ความเงียบ

โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนได้ไปศึกษาที่ประเทศเยอรมนีนั้น สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจประเทศนี้มากที่สุดคือ ความเงียบ ไม่ใช่เงียบเหงา หรือเงียบวังเวง แต่เป็นความเงียบสงบ ปราศจากเสียงรบกวนใดๆ ผู้เขียนได้สัมผัสกับความสงัดอันแสนวิเศษครั้งแรก เมื่อนั่งอยู่ในวัดไทยแห่งหนึ่งในเมืองเบอร์ลิน เป็นความเงียบที่เงียบเสียจนกระทั่งผู้เขียนได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจตนเอง เป็นสิ่งที่อัศจรรย์จริงๆ เมื่อนึกถึงครั้งใดก็รู้สึกประทับใจทุกครั้ง อยากให้บ้านเรามีบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมเช่นนั้นอยู่ทั่วไปบ้าง สถานที่ร่มรื่นที่ปราศจากเสียงเครื่องปรับอากาศ ปราศจากเสียงลม เสียงสัตว์เล็กๆ ผู้เขียนพยายามนึกว่าที่ใดในประเทศเราที่จะพบเจอกับความเงียบสงบเช่นนั้นได้จริงๆ แต่ยังนึกไม่ออก หากผู้อ่านท่านใดสามารถแนะนำสถานที่ดังกล่าวได้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก

ผู้เขียนเชื่อว่า ความเงียบจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาเรียนรู้เรื่องของจิตใจในเบื้องต้น เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้และสัมผัสคุณค่าด้านในของตนได้อย่างรวดเร็ว ในสภาวะที่เงียบ ปราศจากเสียงต่างๆ ภายนอกนั้น เราย่อมจะได้ยินเสียงอื่นๆ ภายในได้ชัดเจนขึ้น เช่น ความคิด ความรู้สึกของตน เพราะเราย่อมไม่สามารถพูดเต็มปากเต็มคำว่ารู้จักตัวตนที่แท้จริงของเรา หากไม่เคยกระทั่งได้ยินความรู้สึกนึกคิดภายในของตนเอง

คนเรามักจะได้ยินเสียงภายนอกตัวตลอดเวลา และรู้สึกยินดียินร้ายไปกับเสียงนอกตัวเหล่านั้น โดยไม่ทันตั้งตัว และไม่เท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตนได้ จนกระทั่งผันออกมาเป็นคำพูดหรือการกระทำอันปราศจากสติยับยั้ง เป็นบ่อเกิดของปัญหามากมายดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

เมืองเบอร์ลินแม้จะเป็นเมืองหลวงของประเทศเยอรมนี และขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่วุ่นวายที่สุด แต่ก็มีมุมสงบร่มเย็นมากมาย คนเยอรมันมักจะชักชวนมิตรสหายไปนั่งดื่มกาแฟตามร้านเล็กๆ ข้างถนน ซึ่งปราศจากเสียงเพลงดังๆ หรือเสียงโทรศัพท์มือถือ คนเยอรมันเคร่งครัดมากที่จะไม่รับโทรศัพท์มือถือยามรับประทานอาหาร หรือในห้องประชุม เพื่อนฝูงมักจะไปนั่งสนทนากันในบรรยากาศสงบร่มรื่นในวันหยุดอย่างไม่เร่งรีบ วันหยุดจะเป็นวันหยุดจริงๆ ส่วนวันทำงานก็จะถือว่าเป็นวันทำงานจริงๆ เช่นกัน ตามร้านอาหารต่างๆ จะไม่ใช้เสียงดัง เพราะถือว่าผิดธรรมเนียมอย่างยิ่ง

ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อไปถึงประเทศเยอรมนีในตอนแรกนั้น ผู้เขียนจะได้ยินเสียงวี๊ดเบาๆ ก้องอยู่ในหูตลอดเวลา จึงไปขอคำปรึกษาจากหมอ หมออธิบายให้ฟังว่า ผู้เขียนไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไร เพียงแต่เปลี่ยนที่อยู่จากที่ที่มีเสียงดัง มาเป็นที่ที่เงียบ จึงทำให้ได้ยินเสียงเช่นนี้อยู่พักหนึ่ง แล้วจะหายไปเอง หลังจากนั้นไม่กี่เดือน เสียงวี๊ดเบาๆ ในหูของผู้เขียนก็หายไป ผู้เขียนจึงสนใจเรื่องของเสียงและการได้ยินมาโดยตลอด การไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีในหลายปีนั้น จึงถือว่าเป็นการปลีกวิเวกของผู้เขียนก็ว่าได้ ผู้เขียนมีโอกาสเข้าใจความหมายของเพลง Silent Night เข้าใจว่าเงียบจริงๆ เป็นเช่นไร สงบจริงๆ เป็นเช่นไร ก็ตอนไปอยู่เยอรมนีนี่เอง

ส่วนในบ้านเรานั้น ไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องการใช้เสียง เรามักจะเปิดเพลงให้ดังที่สุดเท่าที่จะดังได้ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นมลภาวะต่อสุขภาพอย่างยิ่ง ผู้เขียนเองทำวิจัยเรื่องพลังงานเสียง และพบว่าพลังงานเสียงสามารถทำลายสิ่งมีชีวิตบางชนิดได้ เช่นเดียวกับงานวิจัยอันโด่งดังของ มาซารุ เอโมโตะ (Masaru Emoto) นักวิจัยชาวญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่องผลึกของน้ำที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นเสียงชนิดต่างๆ พบว่า เสียงที่ดังมากเกินไป จะทำให้คุณภาพการเรียงตัวของโมเลกุลน้ำอยู่ในระดับต่ำ และไม่สามารถเกิดผลึกที่สวยงามได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ร่างกายมนุษย์ที่ ๗๐ เปอร์เซนต์ประกอบไปด้วยน้ำ ก็อาจจะเกิดผลกระทบได้เช่นกัน

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสไปจัดกิจกรรมให้เยาวชนในสถานพินิจเด็ก เด็กคนหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า สิ่งที่เขาต้องการคือ ความเงียบ เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมาเขาไม่เคยเจอกับความเงียบเลย สังคมภายนอกอึกทึกครึกโครมเหลือเกิน ไม่มีที่ที่พอจะนั่งเงียบๆ ใคร่ครวญกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ เจ้าหน้าที่สถานพินิจเองก็ตระหนักถึงความสำคัญของบรรยากาศ ซึ่งในการพัฒนาจิตใจ ความเงียบสงบมีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงต่างก็พยายามจะหามุมสงบเพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสสำรวจจิตใจของตนเอง เรียนรู้ที่จะเป็นมิตรกับจิตใจ ฝึกที่จะให้อภัยตนเองและผู้อื่น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดทักษะในการควบคุมอารมณ์เมื่อเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในชีวิต

ผู้เขียนรู้สึกว่า มนุษย์ทุกคนจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ไม่ใช่จะต้องให้เกิดเรื่องผิดพลาดในชีวิตแล้วจึงค่อยเรียนรู้

ในปัจจุบัน นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ นักวิชาการทั่วทุกมุมโลกต่างก็หันมาศึกษาเรื่องจิตใจกันอย่างจริงจังแล้ว เพราะเห็นพ้องต้องกันว่าการเรียนรู้เรื่องจิตใจเป็นเรื่องที่ยากที่สุดในชีวิต สังคมของเราทุกวันนี้ซับซ้อนแต่ในเรื่องของวัตถุ หากแบนราบในเรื่องของจิตวิญญาณ จึงเกิดสงคราม ความขัดแย้ง การทำลายล้าง วิทยาการยิ่งสูงขึ้น ปริมาณคนที่ต้องเข้าเรือนจำ สถานกักกัน และสถานพินิจกลับมากขึ้นทุกที ปัญหาใหญ่ๆ ต่างก็เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของคนไม่กี่คนที่ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจตนเอง ไม่รู้จักการให้อภัย คอยแต่จะกำจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตลอดเวลา

ทว่าจะกล่าวโทษเอาผิดคนไม่กี่คนนั้นก็ดูจะเหมารวมมากเกินไป เพราะทุกสิ่งย่อมเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายที่มิอาจแยกจากกันได้ เราเห็นผู้นำก็ย่อมเห็นประชาชนด้วย เมื่อเห็นประชาชนก็ย่อมเห็นผู้นำด้วย หากทั้งสังคมไม่สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงและสงคราม คนไม่กี่คนก็คงไม่มีพลังเพียงพอที่จะก่อสงครามได้

หากมนุษย์ต้องการความสงบสันติที่แท้จริง ก็ควรที่จะศึกษาเรียนรู้ว่าความสงบสันติที่แท้จริงเป็นอย่างไร โดยเริ่มจากสัมผัสให้ได้ด้วยตนเอง และช่วยให้ผู้อื่นสัมผัสได้ด้วย เมื่อเข้าใจแล้ว ย่อมไม่มาถกเถียงถึงวิธีจัดการความขัดแย้งหรือวิธียุติสงครามแบบเดิมๆ ต่อไป แต่จะเกิดการให้อภัยของคนในสังคม เกิดวันให้อภัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของนักสันติทั่วโลก แต่หากคนทั้งหลายไม่ศึกษาและฝึกฝนในเรื่องการพัฒนาจิตใจแล้ว ย่อมไม่สามารถเข้าใจเรื่องการให้อภัยได้เลย ที่แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติมาก เราต้องช่วยกันให้ผู้คนเกิดสันติภายในตนเองให้เป็นและให้มากที่สุด โดยเฉพาะเยาวชนที่เราต้องช่วยกันดูแลให้พวกเขาเติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งภายในและภายนอก

พวกเขาสะท้อนออกมาแล้วว่า ปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญยิ่งคือ สถานที่ทั่วไปในชีวิตประจำวันของบ้านเราไม่มีความเงียบสงบพอที่จะบ่มเพาะจิตใจได้เลย แล้วในฐานะผู้ใหญ่ในสังคม ท่านจะช่วยอะไรได้บ้างเล่า...

Back to Top