มหาวิทยาลัยมาม่า



โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 มีนาคม 2551

ผู้เขียนขออภัยที่นำชื่ออาหารยอดนิยมมาตั้งชื่อบทความนี้ “มาม่า” เป็นได้ทั้งชื่อเฉพาะและชื่อทั่วไป ซึ่งหมายถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อที่จำหน่ายสำหรับผู้ที่ต้องการกินอาหารอย่างรีบด่วน ปรุงง่าย อร่อย และอิ่มเร็ว แม้ว่าจะมีส่วนประกอบเป็นเส้นหมี่ วุ้นเส้น และมีรสชาติต่างกัน เราก็เรียกว่า มาม่า คนส่วนใหญ่เข้าใจตรงกัน เหมือนกับที่เรียกผงซักฟอกทุกยี่ห้อว่า แฟ้บ และเรียกบาล์มทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นอย่างน้ำหรือขี้ผึ้งว่า ยาหม่อง

ผู้บริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีจำนวนมากมายมหาศาลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ การผลิตสนองความต้องการของตลาด จึงต้องใช้ระบบโรงงานที่มีตัวป้อน กระบวนการผลิต และตรวจสอบคุณภาพของผลผลิตทุกชิ้นอย่างเข้มงวด

การผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีสูตรที่แน่นอน กำหนดวัตถุดิบส่วนผสม วิธีปรุงอย่างแน่นอนในแต่ละรสชาติ เครื่องจักรในโรงงานมีกลไกที่ช่วยให้ผลิตได้รวดเร็ว ต่อเนื่องตามสายพานทุกขั้นตอนจนออกมาเป็นก้อนบะหมี่และผงปรุงรส บรรจุหีบห่อสวยงาม ดูน่ากิน ทั้งรสหมูสับ รสต้มยำกุ้ง รสผัดขี้เมา ผู้บริโภคได้ลิ้มรสหมูสับ แต่ไม่มีเนื้อหมู รสต้มยำกุ้งไม่มีกุ้ง ถ้าจะให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนจึงต้องเติมไข่ เนื้อสัตว์ และผักเข้าไปด้วย

มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาขั้นอุดมมาเกี่ยวอะไรกับบะหมี่มาม่า ขอตอบว่าผู้เขียนมองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในด้านดีมิใช่ด้านร้าย เพียงแต่อยากเปรียบเทียบระบบและกระบวนการผลิตบัณฑิต ตั้งแต่การคัดเลือกตัวป้อน กระบวนการเรียนการสอน และผลผลิตคือบัณฑิตจำนวนแสนในแต่ละปีนั้น มีคุณภาพและปัญญาหารเพียงใด มหาวิทยาลัยกลายเป็นโรงงานผลิตปริญญาบัตรที่ลูกค้าทั่วประเทศใฝ่ฝันต้องการมาครอบครองจริงหรือ?

เมื่อมหาวิทยาลัยใช้วิธีการตามระบบโรงงาน มหาวิทยาลัยจึงต้องมีการคัดเลือกตัวป้อนเข้าสู่ระบบอย่างเข้มงวดสำหรับมหาวิทยาลัยแบบปิดหรือแบบจำกัดจำนวนรับ ส่วนมหาวิทยาลัยเปิดนั้น แม้จะมีจุดประสงค์เพื่อให้โอกาสคนส่วนใหญ่ได้เข้าเรียน แต่ก็ต้องมีกฎเกณฑ์บางประการที่ตัวป้อนเหล่านั้นจะถูกกลั่นกรองทีละขั้น มิฉะนั้นก็ไม่สำเร็จการศึกษา ซึ่งมักจะมีคำกล่าวกันว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่เข้าง่ายแต่จบยาก

ตัวป้อนของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็คือ แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม และเครื่องชูรสต่างๆ ตามสูตรที่กำหนด ซึ่งก็จะต้องเลือกสรรวัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพเป็นสำคัญ ส่วนตัวป้อนเข้าสู่ระบบอุดมศึกษานั้น นอกจากทรัพยากรต่างๆ แล้ว ที่สำคัญที่สุดคือ นักเรียนที่สมัครเข้าเรียน ซึ่งมีการคัดเลือกอย่างเข้มข้น ยิ่งเป็นมหาวิทยาลัยและคณะวิชาที่สังคมวางค่านิยมไว้สูง ก็ยิ่งมีการแข่งขันเหมือนกับเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

วิธีการสอบเข้าเพื่อคัดเลือกตัวป้อนที่เป็นมนุษย์ จึงสร้างความสุขและความทุกข์อย่างใหญ่หลวง แม้ว่าจะมีการวิจัยศึกษาหาวิธีการที่จะคัดเลือกหลายรูปแบบ เพื่อมิให้เกิดความบีบคั้น ความเครียด พยายามสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นทั่วถึงมากที่สุด แต่ความเป็นมนุษย์มิใช่แป้งสาลีและน้ำมันปาล์ม ตัวป้อนเข้ามหาวิทยาลัยจึงมีความรู้สึก มีความคาดหวัง มีอารมณ์สุขทุกข์ ลุกลามไปถึงพ่อแม่พี่น้องในครอบครัว ปลาบปลื้มลิงโลดใจเมื่อสอบเข้าได้ และเศร้าโศกเมื่อผิดหวัง ตัวเลขและแต้มเฉลี่ยเป็นเสมือนตราประทับที่หน้าผาก ว่าคนนี้เข้าได้และคนนั้นต้องไปหาที่เรียนใหม่

เมื่อขันแข่งแย่งชิงกันเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว กระบวนการพัฒนาให้นิสิตนักศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ ยิ่งมีองค์ประกอบ วิธีการ และบริบทที่ซับซ้อนยิ่งนัก สายพานการผลิตไม่เลื่อนไหลรวดเร็วเหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หากแต่ใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานและเป็นพลวัต

กระบวนการพัฒนาบัณฑิตแตกต่างจากกระบวนการผลิตในโรงงานอย่างสิ้นเชิง นักเรียนที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยนั้นมีความแตกต่างหลากหลาย เติบโตและพัฒนาได้ไม่เหมือนกัน จนยากที่จะมีหลักสูตรและศาสตร์ที่ดิ่งเดี่ยว แข็งขึงตึงตัว เพียงหนึ่งเดียวมาเปลี่ยนแปลงนิสิตนักศึกษาได้ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย

ปัจจุบันจึงเกิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการอุดมศึกษา ที่มุ่งพัฒนาบัณฑิตและพัฒนาหลักสูตรแบบองค์รวม เกิดความคิดเรื่อง humanized educare คือการพัฒนาบัณฑิตให้มีหัวใจเป็นมนุษย์ หลายมหาวิทยาลัยเริ่มศึกษากระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (transformative learning) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกลมกลืนระหว่างความรู้ภายนอกตนกับความรู้ภายในตน หลายสาขาวิชาเริ่มตระหนักว่า การเคี่ยวเข็ญให้นิสิตนักศึกษามีความรู้และเก่งในศาสตร์ของตนอย่างดิ่งเดี่ยวนั้น ไม่เกิดผลให้บัณฑิตประสบความสำเร็จในชีวิตการงานและการดำรงชีวิตในสังคม

มหาวิทยาลัยเริ่มปรับเปลี่ยนสาระและกระบวนการเรียนรู้ในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป จากการที่มีรายวิชาซึ่งใช้เป็นฐานสำหรับต่อยอดในการเรียนวิชาเฉพาะ เช่น คณิตศาสตร์ สถิติเบื้องต้น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมวิทยา วิทยาศาสตร์ทั่วไป ฯลฯ มาเป็นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร วิธีการคิดเชิงวิเคราะห์ การใช้เหตุผล ชีวิตกับธรรมชาติ ความเป็นพลเมืองดี สุนทรียภาพ และการพัฒนาบุคลิกภาพ โดยแทรกค่านิยมทางจิตวิญญาณ (spiritual value) เข้าไปตั้งแต่ชั้นปีที่ ๑ จนถึงปีสุดท้าย

กระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยได้เพิ่มความรู้ทางสังคมและการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ด้วยความเชื่อว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่หอคอยงาช้างอีกต่อไป แต่เป็นสถาบันหนึ่งของสังคมที่ต้องรับผิดชอบต่อความเจริญ ความเสี่ยง และความเสื่อมของชุมชนท้องถิ่น การสอนจึงต้องเน้นพลังกลุ่ม การทำงานเป็นทีม การช่วยเหลือเกื้อกูล การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อความสุขและความทุกข์ของประชาชน

เมื่อมีข่าวว่าบัณฑิตหลายมหาวิทยาลัยฆ่าตัวตาย ข่าวเช่นนี้เกิดบ่อยเสียจนต้องคิดว่า กระบวนการผลิตบัณฑิต มิได้ฝึกให้รู้จักปรับตัวและแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี การพัฒนาสุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องสำคัญในมหาวิทยาลัย ทุกวันนี้ ผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา ส่วนใหญ่ต่างก็เครียด คับข้องใจ และมุ่งแข่งขัน นิสิตนักศึกษาว้าเหว่ เหงาและโดดเดี่ยว ระบบอาจารย์ที่ปรึกษา ระบบการปรึกษาและแนะแนวจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม มหาวิทยาลัยเริ่มสนใจกระบวนการกัลยาณมิตรที่เปิดโอกาสให้บุคลากรและนิสิตนักศึกษาได้ช่วยเหลือเกื้อกูล แนะแนวทางซึ่งกันและกัน ตลอดจนกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เส้นทางดำเนินชีวิตอย่างไม่เป็นทางการ ทุกวันนี้ มี “การประชุม” มากเกินไปในมหาวิทยาลัย แต่ขาดแคลนกิจกรรมที่เราจะพบปะพูดคุยกันอย่างเปิดเผยและปลอดโปร่งโล่งใจ

เมื่อตัวป้อนของมหาวิทยาลัยเป็นมนุษย์ สถาบันนี้จึงต้องเป็นองค์กรที่มีชีวิต มีสุขภาวะ และสร้างปัญญาหาร ๔ หมู่ คือ ความรู้ ความคิด ความสามารถ และความดี ให้แก่ผู้ที่จะเป็นบัณฑิตเกิดความรู้ดี คิดดี และทำดี

ชีวิตของนิสิตนักศึกษามิได้อยู่เพียงในห้องเรียนและห้องปฏิบัติการเท่านั้น นอกเหนือจากคำบรรยาย ตำรา และโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ เขายังได้สัมผัสกับบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และผู้คนมากมาย บริบทเหล่านี้จะช่วยสร้างลักษณะที่เป็นทั้งคุณและโทษ ถ้าเขาคุ้นชินกับวิธีการเรียน ศึกษาค้นคว้าน้อยๆ แต่ต้องการคะแนนมาก คุ้นชินกับอาคารเรียน ห้องอาหาร ห้องน้ำที่สกปรก คุ้นชินกับสิ่งแวดล้อมที่แห้งแล้ง มีเศษขยะทิ้งเกลื่อน และเสียงพูดคุยที่หยาบคาย ตะโกนตะคอกใส่กัน เมื่อเขาเป็นบัณฑิต เขาก็จะเคยตัวที่ต้องหาวิธีทำงานน้อยๆ เพื่อให้ได้เงินมากๆ เคยตัวต่อการผรุสวาทด่าทอ เคยตัวต่อการดำรงชีวิตที่สกปรกทั้งกายและใจ

มหาวิทยาลัยต้องการผลผลิตเช่นนี้หรือ?

จริงอยู่ มหาวิทยาลัยมีประเด็นหลายประการที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ ความเป็นเลิศในการแข่งขัน การเข้าถึงความรู้ที่ก้าวไกลอย่างไม่หยุดยั้ง ความเสมอภาค และเป็นธรรมทางการศึกษา ประสิทธิภาพทางการวิจัยและวิชาการของคณาจารย์ คุณภาพของการเรียนการสอนและคุณภาพของบัณฑิต เป็นต้น แต่ผู้เขียนก็อยากเห็นมหาวิทยาลัยก้าวพ้นจากระบบคิดอย่างเดิมๆ ก้าวข้ามจากการเป็นโรงงานผลิตปริญญาบัตร ก้าวกระโดดจากการเป็นมหาวิทยาลัยมาม่าไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชีวิต สร้างปัญญาและแสงสว่างให้ชีวิตของบัณฑิตทุกคน

ในการบรรยายเรื่องวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยครั้งหนึ่ง ผู้เขียนได้สรุปเบญจลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นองค์กรหนึ่งของสังคมว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องสร้างคุณลักษณะของมหาวิทยาลัย ๕ ประการคือ

๑. มหาวิทยาลัยต้องเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง (healthy organization)

๒. มหาวิทยาลัยต้องเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนา (learning organization)

๓. มหาวิทยาลัยต้องเป็นองค์กรที่มีเสรีภาพทางปัญญา (intellectual organization) คือไม่ตกอยู่ในกับดักของหลักเกณฑ์ที่เป็นกรอบตายตัว ไม่ยอมจำนนต่อความยากและอุปสรรคในการริเริ่มสิ่งใหม่ที่สร้างสรรค์

๔. มหาวิทยาลัยต้องเป็นองค์กรที่มีพลัง (smart organization) มีการเสริมพลังทวีคูณอยู่เสมอ ถ้าจะใช้ภาษาทันสมัยก็คือ เท่อย่างมีท่วงท่า...มีเอกลักษณ์และศักยภาพ

๕. มหาวิทยาลัยต้องเป็นองค์กรที่มีชีวิต (living organization) มีความเติบโตงอกงาม ไม่ชะงักงันและเหี่ยวเฉา มีบรรยากาศคึกคักทางวิชาการ เบิกบานด้วยกิจกรรมสัมพันธ์ และเปิดกว้างออกไปสู่สังคมส่วนรวม

ท่านระพินทรนาถ ตะกอร์ รัตนกวีชาวอินเดียได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ชื่อ “อาศรมศานตินิเกตัน” เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ เป็น “...สำนักศึกษาที่ประชาชนผู้แตกต่างกันด้วยอารยธรรมและประเพณี ได้เรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกัน...เด็กที่มีสติปัญญาปานกลางหรือต่ำกว่าสามัญ ก็อาจได้รับการอบรมให้เป็นพลเมืองดีงามจนกลายเป็นบุคคลมีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองได้...ท่านเห็นว่ามนุษย์เราเปรียบประดุจเมล็ดพืช ถ้าเพาะผิดวิธีก็ไม่งอกงาม แต่ถ้าถูกวิธี คือถูกแก่อัธยาศัย จิตใจ และสติปัญญาแล้ว พืชที่แม้จะมีทีท่าว่าจะไม่แตกดอกออกกอ ก็อาจเจริญเติบโตกลายเป็นไม้มีค่าต่อไปก็ได้...”

ความสดสวยของดอกไม้มิได้เกิดจากการระบายสี

แววขนที่เลื่อมลายระยับยามยูงรำแพนไม่มีใครแต่งแต้ม

ดวงไฟย่อมจุดไม่ติดหากขาดเชื้อเพลิงอยู่ภายใน

ยากนักที่เราจะเติมโอชารสที่เปลือกผลไม้

ใครเล่าจะผลิตบัณฑิตให้เป็นศึกษิตที่สง่างาม

คุณลักษณะทุกอย่างของทุกสิ่ง ทุกคนย่อมฉายออกจากภายในมากกว่าการห่อหุ้มฉาบทาจากภายนอก

นี่คือบทความที่เป็นเศษเสี้ยวหนึ่งของความคาดหวังต่อพันธกิจของมหาวิทยาลัย เป็นการมองภาพรวมของระบบมากกว่า การเจาะจงลงลึกในแต่ละด้าน เป็นความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทัดทานมิให้มหาวิทยาลัยเป็นโรงงานผลิตปริญญาบัตรและจัดการอุดมศึกษาเชิงพาณิชย์

จะเกิดผลอย่างไรก็แล้วแต่บุญกรรมที่จะกระทบต่ออนาคตของประเทศไทย

One Comment

Halley กล่าวว่า...

"มืดจริงหนอ สถาบัน อันกว้างขวาง
ปล่อยให้ฉัน อ้างว้าง ขับเคี่ยว
เดินหาซื้อ ปริญญา จนหน้าเซียว
เทียวไป เทียวมา ไม่รู้วัน

ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวังเก็บ อะไร ไปมากมาย
สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว"

อ่านแล้วคิดถึงกวีบทนี้ขึ้นมาทันใด...

Back to Top