“หยุด” เปลี่ยน

โดย วิจักขณ์ พานิช
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 มีนาคม 2551

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีนิตยสารฉบับหนึ่งมาขอนัดสัมภาษณ์ผู้เขียน โดยหัวข้อการสัมภาษณ์เป็นเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในแง่มุมต่างๆ ถึงขนาดที่ทางทีมงานสัมภาษณ์ได้พกถ้วยกาแฟใบเบ้อเริ่มที่มีตัวหนังสือภาษาอังกฤษสีแดงตัวโตแปะเด๋ออยู่ข้างถ้วยว่า “CHANGE” เป็นมุกเก๋ๆ ประกอบการถ่ายภาพ แม้การสัมภาษณ์จะเป็นไปด้วยดี กระนั้นผู้เขียนก็ปฏิเสธที่จะโพสต์ท่าร่วมกับถ้วยกาแฟใบเขื่องดังกล่าว เนื่องด้วยความไม่ลงรอยส่วนตัวกับคำภาษาอังกฤษที่ฉายเด่นอยู่ข้างถ้วย

ดูเหมือนทุกวันนี้ คำว่า “การเปลี่ยนแปลง” ได้ถูกนำไปใช้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขายและการตลาดของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ กันอย่างถ้วนหน้า ไม่เฉพาะแต่แวดวงคนทำงานเพื่อสังคม นักปฏิวัติ หรือนักการเมือง เหมือนแต่ก่อน แม้แต่ในแวดวงธุรกิจ บันเทิง การศึกษา หรือสถาบันทางศาสนาเอง ต่างก็มีการตลาดที่หวังจะหยิบยื่นหนทางให้ผู้คนได้ไถลไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นจากสภาวการณ์ในชีวิตที่เป็นอยู่ อาจจะเรียกได้ว่า “การเปลี่ยนแปลง” เป็นแพ็คเกจสีสันใหม่ของคำว่า “พัฒนา” ที่ออกจะเชยและล้าสมัยไปสักหน่อยแล้วสำหรับผู้คนในยุคนี้

จิตวิวัฒน์เองก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่สนใจในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง แม้จะยืนยันนอนยันว่าการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกด้านใน อย่างที่เรียกชื่อกลุ่มว่า กลุ่มจิตสำนึกใหม่ (new consciousness) สมาชิกในกลุ่มดูจะไม่ค่อยชอบคำว่า change แต่เลี่ยงไปใช้คำว่า transformation แทน กระนั้นเมื่อฟังไปฟังมา ก็ชักเริ่มไม่แน่ใจว่าเส้นแบ่งของ “การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ” แบบจิตวิวัฒน์นั้นมีความแตกต่างอะไรไปจากคำว่า “การเปลี่ยนแปลง” ที่เราพบได้ในคำโฆษณาของสำนักต่างๆ ที่กำลังขายสิ่งที่ตนเองทำอยู่

สำหรับในแวดวงธุรกิจ ช่วงนี้มีการฝึกอบรมฮอตฮิตติดอันดับ ที่รู้จักกันในนามแลนด์มาร์ค ฟอรั่ม (Landmark Education) อันนี้ก็น่าตื่นใจไม่น้อย เพราะเขาถึงกับโฆษณากันตัวเป้งๆ เลยว่า เขาขาย “เทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงตนเอง” ขนาดที่ว่า “ไม่พอใจยินดีคืนเงิน” ส่วนจะเปลี่ยนอย่างได้ผลอย่างไรก็ไม่อาจทราบได้ เพราะผู้เขียนเองไม่เคยไป ได้ยินแต่ชาวบ้านเขาพูดถึง

ส่วนในแวดวงการศึกษา ตอนนี้มหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้ผ่านร่างหลักสูตรปริญญาโทจิตตปัญญาศึกษาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แว่วๆ ว่ามีผู้สมัครเข้าเรียนทะลุเป้าอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ เรียกเสียงฮือฮาในแวดวงการศึกษาได้อย่างถ้วนหน้า โดยตัวหลักสูตรเองก็มีชื่อเก๋ๆ ว่า “การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” อ๊ะ เปลี่ยนแปลงอีกแล้ว...ช่างตามสมัยจริงๆ

ยังไม่นับนักการเมืองทั้งหลายที่ต่างโพนทะนาสัญญาชวนเชื่อแบบขายฝันที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองและการเมืองไปในทิศทางที่ดีขึ้น แวดวงพุทธศาสนาก็ไม่น้อยหน้า ไม่ว่าจะเป็นแบบโลกๆ อย่างการสะเดาะเคราะห์ ดูหมอ ทำนายโชคชะตา ปัดรังควาน แก้กรรม ผูกดวง จนถึงแบบเข้าท่าขึ้นมาหน่อย อย่างการเข้าวิปัสสนากรรมฐานห้าวันเจ็ดวัน ดูแก้ว ดูจิต ดูกาย ฯลฯ ดูเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างในโลกกำลังรอการ “เปลี่ยนแปลง” “เปลี่ยน” “เปลี่ยน” “เปลี่ยน” บางคนก็ชี้ไปด้านนอก บางคนก็ชี้เข้าข้างใน คนนั้นบอกของฉันดีกว่า คนนี้บอกของฉันเร็วกว่า แต่ไม่ว่าจะหันไปทางใด ใครๆ ก็อยากเปลี่ยน เปลี่ยนนั่น เปลี่ยนโน่น เปลี่ยนนี่ จี้ไปที่ความพร่องและความกลัว ยิ่งสามารถหาหนทางการเปลี่ยนที่ลัดสั้น ประมาณว่า “เจ็ดวันบรรลุผล” หรือ “การันตีชีวิตเปลี่ยน” ได้นี่ยิ่งแจ๋วใหญ่ ขอให้บอกมาเถอะว่าจะต้องทำตามขั้นตอนอะไรบ้าง หนังสือ how-to ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า สำนักเกจิผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด

ผู้เขียนไม่ได้แสร้งประชดประชัน เย้ยหยันกระแสความอยากเปลี่ยนที่กำลังเกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ ว่าเป็นเรื่องเหลวไหลไปเสียทั้งหมด แต่ในความยิ่งใหญ่อลังการของหนทางการเปลี่ยนแบบฉับพลันที่เอามาโฆษณาขายกัน ถึงขั้นพัฒนาขึ้นเป็นกระแสการเชิญชวนให้คนอื่นเปลี่ยนในแบบที่เราเปลี่ยนนั้น เราเคยได้ลองตั้งคำถามถึงความอหังการของร่องความคิดแบบนี้บ้างหรือไม่ ด้วยคำถามแบบไร้เดียงสาประมาณว่า “เปลี่ยนอะไร” “ทำไมต้องเปลี่ยน” “เปลี่ยนแล้วไง” “ใครเปลี่ยนใคร” “อะไรเปลี่ยน” เป็นต้น

แม้การไม่ยอมเปลี่ยนแปลงนี่ก็เป็นปัญหาที่ใหญ่ไม่ใช่เล่น แต่ไปๆ มาๆ ความทะเยอทะยานพยายามที่จะเปลี่ยนกันเกินเหตุก็ดูจะยิ่งสร้างปัญหาให้อีรุงตุงนังหนักขึ้นไม่แพ้กัน บางทีการที่สังคมเราจะน่าอยู่ขึ้น อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับการปลุกกระแสของการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เป็นอยู่ ตรงกันข้ามจุดเริ่มต้นอาจเป็นเรื่องง่ายๆอย่างการหยุดความคิดที่จะเปลี่ยน และหันกลับมารู้เนื้อรู้ตัวกับสิ่งที่เราแต่ละคนกำลังทำๆ กันอยู่ให้มากขึ้น ไม่ว่าสิ่งที่คุณเป็นมันจะน่าเกลียดน่ากลัวขนาดไหน ไม่ว่าสถานการณ์ในชีวิตของคุณจะเต็มไปด้วยความทุกข์และอุปสรรคมากเพียงไร คุณก็พร้อมที่จะยอมรับ เผชิญ และเรียนรู้กับทุกประสบการณ์ตรงหน้าตามที่เป็น อย่างไม่รีบที่จะวิ่งหนี หรือขอเปลี่ยน

คุณค่าทางจิตวิญญาณที่ยั่งยืนหาได้อยู่ที่จุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่เพียงจุดเดียวของชีวิต แต่มันจะปรากฏขึ้นให้เราสัมผัสได้อย่างจริงแท้ ก็ต่อเมื่อเราได้เห็นถึงศักยภาพภายในที่เราสามารถดำรงอยู่ในภาวะความเป็นปกติอย่างไม่สั่นคลอน อันแสดงถึงความเต็มเปี่ยมและอิสรภาพสูงสุดที่มีอยู่แล้วภายในตัวเรา เราล้มเลิกความอหังการที่จะเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงคนอื่น หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงตัวเองแบบฉาบฉวย ในทางตรงกันข้ามเราพร้อมและยอมศิโรราบให้กับทุกสิ่งตามที่เป็นจริง กล้าที่จะตาย และกล้าที่จะเจ็บ ยอมให้โลกเปลี่ยนแปลง สะกิด และสัมผัสหัวใจของเราอย่างไม่ขัดขืน ทุกประสบการณ์ได้ถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของความกล้าหาญแห่งการเดินทางทางจิตวิญญาณอันปราศจากจุดหมาย ทุกท่วงทำนองคือการฝึกตนที่จะใช้ชีวิตอย่างสมดุลและสอดคล้องไปกับความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ จนเกิดเป็นความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองเป็นในทุกๆ ย่างก้าวอย่างอ่อนน้อม สัมพันธ์เชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างไม่แยกขาด

และคุณค่าทางจิตวิญญาณที่ว่านั้น จะเป็นสิ่งเดียวในตัวคุณที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้และไม่สามารถถูกทำลายได้...เป็นการตื่นรู้และพร้อมตายอย่างสูงสุดจน ”หยุด” ที่จะเปลี่ยนโดยสิ้นเชิง

Back to Top