อยู่ร่วมเพื่อจากพราก ฤๅจากพรากเพื่ออยู่ร่วม

















หลังจากที่ดูหนังไทยเรื่อง “โคตรรักเอ็งเลย” จบ คำถามหนึ่งที่โกวเล้งเคยถามก็ผุดพรายขึ้นมา


“มนุษย์เรานั้น อยู่ร่วมเพื่อจากพราก ฤๅจากพรากเพื่ออยู่ร่วม”


หาก “การอยู่ร่วม” นั้นเป็นไปเพื่อจากพรากแล้ว “การมีชีวิตอยู่” นั้น มีความหมายอะไร และหากการจากพรากนั้นเป็นไปเพื่ออยู่ร่วม จากพรากนั้นจากอะไร และไปอยู่ร่วมกับสิ่งใด

สิ่งที่ข้าพเจ้าสนใจยิ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ เห็นจะเป็นมุมมองความหมายที่มีต่อคำว่า “อยู่ร่วม” และ “จากพราก”

มนุษย์จะอยู่ร่วมกันอย่างไร จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการอยู่ร่วมที่มีความหมาย และมนุษย์จะพรากจากสิ่งใด เพื่อเข้าถึงความหมายแห่งการอยู่ร่วมกัน

เมื่อมองในระดับสัมพันธภาพของคนสองคน ดังเรื่องชีวิตคู่ของตัวละครหลักในภาพยนตร์ไทยเรื่องดังกล่าว กว่าจะรู้ความหมายของการอยู่ร่วมก็ต้องประสบกับความทุกข์จากการจากพรากเสียก่อน และหากไม่ยอมละทิ้งซึ่งทิฐิมานะตัวตน ก็คงยากที่คนคู่หนึ่งจะได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีก ดูเหมือนผู้เขียนบทจะมีความกรุณากับตัวละครของตนมากทีเดียว ในการให้โอกาสครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะให้ตัวละครได้เรียนรู้ ยอมรับ และแก้ไขความบกพร่องผิดพลาดของตน

ข้าพเจ้าสงสัยว่า คนดูภาพยนตร์อย่างเราๆ ท่านๆ จะได้รับโอกาสเช่นนั้นมากน้อยเพียงใดในโลกนอกจอ มนุษย์เราจะโชคดี ได้กลับมาแก้ไขความผิดพลาดบางอย่าง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องพบกับความจากพรากได้ตลอดไปล่ะหรือ

อันที่จริง เราไม่อาจหนีความตายได้เลยด้วยซ้ำ!

“คุณเชื่อเรื่องโลกหน้าไหม” คำถามนี้ผุดขึ้นมาแทน ก่อนที่ข้าพเจ้าจะได้รับคำตอบ

ในฐานะของชาวพุทธ เราย่อมเชื่อว่าชีวิตนั้นเป็นสันตติ เป็นกระแสแห่งความต่อเนื่อง ความสิ้นสุดแห่งลมหายใจในกายนี้ ย่อมมิได้หมายถึงการดับสูญอย่างสิ้นเชิง

เปรียบได้กับแม่น้ำ น้ำที่ไหลในแม่น้ำย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่แม่น้ำก็ยังคงเป็นแม่น้ำสายเดิมอยู่เสมอ หากตระหนักได้ว่า เราจะได้กลับมายังแม่น้ำสายเดิมทุกครั้ง แม้ว่าจะไม่มีโอกาสแก้ไขความผิดพลาดเดิมในโลกก่อนหน้า แต่ในโลกนี้ “โอกาสดีๆ” ที่จะได้เรียนรู้การจากพราก และการอยู่ร่วมที่เป็นหนึ่งเดียวย่อมอยู่ในมือเราเสมอ

หนุ่มของข้าพเจ้าผู้หนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิตคู่ แท้จริงแล้วก็คือการขัดเกลาตนเอง”

ข้าพเจ้านิ่งไปชั่วขณะเพื่อขบเคี้ยวถ้อยคำดังกล่าว

ในยุคสมัยปัจจุบัน ข้าพเจ้าเคยพบเห็นพระโพธิสัตว์จำนวนมาก ในร่างของคนหนุ่มสาวที่อุทิศตนทำงานสาธารณประโยชน์อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ไม่แยแสกับกระแสโลกที่มาล่อหลอกในรูปของเงินเดือนสูงๆ ตำแหน่งงานน่าดึงดูดใจในบริษัทใหญ่ ผู้คนเหล่านี้มีความสุขง่ายๆ หิวก็กิน ง่วงก็นอน ได้ทำงานที่เลือก อ่านหนังสือ พบผู้รู้ สังสรรค์กับเพื่อนฝูง

เหล่านี้ใช้ชีวิตบนหนทางแห่งการภาวนาแตกต่างจากนักบวชที่ตรงไหน คำตอบอาจเป็นว่า เขาเหล่านั้นเป็น “ผู้ครองเรือน”

ฆราวาสที่น่ารักเหล่านั้นหลายคนแต่งงาน หลายคนมีคู่รัก หลายคนมีครอบครัวใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบดูแล หากการภาวนาเป็นวิถีชีวิต ผู้คนเหล่านี้ก็ใช้ชีวิตครองเรือนของตนเป็นเครื่องภาวนา

เธอหรือเขาต่างก็ใช้ชีวิตคู่เป็นหนทางแห่งการภาวนา แค่ลองนึกดู อยู่กันอย่างไรไม่ให้ทะเลาะหรือขัดแย้งกัน หรือปรองดองอย่างไรที่ไม่ใช่เพียงรูปแบบ ต้องอาศัยการรักเคารพและนับถืออีกฝ่ายหนึ่งมากมายเพียงใด ต้องประกอบด้วยขันติ อุเบกขา และความกรุณา พร้อมที่จะให้อภัยกันมากขนาดไหน และสามารถแปรเปลี่ยน “ความรัก” ของคนสองคน ให้กลายเป็น “ความกรุณา” ต่อสรรพชีวิต ได้อย่างหมดจดงดงามได้อย่างไร

คำถามสุดท้ายนี้ ทำให้ข้าพเจ้าพลันนึกถึงคู่ของอาจารย์สมปอง-ประมวล เพ็งจันทร์ ขึ้นมาทันที

อาจารย์ประมวลเดินเท้าจากเชียงใหม่ไปเกาะสมุยในเวลา 66 วัน ไม่พกสตางค์แม้แต่แดงเดียว แต่ละวันได้รับอาหารและน้ำจากการบริจาคของผู้มีน้ำใจที่ได้พบปะระหว่างทาง

การจาริกบุญเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง และเข้าถึงความหมายแห่งชีวิตของอาจารย์ประมวล ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจาก “ความรักความเข้าใจ” อย่างลึกซึ้งของอาจารย์สมปอง ผู้เป็นศรีภริยา

เธอได้เอ่ยปากอนุญาตให้สามีทำในสิ่งที่ดูเหมือนจะเสี่ยงต่อการให้เขาจากไปตายอยู่ข้างถนน หรือแห่งหนใดก็ไม่อาจรู้ได้

เมื่อเขาเดินก็ด้วยความรู้สึกว่ามีภรรยาเดินทางร่วมด้วยตลอด และไม่อาจนำความรักความศรัทธาของภรรยาไปแลกกับการทำลายสัจจะอันเกิดจากความหิวโหยในบางมื้อได้

ธรรมของภรรยากลายเป็นเครื่องคุ้มครองเขาในยามยากไร้

เราใฝ่ฝันถึงชีวิตคู่ดังนี้ได้ไหม เราจะยกมือสาธุบูชาผู้ครองเรือนดั่งนี้ได้ไหม

ณ บรรทัดนี้ คำถามของโกวเล้งที่ว่า “มนุษย์เรานั้น อยู่ร่วมเพื่อจากพราก ฤๅจากพรากเพื่ออยู่ร่วม” ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ปราศจากความหมายไปเสียแล้ว

คำถามเรื่องความแตกต่างในวิถีภาวนาของผู้ครองเรือนและนักบวชก็ปราศจากความหมาย


ความหมายอะไรก็ไร้ความหมาย หากเรื่องราวทั้งหมดนั้นเป็นกรอบประสบการณ์ของคนอื่น

หนังฉายจบแล้ว

โกวเล้งเขียนจบไปนานแล้ว


แล้วไงล่ะ?


อะไรก็อยู่ในคัมภีร์

สิ่งประเสริฐที่สุดในโลกก็มีศาสดาค้นพบไปแล้ว

เมื่อไหร่เจ้าสิ่งที่อยู่ในคัมภีร์ สิ่งที่ศาสดาค้นพบ จะกลายเป็นประสบการณ์อันแสนวิเศษมหัศจรรย์ในชีวิตของเราเสียที


3 Comments

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมธรากร กมลเปรมปิยะกุล
ขออนุญาต copy บทความ อยู่ร่วมฯ
เพื่อส่งต่อให้กับหมู่กัลยาณมิตรที่รู้จักกัน

ขอขอบคุณสำหรับถ้อยคำและเรื่องราวเปี่ยมสติ
ที่ผู้เขียนได้แบ่งปัน

ด้วยความเคารพ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

นใจมาก คำถามอยู่ในใจนานแล้ว และหนทางคือการฝึก ฝึก...ฝืน ให้โอกาส อภัยแก่ตัวเอง อยู่กับความเป็นไปได้ที่เหมาะสมกับบริบทเรา
ขอบคุณอีครั้ง...จันทร์ส่องหล้า

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

นใจมาก คำถามอยู่ในใจนานแล้ว และหนทางคือการฝึก ฝึก...ฝืน ให้โอกาส อภัยแก่ตัวเอง อยู่กับความเป็นไปได้ที่เหมาะสมกับบริบทเรา
ขอบคุณอีครั้ง...จันทร์ส่องหล้า

Back to Top