ความตายของเธอ ชีวิตของฉัน















เสาร์นี้อยู่เชียงใหม่ ช่วงบ่ายเข้าร่วมประชุมกลุ่มเชียงใหม่สำนึก หรือจิตวิวัฒน์เชียงใหม่ ประชุมเป็นครั้งที่ ๑๓ แล้ว

เติ๋นผญายังน่ารักเหมือนเดิม ศาลาร่มรื่น อยู่ท้ายวัดสวนดอก เขตอารามหลวง สถานที่เก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ของเมือง

การประชุมคราวนี้ได้รับความกรุณาจากคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร และอาจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินีมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “ความตาย ในทัศนะของคริสต์ และอิสลาม”

เนื้อหาพูดคุยวันนี้น่าประทับใจมาก คุณพ่อนิพจน์พูดได้ลึกซึ้ง ราวกับกลั่นออกมาจากเนื้อตัว ท่านอาจารย์สุชาติก็ช่างถ่อมตน แต่สิ่งที่กลุ่มได้เรียนรู้นั้นมีมากเหลือเกิน

คุณพ่อนิพจน์ได้กล่าวถึงทัศนะต่อความตายในศาสนาคริสต์ไว้ ๓ ประการ คือ

(หนึ่ง) เป็นสภาวะการเปลี่ยนผ่าน “เราจะไม่ไปไหน มีเพียงร่างกายที่เปลี่ยน” ความตายเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แล้ว และกำลังจะมาถึง ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามว่า “เราจะมีชีวิต โดยใช้ชีวิตอย่างไร”

(สอง) ความเป็นหนึ่งเดียวของชีวิตและความตาย การมีชีวิตจึงต้องเป็นไปเพื่อสร้างความหมาย เพื่อรับใช้สังคมและโลก

(สาม) โลกมิใช่กลไก หากประกอบด้วยชีวิตภายใน ประวัติศาสตร์มนุษย์ไม่ได้มีแต่เพียงประวัติศาสตร์ของเศรษฐกิจ การเมือง หากยังประกอบด้วยมิติทางศาสนธรรม จริยธรรม

ท่านยังได้เล่าถึงประสบการณ์ใกล้ชิดความตายของตนเอง เมื่อป่วยเป็นอัมพฤกษ์ซีกซ้ายเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว โดยชี้ให้เห็นภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของจิตในภาวะเจ็บป่วยใกล้ตายเป็นลำดับ และเน้นย้ำความสำคัญของการเตรียมตัว และความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

นอกจากนี้แล้ว ความตายในทัศนะคริสต์มิได้หมายถึง ความตายของปัจเจกเท่านั้น หากยังรวมถึง ความบีบคั้น เบียดเบียน ความอยุติธรรมในสังคม การทำลายสิ่งแวดล้อมและโลก เหล่านี้ เป็นบาปโครงสร้าง เป็นความตายเชิงคุณค่า ชาวคริสต์ย่อมต้องทำลายบาปเหล่านี้ ด้วยการใช้ชีวิตในการสร้างสังคมที่ดี

โลกทัศน์ของชาวคริสต์ก็คือการมองว่าสรรพสิ่งล้วนประกอบด้วยความมีชีวิต และชีวิตย่อมมีความศักดิ์สิทธิ์ โลกที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้เป็นโลกเดียวกับโลกียะ ความอยู่รอดของบุคคลย่อมเป็นสิ่งเดียวกับความอยู่รอดของโลกและจักรวาล

เมื่อเรียนถามถึงการพิจารณา “ตายก่อนตาย” ในวิถีคริสต์

คุณพ่อนิพจน์ยกแก้วน้ำขึ้นมาหนึ่งแก้ว “นี้อย่างไรล่ะ น้องสาวน้ำของเรา ความตายของเธอ ได้มอบชีวิตให้กับเรา”

เมื่อชี้ไปที่จานอาหาร “ขนมปังนี้ ข้าวนี้ ได้มอบขวัญให้กับเรา ความตายของข้าวนั้นเป็นไปเพื่อหล่อเลี้ยงเรา เตือนใจให้เราบริโภคด้วยความระมัดระวัง และดำรงชีวิตที่มีความหมาย”

โอ้... จับใจไหม?

Back to Top