก็ตัวเล็กกว่าใคร รู้สึกเป็นปมด้อยมาก อีกคนหนึ่งบอกว่าการเป็นคนจีน มีสัญชาติจีน ทำให้รู้สึกว่าด้อยกว่าเพื่อนผู้พิพากษาที่มีสัญชาติไทย และอีกคนก็บอกว่าการได้ไปเรียนหนังสือที่อเมริกาก็ทำให้เธอพบว่า การเป็นคนไทยนั้นเป็นเรื่องด้อยกว่าการเป็นคนอเมริกันหรือยุโรป

วิทยากรถามต่อว่า เทียบกับโจทก์จำเลยในคดีที่ผู้พิพากษาทุกคนจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น ผู้พิพากษาน่าจะได้คะแนนรวมกันแล้วมากกว่าหรือน้อยกว่า? ในขณะที่ผู้พิพากษาหนุ่มสาวก้มหน้าครุ่นคิด วิทยากรก็เสริมว่า ผู้คนที่เข้ามาใช้บริการในกระบวนการยุติธรรมโดยมากแล้วเป็นคนเล็กคนน้อย หากผู้พิพากษาที่นั่งอยู่บนบัลลังก์ถือกระดาษคะแนนของตนติดตัวไปด้วย ก็จะตระหนักได้ว่าผู้คนเหล่านั้นล้วนแล้วแต่มีคะแนนค่อนไปทางต่ำถึงต่ำมาก ห่างไกลจากผู้พิพากษามากมาย คำพิพากษาของศาลที่นอกจากจะต้องมีความเป็นกลางตั้งอยู่บนอุเบกขาธรรมแล้ว ยังสามารถมีความกรุณาผ่านความตระหนักรู้และเข้าอกเข้าใจถึงช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้คนได้อีกด้วย อุเบกขาและความกรุณานี้จึงจะอำนวยความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง


(๒)

เมื่อไม่นานมานี้ ช่วงกลางเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ กวินเน็ธ พัลโทรว์ ดาราภาพยนตร์สาวชาวอเมริกัน และนักเขียนเรื่องอาหาร ผู้โด่งดังในฮอลลีวู้ด รับคำท้าในกิจกรรม #FoodBankNYCChallenge นั่นคือ การรับคูปองอาหารมูลค่า ๒๙ ดอลลาร์ สำหรับซื้ออาหารให้ทั้งครอบครัว เป็นเวลา ๗ วัน หรือ ๑ สัปดาห์ โดยเธอจะโพสต์รูปถ่ายอาหารที่ซื้อและทำกินกันในครอบครัวภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าวผ่านโซเชียลมีเดียเป็นการแบ่งปันประสบการณ์

พัลโทรว์เข้าร่วมกิจกรรมนี้ตามคำเชิญของมาริโอ บาตาลี เพื่อนสนิทที่เป็นเชฟมิชลิน เจ้าของภัตตาคาร และประธานคณะกรรมการธนาคารอาหารเมืองนิวยอร์ก (Food Bank for New York City) โดยมีเป้าหมายในการสร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณะประเด็นความอดอยากหิวโหยในเมืองนิวยอร์ก และนโยบายของรัฐที่มีแนวโน้มจะตัดงบประมาณคูปองอาหารสำหรับครอบครัวผู้มีรายได้น้อยลงไปอีก

ในวันที่ ๔ ของการร่วมกิจกรรม เธอก็ยกธงขาวยอมแพ้ โดยยอมรับว่ายากมากที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งครอบครัวด้วยคูปองอาหารมูลค่าดังกล่าว เช่นเดียวกับคนนิวยอร์กอีก ๑.๘ ล้านคน ที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาคูปองอาหารเหล่านี้ในฐานะสวัสดิการจากรัฐ เธอกล่าวว่า “มุมมองของฉันเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เพียงในเวลาไม่กี่วัน เมื่อพบว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะได้กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเต็มอิ่ม ภายในวงเงินที่ว่า - และนี่ก็เป็นสิ่งที่คนอเมริกันอีก ๔๗ ล้านคนต้องเผชิญอยู่ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกปี” เธอยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ฉันรู้ว่าความอดหยากหิวโหยไม่ได้มากระทบกับเราโดยตรงนัก – แต่ก็กระทบกับเราโดยอ้อม หลังจากกิจกรรมนี้ ตัวฉันรู้สึกตื้นตันที่ยังสามารถเตรียมอาหารคุณภาพดีให้กับลูก-ลูกได้... พวกเราควรหาทางทำในสิ่งที่ทำได้ เพื่อทำให้การเข้าถึงอาหารเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและไม่ใช่เรื่องของคนมีอภิสิทธิ์เท่านั้น”

(๓)

ทุกวันที่ ๙ มกราคม ของทุกปีเป็นวันสำคัญของอินเดียที่เรียกว่า ประวาสี ภาระติยะ ทิวา คือวันที่ระลึกถึงชาวอินเดียโพ้นทะเล และในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ นี้ถือว่าครบรอบ ๑๐๐ ปีที่มหาตมะ คานธีได้เดินทางกลับจากอาฟริกาเข้ามาในอินเดีย และใช้แนวทางอหิงสาในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของอินเดียจากอังกฤษ รัฐบาลอินเดียนำโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี จึงจัดงานค่อนข้างใหญ่โต เพื่อส่งสาส์นไปยังชาวอินเดียโพ้นทะเลกว่า ๒๕ ล้านคน พร้อมทั้งเชื้อเชิญและหว่านล้อมกลุ่มนักธุรกิจอินเดียในต่างประเทศให้กลับเข้ามาลงทุนในประเทศอินเดียเพื่อเป็นการพัฒนาประเทศตามแบบอย่างของคานธี

แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง ราชโฆปาล ผู้นำเอ็กตา ปาริฉัด (Ekta Parishad) ขบวนการเคลื่อนไหวที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียตามแนวทางของคานธี กลับกล่าวปาฐกถาสั้น-สั้นต่อทุกคนว่า “เมื่อผมถามคนหนุ่มสาวถึงสิ่งที่ไม่ชอบเลยในอินเดีย ทุกคนตอบว่าไม่ชอบความยากจน การเลือกปฏิบัติ และการฉ้อราษฎร์บังหลวง และเมื่อคานธีมอบแนวคิดสรรโวทัยให้แล้ว ทำไมผู้คนในอินเดียจึงยากจนอยู่มาก? นั้นแสดงว่าสิ่งที่เราพูดกับสิ่งที่เราทำนั้นไม่สอดคล้องกัน เราจำต้องพัฒนาในสิ่งที่จำเป็นของชีวิต ไม่ใช่พัฒนาเพื่อความโลภ” เขาย้ำว่า“การพัฒนาไม่ใช่แค่เรื่องของเงินและกำไร ไม่ใช่การพัฒนาไปสู่ความมั่งคั่งทางวัตถุอย่างเดียว หากแต่ต้องหมายถึงการพัฒนาชีวิตด้านในด้วย”

การณ์กลับเป็นว่า สิ่งที่เขาพูดกระทบและจับใจนักธุรกิจเสียยิ่งกว่าคำพูดของรัฐบาล เพราะเขาเชื้อเชิญให้นักธุรกิจเหล่านั้นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เพราะเขามองว่าต้นทุนสำคัญของนักธุรกิจไม่ได้มีอยู่แค่เพียงตัวเงิน หากอยู่ที่เครือข่ายความสัมพันธ์ กลุ่มนักธุรกิจสามารถเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรหรือภาคีร่วมกับอินเดียที่เต็มไปด้วยคนยากไร้ได้ หากวางเป้าหมายของการพัฒนาไว้บนคุณค่าอันถูกต้อง

(๔)

คนที่มีชีวิตได้เปรียบ (privilege) ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา ดาราฮอลลีวู้ด เชฟมิชลิน ปัญญาชน นักธุรกิจ ฯลฯ ไม่จำเป็นจะต้องรู้สึกผิดหรือมองว่าอภิสิทธิ์เป็นภาระ หากตระหนักได้ว่าอภิสิทธิ์หรือความได้เปรียบในชีวิตของตนนั้นสามารถนำไปสู่โอกาสในการเรียนรู้ และศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ โดยเฉพาะสังคมที่มีความเป็นธรรมและไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

One Comment

tip singthong กล่าวว่า...

ชอบบทความนี้ค่ะ และอยากให้คนไทยมาลองใช้ชีวิตภายใต้เงิน300บาทต่อวันกันดู

Back to Top