ไม่มีคำว่าสายเกินไป

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 กันยายน 2549

กานดาวศรี มีอาชีพพยาบาล คราวหนึ่งป่วยหนักถึงกับเข้าสู่ภาวะโคม่าเนื่องจากครรภ์เป็นพิษ เธอเล่าว่าในขณะที่หมดสติอยู่นั้น เธอได้ยินเสียงผู้คนรอบตัว และรู้ว่าหมอและพยาบาลพูดอะไรกันบ้างขณะที่อยู่ข้างเตียงเธอ

ประสบการณ์เกือบ ๓๐ ปีในการเป็นพยาบาล ทำให้เธอรู้ว่ามีผู้ป่วยขั้นโคม่าหลายคนที่มีประสบการณ์คล้ายเธอ บางคนเล่าว่าได้ยินเสียงพระสวดมนต์จากเครื่องอัดเสียงที่ลูกเปิดไว้ข้างศีรษะขณะที่หมดสติ บางคนมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อคำพูดของญาติมิตร เช่น น้ำตาไหล หรือถึงกับพนมมือ

ตามความเข้าใจของคนทั่วไป ผู้ที่หมดสติหรือเข้าสู่ภาวะโคม่า ย่อมไม่สามารถรับรู้อะไรได้ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรกับเขา ก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้หรือมีทีท่าตอบสนอง แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ อย่างน้อยก็มิได้เป็นเช่นนั้นในทุกกรณี การที่เขาไม่สามารถตอบสนองออกมาได้ มิได้หมายความว่า เขาไม่สามารถรับรู้อะไรได้เลย เป็นแต่ร่างกายของเขาไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ได้อย่างคนทั่วไปเท่านั้น

มีผู้ป่วยบางคนที่เจ็บป่วยด้วยความผิดปกติทางสมอง และเข้าสู่ภาวะโคม่า มีสภาพไม่ต่างจาก “ผัก” และมีโอกาสที่จะฟื้นขึ้นมาได้น้อยมาก แต่ในที่สุดก็ฟื้นขึ้นมาได้ เขาเล่าว่าในช่วงที่หมดสติอยู่นั้น เคยถูกหมอทดสอบด้วยการบิดและบีบนิ้วเท้าของเขา เขารู้สึกเจ็บปวดมากจนร้องในใจว่า “หยุดได้แล้ว ๆ” แต่เขาก็ไม่สามารถพูดหรือแสดงอาการเจ็บปวดออกมาได้ ผลคือหมอยังคงบิดและบีบต่อไปจนเลิกไปเอง โดยเข้าใจว่าเขาหมดความรู้สึกเสียแล้ว

มิเพียงแต่ได้ยินหรือรู้สึกทางกายเท่านั้น ผู้ป่วยในภาวะโคม่ายังสามารถ “เห็น” ได้ด้วย คริสเติล เป็นเด็กชาวอเมริกันอายุ ๗ ขวบ มีคนพบเธอหลังจากจมอยู่ใต้สระน้ำเป็นเวลา ๒๐ นาที อาการของเธอเพียบหนัก นอกจากจะอยู่ในภาวะโคม่าแล้ว การตรวจด้วยเครื่องซีทีสแกนพบว่าสมองของเธอบวมมาก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ อีกทั้งเลือดของเธอก็มีความเป็นกรดสูงมาก บ่งชี้ว่าเธอใกล้จะเสียชีวิตแล้ว หมอยอมรับว่ามาถึงจุดนี้แล้วก็ทำอะไรแทบไม่ได้แล้ว

แต่แล้วเธอก็ฟื้นขึ้นมาหลังจากโคม่าได้ ๓ วัน ทันทีที่เห็นหมอเข้ามาในห้อง เธอก็ทักหมอผู้นั้นทันที เพราะเธอ “เห็น” หมอคนนี้ในขณะที่ยังหมดสติอยู่ เธอยังพูดถึงลักษณะของหมออีกคนที่รักษาเธอได้อย่างถูกต้อง แม้ว่ายังไม่ได้พบกันเลยก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นเธอยังพรรณนาลักษณะของห้องฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งอุปกรณ์และผู้คนที่อยู่ในห้องนั้น

เมื่อปี ๒๕๔๔ วารสารทางการแพทย์ของอังกฤษฉบับหนึ่งกล่าวถึงผู้ป่วยรายหนึ่ง ซึ่งหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลอย่างรีบด่วน หมอทำการช่วยเหลือด้วยการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจ แต่ก่อนที่จะใส่ท่อช่วยหายใจพยาบาลได้ถอดฟันปลอมของเขาออก ในที่สุดหัวใจเขาก็เต้นเป็นปกติ หนึ่งสัปดาห์ต่อมา เมื่อผู้ป่วยรายนี้เห็นหน้าพยาบาลคนที่ถอดฟันปลอมให้ เขาก็จำเธอได้ทันที และถามว่า “คุณเป็นคนถอดฟันปลอมให้ผมใช่ไหมครับ” ใช่แต่เท่านั้น เขายังเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้นได้อย่างถูกต้อง

ทั้งสองกรณีข้างต้น ผู้ป่วยล้วนหมดสติไร้สัมปฤดี สมองอยู่ในสภาพไม่ปกติเพราะขาดอากาศ แต่เขา “เห็น” ผู้คนและสถานที่รอบตัวได้อย่างไร เขาไม่ได้เห็นด้วยตาอย่างแน่นอน อีกทั้งไม่ได้รับรู้ด้วยระบบประสาทหรือสมองอย่างในภาวะปกติด้วย ทั้งสองกรณีเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากเขาจะเห็นด้วย “ใจ”

ทั้งสองกรณีมิใช่กรณีพิเศษหรือยกเว้น มีรายงานการวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่าผู้ป่วยในภาวะโคม่ายังสามารถรับรู้ได้ เช่น รายงานของนายแพทย์พิมฟอน ลอมเมล ซึ่งได้สัมภาษณ์ผู้ป่วย ๓๔๓ รายที่รอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้น ข้อสรุปที่ออกมาก็คือ ผู้ป่วยร้อยละ ๑๘ จดจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นขณะไร้ความรู้สึกตัวได้อย่างแม่นยำ รายงานอีกชิ้นหนึ่งของนักวิจัยชาวอังกฤษพบว่าผู้ป่วยร้อยละ ๑๑ สามารถจดจำเหตุการณ์ขณะหมดสติได้

ตัวอย่างที่กล่าวมาบ่งชี้ว่าการรับรู้โลกภายนอกนั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่สมองเท่านั้น เราสามารถได้ยิน รู้สึก หรือเห็นได้แม้ในภาวะที่สมองไม่อาจทำงานอย่างปกติได้ หากการรับรู้รวมทั้งความจำได้หมายรู้เป็นเรื่องของจิต นั่นก็หมายความว่าจิตไม่ได้ผูกติดกับสมอง หากเป็นอีกส่วนหนึ่งที่แยกต่างหากจากสมอง แต่ทำงานเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จิตอาจรับรู้หรือมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกโดยผ่านสมอง แต่ก็มิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ในภาวะที่สมองหยุดทำงานหรือมิอาจทำงานได้อย่างปกติ จิตก็ยังสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ แต่อาจไม่ชัดเจนเท่าในยามปกติ อีกทั้งไม่อาจบัญชาให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกได้ แม้จิตปรารถนาจะทำเช่นนั้นก็ตาม กระนั้นก็ตามมีบางกรณีที่ผู้ป่วยสามารถแสดงปฏิกิริยาตอบสนองได้ หากจิตถูกกระตุ้นเร้าเพียงพอดังกรณีที่จะกล่าวต่อไป

จิตกับสมองสัมพันธ์กันอย่างไร จิตเกิดจากสมอง หรือเป็นอีกส่วนที่แยกจากสมอง เหล่านี้เป็นประเด็นที่ยังคงโต้เถียงกันอีกนาน แต่นั่นก็ไม่สำคัญสำหรับคนทั่วไปเท่ากับความจริงที่ว่า ผู้ที่หมดสติหรืออยู่ในภาวะโคม่านั้น ยังมีความสามารถที่จะรับรู้ได้ ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก เพราะนั่นหมายความว่า ผู้ที่อยู่รอบตัวผู้ป่วยยังสามารถมีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้ป่วยได้ คำพูดหรือการกระทำของหมอ พยาบาล และญาติผู้ป่วย อาจส่งผลในทางบวกหรือลบต่อผู้ป่วยก็ได้ ดังนั้นหากปรารถนาดีต่อผู้ป่วย จึงควรปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่หมดสติประหนึ่งคนปกติ แม้เขาจะอยู่ในภาวะอย่าง “ผัก” ก็ตาม

มีหลายกรณีที่คำพูดของญาติมิตรสามารถส่งผลในทางบวกต่อผู้ป่วยที่หมดสติ จนเขาสามารถแสดงอาการรับรู้ออกมาได้ หรือถึงกับรู้สึกตัวขึ้นมาได้ มีเรื่องเล่าว่า ติช นัท ฮันห์ พระเซนชาวเวียดนาม เคยไปเยี่ยม อัลเฟรด แฮสเลอร์ มิตรชาวอเมริกันที่อยู่ในภาวะโคม่าและใกล้จะหมดลม ท่านนัทฮันห์ได้นั่งข้างเตียงอัลเฟรด และพูดถึงประสบการณ์อันน่าประทับใจที่ทั้งสองได้ผ่านมาร่วมกันเมื่อครั้งเรียกร้องสันติภาพในเวียดนาม ท่านพูดอยู่ประมาณ ๔๐ นาที เมื่อพูดจบ อัลเฟรดทั้ง ๆ ที่ยังโคม่าอยู่ ก็พูดขึ้นมาว่า “วิเศษ ๆ” หลังจากนั้นไม่นานเขาก็จากไปอย่างสงบ

สารคดีของบีบีซีเรื่อง “Human Body” ที่เผยแพร่ไม่นานมานี้พูดถึง ไวโอล่า หญิงวัย ๕๘ ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง จนถึงกับหมดสติ หมอไม่สามารถช่วยให้ฟื้นขึ้นมาได้ จนในที่สุดลูกชายก็พูดกับแม่ว่า “แม่ต้องฟื้นนะ เพราะพ่อกำลังจะพาผู้หญิงอีกคนไปเที่ยว” พอพูดจบ ไวโอล่าก็เปิดตาและรู้สึกตัวขึ้นมาทันที เธอเล่าว่าเธอยอมไม่ได้ที่สามีจะควงผู้หญิงอื่นไปเที่ยว

อีกกรณีหนึ่งซึ่ง “วีรกร ตรีเศศ” นักเขียนประจำมติชนสุดสัปดาห์ ได้อ้าง ดร.สมศักดิ์ ชูโต อีกทีว่า หญิงฝรั่งผู้หนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองไทยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนหมดสติ อาการหนักมาก ถูกนำส่งโรงพยาบาล แต่ไม่มีใครคิดว่าจะรอด ขณะที่หมอและบุรุษพยาบาลกำลังช่วยชีวิตเธออยู่นั้น มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “อีนี่ไม่น่าตายเลย นมมันสวย” ปรากฏว่าเธอได้ยินและมีกำลังใจฮึดสู้ขึ้นมาว่า ฉันต้องไม่ตาย ในที่สุดก็กลับฟื้นขึ้นมาได้

ผู้ป่วยขั้นโคม่าที่ฟื้นขึ้นมาก็มี แต่ที่ไม่ฟื้นเลยก็มาก เพราะสังขารไม่อำนวยแล้ว แต่ไม่ว่าผลในท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในขณะที่เขายังหมดสติอยู่นั้น อย่าลืมว่าเขายังสามารถรับรู้อะไรได้ ดังนั้นญาติมิตรจึงยังสามารถช่วยเขาได้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านจิตใจ เช่น ช่วยให้เขาคลายความวิตกกังวลหรือความหวาดกลัว ด้วยการพูดให้เขาเบาใจ รำลึกถึงบุญกุศลหรือความดีที่เขาเคยบำเพ็ญ หรือน้อมใจให้รำลึกถึงพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ และคลายความกังวลเกี่ยวกับลูกหลานหรือคนรัก การพูดถึงประสบการณ์ในอดีตที่เขาประทับใจหรือภูมิใจ ก็ช่วยเขาได้เช่นกัน

ในอีกด้านหนึ่งก็ควรระมัดระวังคำพูดหรือการกระทำที่จะทำให้เขาเป็นทุกข์ เช่น ทะเลาะวิวาทกัน หรือร่ำไห้คร่ำครวญข้างเตียง หรือพูดถึงความเจ็บป่วยของเขาในทางที่ไม่สร้างสรรค์

ตราบใดที่ผู้ป่วยยังมีลมหายใจอยู่ ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่เราจะทำสิ่งดี ๆ ให้เขา ไม่ว่าการช่วยเขาทำบุญถวายสังฆทาน ขออโหสิกรรมจากเขา หรือเอ่ยปากให้อภัยเขา (หากคิดว่าความรู้สึกผิดยังค้างคาใจเขาอยู่) หรือแม้แต่การบอกความในใจบางอย่างให้เขารับรู้

หญิงชราผู้หนึ่งนั่งเศร้าซึมข้างเตียงสามีซึ่งอยู่ใกล้ตายและอยู่ในภาวะโคม่า เธอเสียใจที่ไม่เคยบอกสามีว่าเธอรักเขาเพียงใด มาได้คิดก็สายเสียแล้วเพราะเขาหมดสติไม่ตอบสนองใด ๆ แต่พยาบาลแนะให้เธอพูดทุกอย่างที่อยากพูดเพราะเขายังอาจได้ยินคำพูดของเธอได้ เธอจึงขออยู่กับเขาอย่างเงียบ ๆ แล้วบอกเขาว่า เธอรักเขาอย่างสุดซึ้ง และมีความสุขที่ได้อยู่กับเขา หลังจากนั้นเธอก็กล่าวคำอำลาว่า “ยากมากเลยที่ฉันจะอยู่โดยไม่มีเธอ แต่ฉันไม่อยากเห็นเธอทุกข์ทรมานอีกต่อไป ฉะนั้นหากเธอจะจากไป ก็ขอให้จากไปเถิด” พูดจบ สามีของเธอก็หายใจเฮือกยาวออกมาและสิ้นชีวิตอย่างสงบ

สำหรับผู้ป่วยที่หมดสติ ความดีงามที่สื่อตรงจากใจถึงใจนั้นมีอานุภาพเหลือประมาณ สามารถเยียวยาความทุกข์และเป็นกำลังใจให้เขาก้าวสู่ความตายได้อย่างสงบ ชนิดที่เงินจำนวนมหาศาลและเทคโนโลยีอันล้ำเลิศมิอาจทำได้

Back to Top