เดินเท้าจาริก พินิจใจตน ๑













หลังจากที่ได้เชิญอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์เข้าร่วมประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการประชุมที่น่าประทับใจมากหนหนึ่ง ดังที่มีบันทึกการประชุมดีๆ เผยแพร่ออกไป รวมทั้งซีดีเอ็มพี ๓ เรื่อง "การเดินทางสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้" แจกจ่ายออกไปบางส่วน

เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ ผู้ประสานงานฝ่ายสื่อสารสาธารณะได้สัมภาษณ์อาจารย์ ประมวล เพ็งจันทร์ เพิ่มเติม เพื่อที่จะได้ช่วยขยายเนื้อหาสาระแห่งการเดินทางเพื่อค้นหาความหมายแห่งความเป็นมนุษย์ที่แท้ให้เห็นแจ่มชัดขึ้น


เทวาลัยแห่งการเรียนรู้ระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยไมซอร์ (Mysore University) แดนภารตะ ไม่ได้ทำให้เขาค้นพบคำตอบที่แท้ของชีวิต

เมื่อวันคล้ายวันเกิดปีที่ 50 ของเขา ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม 2547 ประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ตัดสินใจลาออกจากข้าราชการ ปลดเปลื้องสถานะทางสังคมเพื่อออกจาริก เขาเดินทางด้วยการเดินเท้า จากเชียงใหม่ถึงเกาะสมุย บ้านเกิดของเขาที่สุราษฎร์ธานี โดยใช้วันเวลาไปทั้งสิ้น 66 วัน

การเดินเท้านับกว่าพันกิโลเมตร เพียงเพื่อค้นหาความหมายของชีวิต แสวงหาคุณค่าของ “ความเป็นมนุษย์” ที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ย่อมไม่ธรรมดา

ยิ่งเขาตั้งเงื่อนไขให้แก่ตนเองว่า จะไม่ขอใครทาน จะไม่พกหรือใช้เงินสักแดงเดียว หากแต่จะขอรับน้ำและอาหารเฉพาะผู้ที่หยิบยื่นให้เท่านั้น การเดินเท้าทางไกลทำนองนี้ ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยในทัศนะของใครหลายคน

ทว่าสำหรับเขา ไม่ใช่เพียงค้นพบคำตอบดังที่ใจปรารถนาระหว่างทาง รวมทั้งพบความสุขทุกขณะก้าวเท่านั้น แต่วันนี้ เขายังยินดีเผื่อแผ่เรื่องราวการเดินเท้าทางไกลไว้ให้แก่เพื่อนมนุษย์ผู้ประสบปมปัญหาเช่นเดียวกับเขา เก็บรับเป็นแรงใจไว้พร้อมเผชิญหน้ากับฉากชีวิตในชาตินี้ต่อไปอีกด้วย


ทำไมถึงเลือก “การเดินเท้า” เพื่อแสวงหาความรู้

ที่จริงมีองค์ประกอบหลายอย่าง เริ่มต้นที่สุดคงเป็นพื้นฐานการศึกษาของผมที่ศึกษามาทางปรัชญาและศาสนา ที่นี้ ทางปรัชญาและศาสนามีอะไรให้อ่านเยอะมาก ซึ่งผมก็พยายามอ่าน แล้วก็พบว่าหนังสือแต่ละเล่มมีประเด็นเป็นคำตอบ แต่จริงๆ ผมกลับพบว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เราคิดว่าเป็นคำตอบสำหรับเรา มันเป็นแต่เพียงคำตอบที่มีผู้อื่นตอบไว้

ทีนี้ มันมาสัมพันธ์กับผมเพราะผมสนใจมิติทางสังคม ผมคิดว่าปัญหาสังคมที่เราคิดเอานั้น ดูเหมือนว่าเรารู้ แต่ที่จริง กลับไม่ใช่ความรู้ที่ใจเราเข้าไปสัมผัสได้จริง

ผมมีความรู้ทางทฤษฎีมาพอสมควรแล้ว จากการได้เรียนหนังสือจนจบปริญญาเอก จากการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย และจากการพูดคุยกับใครหลายคน ผมคิดว่า ถ้ามีคำตอบ การเรียน การทำงานมาขนาดนี้ ผมน่าจะมีคำตอบได้แล้ว แต่ปรากฏว่าไม่ใช่

ผมยังมีข้อสงสัยใน “ความเป็นมนุษย์” ที่ยังมีความรู้สึกหวงแหนสิ่งที่เรามีอยู่ รู้สึกหวาดกลัวสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา หรือในฐานะพุทธศาสนิกชนที่รู้ว่า ความรัก ความเมตตาเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งควรจะอยู่ในตัวผม แต่ทำไม ผมถึงทำได้ยาก หรือทำไม่ได้ด้วยซ้ำไป

ในบางขณะ บางโอกาส เวลาที่ผมต้องเผชิญกับการโต้เถียงกับคนที่มีข้อโต้แย้งที่แตกต่างกันอย่างมากมาย จนบางครั้ง ผมถึงกับรู้สึกเกลียดเขาด้วยซ้ำไป ในความรู้สึกแบบนี้ มันมาถึงจุดๆ หนึ่งที่ทำให้ผมต้องหาวิธีอื่นมากกว่าการอ่านหนังสือแล้วคิดเอา

ผมอยากใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาอะไรบางอย่างที่หาไม่ได้จากการนั่งครุ่นคิดหรืออ่านหนังสือ แล้วเมื่อผมคิดว่าผมน่าจะทำเช่นนี้ได้ (คือการเดิน) กอปรกับครอบครัวของผม ผมมีภรรยาที่รักผมมาก มากพอที่จะเป็นพลังให้ผมทำในสิ่งที่รักได้ และผมก็ไม่มีบุตร ไม่มีพันธะที่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก ผมน่าจะทำได้

ถ้าเช่นนั้น วันหนึ่ง เมื่อผมคิดกับภรรยาว่าเราน่าจะทำได้เอง โดยไม่ควรโยนภาระนี้ไปให้แก่คนอื่น และที่เราทำนี้ ก็คงไม่ใช่เพียงเพื่อหาคำตอบให้แก่ตัวเองเท่านั้น แต่น่าจะหมายถึงการหาคำตอบให้แก่คนที่ใกล้ชิด และที่รู้จักเรากันในวงกว้างออกไปด้วย สาทิสกุมารแห่งศาสนาเชน สานุศิษย์ของมหาวีระยังทำได้ ทำไมสานุศิษย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างผมจะทำไม่ได้ นี่คือประเด็นที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเราทำได้ และเป็นสิ่งยืนยันที่ชี้ว่า สิ่งที่ผมคิดนั้น จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่วิจิตรพิสดารอะไร


ก่อนหน้าจะออกเดิน อาจารย์ได้ปฏิบัติธรรมในรูปแบบไหนบ้าง

พูดถึงเรื่องรูปแบบการปฏิบัติธรรม ผมผ่านการปฏิบัติธรรมเชิงรูปแบบมาตั้งแต่สมัยตอนที่เป็นนักบวชแล้ว ผมเคยเดินจาริกธุดงค์สมัยที่ยังเป็นพระภิกษุ ขณะที่อยู่อินเดีย ผมก็บำเพ็ญตนคล้ายๆ กับนักบวช คือหมายความว่า ถ้าผมจะไปที่ไหน หากเป็นไปได้ ผมจะใช้วิธีเดินไป ตามคติของชาวอินเดีย หรือแม้กระทั่ง ตอนที่ผมจะเดินจริงๆ

เนื่องจากผมงดเว้นการเดินเป็นเวลานาน ผมกับภรรยาจึงปรึกษากันว่า ผมต้องทดสอบก่อน นับจากวันที่ 23 ตุลาคม จนถึง 14 พฤศจิกายน (ปี 2547) นั่นก็เกือบหนึ่งเดือนเต็มๆ ที่ผมเดินทุกวัน ซ้อมเดินตั้งแต่เช้ามืดจนมาถึงตอนค่ำ เช่น เดินขึ้นไปถึงพระธาตุดอยสุเทพแล้วเดินกลับลงมา

พอมาถึงที่ราบ ผมเดินไม่ได้เลย จะข้ามถนนก็ข้ามไม่ได้ เป็นทางวันเวย์ซึ่งต้องวิ่งข้าม จะรอให้รถหยุดแล้วค่อยข้ามก็ไม่ได้เพราะรถไม่หยุด จนผมต้องจ้างรถพาผมข้ามถนนมาส่งถึงบ้าน ภรรยาของผมที่รออยู่ที่บ้านต้องออกมาอุ้มผมเข้าบ้าน นี่คือการฝึกเดินวันแรกที่บอกให้ผมรู้ว่า การเดินเท้าทางไกลทำได้ แต่ไม่ง่ายนัก

แล้วผมก็เดินทุกวันจนกระทั่งวันหนึ่ง ผมสามารถเดินได้ถึง 30 – 40 กม. ไม่มีปัญหาเลย ผมฝึกสมาธิให้สามารถต้านทานเวลาที่จิตของเราโดนอะไรในทางโลกย์มากระทบ ในที่นี้หมายถึงอารมณ์ที่เราทั้งปรารถนาและไม่ปรารถนา ยามที่มันมารบกวนเรา เราจะต้องทำจิตของเราให้นิ่ง และเพียรระวังที่จะมีอารมณ์ “อกุศล” คือความโลภ ความโกรธ ความหลง และอีกเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมในเมื่อผมรู้ทั้งรู้ว่าความโกรธเป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งที่เราต้องกำจัดให้หมดไป

ถึงผมท่องจำทฤษฎีได้เยอะแยะ จำวิธีการกำจัดความโกรธ แต่ผมก็กำจัดไม่ได้ มันเข้ามารบกวนจิตของผม ทำให้ผมเสียสมาธิ นี่คือสิ่งหนึ่งที่ผมไม่สามารถควบคุมความโกรธได้ด้วยวิธี “คิด” เอาเอง ผมจำต้องบำเพ็ญเพียรภาวนา ทำจิตของผมให้มีเมตตาธรรมอย่างจริงจังในความรู้สึก ไม่ใช่เป็นความเมตตาจาก “ความคิด”

การปฏิบัติธรรมที่ผ่านมา จึงเป็นการปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขที่ถูกจัดวางไว้แล้ว ปฏิบัติได้อย่างสบาย เช่น อยู่ในที่ๆ เงียบสงบ ไม่มีใครมารบกวน ซึ่งอย่างนั้น ผมคิดว่าทำไม่ยาก แต่ผมต้องการทำสมาธิภาวนาในขณะที่เราก้าวย่างไปสู่ชุมชน ซึ่งบางครั้ง ก็มีคนรังเกียจเดียดฉันท์เรา บางครั้งคนก็กลัวเรา บางครั้งคนเขาก็ไล่เรา ซึ่งผมอยากจะรู้ว่าในสถานการณ์เช่นนั้น จิตของผมจะเป็นอย่างไร เพราะเมื่อวันหนึ่ง ผมไม่ได้เป็นอาจารย์ เมื่อวันหนึ่ง ผมไม่ใช่ใครสักคนที่มีใครรู้จัก ไม่ใช่พระ แต่เป็นคนแปลกหน้า ผมอยากเรียนรู้ว่า ถ้าวันหนึ่งที่ผมตกอยู่ในสายตาของคนอื่นว่าเป็นคนบ้า คนน่ากลัว ผมจะทำจิตของผมอย่างไร นี่คือการทำสมาธิภาวนาในมิติทางสังคมอย่างที่ผมต้องการทำจริงๆ


2 Comments

pooklook88 กล่าวว่า...

อยากได้ซีดีค่ะ ทำไงคะ

pooklook88 กล่าวว่า...

อยากได้ซีดีค่ะ ทำไงคะ

Back to Top