เสียง

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 29 มีนาคม 2551

บทความชิ้นนี้เป็นบทความที่อยากเขียนมานานแล้ว

ในแง่ของอาณาเขตทางกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินซึ่งจับต้องได้ เราจะมีการแบ่งเขตแบ่งอาณาเขตกันอย่างชัดเจน โดยทำออกมาในรูปของหลักหมุดที่ดิน เขียนแบบแล้วบันทึกไว้ในรูปของโฉนดที่ดินหรือเอกสารอื่นๆ มากมาย

แต่อากาศ (ที่จับต้องไม่ได้) เหนือที่ดินขึ้นไปก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้ไม่น้อย ถ้าไม่ทำความเข้าใจกันให้ดี และ “ยึดถือ” แต่เฉพาะอาณาเขตที่จับต้องได้ เรื่องราวแบบนี้เป็นปัญหาตั้งแต่ในระดับบ้านใกล้เรือนเคียงกันไปจนถึงในระดับประเทศ

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น บ้านที่อยู่ใกล้กัน บ้านหลังหนึ่งจุดไฟเผาเศษใบไม้อยู่เป็นประจำ แต่ลมจะพัดเอาควันไฟจำนวนมากเข้าไปยังเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน แบบนี้จะเป็นอย่างไร เอาล่ะ เรื่องอากาศก็อาจจะมีหลายคนบอกว่า ก็มีกฎหมายระบุเพิ่มเติมเข้ามา หรือในระดับประเทศก็จะมีการกำหนดน่านฟ้าอะไรต่างๆ

ผมอยากจะขอมาถึงเรื่องราวของ “เสียง” ซึ่งอาจจะเป็นรูปธรรมในอีกลักษณะหนึ่ง

เพื่อนบ้านเอื้อเฟื้อเปิดเพลงดังลั่นเข้ามารบกวนในขณะที่เรากำลังนอนหลับสบายๆ

สถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งอุตส่าห์ไปตั้งอยู่ไกลบนภูเขา วันดีคืนดีก็มีเสียงคาราโอเกะแผดดังลั่นไปถึงยอดเขา แทนที่ผู้คนจะได้นั่งสงบปฏิบัติธรรมหรือฟังเสียงแมลงยามค่ำคืน

เพื่อนผมคนหนึ่งอุตส่าห์ลงทุนไปเช่าบ้านอีกหลังนอกเมืองออกไปไกลๆ เป็นสวนลิ้นจี่ หวังว่าจะได้มีความสงบยามค่ำคืนเพื่อที่จะได้ครุ่นคิดใคร่ครวญอยู่กับความเงียบ ที่ไหนได้ต้องทนกับเสียงคาราโอเกะดังลั่น ไม่เที่ยงคืนตีหนึ่งไม่เลิกรา

เมื่อถึงเทศกาลลอยกระทง เสียงประทัดที่ดังมากและที่ “ไม่ได้รับเชิญ” ก็ได้สอดแทรกผ่านอากาศเข้ามาในหูของเรา

ปัจจุบันชุมชนต่างๆ นิยม “เสียงตามสาย” ประกาศข่าวตั้งแต่เช้าตรู่

งานเทศกาลประจำปีของจังหวัดจัดเครื่องเสียงที่แผดเสียงแบบบ้าระห่ำไปไกล ชนิดที่ดังไปรบกวนคนที่อยู่ไกลถึงอีกฟากหนึ่งของเมืองได้ด้วยความภาคภูมิใจ (คนอยู่ใกล้จะมีสภาพเป็นอย่างไรคงนึกภาพออกนะครับ)

เวลาที่ผมเดินทางโดยเครื่องบิน จะมีช่วงเวลาที่ต้อง “รอคอย” นานไม่น้อย เป็นช่วงเวลาที่ผม (และผมเชื่อว่าต้องมีคนอีกส่วนหนึ่งด้วย) ต้องการ “ความเงียบ” ในการพักผ่อน แต่ “เสียงจากโทรทัศน์” ที่ไม่พึงปรารถนาก็สอดแทรกเข้ามาในหูของเรา เรื่องนี้หลายคนอาจจะแย้งว่าก็เป็นเรื่องของสนามบินที่จะให้คนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร แต่อย่าลืมว่าก็มีหลายคนไม่ได้ต้องการข้อมูลข่าวสารในเวลานั้นด้วยเหมือนกัน เพราะลำพังแค่เสียงประกาศตามปกติก็ถือว่าอึกทึกมากพอแล้ว

สนามบินน่าจะมีสถานที่ที่ “เงียบสงบ” บางส่วนด้วย อาจจะไม่จำเป็นถึงขั้นต้องสร้างเป็นห้องสำหรับการภาวนา (Meditation Room) แต่ขอให้มี “มุมสงบ” ไว้บ้าง ไม่ใช่ใช้การเปิดเสียงโทรทัศน์แบบดังลั่นตะพึดตะพืออย่างที่เป็นอยู่ อย่าลืมว่า “เสียง” ก็สามารถเป็นมลพิษได้แบบเดียวกันกับที่ “ควันบุหรี่” เป็นนะครับ

เรื่องนี้กินความไปถึง “สิ่งที่จับต้องไม่ได้” อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะยกตัวอย่างก็คือ เสาสะท้อนสัญญาณของบรรดาบริษัทมือถือต่างๆ ที่ปัจจุบันมีความพยายามในการติดตั้งเสาดังกล่าวให้กว้างขวางมากที่สุด ซึ่งผมก็ไม่ได้ขัดแย้งอะไรนะครับ ถ้าคิดว่าเป็นเรื่องของส่วนรวมที่ทุกคนต้องการสัญญาณมือถือดีๆ ชัดๆ ผมเพียงอยากจะชี้ให้เห็นและสอดคล้องกับบทความชิ้นนี้ก็คือ บรรดาเสาสะท้อนสัญญาณมือถือเหล่านั้น ถ้าเรามองแบบทั่วๆ ไปก็จะเห็นได้ว่า กระชับ ใช้พื้นที่ไม่มากนักเพียงไม่กี่ตารางเมตร และในต่างจังหวัดก็สามารถไปเช่าพื้นที่ในสถานที่ต่างๆ ได้ตามสะดวก

แต่ถ้าลองนึกถึงพลังงานที่เป็น “คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” ที่มีพลังมหาศาลที่ถูกปล่อยออกมาในบริเวณนั้น ที่เราไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบต่อเซลล์ของเรา อวัยวะของเรา หรือร่างกายของเราหรือไม่อย่างไร? หรือทำไมคนในปัจจุบันนี้จึงเป็นโรคมะเร็งกันมากขึ้น เพราะเซลล์มะเร็งคือเซลล์ที่สื่อสารไม่ได้ ขาดการสื่อสารกับเซลล์อื่นๆ ของร่างกาย ทำให้มันเติบโตขึ้นโดยไม่สนใจเซลล์อื่นๆ

ผมไม่รู้ว่าคลื่นเหล่านี้จะไปรบกวนการสื่อสารของเซลล์ต่างๆ ทำให้เซลล์ต่างๆ ของร่างกาย “รวน” และไม่สามารถ “สื่อสาร” ถึงกันได้หรือไม่ เหมือนกับตอนที่กัปตันเครื่องบินไม่ยอมให้ผู้โดยสารใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะจะไปรบกวนการสื่อสารของเครื่องบิน

ที่เขียนตรงนี้ไม่ได้มีเจตนานำเรื่อง “ความกลัวมะเร็ง” มาขู่นะครับ ในฐานะแพทย์ที่มีส่วนดูแลเรื่องสุขภาพ ผมไม่นิยมให้ใช้ “ความกลัว” มาเป็นเรื่องราวของการเรียนรู้หรอกนะ ผมเพียงแต่อยากจะชี้ให้เห็นประเด็นว่า มันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกัน เป็นเรื่องที่เราควรตระหนักและให้ความสำคัญด้วย

เขียนถึงตรงนี้ ทำให้นึกถึงเรื่องราวที่สถาปนิกหนุ่มไฟแรงคนหนึ่งของเมืองไทย คือ อาจารย์กรินทร์ กลิ่นขจร เคยเล่าให้ฟังว่า แม้แต่การติดป้ายโฆษณาต่างๆ ก็ส่งผลกระทบต่อ “ความรู้สึกรวม” ของเมือง ไม่ใช่ว่าใครนึกจะติดป้ายอะไรก็ได้ในที่ดินของฉัน ความรกรุงรังต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้ที่พบเห็น ส่งผลกระทบต่อความเบาสบายของจิตใจของประชาชนทั่วไป อย่าว่าแต่ “เสียงที่ดังรบกวน” เซลล์สมองของเราแบบที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวันแบบนี้เลย

ตอนนี้ อาจารย์กรินทร์เองกำลังทำโครงการที่มีชื่อประมาณว่า “หรี่เสียงกรุงเทพฯ” อะไรทำนองนี้ ซึ่งผมเห็นด้วยมากๆ และอยากจะชวนให้อาจารย์กรินทร์ทำเป็นโครงการ “หรี่เสียงประเทศไทย” ไปเลยจะดีกว่า

ซึ่งในเรื่องราวเหล่านี้ ผมคิดว่าความเข้าใจเรื่อง “วิทยาศาสตร์ใหม่” มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ผมเขียนบทความชิ้นนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะเรียกร้องหรือร้องเรียนอะไร เพียงแต่อยากจะลองชี้ให้เห็นถึงความคุ้นชินของพวกเราส่วนใหญ่ที่ยังมีแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าที่เชื่อเฉพาะสิ่งที่เห็นจริง จับต้องได้ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “เรื่องที่จับต้องไม่ได้บางอย่าง” ซึ่งเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ใหม่ เช่น เรื่องของคลื่น เรื่องของพลังงานต่างๆ

ที่ลึกๆ แล้วหลายๆ คนก็อาจจะรับรู้ แต่ในเมื่อเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ก็เลยไม่เชื่อ ไม่ยอมรับเสียดื้อๆ แบบนั้นแหละ แต่ “เสียงที่ดังในแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้” ได้ส่งผลกระทบต่อตัวเราทุกคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยอมรับ “ผลกระทบ” ที่เกิดขึ้นว่าเป็นจริงหรือไม่ต่างหาก

หรือเราจะยังคงคิดว่า เสียงเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ และไม่ต้องไปสนใจอะไรกับเสียงที่ดังมากและส่งผลกระทบอยู่ทั่วไปในสังคมขณะนี้??

Back to Top