คำถามที่ง่ายๆ

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 11 มกราคม 2551

“Because questions are intrinsically related to action, they spark and direct attention, perception, energy and effort…….Creativity requires asking genuine questions, those to which an answer is not already known.”

Marilee Goldberg



มักจะมีคนชอบถามเสมอๆ ว่า ในวงน้ำชาตอนเช้าหน้าบ้านอาจารย์ฌานเดชที่เชียงรายหรือกลุ่มจิตวิวัฒน์ของเชียงรายนั้น ที่ใช้ “สุนทรียสนทนา” เป็นกระบวนการหลักในการพูดคุยกัน “มีเรื่องอะไรคุยกันนักกันหนา?” นั่งคุยกันได้ทุกๆ วัน วันละหลายๆ ชั่วโมง แถมบางครั้งยังสามารถคุยกันได้วันละหลายๆ รอบอีกต่างหาก และถ้าเป็นวันที่การจัดเวิร์คชอปพวกเราก็มักจะอาศัยรถตู้เป็นสถานที่คุยกันในช่วงที่เดินทาง
บางทีตัวผมเองก็งงๆ เหมือนกันว่าพวกเราคุยอะไรกันนักกันหนา

หรือหลายคนก็อาจจะสงสัยไปถึงว่า “สุนทรียสนทนา” ที่พวกเราคุยกันนั้น “ต้องมีหัวข้อ” ในการพูดคุยกันหรือไม่อย่างไร

ผมก็เลยอยากจะลองตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการพูดคุยหรือการสนทนาไว้ประมาณนี้ว่า

การพูดคุยแบบที่หนึ่ง

เรื่องราวการพูดคุยโดยทั่วๆ ไปนั้นมีความสำคัญมาก การพูดคุยเพื่ออัพเดทเรื่องงานเวิร์คชอปที่แต่ละคนไปทำๆ กันมา หรือพูดคุยกันเรื่ององค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงานกระบวนทัศน์ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ความรู้เรื่องเกี่ยวกับ “วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่” เช่น คลื่นสมอง ปัญญาสามฐานกับสมองสามชั้น โหมดปกติ-โหมดปกป้องและอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเมื่อมาย้อนดูก็จะพบว่าองค์ความรู้ที่สำคัญมากต่างๆ เหล่านี้ได้ถูก “กลั่นกรอง” ออกมาจากการพูดคุยของพวกเราใน “วงสุนทรียสนทนา” แบบนี้ทั้งสิ้น
เป็น “องค์ความรู้” ที่ไม่รู้ว่าเป็นของใครแน่ เพราะแต่ละคนก็ได้ “คิดต่อ” จากความคิดของคนอื่นๆ ที่อยู่ในวงแล้วในที่สุดก็หลอมรวมออกมาเป็น “ชุดความรู้” ที่เป็นพลวัตสามารถเปลี่ยนแปลงปรับปรุงได้อย่างเนืองๆ

การพูดคุยแบบที่สอง

มักจะเป็น “การตั้งคำถามที่ง่ายๆ” ง่ายแบบไม่น่าเชื่อว่าการตั้งคำถามแบบนี้จะสามารถ “จุดประกาย” ให้เกิดการเรียนรู้มากมาย “คำถามง่ายๆ” ที่อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู ใช้ถามพวกเราเสมอๆ ก็คือ “ช่วงเวลาที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้อะไรบ้าง?” หรือ “เราได้เรียนรู้อะไรบ้างกับกิจกรรมเวิร์คชอปที่ผ่านมาแต่ละช่วง?” หรือ “เรารู้สึกกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาอย่างไร?” หรืออาจจะกว้างๆ ประมาณว่า “พวกเราเป็นอย่างไรกันบ้าง?”

ต้องขอทำความเข้าใจนะครับว่าในเวิร์คชอปแต่ละวันที่พวกเราจัดนั้น จะถูกแบ่งออกเป็นสามช่วงเวลาคือ ช่วงเช้า ช่วงบ่าย และช่วงค่ำ พวกเราที่จัดกระบวนการเรียนรู้จะต้องมีการพูดคุยกันทุกช่วง เป็นการประเมินงานที่ผ่านมาและเป็นการพูดคุยถึงแผนงานที่จะทำต่อไป

หลายๆ ท่านอาจจะยังนึกไม่ออกว่าเพียงแค่คำถามง่ายๆ แบบว่า “เราเรียนรู้อะไรบ้าง?” จะสามารถทำให้เกิดเรื่องราวการเรียนรู้ได้อย่างไร ก็คงจะต้องทดลองทำกันดู ประสบการณ์ตรงที่ผมพบนั้นเป็นเรื่องราวที่ดูไม่น่าเชื่อ บางทีผมก็งงๆ เหมือนกันว่า เอ๊ะ ไอ้คำถามนี้มันเหมือนจะซ้ำซากนะ แต่เจ้าคำถามนี้มันก็เป็นการ “ซ้ำแบบไม่ซ้ำ” เพราะจริงๆ แล้วเราก็มีประสบการณ์ใหม่ๆ ตลอดเวลา การที่ได้มานั่งใคร่ครวญแล้วลำเลียงเรื่องราวการเรียนรู้ที่เรามีประสบการณ์ใหม่ๆ กับชีวิตตลอดเวลาในการสนทนานั้น ทำให้เราเรียนรู้ ทำให้เราไม่เบื่อไม่เซ็งกับชีวิตที่หลายๆ คนจะนึกว่ามันซ้ำมันซาก

คำถามง่ายๆ ที่ดูเหมือนจะธรรมดาๆ ดูเหมือนจะซ้ำซาก ในบางครั้งกลับช่วยให้เราได้มองเห็น “ความรื่นรมย์” “ความแปลกใหม่” ตลอดเวลาของชีวิต

ในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับ “กระบวนการเรียนรู้” พวกเรามักจะนึกว่า “การได้คำตอบ” ต่อเรื่องราวหนึ่งจะเป็นจุดสำคัญที่สุดที่แสดงว่า “ฉันรู้แล้ว” หรือ “ผู้ที่จะต้องถูกสอน (อาจจะหมายถึงนักเรียนนักศึกษา) รู้แล้ว” บางทีเรามัวแต่ไปนึกถึงคำนึงถึงหรือแม้แต่คาดหวังกับ “ผลบั้นปลาย” มากเกินไปจนทำให้เราลืมนึกถึงองค์ประกอบที่สำคัญมาก ก่อนที่จะนำพาไปสู่ “ผลบั้นปลาย” แบบนั้นสองสามอย่าง ซึ่งนอกจากการที่จะต้องอาศัยเวลาในการบ่มเพาะกระบวนการเรียนรู้แล้ว

องค์ประกอบอย่างหนึ่งที่สำคัญของกระบวนการเรียนรู้จะอยู่ที่ “การตั้งคำถามที่เหมาะสม” ด้วย ที่เชียงราย อาจารย์วิศิษฐ์จะเรียกการตั้งคำถามที่เหมาะสมแบบนี้ว่า “การใส่ตัวกวน” “ตัวกวน” จึงหมายถึงคำพูดบางอย่างที่ก่อกวนความคิดหรือจิตใจให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ อยากรู้อยากค้นคว้าอยากติดตาม

เราต้องยอมรับว่าในขั้นตอนแรกของกระบวนการเรียนรู้นั้น เราอาจจะต้องรู้สึก “อึดอัดสับสน” แต่ความรู้สึกตรงนี้ไม่ใช่ความรู้สึกอึดอัดสับสนในทางด้านลบที่มาทำลายตัวเราให้ห่อเหี่ยวหมดเรี่ยวหมดแรงเลย แต่มันเป็นความรู้สึกอึดอัดสับสนที่เราจะต้องดิ้นรนเพื่อให้เราได้อะไรบางอย่าง เป็นความอึดอัดสับสนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเราที่จะอยากรู้อยากเห็นอยากค้นคว้าอยากแสวงหา

ผมอยากจะยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เรากำลังจะเริ่มขี่จักรยานเป็น เราจะมีความรู้สึก “สับสน” กับการขี่ตรงนั้น จะทรงตัวยังไงไม่ให้ล้ม จะวางเท้าตรงไหน หรือในช่วงที่เรากำลังจะว่ายน้ำเป็นก็เป็นในทำนองเดียวกัน เรามักจะอึดอัดสับสนอยู่ในช่วงแรกของการเรียนรู้ว่าจะตีเท้ายังไง จะลอยตัวยังไง จะหายใจยังไง แต่เป็นความอึดอัดสับสนที่ช่วยให้เราเพียรพยายามที่จะผ่านพ้นประสบการณ์ตรงนั้นไปให้ได้ ไม่ใช่เป็นความอึดอัดที่มาทำให้เราท้อแท้สิ้นหวัง ผมสังเกตว่าผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้กับพวกเราต่างก็ต้องผ่าน “สภาวะที่อึดอัด” คล้ายๆ แบบนี้กันทุกคนในวันแรกๆ ของกระบวนการตามที่ผมเคยเขียนเล่าไปแล้วในบทความที่ชื่อ “เพราะอะไรถึงต้องช้าลง”

“ตัวกวน” หรือ “คำถามที่เหมาะสม” บางอย่างจึงเป็น “ตัวกระตุ้น” ให้ “ก่อเกิด” กระบวนการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ เพราะได้ก่อกำเนิดขึ้นมาจากภายในของตัวผู้เรียนเอง

ผมพบว่าในกระบวนการเรียนรู้ เมื่อเรามีคำถามที่เหมาะสม เราก็มักจะได้คำตอบที่ดีตามมาเองอย่างคาดไม่ถึง และบางที “คำถามที่เหมาะสม” นั้นก็เป็นอะไรที่ธรรมดาๆ และแสนที่จะเรียบง่ายเหลือเกิน

“ที่ผ่านมาในวันนี้ คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง?”

Back to Top