จุดเล็กๆ ของการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ทางการเมือง

โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 เมษายน 2549

ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง พอได้ไปทำงานใกล้กรุงเทพฯ ก็ได้เข้าไปร่วมในม็อบพันธมิตรขับไล่ทักษิณ เขาประทับใจวินัยทางสันติวิธีของม็อบมาก แต่คนในม็อบก็เครียด บางคนกลับไปบ้านแล้ว นอนไม่หลับ ผมเกิดความคิดบางอย่าง แนะไปว่าไหนๆ ม็อบอย่างนี้ก็เป็นเวทีสำหรับการศึกษาทางการเมืองอยู่แล้ว สิ่งที่อยากเห็นก็คือ การนั่งล้อมวง หันหน้าเข้าหากัน สืบค้นทางออกจากทางตันทางการเมืองร่วมกัน เป็นกลุ่มเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ ๑๕-๒๐ คน ทอดยาวไปทั่วทั้งม็อบ แล้วจุดเทียนไว้ตรงกลาง อันนี้เป็นภาพที่อยากจะเห็น

แต่คนที่อยู่ในม็อบ มีคลื่นสมองที่เป็นคลื่นเบต้าอย่างแก่ หรือที่มีความถี่สูงกันมาก หมายความว่า เราอยู่กับความคิดมาก เป็นความคิดที่ตัดสินวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นมาก แต่เราไม่ค่อยได้อยู่ในเบต้าอย่างอ่อน และอัลฟา อันได้แก่การใคร่ครวญพิจารณา ตลอดจนการห้อยแขวนการตัดสินคนอื่น เพื่อนผมก็พยายาม และรวมกลุ่มได้เพียงหนึ่งกลุ่ม มีคน ๖-๗ คนนั่งล้อมวงกัน แต่มันก็เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า แม้จะทำไดอะล็อคได้ยากในเบื้องต้น แต่ในที่สุดก็เป็นไดอะล็อคได้ และคืนนั้นคนที่นอนไม่หลับก็นอนหลับ ความเครียดก็คลายออกไป ความรู้สึกดีๆ ตลอดจนแรงบันดาลใจก็ไหลเวียนกลับมาอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ที่จะทำงานทางการเมืองต่อไป

อีกประสบการณ์หนึ่ง ผมได้เรียนกับครูของผม คือ ส. ศิวรักษ์ ผมได้มาพบอาจารย์ที่เชียงใหม่และเชียงแสน ผมนึกถึงตอนที่ผมพบท่านติช นัท ฮันห์ เมื่อคราวที่เวียดนานใต้แตก เมื่อปี ๒๕๑๘ ท่านพูดถึงพระอาจารย์ของเวียดนามคนหนึ่ง ในราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ ที่ท่านมีชีวิตธรรมดา สมถะ เรียบง่าย และไม่ได้โดดเด่นแต่ประการใด แต่ครั้นเมื่อจีนรุกรานเวียดนามลงมาทางใต้นั้น ท่านกลายเป็นสัญลักษณ์ที่รวมใจของผู้คน ที่มารวมตัวกันสู้จีนจนประสบความสำเร็จ

บางทีบารมีของครูของผมตอนนี้ เพียงยกหูโทรศัพท์พูดกับใครบางคน ผลดีๆ ก็อาจจะก่อเกิดขึ้นในประเทศชาติได้แล้ว ด้วยบารมีและภูมิธรรมที่ท่านสั่งสมมาช้านาน

มองในมุมมองหนึ่ง การขับเคี่ยวทางการเมืองระหว่างกลุ่มทักษิณกับกลุ่มพันธมิตรเวลานี้ แม้ทั้งสองฝ่ายพยายามประคับประคองตัวให้อยู่ในแนวทางสันติวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพันธมิตร หรืออย่างน้อยก็พยายามให้ภาพปรากฏออกมาเป็นสันติวิธี แต่ทั้งสองฝ่ายก็ตัดสินกันและกัน แม้ว่าต่างก็ต่อสู้เพื่อชัยชนะทางการเมืองด้วยกติกาสันติวิธีทีระดับใดระดับหนึ่ง แต่แท้จริงก็ยังคุกรุ่นไปด้วยความรุนแรงและรังสีของการประหัตประหารกัน

มีคนเสนอว่า ถ้าฝ่ายทักษิณกับฝ่ายพันธมิตรต้องการจะคุยกัน ผมจะยินดีเป็นกระบวนกรให้ทั้งสองฝ่ายได้คุยกันไหม?

ตอนที่ได้ยินคำถามก็ไม่ได้โพล่งออกไปทันทีทันใด แต่เก็บเอามาคิด ก็ได้คำตอบในที่สุดว่า ถ้าให้เวลาสักเจ็ดวันเจ็ดคืน และทั้งสองฝ่ายอาสาที่จะทำตามกติกาแบบเต็มร้อย ผมก็พร้อมที่จะจัดให้ และคิดว่า จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายแน่นอนไม่มากก็น้อย

มองอีกมุมมองหนึ่ง ตอนนี้การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยลงไปถึงระดับครอบครัวเลยทีเดียว ในขณะที่กิจกรรม “หันหน้าเข้าหากัน” ของพวกเราที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น ได้สร้างสรรค์ความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ทั้งในครอบครัว ในที่ทำงาน และในชีวิตของผู้คนจำนวนไม่น้อยแล้ว

ที่สำคัญก็คือคุณภาพแห่งความสมานฉันท์ที่เกิดขึ้น มันเป็นสันติสุขที่แท้อันเกิดขึ้นภายใน จากการได้รู้จักตนเองและผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง เป็นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทำให้ได้พบสันติสุขภายใน อันทำให้เกิดสันติในความสัมพันธ์ในภายนอก และสันติในตัวเองในภายใน เมื่อเป็นเช่นนี้ การ “หันหน้าเข้าหากัน” ยังทำให้เกิดปัญญาร่วมหรือสมุหปัญญา อันเป็นการระเบิดออกของการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ที่จะผ่าทางตันออกไปได้ อันจะเป็นการคลี่บานของชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง

ครูของผมบอกว่า อย่าไปหวังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นแบบฝึกหัดครั้งใหญ่อีกครั้งในวิวัฒนาการของมนุษย์ แม้ว่าต่อไปจะมีคนดีๆ เข้าไปเล่นการเมืองบ้าง ก็อย่าไปหวังในทางอำนาจอย่างรวดเร็ว ควรใช้โอกาสนั้นๆ ให้การศึกษากับประชาชน เมื่อไม่มุ่งอำนาจ ก็มีอิสระภายในตัว การกระทำก็จะเป็นกระบวนการทางการศึกษาที่สำคัญต่อสังคม

ผมมาคิดต่อว่า จริงสินะ หากการกระทำของพวกเราเป็นเหมือนโจทย์มากกว่าคำตอบ เป็นแบบฝึกหัดมากกว่าการยัดเยียด หรือเป็นตัวกวนมากกว่าจะเป็นอะไรที่ลงตัว ไปทำให้ผู้คนสะดุดสักนิด คิดมากขึ้นสักหน่อย ตื่นรู้ขึ้นอีกมากๆ แทนที่จะตัดสินคนอื่น แทนที่จะคิดการเมืองเป็นขั้วเป็นฝักฝ่าย หัดมองมุมมองใหม่ หัดกระทำการด้วยพฤติกรรมแบบใหม่ๆ บ้าง บางทีความหวังในการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ทางการเมือง ก็น่าจะเป็นไปได้

Back to Top