มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2549
ช่วงนี้การเมืองดูสับสนอลหม่าน สับสนเสียจนข้าพเจ้านึกถึงทฤษฎีโกลาหล Chaos Theory ที่อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิรพันธ์เคยนำเสนอต่อสังคมไทยในเชิงอุปมาทางวัฒนธรรม ข้าพเจ้าคิดว่าหากนำโจทย์ที่อาจารย์ชัยวัฒน์เคยทิ้งไว้เกี่ยวกับทางแพร่งของสังคมไทยมาขบคิดต่อ เราก็อาจจะมีทางเลือกอื่นเพิ่มเติมได้ในวาระเช่นนี้
หลายคนแย้งว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่น่าจะมาปรับใช้กับทฤษฎีทางสังคมและวัฒนธรรมได้ แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเรื่องโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ กลศาสตร์แบบนิวตัน ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน ก็ได้แปรสภาพมาเป็นโลกทัศน์แบบกลไก และการแข่งขันเพื่อความอยู่รอด ซึ่งมีอิทธิพลครอบงำความคิดในสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง มาได้ยาวนาน แล้วทฤษฎีโกลาหลซึ่งเป็นศาสตร์ใหม่มีอายุเพียง ๓๐ ปี น่าจะทำให้เรามองโลกเปลี่ยนไปอย่างไรได้บ้าง?
ทฤษฎีโกลาหลบอกเราว่า ชีวิตนั้นแท้จริงแล้วก็คือความโกลาหล ไม่อาจควบคุมได้ แต่หากเรายอมรับและชื่นชมกับความจริงนี้ได้ ก็ย่อมค้นพบโอกาสและหนทางใหม่ เพื่อเข้าถึงสัจจะความจริงในระดับที่ละเอียดประณีตขึ้นไป
เมื่อครั้งที่แวร์เนอร์ ไฮเซนแบร์ก นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน กำลังยืนอยู่ตรงขอบของพรมแดนความรู้ฟิสิกส์ทฤษฎีในยุคนั้น เขายอมรับว่าตนเองตกอยู่ในภาวะสับสน ไม่แน่นอน มีคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบ และประกอบด้วยความลังเลสงสัยอยู่มาก แต่เมื่อเขาทอดทิ้งความกังวล ทดลองก้าวออกจากเขตแดนเดิม เขาก็ได้พบกับคำตอบแบบใหม่ นั่นคือ กลศาสตร์ควอนตัม ซึ่งเปิดโฉมหน้าฟิสิกส์กระบวนทัศน์ใหม่ขึ้นมาคู่ขนานกับทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์
ความคิดใหม่ ทัศนะใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากยอมตนเข้าไปสู่ในภาวะความสับสน และเมื่อเขากล้าที่จะเสี่ยง ยอมที่จะผิดพลาด เขาก็ได้รับโอกาสในการเข้าถึงมุมมองใหม่ และต่อยอดความรู้ออกไปได้อีก
และเมื่อผู้หญิงผิวดำตัวเล็กๆ อย่างโรซา พาร์ก ได้ปฏิเสธการลุกจากที่นั่งให้กับคนผิวขาว ก่อนจะถูกจับดำเนินคดี และนำไปสู่ขบวนการเรียกร้องสิทธิของคนผิวสีในอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๕ การเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากคนเพียงคนเดียวแต่ก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่ยิ่งนี้สอดคล้องกับแนวคิดตามทฤษฎีผีเสื้อกระหยับปีก ซึ่งทำให้เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด ซึ่งเดิมคิดว่า ต้องมีอำนาจจึงจะควบคุมเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาได้ ในสภาวะยุ่งเหยิงวุ่นวายได้เปิดโอกาสให้เราได้เปลี่ยนแปลงตนเอง แม้เป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่ย่อมนำไปสู่ความตระหนักรู้ร่วมกันของผู้คนจำนวนมหาศาล
ในป่าเขตร้อน ขอนไม้ผุเริ่มเป็นที่อยู่ของเห็ดรา ซึ่งเรียกเอาพวกมดหรือนกเข้ามาหาอาหารและทำรัง ในสังคมที่ดูวุ่นวายไร้ระเบียบนี้ ปรากฏระบบการจัดการตัวเองอย่างชัดเจน เห็ดรารู้ว่าจะหาขอนผุได้ที่ไหน มดทุกตัวรู้ว่าตัวเองจะทำทำหน้าที่อะไรโดยไม่มีใครสั่ง
เรามักจะคิดว่าองค์กรต้องมีผู้นำ ต้องมีการแข่งขัน และครอบครองอำนาจ แต่ธรรมชาติเป็นเรื่องของการเกื้อกูลอิงอาศัยกัน หาใช่เป็นการแข่งขันดังที่นักทุนนิยมและผู้นิยมดาร์วินมักอ้างถึง เมื่อผู้คนแปลกแยกจากกัน การเริ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอาจจะเต็มไปด้วยความอึดอัดคับข้อง แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป พลังภายในตัวปัจเจกแต่ละคนจะไหลเลื่อนเชื่อมโยงกันได้ กลายเป็นพลังกลุ่ม ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาคได้ ดังที่เคยปรากฎอยู่ในวงสุนทรียสนทนาบ่อยครั้ง
ฟริตจอฟ คาปรา นักคิดร่วมสมัยเคยกล่าวไว้ว่า “มนุษย์เรากำลังประสบภาวะวิกฤติในการรับรู้” ดังที่ลงทุนมหาศาล เพื่อส่งนักบินอวกาศขึ้นไปนอกโลก และเมื่อมองลงมา จึงได้เข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้สึกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง” – โลกทัศน์เดิมที่แต่ละคนก็รู้ดีอยู่แก่ใจ
ความรู้และเทคโนโลยีในยุคแห่งการรู้แจ้งได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์แบบองค์รวมไปสู่แบบกลไก มนุษย์มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีอายุยืน แต่ชีวิตได้กลายเป็นกลไกที่แยกส่วนจากกันไปเสียแล้ว วิกฤติทางสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นจากกระบวนทัศน์แบบแยกส่วนนี้
เราถูกสอนว่า ปัญหาสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ไม่เกี่ยวกับตัวเรา เราจึงไม่อาจตอบได้ว่า ผู้นำที่ฉ้อฉลเผด็จการ เชิดชูเงินตราให้อยู่เหนือคุณค่าความเป็นมนุษย์และจิตวิญญาณ มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเราและสังคมอย่างไร
ความรู้จากทฤษฎีโกลาหลกำลังจะนำเราเข้าสู่กระบวนทัศน์แบบใหม่ เราต้องหวนคืนไปสู่องค์รวม เมื่อมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสรรพสิ่ง
เราอาจเข้าใจได้ว่า การที่กดราคาข้าวไว้ต่ำย่อมทำให้การปลูกฝิ่นน่าพิศมัยกว่า การปล่อยให้มีการซีดีเถื่อนขายเกลื่อนเมืองย่อมทำให้เด็กและเยาวชนหาซี้อวีซีดีโป๊มาดูได้ในราคายี่สิบบาท
หรืออีกนัยหนึ่ง แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่ปัญหา การตั้งคำถามว่าการใช้ยาเสพติดข้องเกี่ยวกับเราในฐานะสังคมอย่างไร? การดูภาพยนต์อุจาดลามกเกิดขึ้นได้ในสังคมแบบไหน? ด้วยคำถามเหล่านี้ เราอาจจะพบหนทางแก้ไขปัญหาแบบใหม่ได้
ที่สำคัญ ทฤษฎีโกลาหลย้ำว่า ในโลกที่สรรพสิ่งเชื่อมโยงถึงกันทั้งนั้น การเปลี่ยนแปลงตัวเองแม้จะดูเล็กน้อย ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกและจักรวาลทั้งหมด
แสดงความคิดเห็น