จิตตปัญญาศึกษากับคลื่นสมอง

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 29 เมษายน 2549

น่าจะประมาณเกือบปีแล้วกระมังที่คุณวิจักขณ์ พานิช ได้เขียนบทความในคอลัมน์จิตวิวัฒน์นี้อธิบายถึงความหมายของคำว่า “Contemplative Education” ที่ในขณะนั้นยังไม่มีศัพท์ที่เป็นภาษาไทยและวิจักขณ์ก็ได้ลองให้ความหมายของคำๆ นี้ว่าเป็น “การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ” และต่อมาท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิตท่านได้กรุณาบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยว่า “จิตตปัญญาศึกษา” และวันที่ผมเขียนร่างของบทความชิ้นนี้ขึ้นมาก็พบว่า ดร.จารุพรรณ กุลดิลก ได้เขียนบทความถึงเรื่องนี้ลงในคอลัมน์นี้พอดีโดยไม่ได้นัดหมายกัน

ในบทความชิ้นนี้ผมอยากขอลองทำความเข้าใจในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ผ่านความเข้าใจในเรื่องทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คือเรื่องคลื่นสมองเพราะผมคิดว่า ณ เวลาปัจจุบันนี้เรื่องราว “Contemplative Education” หรือ “การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ” หรือ “จิตตปัญญาศึกษา” นี้มีความสำคัญมากและจะมากยิ่งขึ้นไปทุกวันที่ผ่านไป

ความเข้าใจในความหมายของคำๆ นี้ไม่ใช่เพียงแต่เฉพาะสำหรับผู้ที่อยู่ในวงการศึกษาเท่านั้น แต่มีความสำคัญยิ่งยวดสำหรับพวกเราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพอะไร

ยกตัวอย่างเช่นปัญหาหลักๆ ทางสาธารณสุขก็เกิดจากความไม่เข้าใจในความหมายที่แท้จริงของคำๆ นี้ เพราะจะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขไม่สามารถ “ถ่ายทอด” ความรู้ไปสู่ผู้ป่วยหรือประชาชนทั่วไปได้ เกิดการบล็อคเกิดการติดขัดในการสื่อสารระหว่างผู้คิดว่ารู้-คือแพทย์กับผู้ถูกคิดว่าไม่รู้-คือคนไข้ ผู้คนทั้งหมดไม่มีทางเข้าใจเข้าไปถึงแก่นของ “สุขภาพองค์รวม” ซึ่งหมายถึงการมีสุขภาพที่ดีแบบยั่งยืนและมีความสุขได้เลยหากขาดเครื่องมือชิ้นนี้

และทั้งนี้ถ้ามองให้ดีๆ ก็จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้รวมไปถึงปัญหาหลักๆ ในทางเศรษฐศาสตร์ ปัญหาในเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาในเรื่องการทำงานแล้วเครียด ปัญหาในทางทางการเมืองก็ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นมาจาก “ความไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง” ในความหมายของคำๆ นี้

ผมพบว่าความแตกต่างที่เห็นได้ “ชัดเจนที่สุด” เรื่องหนึ่งระหว่าง “จิตตปัญญาศึกษา” กับการศึกษาทั่วไปนั้นก็คือ “จิตตปัญญาศึกษา” เป็นการศึกษา “โลกภายในตัวเอง” แต่การศึกษาทั่วไปในสังคมบริโภคนิยมนั้นเป็นการศึกษา “โลกภายนอกของตัวเรา”

ทำไมต้องศึกษา “โลกภายในตัวเอง” ?

คำตอบก็คือการศึกษาที่มุ่งทำความเข้าใจกับ “โลกภายนอกตัวเรา” โดยที่ไม่ได้เข้าใจตัวเองมาก่อนเลยย่อมทำให้มองเห็น “โลกภายนอก” บิดเบี้ยวและผิดรูปไปจากความเป็นจริงเพราะงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใหม่นั้นค้นพบว่า “เราจะมองเห็นโลกภายนอกเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองเห็นโลกภายในของตัวเราเป็นอย่างไร

และเมื่อลองเทียบเคียง “จิตตปัญญาศึกษา” กับความเข้าใจในเรื่องคลื่นสมอง ผมพบว่าสามารถอธิบายเหตุผลถึงความสำคัญของเรื่องนี้ได้ในมุมหนึ่ง คลื่นสมองของมนุษย์สามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ แบบ เรียงลำดับตั้งแต่เร็วไปหาช้าดังนี้

๑. เบต้าเวฟ เป็นคลื่นสมองที่เร็วที่สุดมีความถี่ได้ตั้งแต่ ๑๔ Hz (รอบต่อวินาที) ไปจนถึง ๒๑ Hz หรือในกรณีที่ต้องเร่งรีบมากๆ หรือวุ่นวายใจมากๆ คลื่นสมองชนิดนี้อาจจะวิ่งเร็วได้มากถึง ๔๐ Hz นักวิทยาศาสตร์พบว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่จะมีคลื่นสมองชนิดนี้เป็นหลัก คลื่นสมองชนิดนี้ก็คือความคิดในขณะตื่นของพวกเราทุกคนนั่นเอง (Conscious Mind) ซึ่งก็คือ “เรื่องราว” ที่เรามองเห็นโลกภายนอกนั่นเอง และการศึกษาในกระแสหลักมุ่งเน้นอยู่แต่การเรียนรู้ที่อยู่แต่ในคลื่นชนิดนี้

๒. อัลฟ่าเวฟ เป็นคลื่นสมองที่เริ่มช้าลงมา มีความถี่อยู่ในช่วงประมาณ ๗-๑๓ Hz เป็นคลื่นสมองที่จะปรากฏบ่อยในเด็กที่มีความสุข กำลังฝันกลางวัน (Daydream) ในผู้ใหญ่จะพบคลื่นชนิดนี้ได้ในผู้ที่ฝึกฝนตัวเองให้สงบนิ่งมากขึ้น อัลฟ่าเวฟเป็น “ประตู” ระหว่างจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก คนส่วนใหญ่จะขาดคลื่นชนิดนี้ ทำให้คลื่นเบต้ามีมากเกินไปและมีลักษณะเป็น “คอขวด” ที่อุดตันไม่สามารถทะลุเข้าไปสู่โลกภายในตัวเองได้ การสร้างคลื่นชนิดนี้จึงมีความสำคัญที่จะทำให้สภาวะอุดตันแบบคอขวดของคลื่นสมองหายไป เกิดความสมดุล ส่วนหนึ่งของ “จิตตปัญญาศึกษา” จะเน้นการสร้างคลื่นอัลฟ่าเพื่อให้เกิด “สะพาน” หรือ “ประตู” ที่เชื่อมต่อลงไปสู่ “จิตใต้สำนึก” หรืออาจจะไปได้ถึง “จิตไร้สำนึก” ที่แสดงให้เห็นโดยลักษณะคลื่นสมองที่ “ช้าลงกว่าเดิม” ไปอีกเป็นคลื่นแบบเธต้าและเดลต้า

๓. เธต้าเวฟ เป็นคลื่นสมองที่ช้าลงมากว่าอัลฟ่าเวฟ มีความถี่อยู่ในช่วงประมาณ ๒-๖ Hz เป็นคลื่นสมองที่พบเป็นปกติในช่วงที่ทุกคนกำลังหลับ “หรือ” อยู่ในการภาวนาสมาธิที่ลึกระดับหนึ่ง เป็นคลื่นสมองที่สะท้อนการทำงานของ “จิตใต้สำนึก” (Subconscious Mind) ซึ่งเป็นการทำงานของเนื้อสมองส่วนใหญ่ของมนุษย์

๔. เดลต้าเวฟ เป็นคลื่นสมองที่ช้าที่สุด (๐.๕-๒ Hz) เป็นคลื่นสมองที่แสดงถึงการทำงานเชื่อมต่อกับส่วนที่เป็น “จิตไร้สำนึก” (Unconscious Mind) ซึ่งเป็นส่วนที่เป็น “ปัญญาร่วม” ของมนุษย์
ผมพบว่า “ความหมายในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์” ของ “โลกภายในตัวเอง” นั้นน่าจะหมายถึง “จิตใต้สำนึก” และอาจจะสามารถก้าวลงลึกไปถึง “จิตไร้สำนึก” ซึ่งอันหลังนี้จะรวมไปถึง “ปัญญาร่วมของมนุษยชาติ” (Collective Wisdom) และเมื่อเราสามารถเข้าไปสู่ “จิตใต้สำนึก” หรือถึงระดับ “จิตไร้สำนึก” ได้บ่อยๆ โดยที่มี “จิตสำนึก” กำกับอยู่ด้วย ก็จะ “จำได้” และสามารถลงไปสู่ “แหล่งข้อมูลที่มหาศาล” ตรงนั้นได้บ่อยมากขึ้นเร็วมากขึ้น ข้อมูลที่ได้จาก “จิตใต้สำนึก” และ “จิตไร้สำนึก” นั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ จะออกมาในลักษณะที่เรียกว่า “ญาณทัศนะ” (Intuition) หรือ “ปิ๊งแว้บ” หรือ “ยูเรก้า” ซึ่งเป็น “ชุดภาษา” อีกแบบหนึ่งที่อาจจะไม่ใช่คำพูด แต่มีความพอเหมาะพอดีแบบที่คาดไม่ถึง (Synchronicity) แบบที่เคยมีสำนวนกำลังภายในที่บอกว่า “คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต” อะไรทำนองนั้น

“การช้าลง” ด้วยการ “ใคร่ครวญ” จึงเป็น “สัญลักษณ์” ที่มีนัยสำคัญยิ่งของการศึกษาด้านในแบบนี้ เพราะถ้าไม่ช้าลงหรือไม่ใคร่ครวญ เราก็ย่อมจะไม่มีทางทำให้คลื่นสมองของเรากลายมาเป็นคลื่นอัลฟ่า ถ้าไม่เกิดคลื่นอัลฟ่าแล้วก็ยิ่งไม่มีทางเข้าไปสู่คลื่นเธต้าหรือเดลต้าได้เลย

โลกแห่งบริโภคนิยมนั้นเต็มไปด้วยความ “เร่งด่วน” ไปหมด ทุกอย่างถูกทำให้ “เร็ว” และ “เร่ง” ผู้คนถูกทำให้คิดว่า “ถ้าช้าแล้วจะไม่ทันการ” คลื่นสมองของผู้คนส่วนใหญ่จึงกลายเป็นคลื่นเบต้าที่เร็วและเร่งไปเสียหมด “สูญเสียโอกาส” ที่ได้เข้าไปท่องเที่ยวชม “ความงดงามภายในของตัวเอง” เกิดความเครียด ป่วยเป็นโรคเร่งรีบไม่ต้องนับไปถึงเรื่องการเรียนรู้และประสิทธิภาพในการทำงานที่ด้อยลง ในความหมายนี้ “จิตตปัญญาศึกษา” จึงเป็นการ “ปรับสมดุล” ของคลื่นสมองให้ดีขึ้นมากกว่าเดิม

บางทีระบบการศึกษาของพวกเราทั้งหมดอาจจะต้อง “กลับขั้ว” คืออาจจะต้องหันมาสนใจศึกษา “เรื่องราวภายในตัวเราเอง” เสียก่อนทั้งนี้เพราะถ้าพวกเราสามารถที่จะ “เข้าใจโลกภายใน” ของตัวเราได้ เราก็จะสามารถ “เข้าใจโลกภายนอก” ได้โดยไม่ยากเย็นอะไร

อย่างไรก็ตามเราก็คงจะต้อง “ไม่หลงทาง” ไปติด “กับดักผู้รู้กับผู้ไม่รู้” “กับดักหลักสูตรตายตัว” “กับดักเกิดผลแน่นอน” และอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของ “จิตตปัญญาศึกษา” ด้วยเช่นกัน

One Comment

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมไม่รู้เหมือนกันแต่ว่าที่ผมได้อ่านและตามหาสิ่งที่เจอกับตัวเองและบอกคนอื่นก็ไม่เชื่อจึงอยากพิเรื่องนี้และจะพิสูจน์?

Back to Top