โดย
ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 มกราคม 2561
ใน
กล้าสอน (Courage to Teach) พาร์กเกอร์ เจ พาลเมอร์ พูดถึง “ไอ้เด็กนรก” (Student from Hell) ในชั้นเรียนของเขา เป็นเด็กที่ทำให้เขารู้สึกเสียเซลฟ์มากเวลาสอน เพราะเด็กมี “ทีท่า” ต่อต้านตัวเขาตลอดเวลา ซึ่งผู้ที่เป็นครูหรือเคยสอนหนังสือจะรู้ดีว่าบางครั้งเด็กแบบนั้นทำให้ชีวิตของพวกเรา “พัง” มาก
เช่นเดียวกับผู้ที่ทำงานด้านอบรมหรือเป็นกระบวนกรจะพบว่า บางครั้งเราต้องเจอกับผู้เข้าร่วมอบรมซึ่งเรียกได้ว่า “มาจากนรก” เช่นเดียวกัน ภาษากระบวนกรจะพูดถึงเรื่องคลื่น เช่น คลื่นของกลุ่มนี้ไม่ค่อยดี คลื่นของคนนั้นไม่ค่อยดี มันคือความรู้สึกสัมผัสที่ชี้วัดออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่รู้สึกได้ว่ามีอะไรบางอย่างอยู่ในบรรยากาศที่ปกคลุมการอบรม
เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ครูที่ดี หรือ กระบวนกรที่ดี จะต้องสามารถพลิกผันสถานการณ์ให้กลายเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ให้ได้ ถ้ามิใช่เช่นนั้นแล้ว ก็ถือว่าฝีมือยังไม่ถึงขั้น หรือกระดูกยังไม่แข็งพอ ถ้าเป็นแบบนั้นกระบวนการอาจจะล่มเอาง่ายๆ มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย เราลองดูในคลิปจะเห็นครูที่ “น็อตหลุด” และโถมอารมณ์หรือกระทำรุนแรงกับเด็กนักเรียน หรือกระบวนกรที่ควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ก็มีให้เห็นกันอยู่
ถามว่าเมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้จะทำอย่างไร พาร์กเกอร์ได้รวบรวมความกล้าไปพูดคุยกับเด็กคนนั้น คนที่ทำให้เขารู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง พูดอีกอย่างก็คือเด็กไปปลุกความกลัวบางอย่างในตัวเขาให้กำเริบขึ้น แต่พอได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวแล้ว พบว่าความกลัวดังกล่าวเป็นความกลัวที่ตัวเขาสร้างขึ้นเอง อย่างที่ ปีเตอร์ เซงกี บอกเอาไว้ว่า มันคือสิ่งที่เรียกว่า “บันไดแห่งการอนุมาน” อนุมานก็คือความคิดนั่นเอง เพราะอันที่จริง ที่เด็กแสดงออกเช่นนั้นเป็นเพราะเด็กก็มีความกลัวอยู่ลึกๆ เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองเห็นหรือไม่
ผมเคยเห็นกระบวนกรบางคนไล่ผู้เข้าร่วมให้กลับบ้านไป เพราะผู้เข้าร่วมมีทีท่าบางอย่างซึ่งต่อต้านตัวเขา ยังดีที่ผมไม่เคยทำอย่างนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยประสบกับสถานการณ์อันหมิ่นเหม่และท้าทายหลากหลายรูปแบบ แต่ข้อเรียนรู้ที่ผมได้กับตัวเอง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พาลเมอร์ยืนยันก็คือ ผู้สอนจะต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจในสิ่งที่สำคัญที่สุดเสียก่อนนั่นก็คือ “การรู้จักตัวเอง” อย่างลึกซึ้งทั้งด้านสว่างและมืด เพราะการสอนไม่ใช่เรื่องของเทคนิคหรือการเลียนแบบ มันไม่ใช่เรื่องว่าจะต้องมีตัวหนังสืออยู่ปริมาณไม่มากกว่ากี่เปอร์เซ็นต์ของสไลด์ มันไม่ใช่เรื่องการไปฝึกใช้เสียงดังกังวานจากช่องท้อง หรือไปฝึกท่ายืนที่ได้รับการอบรมมาจากสถาบันสอนบุคลิกภาพชั้นนำ หรือการปล่อยมุกเป็นครั้งคราวเพื่อเรียกเสียงฮา มันไม่ใช่ทั้งหมดที่กล่าวมา ข่าวดีก็คือ แต่ละคนสามารถเป็นครูที่ดีได้ โดยไม่ต้องไปปวดหัวกับเรื่องเทคนิคพวกนี้ แต่ความเป็นครูคือสภาวะของการดำรงอยู่ด้วยเนื้อหนังและกระดูกแห่งความเป็นครู ที่ใครจะเลียนแบบใครไม่ได้
ผมเคยได้ยินคำขวัญของคณะละครเพื่อการพัฒนาแห่งหนึ่งพูดว่า “ไม่มีเด็กที่เลว มีแต่ครูที่แย่” ซึ่งผมคิดว่าเป็นคำขวัญที่ฟังดูดี แต่มีข้อบกพร่องเชิงปรัชญาอย่างให้อภัยไม่ได้ ทำไมผมจึงพูดเช่นนั้น การบอกว่าไม่มีเด็กที่เลว นั้นคือตกไปอยู่ในกับดักของการ “เอานักเรียนเป็นศูนย์กลาง” ถ้านักเรียนเป็นศูนย์กลางแล้ว การเรียนการสอนก็ต้องลงเหวแน่นอน เพราะมันก็ไม่ต่างกับการบอกว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” เปลี่ยนคำสักหน่อยเป็น “นักเรียนคือพระเจ้า” ถ้าเราเชื่อแบบนั้น ชาตินี้โลกก็คงไม่มีทางได้เห็นไอโฟน เพราะสตีฟ จ็อบส์ ไม่เชื่อการวิจัยตลาด หรือการไปสอบถามว่าลูกค้าต้องการอะไร แต่เขาคิดค้นในสิ่งที่เป็นที่ต้องการของลูกค้าก่อนที่ลูกค้าจะรู้เสียอีกว่าต้องการสิ่งนั้น
ดังนั้นผมจึงขอยืนยันว่า “มีเด็กที่เลว” และอันที่จริง “เด็กทุกคนเลวหมด” เลวในที่นี้หมายถึงศักยภาพบางอย่างของเขายังไม่ได้รับการพัฒนาขึ้น เพราะถ้าหากเด็กทุกคนดีหมดแล้ว ครูก็หมดหน้าที่ คราวนี้มาดูท่อนที่สองของคำขวัญเจ้าปัญหานี้ “มีแต่ครูที่แย่” การพูดเช่นนี้ยิ่งทำให้คำขวัญนี้ผิดพลาดอย่างร้ายแรงขึ้นไปอีก เพราะเป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่าถ้าหากนักเรียนไม่พัฒนาแสดงว่าเป็นความผิดของครู ผมกลับเห็นว่ามันไม่ถูกที่จะไปโทษครูทั้งหมด มีคำกล่าวที่ว่าการสอนเด็กเพียงคนเดียวต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน ดังนั้นครูเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่ง และยิ่งนับวันก็เป็นปัจจัยที่มีผลต่อเด็กน้อยลงเรื่อยๆ หันกลับไปดูสภาพสังคมของเรา ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งเลือกตัวเองเข้ามาบริหารประเทศ ได้แต่พูดจากลับกลอกไปวันๆ ถ้าเด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมอย่างนั้นบ้าง การไปโทษที่ครูก็ไม่ถูก
พาล์มเมอร์เสนอทางเลือกที่ 3 คือการใช้ “วิชชา” เป็นศูนย์กลาง หมายถึงให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนเคารพ “วิชชา” ซึ่งก็คือความรู้ และนั่นก็หมายความว่าทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครจะต้องเคารพ “บุรุษ” และ “สตรี” ผู้ซึ่งมั่นคงต่อหลักการของความรู้ไปด้วย เฉก เช่นเดียวกับ นักบวช พระสงฆ์ โต๊ะอิหม่าม ที่เราเห็นอยู่นี้เป็นผู้สืบทอดธำรงไว้ซึ่งวิชาความรู้ทางศาสนา ดังนั้นเราจึงให้ความเคารพต่อบุคคลเช่นนั้นซึ่งอุทิศชีวิตของเขาไว้เพื่อการเผยแพร่ความรู้ซึ่งเป็นคุณประโยชน์ต่อชนรุ่นหลัง
ผมเองเพิ่งได้ไปเป็นผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการพัฒนาผู้นำระดับประเทศโครงการหนึ่ง ในการอบรมครั้งนี้เกิดวิกฤตขึ้นบางอย่าง เพราะผู้เข้าร่วมรู้สึกไม่เห็นด้วยกับกระบวนการบางอย่างของวิทยากรผู้นำกระบวนการ ผมบังเอิญได้อยู่ร่วมในวงสนทนาซึ่งมีผู้ที่แสดงตัวเป็นผู้นำของกลุ่มเสนอให้เปลี่ยนแปลงกระบวนการบางอย่างของวิทยากรกระบวนการ ซึ่งผมเองรู้สึกไม่เห็นด้วย จึงเสนอทักท้วงไปว่าการขอปรึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบางอย่างน่าจะทำได้ แต่การเปลี่ยนแปลงกระบวนการนั้นถ้าหากเสนอไปแล้วก็เท่ากับว่าเรากำลังเสนอตัวเองเพื่อไปเป็นผู้ดำเนินกระบวนการเสียเอง ซึ่งนั่นสำหรับผมเรียกว่าการ “ล้ำเส้น” หรือ ออฟไซด์ มันไม่ต่างอะไรกับการลงไปเล่นเป็นนักเตะอยู่ในสนามฟุตบอลแล้วบอกว่าจะขอไปเป่านกหวีดเป็นกรรมการเสียเอง
แต่เขาก็ยืนยันว่าจะต้องทำอย่างนั้น ซึ่งพอผมทักท้วงว่ามันอาจจะเป็นการไปทำร้ายความรู้สึกบางอย่างของอาจารย์ผู้ที่ทุ่มเทกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน แต่เขาให้เหตุผลว่า
“ตัวอาจารย์ที่เป็นวิทยากรเองก็ต้องเรียนรู้ที่จะเจ็บปวดด้วย”
ผมเองคงจะเป็นคนโบราณไปเสียแล้วที่รู้สึกว่าการจงใจทำเช่นนั้นเป็นเรื่องไม่สมควร เพราะตนเองลึกๆ ยังมีความเชื่อว่าถ้าเราเป็นศิษย์เราไม่ควรไปสั่งสอนอาจารย์ เพราะเป็นการ “ก้าวก่าย” ผิดหน้าที่ แน่นอนว่าผมก็ไม่ใช่คนที่เชื่อในเรื่องของการก้มหัวให้กับความอยุติธรรม หรือการกดขี่จากผู้ที่มีอำนาจมากกว่า แต่ในกรณีนี้มันคนละเรื่อง
ผมจำได้ตอนทำงานเป็นกระบวนกรฝึกหัดกับเทพกีตาร์ ผมรู้สึกไม่เห็นด้วยกับกระบวนการของเทพกีตาร์หลายอย่าง จนบางครั้งในระหว่างที่ทำกระบวนการอยู่ ผมแอบไปกระซิบสั่งสอนเทพกีตาร์ให้ทำนั่นนี่ มีอยู่ครั้งหนึ่งเทพกีตาร์ถือโอกาสสั่งสอนผมอย่างเจ็บแสบ พอผมเข้าไปให้คำแนะนำเขา เขาหยุดพูด หยุดทำกระบวนการ แล้วยื่นไมโครโฟนให้ผม แล้วพาตัวเองเดินไปหลังห้อง ตอนนั้นผมรู้สึกว่าโลกกำลังหมุนติ้ว พยายามทำกระบวนการต่อไปอย่างกระท่อนกระแท่น ตอนนั้นเอง ผมเข้าใจคำว่า “ก้าวก่าย” และเข้าใจคำว่า “เชื่อมั่นในกันและกัน” อันที่จริงประสบการณ์จากการแสดงสอนให้ผมวางใจต่อนักแสดงผู้อื่นบนเวที เพราะถ้าเราไม่วางใจ เราจะแสดงด้วยความเหน็ดเหนื่อยเพราะรู้สึกว่าจะต้องไปควบคุมทุกคนบนเวที ในหมู่นักแสดงจะรู้จักกันดีว่าพวกนักแสดงมือใหม่ หรือพวกที่ไม่มีครูบาอาจารย์ มักจะเผลอตัวไปกำกับนักแสดงคนอื่นในขณะที่ตนเองกำลังแสดงอยู่ ผู้กำกับบางคนใจดีอาจจะไม่ถือสา แต่ถ้าไปเจอผู้กำกับที่เขาเข้าใจเรื่องแบบนี้ นักแสดงคนนั้นจะต้องโดนด่าสั่งสอนทันที เพื่อไม่ให้ทำอีกในอนาคต ซึ่งถ้าเป็นนักแสดงที่ผมพูดและด่าได้ ผมจะด่าพวกนี้อย่างเจ็บแสบจนต้องจดจำ แต่ถ้าใครเป็นพวกเหลือขอ ผมก็จะปล่อย “ให้ไปหกล้มปากแตกในอนาคต”
ผมเองก็เคยเจอกับผู้ช่วยกระบวนกรที่คิดว่าตัวเอง “รู้มากกว่า” ผมก็เลยใช้วิธี “ประทานไมค์” ให้ไปเลย ผลปรากฏว่าเธอคุมเวทีไม่ได้ พอมาคุยกันภายหลังเธอจึงเข้าใจว่าทำไมผมจึงทำอย่างนั้น แต่สำหรับคนที่ไม่เข้าใจก็โกรธกันไปเลย ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้นก็ช่วยเหลืออะไรไม่ได้จริงๆ เพราะผมทำอย่างที่พาร์กเกอร์ เจ พาล์มเมอร์ เองก็คงจะต้องทำเช่นเดียวกัน ก็คือการเคารพ “วิชชา” ความรู้ และสำหรับคนที่เป็นครูอย่างแท้จริงจะเข้าใจว่านี่คือ “ความเจ็บปวด” ของคนที่เป็นครูซึ่งต้องทำในสิ่งที่ลูกศิษย์รู้สึกแย่ๆ แต่ทั้งหมดก็เพื่อที่ว่าจะเป็นปัจจัยให้กับลูกศิษย์ในอนาคตโดยที่เขาจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม