มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2551
บทความนี้ เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในความเห็นของผู้เขียน คือเป็นเรื่องของจิตวิวัฒน์ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของจิตสู่จิตวิญญาณ หรือสู่กระบวนทัศน์ใหม่ของมนุษย์แต่ละคนและของทุกๆ สังคม รวมทั้งที่บ้านเรา – ที่แม้จะเริ่มไปบ้างแล้ว แต่ยังน้อยนิดเกินไปเมื่อเทียบกับเวลาที่เราอาจมีเพียงแค่ ๒๒ ปี ตามที่ อาร์โนลด์ ทอยน์บี (Arnold J. Toynbee) ว่าไว้ (Quoted by Fritjof Capra in The Turning Point, 1982) – เป็นเรื่องยิ่งใหญ่จริงๆ ที่ไม่สามารถจะอธิบายอย่างสั้นๆ ได้ ผู้เขียนจึงเขียนซ้ำๆ เพื่อย้ำถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ซึ่งคนทั่วไปมักจะไม่เห็นหรือไม่มีเวลาคิด จะว่าไปแล้วเรื่องที่เขียน – แม้จะค่อนข้างหนักและกว้างใหญ่ไพศาล เพราะส่วนใหญ่มากๆ เป็นเรื่องของศาสนากับวิทยาศาสตร์ หรือเรื่องของจิตซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ตั้งอยู่บนความศรัทธาเพราะว่ามนุษย์มองไม่เห็น กับเรื่องจักรวาลที่เป็นกายวัตถุอันเป็นองค์ความรู้ที่ตั้งอยู่บนความจริง (ทางโลก เฉพาะที่ตาของมนุษย์มองเห็น)
แต่เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนย้ำนักย้ำหนาและเขียนมานาน คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิวัติสังคมวัฒนธรรมของมนุษยชาติ หาไม่แล้วมนุษย์จะเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการสูญพันธุ์ไปทั้งหมด ในสมัยช่วงหลังของทศวรรษ ๑๙๘๐ กับช่วงต้นๆ ของทศวรรษ ๑๙๙๐ ซึ่งผู้เขียนเริ่มเขียนบทความและหนังสืออย่างเป็นกิจจะลักษณะนั้น ที่ยุโรปตะวันตกกับสหรัฐอเมริกามีปัญญาชนที่เป็นนักคิดนักเขียนระดับแนวหน้า รวมทั้งสโมสร ชมรมทางวิชาการพากันพูดถึงหรือเขียนหนังสือแนวนี้ รวมทั้งแนวระบบนิเวศธรรมชาติกันมาก โดยเฉพาะเรื่องของปัญญาตะวันออก กับการเปลี่ยนแปลงจิตของปัจเจกชนและกระบวนทัศน์ของสังคมโลกโดยรวม ที่มนุษยชาติจะต้องมีขึ้นโดยเร็วให้ได้ ถ้าหากต้องการให้เผ่าพันธุ์อยู่รอด ซึ่งตรงกับความคิดและวิถีชีวิตที่ไม่เห็นด้วยกับหลักการวัตถุนิยมแยกส่วนและมองธรรมชาติเป็นใหญ่ของผู้เขียนอยู่แล้ว แต่ในช่วงเวลานั้นที่บ้านเราแทบไม่มีคนพูดกัน
เมื่อต้นปี ๒๐๐๘ นี้ เอกฮาร์ท โทลเลอ ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า โลกใหม่: การตื่นสู่ความมุ่งหมายของคุณ (Ekhart Tolle: New Earth: Awakening to Your Purpose, 2008) ทันทีที่วางขาย ก็กลายเป็นหนังสือขายดีที่สุดในอเมริกาไปและยังคงอยู่ในระดับนั้นต่อมาอีกหลายเดือน ผู้เขียนเข้าใจว่าอาจจะเป็นเพราะเหมาะสมกับช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันกำลังแสวงหาการเปลี่ยนแปลงวิถีของสังคม ที่ทำให้นายบารัค โอบามา แห่งพรรคเดโมแครต ที่ชูและย้ำเน้นนโยบายเช่นเดียวกันนั้น สามารถเอาชนะนายจอห์น แมคเคน แห่งพรรครีพับลิกัน ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไปอย่างถล่มทลาย
เอกฮาร์ท โทลเลอ ได้เขียนเอาไว้ว่า “เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตที่ร้ายกาจอย่างสุดกู่ ... สิ่งมีชีวิตแต่ละตัวหรือแต่ละเผ่าพันธุ์ หากว่าไม่ตายหรือสูญพันธุ์ไป ก็จำต้องเปลี่ยนตัวเองเหนือเงื่อนไขข้อจำกัดของตน ด้วยการ “ก้าวกระโดดทางวิวัฒน์” (Evolutionary leap) ... เพื่อสนองตอบต่อวิกฤตอันเลวร้ายเพื่อการ “อยู่รอด” – และนั่นคือสิ่งที่เผ่าพันธุ์มนุษยชาติกำลังถูกท้าทายอยู่ในขณะนี้และเดี๋ยวนี้ อันเกิดจากการล่มสลายของการทำหน้าที่คุ้มครองโลกที่เกิดจากจิตที่มีแต่ความอวดดีอหังการมมังการของเราเอง – ซึ่งรู้และสอนเตือนไว้โดยมหาปัญญาของครูโบราณเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว และบัดนี้ได้ตอกย้ำด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีว่าความอวดดีอหังการของมนุษย์นั้น ในที่สุดจะทำลายและทำร้ายดาวเคราะห์โลกของเราไป และจะแก้ไขได้ก็ด้วยการเปลี่ยนทางจิตวิญญาณเท่านั้น กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เองที่บางคนเริ่มที่จะรู้และปฏิบัติเช่นนั้น เหตุผลที่ประชากรโลกโดยทั่วไปยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณในตอนนี้ เพราะว่าส่วนใหญ่มากๆ ยังไม่รู้กัน หรือยังไม่ถึงเวลาถูกบังคับด้วยความทุกข์เข็ญลำเค็ญอย่างแท้จริง (imperative)”
ทำไม? เราส่วนใหญ่มากๆ ของโลกถึงไม่รู้ หรือว่าเราจะต้องรอคอยความทุกข์ยากลำเค็ญจริงๆ มาถึงเสียก่อน? รอคอยการถูกบังคับเสียก่อนถึงจะเปลี่ยนแปลงจิตวิญญาณและเปลี่ยนสังคมของเรา? เหตุผลก็คงเป็นไปตามความเห็นของชาวโลกในหลายๆ ประเทศที่บอกกับ ดเวน เอลยิ่น ในบทความก่อนหน้านั่นแหละ – เพราะว่ามนุษยชาติยังเป็นเด็กวัยรุ่น (Adolescence) และยังคงยึดมั่นในหลักการแยกส่วนและวิทยาศาสตร์กายภาพที่ตรงกับการรับรู้แต่ภาพลวง (ที่คิดว่าจริง) ของเรา หรือดังที่บรรณาธิการบริหารของโครงการการเปลี่ยนแปลงอนาคตของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางจิตได้สรุปไว้ (The 2008 Shift Report, Institute of Noetic Science) ว่า “วิทยาศาสตร์แยกส่วนของเรากล้าหาญชาญชัยถึงกับทำให้ความจริงกลายเป็นสิ่งง่ายๆ โดยการแยกย่อยธรรมชาติทุกๆ อย่างให้เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ พอที่มนุษย์สามารถจัดการได้” ตัวอย่างเช่น
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2551
ทุกวันนี้สังคมโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากเหลือเกิน ทำให้มนุษย์ต้องคิดหนักซึ่งเป็นธรรมชาติของชีวิตที่ต้องเอาตัวให้อยู่รอด เพื่อทำหน้าที่ของตัวเองหรือของเผ่าพันธุ์สปีชีส์นั้นๆ ให้อยู่รอดตามไปด้วย แต่น่าเสียดายและน่าเสียใจที่สภาพโลกที่อยู่เบื้องหลังสังคมเราที่เปลี่ยนไปมากนี้กำลังเสื่อมสลาย ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความล่มสลายของโลกธรรมชาติอย่างสิ้นเชิงจริงๆ นั้น เกิดขึ้นจากน้ำมือของเราแท้ๆ ดังที่นักวิทยาศาสตร์ของคณะทำงานไอพีซีซีกว่า ๒,๕๐๐ คนจากมากกว่า ๑๐๐ ประเทศบอกเรา เรา - โดยเฉพาะในประเทศด้อยและกำลังพัฒนาทั้งหลาย ตามการสำรวจโพลเมื่อเร็วๆ นี้ ต่างพากันไม่เชื่อว่า โลกร้อนจะเกิดจากความสุขสนุกสะดวกสบายและปลอดภัยที่เรามีด้วยเทคโนโลยีเพื่อหนีความทุกข์ ส่วนใหญ่มากๆ เชื่อว่าไม่ได้เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ แต่กลับคิดว่า เป็นไปตามจังหวะหรือวัฏจักรธรรมชาติธรรมดาๆ ของโลก นั่นคืออันตรายจากการไม่รู้แต่คิดว่ารู้ของเราที่คิดว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัตถุนิยมจะสามารถช่วยรักษาเผ่าพันธุ์ของเราให้อยู่รอดได้ แต่จงอย่าลืมว่า ข้อมูลจากแหล่งที่มามากมาย รวมทั้งจากองค์การสหประชาชาติ ต่างชี้บ่งเหมือนๆ กันว่าประชากรของชาติด้อยและกำลังพัฒนานั่นเอง จะเป็นสังคมที่จะได้รับความทุกข์ทรมานจากภัยต่างๆ ที่สืบเนื่องมาจากความล่มสลายหายนะของสิ่งแวดล้อม และจากเทคโนโลยีเพื่อความสุขสนุกสะดวกสบายและปลอดภัยแต่เฉพาะแต่รูปกายเรา โดยไม่รู้ว่าความสุขแท้จริงเป็นความสุขจากภายในที่ชี้นำ
ในระยะสี่ห้าปีมานี้ บ้านเราหรือทั้งโลกได้กำลังเผชิญอยู่กับหลายต่อหลายปัญหาซึ่งได้กลายเป็นวิกฤตชนิดที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน หรือไม่เราก็ผลักไปให้ผู้อื่นหรือโทษคนอื่นกระทั่งชาติอื่น เพราะว่า “ตัวกูของกูกระทั่งชาติกู” ไม่เคยผิด นั่นเป็นวิกฤตและปัญหาชนิดที่มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นที่ใดและภูมิภาคไหนของโลกในขณะหนึ่งขณะใด ต่างก็มีกันทั้งนั้น คือ รู้สึกว่าปัญหาของสังคมมนุษย์เพิ่มทวีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าใครจะเป็นคนพูดคนเขียนและพูดเขียนที่ไหนเมื่อไหร่? นั่น – แปลว่าอย่างไร? สำหรับผู้เขียน นั่น – แปลว่า ระบบและโครงสร้างของสังคมโลกที่เรามีอยู่ รวมทั้งวิถีชีวิตที่เราใช้นำชีวิตนั้น มันผิดมาทั้งหมดเลย อย่างน้อยก็ผิดมาตั้งแต่การรับรู้ (perceive) โลกและเรียนรู้ชีวิตจากองค์ความรู้ที่ตั้งบนวิทยาศาสตร์วัตถุนิยมแยกส่วน แต่กระนั้นเราก็ยังไม่รู้สึก ยังคงวิถีชีวิตเดิมๆ โดยรังแกธรรมชาติมาเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดธรรมชาติทนต่อไปไม่ไหว และเริ่มตอบโต้ด้วยมาตรการต่างๆ ด้วยภัยต่างๆ มากขึ้นและรุนแรงหนักหน่วงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับว่าวิกฤตได้เดินทางมาถึงจุดจบจุดสิ้นสุดในช่วงปัจจุบันวันนี้แล้ว โดยที่เราหมดหนทางหมดปัญญาที่จะแก้ไขหรือแม้แต่จะบรรเทาให้เบาบางลงได้ด้วยความคิดและประสบการณ์เก่าๆ ของเรา ตามที่ไอน์สไตน์ว่าไว้
โดยเฉพาะหลังจากความแตกแยกของประชาชนคนไทยซึ่งเห็นได้ชัดเจน ชนิดที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ซ้ำเติมมหาภัยอื่นๆ อย่างที่เรารู้ๆ กัน ความขัดแย้งแตกแยกที่เริ่มต้นด้วยระบบการเมือง “ระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตยตัวแทนที่ได้จากการเลือกตั้งทั่วไปเพียงวิธีเดียว หรือเราจะเรียกว่าประชาธิปไตยเฉยๆ ก็ได้” ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว ผู้เขียนคิดว่า คำว่าประชาธิปไตยเฉยๆ หมายถึงการผ่านการเลือกตั้งหรือการเป็นสมาชิกสภาผู้แทน “อันทรงเกียรติ” เท่านั้น ซึ่งมักจะได้คนเก่าๆ เดิมๆ ในกลุ่มผู้สมัครราว ๓,๐๐๐ คนของประชากรของประเทศไทยร่วม ๖๕ ล้านคน หรือคนที่เป็นวงษาคณาญาติ เช่น ภรรยาสามีของผู้แทนคนเก่าคนเดิมที่ไม่มีโอกาสสมัครผู้แทนได้อีก ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด
นั่นคือระบบที่มักอ้างกันว่าดีที่สุด แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์นักสำหรับการเมืองการปกครองของสังคมมนุษย์โลกในปัจจุบัน ทำให้ผู้เขียนอดไม่ได้ต้องแสดงความคิดความเห็นกับเขาบ้าง ในฐานะนักคิดนักเขียนที่เขียนแต่เรื่องที่คนทั่วไปคิดว่าทั้งไกลตัว หรือค่อนข้างหนักๆ มานาน จริงๆ แล้วในความคิดเห็นส่วนตัว ระบบประชาธิปไตยตัวแทนที่ได้จากการเลือกตั้งทั่วไปเพียงครั้งเดียว หรือประชาธิปไตยเฉยๆ ที่ใช้อยู่นี้ เป็นกระบวนการที่ผิดธรรมชาติอย่างแรงมากๆ เพราะเป็นการมองหรือประเมินตามที่ตาเห็นว่า หากว่าเป็น “คน” ที่บรรลุนิติภาวะ เป็นผู้ใหญ่ที่เกิดในสังคมนั้นๆ แล้ว ไม่ว่าจะซื่อบื้อ หรือเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่แต่กับอบายมุข หรือเป็นนักเลงโตคนชั่วร้าย แต่จับไม่ได้เพราะไม่มีใบเสร็จ ฯลฯ แล้ว ย่อมมีสิทธิที่เท่าเทียมกันทั้งหมด และมีสิทธิที่จะเลือกตั้งได้โดยการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งสำหรับบ้านเรา จะจัดให้มีขึ้นเพียงครั้งเดียว นั่นเป็นสังคมมนุษย์รวมทั้งสังคมไทยในปัจจุบันอันเกิดจากกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผิดธรรมชาติ ซ้ำเติมด้วยภัยธรรมชาติที่มีแต่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
สรุปเท่าที่เขียนมาวันนี้ รวมทั้งหลักๆ ที่ผู้เขียนเขียนมาตลอดเวลาอันยาวนาน คือ มนุษยชาติกำลังแย่ลงมากขึ้นทุกๆ วัน จนบัดนี้ได้มาถึงปลายทางกำลังจะตกเหวอยู่รอมร่อ โดยเฉพาะคนที่อยู่ข้างหน้าสุดจากการผลักดันของผู้ที่อยู่ข้างหลัง คือ ผู้ยากจนและผู้ยากไร้ในประเทศด้อยและกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ยังขาดวุฒิภาวะหรือไร้โอกาสที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และผู้ที่ยังเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีจังหวะของมัน “อีกหน่อยสิ่งต่างๆ ก็จะกลับมาเหมือนเดิม” (เมืองนอกเขาจะเรียกว่า BAU หรือ Business as usual) ซึ่งขอยืนยันว่า “ไม่มีทาง”
ส่วนสาเหตุที่เราเลือกที่จะเดินทางเส้นนี้ เพราะว่าเราทั้งเผ่าพันธุ์เลย ยังเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่ยังไม่แตกพานด้วยซ้ำดังที่ ดเวน เอลยิ่น ว่า คนส่วนใหญ่มากๆ ในโลก มากกว่าครึ่งค่อนที่ยืนอยู่ที่ปากเหวเหล่านี้ อะไรๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวของตัวเองหรือโลกรอบๆ ตัวก็ไม่รู้สักอย่าง นอกจากเรื่องที่เป็นความสุขสนุกสะดวกสบายและความปลอดภัยแล้ว ก็ไม่สนใจหรือรับรู้อะไรทั้งนั้น เพราะเชื่อว่ากูรู้หมดแล้วจึงไม่มีทางเชื่อใคร คนเหล่านี้จึงช่วยไม่ได้ที่ต้องตกเหวตายกันทั้งหมด
ส่วนที่เหลือไม่มากนัก คือผู้ที่ไม่รู้เหมือนกัน แต่พร้อมที่จะเรียนรู้และแสวงหาข้อมูลอย่างไม่หยุดหย่อน และข้อมูลการเรียนรู้หนึ่งในนั้นคือ จิตตปัญญาศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากภายใน (Transformation education) สร้างสรรค์ปัญญาที่ได้จากการภาวนา (Wisdom or Intuition) ซึ่งขณะนี้มีสถาบัน มีชมรม มีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมากมาย เช่น มหิดล จุฬาฯ อาศรมศิลป์ ฯลฯ ที่เปิดสอนอยู่ในขณะนี้หรือในเร็วๆ นี้ ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ
อย่าลืมว่าการสร้างสรรค์จิตสู่จิตวิญญาณ เพื่อการผ่านพ้นหรือก้าวล่วง (Spirituality and transcendence) นั้น เป็นสาระที่สำคัญที่สุดและเป็นแก่นแท้ของทุกๆ ศาสนาและวัฒนธรรมโลก นั่นคือบันไดที่นำมนุษย์ไปสู่วิมุตติ การ “รู้แจ้ง” ที่เชื่อว่านั่นคือเป้าหมายสุดท้ายของจักรวาล
ผู้เขียนรู้ว่า จักรวาลวิทยาใหม่ไม่ได้มีสิ่งใดที่จะสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ของจักรวาลได้ทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่ได้ ความรู้ที่เป็นความจริงตามที่มนุษย์สังเกตทั้งด้วยตากับเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดหรือยอมรับกันว่าเป็นวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนั้น มีจำนวนมากเหลือเกินที่ไร้เหตุผลโดยสิ้นชิง ตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างอายุของอุบัติกาลของจักรวาลกับอายุของกำเนิดการทางชีววิทยาของเผ่าพันธุ์สปีชีส์ของมนุษย์ สัดส่วนจะเท่ากับประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ : ๑ คือ จักรวาลมีขึ้นเมื่อร่วม ๑๔ พันล้านปี ในขณะที่มนุษย์ (โฮโมซาเปียนส์) มีขึ้นมาในโลกเพียง ๑๕๐,๐๐๐ ปี คิดคร่าวๆ ตามหลักสถิติคือประมาณ ๑ แสนเท่า
ริชาร์ด ก็อตต์ นักฟิสิกส์ชื่อดังชาวอังกฤษ ทำนายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ถึง ๙๕ % ให้สัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท ว่ามนุษยชาติจะหายสาปสูญไปทั้งเผ่าพันธุ์ (Richard Gott: Gott’s Prediction, Wall Street Journal, Jan.1 2000) ภายในอย่างน้อย ๕,๑๐๐ ปี (อย่างมากเกือบๆ แปดล้านปี) โดยคำนวณจากความน่าเป็นไปได้อย่างที่สุดจากความสัมพันธ์ระหว่างอายุของจักรวาลกับอายุที่โลกมีมนุษย์คนแรกขึ้นมา อีกตัวอย่างหนึ่งโดยเหตุผล ด้วยอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง สสารวัตถุที่ประกอบเป็นจักรวาล น่าจะถูกแรงโน้มถ่วงดึงดูดเข้ามาหากันและสุดท้ายรวมกันแน่นหดเล็กๆ ลงๆ เรื่อยๆ จนหดฟุบแฟบ หรือระบิดเป็นซุปเปอร์โนวา (Collapsed-supernova) แต่ทว่าแรงโน้มถ่วงที่ดึงดูดสสารวัตถุให้เข้ามาหากันนั้น มันเกิดพอดีกับแรงผลักจากพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นมาจากกระบวนการเทอร์โมนิวเคลียร์จากภายในดวงดาว (เช่น ดวงอาทิตย์ของเรา) ราวๆ ๑,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ ล้านดาว ซึ่งจักรวาลของเรามีเท่านั้นพอดี
อีกตัวอย่างหนึ่ง เรามีค่าตัวคงที่ (Natural constant) ที่ทำให้เราสามารถคำนวณและเรียนรู้จักรวาลได้อย่างที่ยอมรับกัน แต่จากข้อมูลจากคณิตศาสตร์ที่เรามีในขณะนี้ ตัวคงที่อันเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาให้เราค่อยๆ ค้นพบนั้น ซึ่งทุกวันนี้เราค้นพบมาเรื่อยๆ นับเป็นร้อยๆ ตัวแล้ว จะมีค่าคงที่ที่กำหนดและควบคุมการเปลี่ยนแปลง (หรืออนิจจตา) ของสรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ทั้งหมดของจักรวาล แต่เราไม่รู้เลยและเป็นไปได้ที่เราไม่มีทางจะรู้ไม่ว่าเมื่อไร? ถึงเหตุผลว่าทำไม? มันจึงเป็นเช่นนั้น? นั่นคือ ทำไม? สรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ของโลกของจักรวาลถึงได้ไหลเลื่อนเปลี่ยนแปลงโดยเชื่อมโยงกับทั้งหมด เว้นแต่ค่าตัวคงที่ของธรรมชาติซึ่งมีหน้าที่กำหนดควบคุมให้มีการเปลี่ยนแปลงหรืออนิจจตานั้นๆ หรือว่าจะมีสิ่งที่เป็นที่สุด คอยกำหนดและควบคุมสรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ของจักรวาลที่คงที่และเสถียรตลอดกาล หรือเป็นธรรมชาติของธรรมชาติ ซึ่งแน่นอน จะต้องมีสิ่งที่เป็นที่สุดของที่สุด ไม่ว่าสิ่งนั้นๆ เราจะเรียกว่าอะไร? เป็นนิพพานหรือพุทธะ เป็นเต๋า หรือเป็นพระเจ้าในนามใด??
มีตัวอย่างเช่นนี้อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่มีเหตุผลจริงๆ ทั้งจะอธิบายด้วยความขี้เกียจหรือเห็นไกลตัวว่าบังเอิญก็เกินไป เพราะว่ามันมีเป็นพันเป็นหมื่น สู้เรื่องของความแตกแยกกันของคนในชาติไม่ได้ หรือเรื่องของประชาธิปไตยตัวแทนและระบบรัฐสภา คือประชาธิปไตยเบ็ดเสร็จ กับการปฏิวัติรัฐประหาร ที่ไม่ได้ความทั้งคู่ไม่ได้ว่า เราจะเอาอันไหน? หากว่าการแสวงหาการแก้ไขที่ทุกคนทั้งในชาติและในโลกสามารถอยู่ร่วมกันได้รอดจริง มีความสุขจริงๆ โดยไม่ต้องมีเงินหรือทรัพย์สินเลย หรือโยนทิ้งไปเสียทั้งหมดซึ่งระบบทุนนิยมเสรีที่เน้นการ “บริโภคโยนทิ้ง” ที่แม้จะยากสุดยาก ก็เป็นไปได้ แล้วหันไปสู่ความสำคัญที่ภายในจิตตปัญญาศึกษา (Comtemplative education) ความสุขที่อิ่มเอมสงบสงัดที่จะนำไปสู่การเรียนรู้เปลี่ยนแปลงของตนเอง (Transformative learning) ซึ่งโดยหลักการก็คือ การทำสมาธิฝึกสติที่มีปฏิบัติกันอยู่ในทุกๆ ศาสนาทุกๆ วัฒนธรรมที่เสมอๆ กัน - รวมทั้งที่นายบารัก โอบามา ที่อยากทำหรืออยากปฏิวัติเปลี่ยนสังคมของอเมริกาจนได้เป็นประธานาธิบดี - ไม่มีใครเหนือกว่าใคร โดยไม่จำเป็นต้องเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย
โดย นพ.วรวุฒิ โฆวัชรกุล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2551
เช้าวันที่ ๖ ตุลาคม เช้าดีๆ ได้ไปร่วมประชุมจิตวิวัฒน์ ฟังอาจารย์เสกสรร ประเสริฐกุล เล่าเรื่องการต่อสู้ภายใน การแสวงหาด้านจิตวิญญาณ คุ้มค่ากับการถ่อสังขารลงไปฟังอาจารย์สองชั่วโมง เสียดายที่ได้ฟังแค่นั้น เพราะเที่ยวบินเที่ยวเช้าไปถึงเวลาเริ่มประชุมพอดี อาจารย์เสกสรรเป็นฮีโร่ทางการเขียนหนังสือของผมมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อาจารย์เขียนโดยใช้ภาษาที่คมและสวยงาม มักอธิบายความรู้สึกที่ผมรู้สึกเช่นกัน แต่เขียนบรรยายไม่ได้ออกมาได้อย่างสวยงาม
สิ่งที่ผ่านยากที่สุดในชีวิตด่านหนึ่ง ก็คือการติดดี การคิดว่าตัวเองเป็นนักรบแห่งมโนธรรม เมื่อเราคิดว่าเราคิดดีคิดประเสริฐกว่าคนอื่น สิ่งที่ตามมาก็คือการตัดสินคนอื่น ว่าด้อยกว่า เลวกว่า แล้วเราก็จะจัดการคนอื่น นั่นคือสภาพสังคมปัจจุบัน ที่บางคนออกมาทำอะไรแล้วคิดว่าตัวเองถูก คนที่ไม่ออกมาคือผิด หรือแหย ขี้กลัว ทั้งที่คนที่ออกมาพูดอย่างนั้น ก็เคยขี้ขลาดหนีตายมาแล้วในอดีต เมื่อเพื่อนเดินออกไปสู่สงคราม คอยยุให้คนเดินไปตายเพื่อเป้าหมายของตนเอง เป็นคนเชียร์นี่มันสนุกกว่า แต่ความตายและแขนขาขาดเป็นเรื่องจริง
เมื่อพ้นยุคสมัยนี้ไปแล้ว บางทีความตายและการเสียอวัยวะเพื่ออะไรนี่ มันอาจชัดเจนขึ้น จนกระทั่งมีคำถามว่า “เพื่ออะไร” สติเป็นเรื่องสำคัญ การรู้ตัวก็เป็นเรื่องสำคัญ การฆ่าฟันในรวันดา ในเขมรสมัยก่อน ก็มีจุดเริ่มต้นที่เรื่องราวแบบนี้ มีคนชั่วและคนดี ยังมีหนทางอื่นในการดูแลผู้คน นอกจากการออกมาเอาชนะกัน พูดอย่างนี้ไม่ได้บอกว่าใครถูกใครผิด ถ้าจะมีใครตัดสินผมว่าเป็นคนแบบไหน อันนี้เป็นสิทธิและเป็นปัญหาของคนๆ นั้น ซึ่งการที่ผมหรือเราจะเป็นอะไร มีแต่เราที่รู้อยู่ ไม่จำต้องเป็นอย่างเขาว่า หรืออยากให้ใครเขาชื่นชม
วันที่ ๗ ตุลาคม วันถัดมา ความรุนแรง ความแค้น ความขัดแย้ง ความกลัว แพร่สะพัดไปทั่วประเทศ ผู้คนเริ่มรู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง เราต้องเลือกข้าง เราจะไม่… และอื่นๆ อีก ลูกสาวและลูกชายผมนั่งดูทีวีอยู่ แล้วก็ถามว่า “ป๊า เค้าทะเลาะกันทำไมเหรอ ทะเลาะกันนี่ต้องฆ่ากันด้วยหรือ” ผมไม่รู้ว่าเราจะสอนลูกของเราอย่างไรว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่ถูกต้อง การเอาชนะด้วยการฆ่าฟันเป็นเรื่องถูกต้องหรือ แล้วจะสอนเรื่องเมตตากันอย่างไร การอภัยกันอย่างไร แววตาของลูกทั้งสองไม่เข้าใจ
เด็กอีกหลายล้านคนในประเทศนี้ จะถูกอธิบายเรื่องราวนี้กันอย่างไร เมื่อไปโรงเรียน พวกเขาจะทะเลาะกันด้วยเรื่องที่พ่อแม่อธิบายไม่เหมือนกันหรือเปล่า เมื่อพ่อแม่ของพวกเขาเลือกข้าง แล้วการทะเลาะของพวกเขาจะจบลงด้วยความรุนแรงเหมือนที่ปรากฏตามทีวีทุกช่องหรือเปล่า เรากำลังหน้ามืดตามัวกับการเอาชนะกัน จนลืมเป้าหมายที่แท้ของการออกมาทะเลาะกันหรือเปล่า และเราก็ไม่ได้ดูแลคนรุ่นต่อไปว่าจะเติบโตกันอย่างไร
ถ้าเราฝังใจกับมันมาก ขอให้ดูสิ่งที่เห็นให้เป็นอนิจจัง หลายคนในรัฐบาลที่ผ่านมา เป็นนักศึกษาที่ถือไม้และมีมือเปล่าออกไปสู้ปืน เพื่อประชาธิปไตยและประชาชน บนท้องถนน และก่นด่ารัฐบาลว่าปราบประชาชน เมื่อปี ๒๕๑๖ ปี ๒๕๑๙ คนๆ เดียวกันที่เคยก่นด่าระบบและออกไปประท้วงรัฐบาลเมื่อก่อน บัดนี้เป็นรัฐบาล และบอกว่าการที่รัฐบาลปราบประชาชนคือความถูกต้อง และเพื่อรักษาประชาธิปไตย ไอ้พวกที่ออกมาประท้วงนี่เป็นพวกกบฏ เช่นนี้แล้ว ความถูกต้องก็คือที่ๆ เรายืนอยู่ ไม่ใช่ความถูกต้องแท้ที่ไม่ขึ้นกับที่ๆ เราอยู่ สักวันหนึ่งข้างหน้า คนที่ออกมามีบทบาทบนท้องถนนวันนี้ ก็อาจจะเป็นรัฐบาลและปราบประชาชนเช่นเดียวกับที่ตนเคยก่นประณาม เช่นนั้นแล้ว เรากำลังทำอะไรกันอยู่ และเราจะเสียสละชีวิตของเราเพื่อสิ่งใด
คืนนั้น ผมพาลูกเข้านอน ลูกสาวถือหนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่งมาให้ผมอ่านให้ฟังก่อนนอน หนังสือเล่มนั้นชื่อเรื่องเล่าที่ประทับใจอะไรประมาณนั้น เธอขอให้เล่าเรื่องสุดท้ายของหนังสือให้ฟัง
เรื่องการส่งต่อความรัก
เรื่องนี้เกี่ยวกับคุณยายกับหลานสาว คุณยายเสียคุณตาไป โลกของคุณยายก็หม่นหมองลง หลานสาวบรรยายความรู้สึกในการเดินไปบ้านยายทุกครั้ง เหมือนเดินไปใต้ต้นไม้ที่มืดครึ้ม ในวันอันขมุกขมัวของฤดูใบไม้ร่วง
วันหนึ่งเมื่อเธอเดินไปบ้านคุณยาย ในใจของเธอก็นึกหน้าคุณยายที่อมทุกข์หน้าตาเศร้าหมอง แต่ทว่าเมื่อเปิดประตูเจอหน้ายาย ยายของเธอใบหน้าสดใสยิ้มแย้มเหมือนมีรัศมีเปล่งประกายออกมา
“เกิดอะไรขึ้นคะคุณยาย ทำไมคุณยายถึงหน้าตามีความสุขอย่างนี้”
“ยายเข้าใจแล้วหลานรัก ยายเข้าใจแล้วว่าทำไมตาทิ้งยายไป”
“ทำไมล่ะค่ะ”
“เพื่อให้ยายมีโอกาสได้รักคนอื่นไงล่ะหลานเอ๋ย ต่อนี้ไปยายจะมอบความรักให้แก่ทุกคนโดยไม่เลือกว่าเขาเป็นใคร”
จากนั้นคุณยายก็ทำตามที่คุณยายว่า เมื่อหลานสาวได้มาเยี่ยมคุณยายอีก คุณยายก็เล่าเรื่องการส่งต่อความรักให้ฟังว่า คุณลุงของหลานแวะมาและเล่าเรื่องที่กังวลใจมากมาย ทั้งโกรธและเศร้าใจ ยายก็รับฟังอย่างสงบ เมื่อคุณลุงเล่าเรื่องจนหมดและดูใจเย็นลง ก็ลากลับบ้าน วันต่อมาคุณลุงเอาขนมเค้กก้อนโตมาให้คุณยาย คุณยายก็เอาออกไปให้คนยากจนสิบกว่าคนได้กินขนมอร่อยไป จากนั้นคนสิบกว่าคนก็มาช่วยคุณยายทำสวน หาดอกไม้สวยๆ มาปลูก ทำให้คนที่เดินผ่านไปมามีความสุข และคนเหล่านั้นก็ไปทำเรื่องดีๆ ต่อๆ กันไปอีก
คุณยายมีความสุขกับการเล่าเรื่องราวเหล่านั้น และยังส่งต่อความรักไปทุกวัน
จวบจนคุณยายเข้าโรงพยาบาล วันสุดท้ายของชีวิต หลานสาวมาเยี่ยมคุณยายตามปกติ แต่เมื่อไปถึงห้องคุณยาย หลานสาวก็ใจหายเมื่อพบกับเตียงที่ว่างเปล่า เธอรีบเดินออกมาพบกับคุณพยาบาล
“ยายเป็นอะไรไปหรือเปล่าค่ะ”
คุณพยาบาลโอบไหล่เธอและพาไปยังหน้าต่างที่มีแสงสว่างสาดส่องเข้ามา
“คุณยายของหนูได้พบกับความสงบแล้ว ก่อนที่คุณยายจะสิ้นลม ได้ขอน้ำพี่แก้วหนึ่ง พี่คิดว่าคุณยายคงกระหายน้ำ แต่คุณยายเอาน้ำแก้วนั้นไปรดที่กระถางต้นไม้ข้างหน้าต่างซึ่งกำลังเหี่ยวเฉา แล้วบอกว่า ถ้าหลานยายมา บอกหลานยายด้วยนะว่ายายไม่ได้ไปไหน ยายรดน้ำให้ต้นไม้นี้เพื่อให้มันเติบใหญ่ และเมื่อเติบใหญ่ ขอให้คุณพยาบาลย้ายมันไปปลูกในป่า เพื่อให้มันโตให้ความร่มรื่น และให้ผู้คนได้อาศัยร่มเงาของมัน ได้นั่งพูดคุยกันถึงเรื่องความรักที่ต่างคนได้ส่งมอบให้กันและกัน ส่วนยายไม่ได้ไปไหนหรอก ยายจะเป็นแสงสว่างที่จะส่องมาให้ต้นไม้ต้นนี้เติบโต และยายจะเป็นแสงสว่างที่ส่องมายังมันอีกเมื่อมันเป็นต้นไม้ใหญ่ให้ผู้คน เพื่อเป็นแสงสว่างและแรงบันดาลใจให้ผู้คนต่างๆ ส่งมอบความรักต่อๆ กันไป บอกหลานยายด้วยนะ”
พูดจบทั้งคุณพยาบาลและหลานสาวก็ยืนนิ่งริมหน้าต่าง ให้แสงสว่างที่ส่องเข้าอาบไล้ร่างกาย และทั้งคู่ก็รับรู้ถึงความอบอุ่นที่ปรากฏในหัวใจ และเข้าใจความหมายของชีวิตว่าเกิดมาเพื่อสิ่งใด
ผมไม่รู้ว่านิทานเรื่องนี้จะช่วยเยียวยาลูกทั้งสองได้ไหม จากคราบไคลของความรุนแรงที่ปรากฏ แต่ผมมีความหวัง เพราะความรักมีอานุภาพมากกว่าความแค้นและความเห็นแก่ตัว ท่ามกลางบรรยากาศที่ความรุนแรงแฝงอยู่ในอณูของอากาศ ผมเชิญชวนทุกท่านส่งต่อความรักครับ ส่งต่อกันไปเพื่อเราทุกคน
โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2551
ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีโฆษณาแป้งน้ำทางโทรทัศน์ ว่าด้วยแม่มดใจร้ายส่องกระจกแล้วถามว่า “กระจกจ๋าบอกข้าเถิด ใครงามเลิศในปถพี...” กระจกตอบไม่ตรงใจก็โกรธมาก ยิ่งโกรธหน้าตาท่าทางที่อัปลักษณ์อยู่แล้วก็น่าเกลียดมากขึ้น
ผู้เขียนจำได้ว่าเคยถามแม่มดอยู่คนเดียวว่า เธอส่องกระจกอยู่แล้ว มองไม่เห็นเงาตนเองหรือ ความริษยาพยาบาทมันบังตาหมดสิ้นหรืออย่างไร
เวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน มีคนจำนวนมากที่เหมือนแม่มดที่อยู่ในโฆษณานั้น ส่องกระจกทุกวันก็มองเห็นรูปลักษณ์ของตนเองเพียงผิวเผิน และที่มองไม่เห็น คือความคิดและจิตใจของตนเอง ว่าแจ่มใส งดงาม หรือ ขุ่นมัว เต็มไปด้วยอคติ โง่เขลา
คนที่น่าสงสาร คือพวกที่มีชีวิตโลดแล่นไปตามเส้นทางที่เลี้ยวลดคดเคี้ยว ถูกหลอกล่อด้วยความหลงผิด คิดแค้น มุ่งแต่จะทำลายล้างผู้อื่นเพื่อแย่งชิงอำนาจ ตำแหน่ง และความมั่งคั่ง คนพวกนี้มองไม่เห็นตัณหาและพฤติกรรมที่ผิดของตนเอง ด้วยมีอคติมาบังตา แต่จะมองเห็นความผิดพลาดและความชั่วของคนที่เขาเกลียดชัง แต่ละวันก็เฝ้าแต่ขุดคุ้ยข่าวร้ายออกมาประจาน ยิ่งถ้าคนประเภทนี้แบ่งแยกออกเป็นหลายฝ่าย การโจมตีกันด้วยวาจาและอาวุธ ก็สรรหามาสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย
เชื้อปะทุของความขัดแย้ง เกิดขึ้นจากอคติ ๔ คือ ความลำเอียง เพราะชอบ เพราะชัง เพราะหลงผิด และเพราะความกลัว
ความรุนแรงในสังคมไทยทุกวันนี้ เกิดขึ้นจากความหลงผิดอันเป็นโมหาคติ ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้แปลไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ว่า prejudice caused by delusion or stupidity เราขาดหลักการและวิธีการที่จะค้นคว้าหาความจริงเพื่อนำมาเป็นฐานของการคิด ตัดสินใจ และปฏิบัติการเคลื่อนไหว สันติธรรมซึ่งเป็นหลักการสำคัญ และวิธีการเสวนาอย่างเปิดใจกว้าง ได้ถูกละทิ้งและถูกบดบังด้วยอคติ คนไทยส่วนใหญ่จึงตกอยู่ท่ามกลางสงครามวิวาทะ พูดเอาดีใส่ตัว พูดเอาชั่วใส่คนอื่นอยู่ทุกคืนทุกวัน
ความขัดแย้งในสังคมไทยที่กำลังแบ่งฝ่ายแบ่งสีกันขณะนี้ ข่าวสารได้กลายเป็นอาวุธสำคัญ ที่สื่อให้คนไทยส่วนใหญ่ได้รู้ว่าใครกำลังทำอะไรดีหรือชั่วในบ้านเมืองของเรา แต่ข่าวสารเหล่านั้นมีความจริงหรือไม่ เป็นเครื่องมือของฝ่ายใด เราควรเชื่อทั้งหมด หรือควรตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างไร การรับข่าวสารจึงต้องคิดพิจารณาทบทวนระหว่างบรรทัด ค้นหานัยที่แฝงและซ่อนความประสงค์ดีหรือร้ายในการสร้างข่าวหรือรายงานเหตุการณ์เหล่านั้น ก่อนที่จะตกเป็นเหยื่อของข่าว
การปะทะกันของข่าวจากคน ๒ สี สร้างความสับสนให้แก่คนที่ไม่มีสีอย่างที่สุด กลุ่มเสื้อสีหนึ่งสร้างข่าวว่าพวกตนกำลังเสียสละ ทำสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยมองว่าต้องกำจัดกลุ่มเสื้ออีกสีหนึ่งที่เป็นเผด็จการ ทำลายชาติ และทำความผิดที่ให้อภัยไม่ได้ ขณะเดียวกัน กลุ่มหลังก็สร้างข่าวว่าพวกตรงกันข้ามใช้กฎหมู่ ไม่เคารพกฎหมาย ก้าวร้าวรุนแรง และทำความหายนะให้แก่บ้านเมืองเช่นกัน
น่าแปลกที่คู่วิวาทแต่ละฝ่ายต่างก็อ้างว่ากลุ่มของตนมีคุณสมบัติของประชาธิปไตย และกำลังต่อสู้อย่างอาจหาญเพื่อประชาธิปไตย แต่คนเหล่านี้ได้วิเคราะห์ความคิดและพฤติกรรมของตนหรือไม่ ว่ามีความบกพร่อง ผิดเพี้ยนไปจากคุณค่าของประชาธิปไตยอย่างไรบ้าง ประชาธิปไตยจึงกลายเป็นเพียงนามธรรมที่มีความหมายคล้ายกับความดี ความถูกต้อง แต่ถ้าทุกกลุ่มทุกคนส่องกระจกดูแล้ว ก็จะพบว่าตนเองได้มีส่วนร่วมและมีส่วนให้แก่สังคมประชาธิปไตยหรือไม่เพียงใด
ผลจากการเมืองนำมาสู่เรื่องการศึกษา มีผู้กล่าวประนามการศึกษาอยู่เนืองๆ ว่าการที่ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และทางสังคม เช่นนี้ เป็นเพราะการจัดการศึกษามีคุณภาพต่ำ ไม่สอนให้คนรู้หน้าที่ของพลเมือง ไม่อบรมศีลธรรม ไม่ปลุกจิตสำนึกความรักชาติ ไม่ฝึกให้คนมีความขยันหมั่นเพียร ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน ฯลฯ สรุปเป็นถ้อยคำดูหมิ่นได้ว่า การศึกษาไม่ได้ให้อะไรเลย ผู้เรียนได้แค่สำเร็จการศึกษา แต่ไม่มีการศึกษา
ถ้อยคำเช่นนี้ คนที่อยู่ในวิชาชีพอื่นก็จะกระหน่ำซ้ำเติมอย่างเต็มที่ว่าต้องรื้อระบบการจัดการศึกษาครั้งใหญ่ เสนอแนะแนวทางปฏิรูปที่สวยหรู โดยมิได้คำนึงถึงกระบวนการที่จะต้องเกี่ยวข้องกับนักเรียนกว่า ๗,๐๐๐,๐๐๐ คน ครูจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ คน โรงเรียนกว่า ๘๐,๐๐๐ โรง ผู้ปกครองมากกว่า ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ คน ทั้งนี้ไม่รวมถึงการจัดการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาทางเลือก
ส่วนผู้ที่อยู่ในวงวิชาชีพศึกษาศาสตร์ ย่อมมีเหตุผลโต้แย้งว่า การศึกษาได้รับการพัฒนาคุณภาพให้สูงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งในการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน สื่อเทคโนโลยีการวัดและประเมินผล การประกันและการประเมินคุณภาพของผู้เรียนและของสถานศึกษา
คนไทยทุกรุ่นทุกวัยมิได้เรียนรู้จากระบบการศึกษาเท่านั้น แต่ทุกคนได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่ตนได้เผชิญและผจญในชีวิต เรียนรู้จากแบบอย่างของผู้คนในสังคม กลุ่มเพื่อน กลุ่มคนดัง ซึ่งเป็นแบบอย่างทั้งดีและชั่ว เรียนรู้จากสื่อมวลชน ทั้งที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรียนรู้จากกระบวนการขัดเกลาทางสังคม และเรียนรู้จากธรรมชาติแวดล้อม ที่วิถีชีวิตต้องดำเนินไป กระแสการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้เหล่านี้ เคลื่อนไหวรุนแรงและรวดเร็วมาก สามารถครอบงำความคิด พฤติกรรม และให้บทเรียนแก่คนในสังคมได้มากกว่าการเรียน “วิชา” ในระบบการศึกษา
แม้กระนั้น ทั้งคนในวงการศึกษาและบุคคลทั่วไป ก็ต้องหมั่นพิจารณาตรวจสอบทบทวนตนเอง ว่าได้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และภารกิจของตนเพียงใด มีความบกพร่องที่ต้องแก้ไขปรับปรุงตนอย่างไรบ้าง คนไทยทุกคนมีหน้าที่สร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงของสังคมไทย จะกล่าวโทษผู้อื่นโดยมิได้หันมามองจุดอ่อนของตนหาได้ไม่
การกล่าวโทษและเสียงนินทาว่าร้าย เหมือนกับโคลนสกปรก คนที่สาดโคลนใส่ผู้อื่น โคลนนั้นก็ย่อมเปรอะเปื้อนมือของตนเช่นกัน บางครั้งอาจจะเปื้อนมอมแมมหมดทั้งตัวก็เป็นได้ คนเราควรสงวนเวลาที่ใช้มองข้อบกพร่องของคนอื่น นำมาใช้ทบทวนตนเอง ปรับปรุงตนเอง ย่อมเป็นประโยชน์คุ้มค่า
ผู้เขียนเขียนบทความข้างต้นไว้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน แล้วออกไปอยู่กับธรรมชาติ ๔ วัน กลับเข้ากรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน เข้ามาสู่ค่ำคืนที่ระทึกใจว่าคนไทยจะลุกขึ้นมาฆ่ากันเองหรือไม่ เนื่องด้วยต่างฝ่ายต่างก็เห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำความเลวร้ายอย่างให้อภัยไม่ได้
กว่าบทความนี้จะตีพิมพ์เผยแพร่ก็ในวันที่ ๖ ธันวาคม ผ่านวันมหามงคลที่รวมหัวใจของไทยทั้งชาติเป็นหนึ่งเดียว ขอพระบารมีปกเกล้าฯ แผ่พระเมตตาคุณสู่จิตใจของพวกที่แยกกันเป็นหลายฝ่ายหลายสี ให้ลบอคติที่สิงอยู่ในความคิดจนชีวิตดำมืดนั้นสว่างขึ้นด้วยปัญญา
ผู้เขียนเคยทำนายเหตุการณ์ในอนาคตและวางความหวังในปีหน้าและปีต่อๆ ไป แต่ในวันนี้สุดที่จะทำนายได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในชั่วโมงต่อไปเกี่ยวกับชาติไทยที่รักของเรา
เสียงเรียกร้องการเจรจาดังขึ้นที่โน่น ที่นี่ หากการเจรจาเกิดขึ้นได้จริง ผู้เขียนขอร้อง “คนมีสี” ทุกฝ่าย ให้มองคู่กรณีโดยพยายามค้นหาความคิดและการกระทำของเขาในส่วนที่ถูกต้อง และมองเข้าไปในตัวตนของตน โดยพยายามค้นหาความคิดและการกระทำที่ไม่ถูกต้องของเรา เพราะเราจะไม่ได้ยินและไม่เห็นอะไรเลย ถ้ายึดมั่นว่าตนเองถูกต้องและอีกฝ่ายหนึ่งชั่วร้าย การเจรจาจบลงอย่างสูญเปล่า ประเทศชาติก็สูญเสีย น่าเศร้าใจ
o โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง เมล็ดงา
ปองติฉินนินทา ห่อนเว้น
โทษตนเท่าภูผา หนักยิ่ง
ปองปิดคิดซ่อนเร้น เรื่องร้ายหายสูญ”
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน 2551
ใน “กล้าสอน” ตอนที่สองนี้ ผมอยากพูดเรื่องของ “องค์ความรู้” ซึ่งเป็นหนึ่งในสามองค์ประกอบที่จะต้องคำนึงถึงของพาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ คือ หนึ่ง องค์ความรู้ สอง วิธีการสอน สาม ตัวตนของครู หรือโลกภายในของครู “กล้าสอน” ตอนที่หนึ่ง ผมพูดถึงตัวตนของครูไปบ้างแล้ว จึงอยากพูดถึงองค์ความรู้ โดยจะเชื่อมโยงกับความคิดของพาล์มเมอร์ และเพิ่มเติมความคิดของผมที่ค้นคว้าทั้งจากที่อื่นๆ และจากประสบการณ์ของตัวเองลงไปด้วย
ก่อนอื่นต้องเข้าใจสภาพที่เป็นอยู่เดิมก่อน ระบบโรงเรียนนั้นได้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (เก่าหรือกระบวนทัศน์เก่า) และระบบอุตสาหกรรม โดยที่ระบบอุตสาหกรรมเป็นภาพสะท้อนของวิธีคิดแบบกลไก หรือการนำอุปไมยอุปมาแบบเครื่องจักรมาใช้ในการทำงาน ในการใช้ชีวิต การมองโลก และการจัดการกับโลก อุปมาอุปไมยแบบเครื่องจักรนี้ ได้คืบคลานเข้ามาในปริมณฑลขององค์ความรู้ และวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์ ที่ถูกลดทอนลงไปกลายเป็นเพียงการเรียนรู้แบบเครื่องจักรกล โดยมีระบบอุตสาหกรรมหรือระบบโรงงานเป็นต้นแบบ เราลองนึกถึงโรงงานผลิตปลากระป๋อง แล้วเราจะเข้าใจระบบโรงเรียนที่เป็นอยู่
พาล์มเมอร์ให้ความสำคัญกับคำว่า objective ซึ่งเป็นคุณศัพท์ ที่หมายถึงการมองสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่เอาตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจิตของเรา ตัวเราในที่นี้คือ subject หรือแปลอีกอย่างหนึ่งว่า “ประธาน” หรือ “ตัวตน” หรือ “ฉัน” นั้นเอง หากเอาฉันเข้าไปเกี่ยวข้อง การมองจะไม่เที่ยงตรง จะมีอคติได้ ต้องไม่เอาฉันเข้าไปเกี่ยว การมองนั้นจึงจะเป็น “ภววิสัย” คือ objective
แต่พาล์มเมอร์ก็ได้กล่าวต่อไปอีกว่า เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์ใหม่หรือวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ เช่นในควอนตัมฟิสิกส์ เป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่จะเป็นภววิสัย นักวิทยาศาสตร์ควอนตัม กล่าวกันอย่างสอดคล้องว่า ประธาน หรือฉัน (subject) ต้องเข้าไปเกี่ยวอยู่แล้ว ต้องเข้าไปหลอมรวมอยู่แล้ว ตัวประธานนี้แหละที่จะเข้าไปกำหนดความแตกต่างของการรับรู้ของเรา หากไม่เข้ามามองดูตัวตนนี้ เราจะไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์ถูกต้อง หรือเป็นไปไม่ได้เลยที่ประธาน (subject) จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง
ลองกลับมามองเรื่องนี้ผ่านปัญญาปฏิบัติดูบ้าง ในแบบฝึกหัดวอยซ์ไดอะล็อกของสามีภรรยาสโตน (ซึ่งเป็นดร.ทั้งคู่) ต้นฉบับเรื่องวอยซ์ไดอะล็อกนี้ เขาใช้คำว่า personal and impersonal เขาไม่ได้ให้ค่ากับอย่างหนึ่งอย่างใดในสองอย่างนี้มากกว่าอีกอย่างหนึ่ง แต่เขาเห็นว่าคำตอบอยู่ที่การนำส่วนผสมของทั้งสองมาใช้ร่วมกันอย่างกลมกลืนมากกว่า หลังจากผมได้นำเรื่อง personal and impersonal นี้มาทำแบบฝึกหัดหลายครั้งหลายหน จนเกิดปัญญาปฏิบัติ จนอวัยวะใหม่ (วงจรสมองใหม่) ก่อเกิดขึ้นมารับรู้ความนัยที่แฝงเร้น (tacit knowledge) อย่างแจ่มชัดขึ้นแล้ว ผมเห็นว่า personal หรือ subjective นั้นเป็นฐานใจ ส่วน impersonal หรือ objective นั้นเป็นฐานคิด ลักษณะเดียวกับซูมอิน ซูมเอาต์ด้วย คือ เมื่อใช้ฐานใจ เราจะมีความเป็นส่วนตัว (personal) เราจะเข้าไปใกล้ชิด หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับผู้คนหรือสิ่งของนั้น ๆ อันนี้คือซูมอิน และเมื่อซูมเอาต์ เราจะถอยห่างออกมามอง ไม่เอาตัวเข้าไปผูกพันหรือนัวเนีย แต่นำตัวตนของเราออกห่างออกมา อันนี้เป็น impersonal คือไม่เอาตัวเองเข้าไปพันพัว ถอยออกมา แยกออกมา (disconnect) แต่มันเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วนะ แล้วแยกออกมา มันจะได้อิสระบางอย่าง แต่ก็สูญเสียการต่อติด (connect) เป็นหนึ่งเดียวอย่างแนบในไปด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ตามเราอาจเต้นรำสลับกลับไปกลับมา เพื่อเชื่อมต่อ แล้วแยกออกมา แล้วเชื่อมต่อ แล้วแยกออกมา การสลับไปมาอย่างนี้จะทำให้ได้ภาพที่ชัดเจนครบถ้วนแง่มุมมากขึ้น หรืออันที่จริงแล้วสมองจะทำงานอย่างนี้เอง หากเราไม่ไปจำกัดกรอบให้มันจนเกินพอดี
อีกระดับหนึ่งของงานวิจัยสมองในเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นว่า สองพลังงาน สองศักยภาพ สองปัญญานี้ คือปัญญาจากฐานใจและปัญญาจากฐานคิด ที่จริงทำงานร่วมกัน แนบสนิทกันมากกว่าที่เราคาดคิด หรือ จากที่เรารู้ๆ กันอยู่ ในภาษาและปัญญาของยุคสมัย ที่จริง อารมณ์ หรือฐานใจ เป็นฐานของความคิดด้วยซ้ำ หากเราไม่เข้าใจฐาน จะเอาแต่ยอด เราจะมั่นคงได้อย่างไร เขาเทียบกับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ว่า อารมณ์เป็นซอฟต์แวร์ปฏิบัติการ (operating software) และความคิดเป็นตัวซอฟต์แวร์ประยุกต์ หรือ ซอฟต์แวร์ใช้งาน (application software) อีกอุปมาอุปไมยหนึ่งจะมองว่า ความคิดเป็นข้อมูลหรือเนื้อหา อารมณ์เป็นการจัดแฟ้ม เป็นจัดเก็บ จัดที่ทาง (organizer) จะเห็นได้ว่า ทั้งสองเกี่ยวพันกันอยู่อย่างแนบแน่นแยกไม่ออกเลย
ความรู้ในประเด็นฐานคิดฐานใจนี้ จะเข้าไปเกี่ยวกับ “การจัดการความรู้” หรือ “Knowledge Management (KM)” ด้วย ผมคิดว่า จะเข้าใจเรื่องนี้ ต้องแยกแยะคำต่าง ๆ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ เช่นคำว่า “ความรู้” กับ “ตำรับตำรา” คู่หนึ่ง และ “ความรู้” กับ “ปัญญาปฏิบัติ” อีกคู่หนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องเขียนเป็นอีกบทความแยกออกไปกระมัง
สุดท้ายไม่ใช้ท้ายสุด การจะเป็นครูที่แท้ได้ เราต้องเชื่อมโยง เป็นหนึ่งเดียวกันกับความรู้ หรือองค์ความรู้ที่เราจะสอน ทุกปรัชญาจะให้ความสำคัญกับคู่หนึ่งของพลังงาน นั่นคือ “ปัญญาและความรัก” หรือ “impersonal and personal” ความรักทำให้เกิดความอยากเรียนรู้ และความรู้ความเข้าใจต่อสิ่งใด หรือบุคคลใด ก็ก่อให้เกิดความรัก ที่สำคัญคือ ต้องเอาฐานคิดและฐานใจมาร่วมกันทำงาน พร้อมด้วยฐานปฏิบัติ หรือฐานกายด้วย จึงจะครบองค์เป็นสองสามชั้นของปัญญาสามฐาน และร้อยเรียงให้ทำงานประสานเสียงกัน มิใช่ปีนเกลียวขัดแย้งกัน
แต่อารยธรรมตะวันตก ที่เริ่มจากคริสต์ศาสนาปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึก เอาเหตุผลมาเป็นตัวตั้ง เอาความเป็นภววิสัย หรือเอาฐานความคิดเข้ามาเพียงฐานเดียว เอาการมองเห็นที่พื้นผิว หรือรูปธรรมบางแง่มุมอันจำกัดเข้ามา (ชูมากเกอร์ จากหนังสือแผนที่คนทุกข์ของเขา บอกว่า วิทยาศาสตร์เก่าใช้ตาเดียวที่บอดสีเท่านั้น ก็แสวงหาสัจจะได้?) และเป็นความคิดแบบแผนเดียวอีกด้วย คือ ความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล (rational mind) แบบตรรกะเท่านั้น เราจึงแยกตัว แปลกแยกจากความรู้ของเรา เรารู้แบบไม่ได้สัมผัสความรู้นั้น ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับความรู้นั้น หรือความรู้นั้นไม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพของเรา ในเซลล์ของเรา ในอณูแห่งชีวิตของเรา หรือเป็นเลือดเนื้อของเรา ทางพุทธศาสนาใช้คำว่า “ปัจจัตตัง” หรือ “รู้ได้เฉพาะตน” อันนี้เป็นความรู้แบบอัตวิสัย (subjectivity) หรือไม่?
วิทยาศาสตร์เก่าบอกว่าอัตวิสัยพิสูจน์ไม่ได้ แต่วิทยาศาสตร์ใหม่บอกว่า ผู้สังเกตไม่อาจแยกตัวออกไปจากสิ่งสังเกต ไม่อาจแยกตัวตน ตัวคน หรือ consciousness คือ “จิต” ออกไปได้ เราแยกจิตออกไปไม่ได้จากการรับรู้ และเรียนรู้ด้วย แต่การรับรู้แบบอัตวิสัยนี้ มันมีมิติที่พิสูจน์ได้ โดย communal หรืออย่างเป็นชุมชน เนื่องจากการที่รับรู้ได้เฉพาะตนนั้น มันพอดีออกมาตรงกัน จึงเป็นความรู้ในทางธรรมที่พิสูจน์ได้อย่างนี้เอง เมื่อก่อน ภาพของนักวิทยาศาสตร์คือที่อยู่คนเดียวโดดเดี่ยว ไร้อารมณ์ความรู้สึก บัดนี้ นอกจากนักวิทยาศาสตร์จะเต็มเปี่ยมได้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกแล้ว ยังทำงานกันเป็นหมู่คณะอีกด้วย ซึ่งถอดความเป็นพุทธได้ในคำว่า “สังฆะ” หรือ “กัลยาณมิตร” นั่นเอง
พระพุทธเจ้าถามพระอานนท์พระอนุชาว่า “อานนท์ กัลยาณมิตรมีความสำคัญอย่างไรกับพรหมจรรย์” พระอานนท์ตอบว่า “มีความสำคัญเป็นกึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์” พระพุทธเจ้าทรงแก้ไขให้ โดยเน้นย้ำให้ความสำคัญว่า “อานนท์ ที่จริงแล้ว กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์” ความในย่อหน้านี้ เกี่ยวพันกับความในย่อหน้าที่แล้วหรือไม่อย่างไร วิญญูชนโปรดพิจารณาเอาเองเถิด
โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 พฤศจิกายน 2551
ธรรมชาติทุกหนแห่ง ไม่เว้นแม้แต่น่านน้ำ ผืนป่า และแผ่นดินที่มนุษย์เข้าถึงยาก จรดขั้วโลกเหนือถึงขั้วโลกใต้ กำลังอยู่ในอันตราย ทุกวันนี้แทบไม่มีที่ใดบนผืนโลกที่ปลอดพ้นจากสารพิษ แม้แต่ทวีปอาร์กติกก็ยังพบร่องรอยของสารดีดีทีในตัวสัตว์ซึ่งสามารถทำลายระบบประสาท กลางมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งไกลจากทวีปนับพัน ๆ ไมล์มีขยะพลาสติกนับหมื่นตันล่องลอย และทำให้สัตว์น้ำจำนวนไม่น้อยต้องตายเพราะกินมันเข้าไปด้วยคิดว่าเป็นอาหาร ขณะที่สัตว์ทั้งใหญ่น้อยต้องสูญพันธุ์เพราะถิ่นที่อยู่ถูกรุกราน
ธรรมชาติทั่วโลกกำลังประสบวิกฤตในสามลักษณะ คือ ๑.การแพร่กระจายของมลภาวะทั้งบนดิน ใต้ดิน ในน้ำ และอากาศ ๒. ความร่อยหรอหรือสูญหายอย่างรวดเร็วของธรรมชาติ ไม่ว่า ชนิดพันธุ์ของพืช สัตว์ ตลอดจนทรัพยากร อาทิ น้ำมัน แร่ธาตุ และป่า ๓. ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ อาทิ น้ำท่วม ฝนแล้ง
ในบรรดาภัยทั้งสามประการนี้ ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศเป็นประเด็นที่กำลังมีการพูดถึงมากที่สุด แต่ทุกวันนี้เราไม่ได้พูดถึงแค่น้ำท่วม ฝนแล้ง หากกำลังวิตกถึงปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ “โลกร้อน” แม้ว่าโลกร้อนเป็นปัญหาที่เราเพิ่งตระหนักเมื่อไม่ถึง ๒๐ ปีมานี้เอง แต่มันกลับกลายเป็นภัยที่ร้ายแรงที่สุดที่สามารถนำมนุษยชาติและสรรพชีวิตในโลกนี้เข้าสู่ภาวะวิกฤตได้เร็วกว่าภัยสองประการแรกเสียอีก
ไม่เป็นที่สงสัยกันแล้วว่า “โลกร้อน” เป็นวิกฤตที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่นเดียวกับการเกิดมลภาวะและการร่อยหรอสูญหายของทรัพยากรธรรมชาติ มันเป็นวิกฤตที่จะมีผลกระทบกว้างไกลเกินกว่าที่มนุษย์จินตนาการไปถึง เนื่องจากมันส่งผลพร้อมกันทั่วทั้งโลก มิได้กระจายเป็นจุด ๆ อย่างภัยธรรมชาติชนิดอื่น ๆ
ปัจจุบันมีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้ด้วยเทคโนโลยีนานาชนิด เช่น รถยนต์ที่ไม่ใช้น้ำมัน เครื่องยนต์ที่ประหยัดพลังงาน อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า รวมทั้งโครงการอัดคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปใต้พิภพ แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำได้จริงหรือมีประสิทธิภาพเพียงใด ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างแท้จริง ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เทคโนโลยีเหล่านี้ก็เพียงแต่ชะลอปัญหา หรือกลับส่งเสริมให้มนุษย์บริโภคมากขึ้น เช่นเดียวกับรถประหยัดน้ำมัน ที่กลับกระตุ้นให้ผู้คนเดินทางมากขึ้น การบริโภคน้ำมันจึงไม่ได้ลดลงเลย กลับจะมากขึ้นด้วยซ้ำ
รากเหง้าของปัญหาโลกร้อน ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย อยู่ที่ทัศนคติของมนุษย์ในปัจจุบันที่มองเห็นธรรมชาติเป็นเพียงมวลวัตถุที่มีขึ้นเพื่อปรนเปรอความต้องการของมนุษย์เท่านั้น เราไม่ได้มองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ที่อยู่ได้เพราะธรรมชาติ และดังนั้นจึงพึงสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติ ตรงกันข้ามผู้คนกลับเข้าใจว่ามนุษย์คือนายของธรรมชาติ ดังนั้นจึงสามารถทำอย่างไรกับธรรมชาติก็ได้
ทัศนคติอีกประการหนึ่งที่มาควบคู่กันก็คือ การเข้าใจว่าความสุขเกิดจากการครอบครองและบริโภควัตถุ มีมากเสพมากเท่าไรก็จะมีความสุขมากเท่านั้น ชีวิตจะก้าวหน้าเพียงใดก็วัดจากจำนวนและชนิดของรถที่มี ตลอดจนราคาของบ้านและที่ดินในครอบครอง รวมทั้งยอดเงินในบัญชีเงินฝาก ทัศนคติเช่นนี้ทำให้เราแข่งกันเสพและครอบครองวัตถุ โดยมีลัทธิบริโภคนิยมเป็นตัวกระตุ้น และมีเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นตัวรองรับ แต่ไม่ว่าจะมีมากเสพมากเพียงใด ผู้คนก็ไม่เคยรู้สึกพอเสียที ยังต้องการไม่หยุดหย่อน ผลก็คือเกิดการทำลายธรรมชาติอย่างขนานใหญ่ เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตอันฟุ้งเฟ้อร่ำรวยที่ไม่เคยมีจุดสิ้นสุด โดยที่ความสุขของผู้คนกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ดังเห็นได้จากอัตราการเป็นโรคจิตโรคประสาทและการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
นี้คือทัศนคติหลัก ๆ สองประการที่เป็นรากเหง้าของการทำลายธรรมชาติในปัจจุบัน
ทัศนคติดังกล่าวและพฤติกรรมที่สืบเนื่องตามมา ไม่เพียงทำให้ผู้คนเหินห่างหมางเมินหรือแปลกแยกกับธรรมชาติเท่านั้น หากยังทำให้ผู้คนเหินห่างหมางเมินหรือแปลกแยกกับตัวเองด้วย ดังจะเห็นได้ว่าผู้คนทุกวันนี้ทนอยู่กับตัวเองคนเดียวไม่ได้ แต่พยายามหนีตัวเองตลอดเวลา ด้วยการไปขลุกอยู่กับสิ่งเสพ เที่ยวห้าง คุยโทรศัพท์ หรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ สุดท้ายก็หนีไม่พ้นที่จะไปเบียดเบียนธรรมชาติ
กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ธรรมชาติแวดล้อมวิกฤตก็เพราะธรรมชาติภายในของผู้คนเสียสมดุล พูดอีกอย่างก็ได้ว่า ความผันผวนปรวนแปรของธรรมชาติแวดล้อมทุกวันนี้เป็นผลมาจากความผันผวนปรวนแปรของธรรมชาติภายในผู้คน เป็นเพราะผู้คนมีความทุกข์ อ้างว้าง และว่างเปล่าในส่วนลึกของจิตวิญญาณ จึงพยายามหาวัตถุมาเติมเต็ม แต่ไม่ว่าจะแปรธรรมชาติเป็นสิ่งเสพและทรัพย์สินเงินทองมากมายเพียงใด จิตวิญญาณก็ไม่เคยเติมเต็มเสียที
ธรรมชาติแวดล้อมจะไม่มีวันฟื้นฟูได้เลยหากธรรมชาติภายในของผู้คนไม่คืนสู่สมดุลหรือความปกติ ด้วยเหตุนี้ธรรมะจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง ธรรมชาติกับธรรมะแยกจากกันไม่ออก หากจะฟื้นฟูธรรมชาติได้ก็จำเป็นต้องฟื้นฟูธรรมในใจของผู้คน นั่นคือทำให้ผู้คนกลับมาตระหนักถึงความเป็นจริงว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อยู่ได้เพราะธรรมชาติ และดังนั้นจึงควรสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติ ขณะเดียวกันธรรมยังช่วยให้เรารู้จักพอ มีชีวิตที่เรียบง่ายได้โดยไม่ต้องฝืนใจ เพราะสามารถเข้าถึงความสุขที่ประณีต
ความสุขอันประณีตนั้นไม่ต้องอาศัยการเสพหรือมีวัตถุ แต่เกิดจากการมีจิตใจที่สงบเย็น จากการทำความดี จากการเห็นรอยยิ้มแห่งความสุขของผู้คนอันเป็นผลจากความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลของเรา รวมทั้งจากความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เราทุกคนย่อมโหยหาความสุข และการที่เราพากันไปแสวงหาความสุขจากวัตถุ ก็เพราะเราไม่รู้จักหรือไม่สามารถเข้าถึงความสุขอันประณีต แต่เมื่อใดก็ตามที่เราเข้าถึงความสุขอันประณีตได้ ความสุขจากวัตถุจะมีเสน่ห์น้อยลง
ความสุขอันประณีตเกิดจากเข้าถึงธรรม เมื่อเรารู้จักพอ ความสุขก็เกิดขึ้นได้ง่าย และเมื่อจิตใจมีความสุข ความพอก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก ไม่มีความจำเป็นต้องเบียดเบียนธรรมชาติเพื่อปรนเปรอกิเลสหรือสนองความสุขอย่างหยาบ ๆ อีกต่อไป ทำให้มีชีวิตที่บรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติแวดล้อม ใจที่มีธรรมจึงเป็นหลักประกันแห่งการรักษาคุ้มครองธรรมชาติที่ดีที่สุด
อย่างไรก็ตามธรรมไม่ได้เกื้อกูลธรรมชาติฝ่ายเดียว ธรรมชาติก็เกื้อกูลธรรมด้วย ผู้ที่มีจิตใจรุ่มร้อน เมื่อได้มาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันสงบสงัด จิตใจก็จะสงบเย็นได้เร็ว เกิดกุศลธรรมได้ง่าย และหากหันมามองด้านใน หรือรู้จักบำเพ็ญทางจิต สติ สมาธิ ปัญญาก็จะเจริญงอกงาม ผู้ที่มีใจเปิดกว้าง ย่อมเรียนรู้ธรรมได้มากมายจากธรรมชาติ ไม่ว่าสัจธรรมคือความเป็นจริงของชีวิต เช่น ความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง และความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของทุกสิ่งในจักรวาล ใช่แต่เท่านั้นธรรมชาติยังสอนจริยธรรมให้แก่เราได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจากต้นไม้ที่เอื้อเฟื้อสรรพสัตว์ จากแมลงที่อดทนและเพียรพยายามอย่างไม่ย่อท้อ จากนกที่โบยบินอย่างอิสระโดยไม่มีทรัพย์สินเป็นภาระ เมื่อมีผู้ถามหลวงปู่มั่นว่าท่านรู้ธรรมได้อย่างไรในเมื่อเรียนหนังสือไม่มาก ท่านตอบว่า “สำหรับผู้มีปัญญา ธรรมะมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า” และด้วยเหตุผลเดียวกัน ท่านอาจารย์พุทธทาสจึงแนะให้ผู้มาเยือนสวนโมกข์ หัดฟังต้นไม้และก้อนหินสอนธรรม
ผู้ที่ใฝ่ธรรมหรือหวังความเจริญงอกงามของชีวิตด้านใน จึงควรมีเวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันสงบสงัด ในบรรยากาศเช่นนั้น หากน้อมจิตให้ดี ไม่เพียงเราจะเห็นธรรมจากธรรมชาติแวดล้อมเท่านั้น หากยังจะเห็นธรรมชาติภายในใจเราชัดเจนด้วย ซึ่งนำไปสู่การเห็นสัจธรรมของชีวิตและโลกได้ ทำให้เกิดความสงบและสว่างกระจ่างแจ้งภายใน
อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่ธรรมชาติกำลังตกอยู่ในอันตราย เราไม่ควรที่จะแสวงหาประโยชน์จากธรรมชาติเท่านั้น แม้จะเป็นประโยชน์ทางธรรมก็ตาม หากควรมีน้ำใจเอื้อเฟื้อและตอบแทนคุณ ธรรมชาติด้วย โดยช่วยกันพิทักษ์รักษาธรรมชาติอย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า การนำสิ่งของมาหมุนเวียนใช้ใหม่ การส่งเสริมถุงผ้า การคุ้มครองสัตว์และพันธุ์พืช ตลอดจนการรณรงค์ให้ผู้คนตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ข้อที่พึงตระหนักคือ การพิทักษ์รักษาธรรมชาติเป็นงานที่เห็นผลช้า และอาจหยุดยั้งการทำลายไม่ได้ แต่ก็ไม่ควรท้อแท้หรือคับข้องใจ เพราะถึงอย่างไรนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง จะว่าไปแล้วจำเป็นมากที่เราควรมองการกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะจะช่วยให้เรามีความสงบเย็นในจิตใจได้ ในขณะที่โลกกำลังร้อนไม่หยุด ไม่ควรที่เราจะร้อนรุ่มไปกับผู้คนทั้งโลก หากควรรักษาใจให้สงบเย็นเอาไว้ การทำงานใด ๆ ก็ตาม แม้จะเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ แต่หากเราทำด้วยความทุกข์แล้ว สิ่งนั้นก็อาจกลายเป็นโทษได้ อย่างน้อยก็เป็นโทษแก่เราเอง
ในยามที่โลกกำลังร้อน เราจึงไม่ควรร้อนตามโลก แต่ควรมีธรรมเป็นที่พึ่ง เพื่อให้เรามีพลังในการดำเนินชีวิตและทำประโยชน์แก่โลกได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าโลกจะร้อนเพียงใด แต่ธรรมนั้นร่มเย็นเสมอ เมื่อใดใจถึงธรรม ความสงบเย็นภายในก็เป็นไปได้แม้โลกภายนอกจะร้อนรุ่มเพียงใดก็ตาม
โดย วิจักขณ์ พานิช
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551
คุณรู้ไหม...
เขาว่ากันว่าโลกร้อน
น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย
น้ำกำลังจะท่วมกรุงเทพฯ
…
หลายคนเตือนมา
เขาว่าอีกไม่เกิน ๑๐ ปี
แต่บางคนบอกปีหน้า
...
วันก่อนผมหยุดคุยกับแม่ค้าที่ตลาด
เจ๊แกบอกว่า…
“เศรษฐีเมืองกรุงมาซื้อที่บนดอย เตรียมไว้ปลูกบ้านกันแยะ”
....
เชียงรายเป็นหนึ่งในที่ลี้ภัยสินะ
...ผมคิด
...
สำหรับผม
ผมไม่ได้คิดจะมาอยู่เชียงรายเพื่อหนีน้ำ
จึงยังไม่ได้เตรียมซื้อที่เนินไว้ปลูกบ้าน
ยังไม่ได้เตรียมซื้อเรือพาย
หรือห่วงยางไว้สำหรับลูกสาว
...
บางครั้งผมก็มานั่งคิด
ว่าเอ...
ทำไมเราจึงได้ชะล่าใจถึงเพียงนี้
ไม่รีบหาที่ทางกันเหนียวเอาไว้บ้าง
...
น้ำท่วมโลก
โลกวิปริต
ผมคิด...
เกิดขึ้นแน่ๆ
ตายแน่ๆ
ไม่ช้าก็เร็ว ไม่นานเกินรอ
หากผู้อยู่อาศัยในโลก
ยังบริโภคกันแบบนี้
ยังใช้น้ำมันกันแบบนี้
ยังผลิตขยะและของเสียกันแบบนี้
ยังแก่งแย่ง แข่งขันกันแบบนี้
เป็นพลโลกที่ปราศจากจิตสำนึกกันไปเรื่อยๆ แบบนี้
...
บอกตรงๆ
บางทีผมเห็นรถราในกรุงเทพฯ
เห็นวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ
เห็นคลองในกรุงเทพฯ
ผมยังคิดเล่นๆ ว่า
ให้น้ำพัดมาล้างกรุงเทพฯบ้างก็น่าจะดี
แต่มันจะล้างใจที่ด้านชาและสกปรกของคนออกไปได้บ้างไหมนะ
บางที
คงมีเพียงความทุกข์แสนสาหัสเท่านั้น
ที่จะทำให้คนตื่น
...ผมคิด
....
สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เศรษฐกิจตกต่ำ
บ้านเมืองลุกเป็นไฟ คนไทยฆ่าฟันกัน
โลภ ...โกรธ ...หลง
กับโลกร้อน
คนป่วย โลกก็ป่วยได้
ฟ้าก็บ้าได้ ธรณีก็คลั่งได้
เกิดได้ ก็เจ็บได้ และตายได้เช่นกัน
คุณว่าไหม?
...
เขาว่าการเจริญมรณสติ
จะทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตมากขึ้น
การเจริญมรณสติในที่นี้ คงไม่ได้หมายถึง
การดำเนินชีวิตแบบกลัวตายหรือหนีตาย
แพนิค แอนด์ พารานอย (panic and paranoia)
“ไม่ประมาทไว้ก่อน” จนลุกลี้ลุกลนไม่เป็นตัวของตัวเอง
แต่ผมว่า การเจริญมรณสติ น่าจะหมายถึงอะไรง่ายๆ
อย่างการตระหนักรู้ในทุกลมหายใจเข้าออกที่ว่า
“ความตายมาเยือนเราได้ตลอดเวลา”
“ภัยจะมาเมื่อไรก็ได้”
แล้วไงต่อ
...
น้ำท่วมโลกถือเป็นเรื่องใหญ่
อาจหมายถึง ความตายของอะไรหลายๆ อย่าง
ที่ใกล้เข้ามา รอเราอยู่เบื้องหน้า ไม่ช้าก็เร็ว
เมื่อความตายอยู่ตรงหน้า คำถามที่ว่า
“ถ้าพรุ่งนี้อเมริกาจะทิ้งระเบิดปรมาณูลงทั่วประเทศไทย คุณจะย้ายไปอยู่ประเทศไหน?”
“หากคุณกำลังเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย คุณจะไปบำบัดรักษา ยืดเวลาชีวิตกันที่ไหน?”
และ “ถ้าพรุ่งนี้น้ำจะท่วมโลก คุณจะหนีน้ำไปอยู่ไหน?”
มองออกนอกตัวไป แล้วเห็นอะไรในใจบ้าง
...
ได้ยินไหม...
ยังมีเสียงกระซิบอย่างแผ่วเบา เสียงด้านในที่ยังเฝ้าถามใจเราอยู่เสมอ
“ถ้าพรุ่งนี้คุณอาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนรอบข้างที่คุณรักอีกต่อไป
คุณจะใช้เวลาของวันนี้อย่างไร?”
ผมว่า...
นั่นคือพลังแห่งการดำเนินชีวิตที่ความตายได้มอบให้
…
“น้ำท่วมโลก”
“คนไทยฆ่าฟันกัน”
“สันติภาพกำลังจะสูญสิ้น”
ข้อความเหล่านี้ ไม่ได้เอาไว้เพียงเพื่อมองความเป็นไปในแง่ร้าย
ไม่ได้เอาไว้กระตุ้นต่อมความหวังและความกลัว
สร้างโลกขมุกขมัวให้ใจหมอง
...
คำถามเหล่านี้
เป็นคำถามแห่งความเป็นความตาย
เป็นคำถามที่ไม่ได้ต้องการคำตอบจากนักวิชาการ หรือผู้ (สู่) รู้
แต่มันคือ “คำถามแห่งการเปลี่ยนจิตสำนึก”
คำถามที่ปลุกให้คุณตื่น
ที่คำตอบอาจไม่ได้สำคัญเท่ากับการที่ได้ถาม
“เราเกิดมาทำไม”
“หากวันหนึ่งเราต้องตาย แล้ววันนี้เราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร”
คนทุกคนควรจะได้มีเวลาถามตัวเอง ทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที และทุกชั่วขณะ ทุกลมหายใจเข้าออกที่เรายังสามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติไปได้ในแต่ละวัน
เป็นคำถามที่เราควรจะถามในทุกครั้งที่เราใช้จ่าย ทุกครั้งที่เราใช้รถ ทุกครั้งที่เราเลือกส.ส.เข้าไปในสภา
… ถือเป็นมรณานุสติ
...
น้ำจะท่วมโลกพรุ่งนี้แล้ว...
วันนี้เราได้ทำอะไรเพื่อคนรอบข้าง และวิกฤตจิตสำนึกที่กำลังเกิดขึ้นบ้าง
น้ำท่วมหน้าบ้านคุณแล้ว...
คุณรู้สึกอะไรในใจบ้างกับความทุกข์ร่วมของเพื่อนมนุษย์ในครั้งนี้
...
อย่างน้อยก่อนจะหาทางหนีทีไล่
ขอได้เปิดพื้นที่ว่างๆ ของใจ
ไว้สำหรับการใคร่ครวญความรู้สึก ความหมาย และคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ดูบ้าง
อย่าเอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาหนีน้ำ ขึ้นเรือพาย...
แล้วกลับไปใช้ชีวิตเวียนว่าย บริโภคเผลอไผลอย่างไร้สติ บนดอยแถวเชียงรายกันต่อไป
...
อย่างกะหนังไททานิค
ผมคิด...
โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551
The Courage to Teach หรือ “กล้าสอน” เป็นหนังสือที่ดีที่สุดไม่กี่เล่มที่ผมได้อ่านในรอบห้าปีนี้ เขียนโดย พาร์เกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer) ซึ่งเป็นเควกเกอร์ (เควกเกอร์เป็นนิกายหนึ่งในคริสต์ศาสนาที่เข้าหาศาสนธรรมอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีนักบวช ไม่มีคนที่เป็นสื่อกลาง หากทุกคนเป็นฆราวาสที่อาจเข้าถึงพระเจ้าได้อย่างเท่าเทียมกัน และมีวัฒนธรรมภาวนาอันเรียบง่ายที่ดำรงอยู่ในชีวิตอย่างมีพลัง) หนังสือของพาล์มเมอร์เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในมหาวิทยาลัยนาโรปะ ครูของณัฐฬส (วังวิญญู) คนหนึ่งมีพาล์มเมอร์เป็นหนึ่งในครูสองคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา
พาล์มเมอร์ยังทำเวิร์คชอป “กล้าสอน” โดยให้คนเข้าค่ายหลีกเร้นใคร่ครวญ เพื่อกลับมาสะท้อนย้อนใคร่ครวญร่วมกันในคณะครู เข้ามาทบทวนความหมายของการเป็นครู วิธีการสอน และที่สำคัญยิ่ง ตัวตนด้านในของครู พาล์มเมอร์พูดถึงองค์ประกอบ ๓ ประการในการเป็นครูที่ดี หนึ่ง คือ องค์ความรู้ สอง คือ วิธีการสอน สาม คือ ตัวตนของครู หรือโลกภายในของครู หรือคำของพาล์มเมอร์อันเป็นชื่อที่สองของหนังสือ “กล้าสอน” ของเขา คือ “ภูมิทัศน์แห่งโลกภายในของครู”
จากประสบการณ์ของพาล์มเมอร์เอง วิธีการสอนนั้นไม่ใช่เป็นประเด็นที่สำคัญนัก แต่ตัวตนของครูต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่ เขาเคยพยายามลอกเลียนครูของเขา ผู้มีพลังในการสอนมาก แต่ครูคนนี้กลับมีวิธีการสอนแบบอนุรักษ์นิยมธรรมดา คือ จะบรรยายอย่างยืดยาวเสียเป็นส่วนใหญ่ แทบจะไม่ทิ้งเวลาให้ถามตอบกันเลยด้วยซ้ำ แต่ครูกลับเชื่อมโยงกับศิษย์ได้ และเชื่อมโยงศิษย์เข้าสู่องค์ความรู้หรือวิชาที่จะสอนได้อย่างทรงพลัง เขาพยายามลอกเลียนครูทุกอย่าง แต่ผลคือความล้มเหลว กว่าจะรู้ว่าล้มเหลวเพราะอะไร ต้องเสียเวลาไปเป็นทศวรรษ ตอนหลัง เขาได้เปลี่ยนวิธีการสอน หากยังคงพลังอะไรบางอย่างของครูคนนี้ไว้ในท่วงทำนองการสอน เขาจึงพบ “มหาวิชา” แห่งการสอน และเขียนหนังสือออกมาหนึ่งเล่ม ทำหลักสูตรเวิร์คชอปให้ครูมาเรียนแปดครั้งๆ ละสามสี่วัน ในช่วงเวลาสองปี งานของเขาแพร่ขยายไปทั่วสหรัฐอเมริกา ๓๒ รัฐ สร้างกระบวนกร (วิทยากรกระบวนการ) ได้ถึง ๑๕๐ คน และเวลานี้ได้มีหลักสูตร “กล้านำ” เพิ่มเข้ามา เพราะสิ่งที่เขาค้นพบ มิใช่ว่าจะใช้ได้เฉพาะในแวดวงการศึกษาเท่านั้น
อะไรคือสิ่งที่ทำให้ครูเชื่อมโยงกับศิษย์ได้ และยังเชื่อมโยงศิษย์เข้าหาองค์ความรู้ได้อีกด้วย ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เควกเกอร์เป็นนิกายที่ลงลึกในเรื่องศาสนธรรม คนกลุ่มนี้นิยมสันติวิธีหรือสันติวิถี แม้ยอมตายแต่ไม่ยอมเข้าสงคราม คงเป็นเพราะฐานเดิมบางประการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยใจอันใคร่ครวญ ทำให้ข้อสาม คือ การทำงานกับโลกภายในของครู กลายเป็นสิ่งสำคัญ ประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งในหนังสือเล่มนี้
พาล์มเมอร์กล่าวว่า ทำไมเด็กนักเรียนจึงชอบครูคนใหม่ ที่เพิ่งจะมาเป็นครู หรือบรรดาพวกครูฝึกหัดทั้งหลาย ผมเองได้ใช้ประเด็นนี้เป็นประเด็นเริ่มต้นกับเวิร์คชอปที่จัดให้บรรดาครู ซึ่งผมทดลองมาแล้วสองเวิร์คชอป มันชวนให้ครูได้ไปใคร่ครวญอะไรบางอย่างว่า ทำไมเด็กจึงรักครูคนใหม่ของเขา คนที่เข้าร่วมเวิร์คชอปสรุปกันจากการสนทนาในเรื่องนี้อย่างละเอียดลออว่า ครูคนใหม่ยังไม่ได้เป็นครูอย่างครูเก่า ซึ่งจะมี “มาดของครู” ที่ซึ่งเด็กจะกลัว และมีอำนาจลี้ลับที่จะสะกดเด็กให้อยู่ในอำนาจได้ สามารถจัดการห้องเรียนได้เรียบร้อย คือ เด็กจะเคารพเชื่อฟังครู แต่ครูคนใหม่ยังไม่มีอำนาจนี้ ยังเป็นครูธรรมดาที่เปราะบาง อ่อนแอ บางทีจัดการนักเรียนไม่อยู่ก็ร้องไห้หน้าห้องเรียนนั้นเอง แต่แล้วเด็กจะรักและจะให้ความร่วมมือ ครูหลายคนที่มาร่วมเวิร์คชอปกับผมบอกว่า พวกเขาพากันรักครูคนใหม่ของเขา และเลยไปถึงรักวิชาที่ครูคนนั้นสอนด้วย
ตอนผมไปอยู่หมู่บ้านเด็ก ทำงานร่วมกับ พิภพ ธงไชย ในปีแรกของโรงเรียนแห่งนั้น อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แนะว่า ให้ไปอยู่กับเด็กโดยไม่ต้องใช้อำนาจ มันทำให้ผมคิดถึงว่า อำนาจที่แท้จริงของครูคืออะไร? ไม่ใช่ไม้เรียว หรือคะแนน ผมได้ใคร่ครวญโจทย์ข้อนี้มาตลอดชีวิต แล้วผมก็ได้เป็นครูสมใจ หากแต่เป็นครูนอกระบบโรงเรียน ผมอาจจะพบคำตอบ แต่งานเขียนของพาล์มเมอร์ได้ทำให้คำตอบนั้นชัดเจน และเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
พาล์มเมอร์พูดถึงการเชื่อมโยงกับเด็กได้ แล้วนำพาเด็กไปเชื่อมโยงกับวิชาที่ครูสอน ซึ่งครูจะต้องเชื่อมโยงกับวิชาที่สอนด้วย ต้องเข้าหา เข้าถึงวิชาที่สอน จนองค์ความรู้นั้นๆ เข้ามาเป็นเลือดเนื้อของครูเอง ส่วนวิธีการสอน กระบวนการสอน ครูแต่ละคนอาจจะต้องหาทางเข้าหาความเหมาะสมลงตัว ยืดหยุ่นและผันแปรได้ตามความถนัดหรือตามอัตลักษณ์ของครูแต่ละคนเอง
พาล์มเมอร์พูดถึงครูคนหนึ่งที่อยู่ข้างใน (Inner teacher) ว่า เราต้องค้นหาครูภายในของเราให้พบ ในฐานะนักเรียนวอยซ์ ไดอะล็อค ผมคิดว่า ครูภายในที่ว่านี้ เชื่อมโยงอยู่กับเด็กน้อยผู้เปราะบางของ ดร. สโตน สองสามีภริยา (Dr. Hal & Sidra Stone) ทั้งสองได้กล่าวถึงสรรพคุณของเด็กน้อยผู้เปราะบางที่ดำรงตนอยู่ภายในเราไว้ว่า หนึ่ง เด็กน้อยมีความสามารถที่จะสนิทสนม เมื่อเราเปราะบาง เรายอมรับความอ่อนแอของเรา ความกลัวของเรา เหมือนกับว่าเรายังเป็นครูคนใหม่ตลอดกาล ใช่ไหม เป็นไปได้ไหม?
สอง เด็กน้อยผู้เปราะบาง คือ ตัวตนดั้งเดิมของเรา (ผู้เข้าร่วมเวิร์คชอปบางคนได้โยงเข้ากับจิตเดิมแท้อันประภัสสร หรือเรืองแสง) ทำให้เรารู้ว่า เราต้องการอะไร ชอบอะไร ซึ่งอาจจะช่วยนำพาให้เราไปสอนในสิ่งที่เราสามารถเชื่อมโยงได้จนเป็นเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของเรา จนกระทั่ง เราอาจจะสามารถเชื่อมโยงเด็กให้ไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นภาษา คณิตศาสตร์ หรือปรัชญา และทำให้เด็กรักในสิ่งที่เรารักไปได้ด้วย
สาม เด็กน้อยผู้เปราะบาง คือ ผู้ที่ตื่นตะลึง ทึ่งกับทุกสรรพสิ่ง ทุกสรรพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้า ตื่นตัวที่จะเรียนรู้ ด้วยสภาวะจิตที่พร้อมจะเรียนรู้สูงสุดอยู่ตลอดเวลา ที่เรียกกันว่า สภาวะจิต หรือสมอง ที่เราจะสามารถเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด (Optimum learning state)
สี่ เด็กน้อยผู้เปราะบาง ยังมีแผนที่ทางจิตวิญญาณติดตัวมา เมื่อเราเข้าไปแตะตัวเด็กน้อยในตัวเราได้ เราจะเห็น “แผนที่ทางจิต” นั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Psychic fingerprint” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ไพเราะที่สุดในโลกคำหนึ่ง (คำของ ดร. สโตน เอง) และเราจะแจ้งใจซึ่งทางเดินแห่งจิตวิญญาณของเรา เราจะได้เห็นว่า ครูไม่ได้เพียงสอนวิชาเท่านั้น หากยังสอนมหาวิชา หรือวิชาว่า ด้วยการเติบโตด้านใน ด้านจิตวิญญาณอีกด้วย
โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551
มีเพื่อนหลายคนถามผู้เขียนว่า ทางออกของวิฤตต่างๆ ในปัจจุบันน่าจะเป็นอย่างไร ผู้เขียนเรียนท่านเหล่านั้นตามตรงว่า “ไม่ทราบเหมือนกัน” อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมั่นใจประการหนึ่งว่า วิกฤตต่างๆ จะทำให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่อง “จิตใจและปัญญา” กันมากขึ้น
อย่างเช่นวิกฤตคนในวันนี้ หลายท่านเห็นแล้วว่าสังคมไทยกำลังมาถึงทางตัน เนื่องจากฝ่ายที่ขัดแย้งกันในบ้านเมืองต่างไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่กัน และความไม่มีสติ ก็เป็นส่วนที่เร่งกระบวนการให้ถึงทางตันเร็วๆ ความสูญเสียจะเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น จนไม่ต้องคาดเดาว่าเหตุการณ์เลวร้ายจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะเราต่างรู้กันดีอยู่แก่ใจ และเหตุการณ์เช่นนี้ได้เคยเกิดขึ้นซ้ำๆ มาแล้วหลายครั้งหลายครา ที่จะต้องมีคนตายเพราะเรียกร้องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะในบ้านเมืองเรา แต่ในต่างประเทศก็เกิดความขัดแย้งและสูญเสียอย่างมากมายให้เราได้เห็นกันมาแล้ว ตัวอย่างที่ผู้เขียนชอบหยิบยกขึ้นมา คือ สงคราม ๓๐ ปี ในยุโรป ก่อนการเข้าสู่ยุคแห่งการรู้แจ้งเห็นจริง (Enlightenment) ในช่วงทศวรรษที่ ๑๘
สงครามครั้งนั้นเป็นการต่อสู้ระหว่างความเชื่อในเรื่องคุณงามความดีที่ต่างฝ่ายมีต่อพระเจ้า ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมแพ้กัน สุดท้ายเมื่อคนตายไปมากเหลือเกิน ประชากรหายไป ๑ ใน ๓ ของประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศเยอรมนี ผู้ชายเสียชีวิตไปครึ่งหนึ่งของประเทศ คนก็เริ่มได้ “สติ” หันมามองสิ่งที่แตกต่างอย่างเป็นมิตรมากขึ้น โดยเฉพาะความรู้และความเชื่อที่แตกต่างกัน แล้วจึงเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งรู้แจ้งเห็นจริง ที่คนมองเห็นสิ่งต่างๆ ด้วยใจอย่างใคร่ครวญมากขึ้น ยกระดับจิตใจและปัญญาโดยรวม และมีความสุข
ที่ผู้เขียนหยิบยกเหตุการณ์ครั้งนั้นขึ้นมา เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่า เราไม่จำเป็นจะต้องเดินตามเส้นทางที่มนุษย์เคยผิดพลาดมาแล้ว เพราะเราประจักษ์แล้วว่า ความคิดความเชื่อที่ต่างกันอย่างรุนแรง อาจจะทำให้สติปัญญาของมนุษย์มืดบอดไปได้ด้วยความคิดที่คอยบงการให้ทำลายล้างกันตลอดเวลา จิตใจและสมองไม่เคยปลอดโปร่งพอที่จะมองเห็นมนุษย์คนอื่นอย่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ หรือมีวิธีสื่อสารให้เข้าใจกันอย่างสร้างสรรค์ที่จะไม่ทำร้ายคนอื่นๆ ในสังคมไปด้วย โดยเฉพาะการทำให้คนทั่วไปขาดสติ มีแต่อารมณ์ครอบงำจิตใจ ทำให้เกิดความกลัว ความโกรธ และความเกลียดชังทั่วไปหมด ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแปรเปลี่ยนความกลัว ความโกรธ ความเกลียดของกันและกันในวันนี้ ให้ปรองดองกันและคุยกันได้ แต่ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของคนไทย ที่มีรากทางวัฒนธรรมที่เน้นเรื่องความสงบสันติ มีความรักความเมตตา ที่จะชักจูงคนทั้งหลายให้ช่วยกันนำพาสังคมให้ก้าวข้ามวิกฤตหลุมเดิมนี้ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี โดยแนะนำพาคนที่ยังไม่เข้าใจ ให้เข้าสู่กระแสของการเรียนรู้ไปสู่จิตตปัญญา คือเรียนรู้ที่จะมีสติ มีปัญญา มีชีวิตอยู่อย่างเป็นมิตรต่อสรรพสัตว์และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดครอบครัว องค์กรและสังคม มีที่ความสุข
สถานศึกษาต่างๆ ในประเทศไทยไม่ควรรอช้าที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีจุดหมายปลายทางสู่ความสุขที่แท้ของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เพราะหายนะได้ก่อตัวขึ้นแล้ว ดังเช่นทั่วโลกที่ตระหนักถึงความสำคัญและหันมาสนใจการศึกษาในระดับจิตวิญญาณอย่างจริงจัง มีหลักสูตรในลักษณะนี้มากมายทั่วโลกแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยนาโรปะ สหรัฐอเมริกา หรือ สถาบัน Contemplative Mind in Society ที่นักวิชาการจากหลากหลายสาขามาร่วมกันก่อตั้งและทำงานวิจัยในเรื่องการพัฒนามนุษย์จากด้านใน เพราะเห็นแล้วว่า หากมนุษย์ไม่มีความรู้ความฉลาดในเรื่องจิตใจและปัญญา จะไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับมนุษย์ด้วยกันเองหรือธรรมชาติรอบตัวได้
ผู้เขียนเห็นว่าคนไทยมีศักยภาพเป็นผู้นำในศาสตร์ด้านนี้ได้ ในการที่จะทำให้คนเกิดจิตสำนึกใหม่ สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสร้างสรรค์ องค์กรใหญ่ๆ ทุกองค์กรเริ่มจะส่งเสริมกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD; Human Resource Development) ให้บุคลากรมีคุณภาพทั้งทางด้านจิตใจและปัญญา เชื่อว่าคนจะรักองค์กรและทำงานด้วยหัวใจ และจะบริการผู้อื่นด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ มีจิตอาสา และจิตใจที่เบิกบาน
มหาวิทยาลัยมหิดลมีหลักสูตรระดับปริญญาโท จิตตปัญญาศึกษาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Contemplative Education and Transformative Learning) ซึ่งเน้นการศึกษาและการวิจัยว่า ทำอย่างไรจะทำให้มนุษย์ตระหนักรู้ถึงศักยภาพและความสุขที่แท้ในการอยู่ร่วมกันของสังคมมนุษย์ และมีความสมดุลกับธรรมชาติ นักศึกษาที่จบออกมาจะเป็นกระบวนกร (Facilitator) เป็นผู้ที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน องค์กร สังคม ทำให้คนตระหนักถึงความสำคัญขององค์กรที่มีชีวิต และพร้อมที่จะศึกษาหัวใจขององค์กรร่วมกัน ช่วยกันพัฒนาให้เป็นสถานที่ที่มีความสุข ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น กิจกรรมศิลปะบำบัด สุนทรียสนทนา (Dialogue) นพลักษณ์ (Enneagram) วิชาทัศนะต่อโลกและปัญญาในการใช้ชีวิต ฯลฯ ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอีกหลายๆ แห่งในประเทศก็มีแนวโน้มที่จะเปิดหลักสูตรดังกล่าวในเร็ววันนี้ ท่านผู้นำประเทศและผู้นำองค์กรควรที่จะเรียนรู้ศาสตร์ระดับแนวหน้าของโลกนี้ เพราะจะสามารถเปลี่ยนแปลงวิกฤตสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมไปในทิศทางที่ดีงามได้ในคราวเดียวกัน และหากมีผู้คนในระดับจำนวนวิกฤต (Critical mass) ที่เข้าใจเรื่องจิตตปัญญา จะสามารถยกระดับสังคมไปสู่ความเข้าใจใหม่โดยสิ้นเชิง และนำพาสังคมสู่ความสุขได้อย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะวิกฤตคน ผู้เขียนเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงวิกฤตคนให้ไปสู่วิถีแห่งความดีงาม เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประชาชน ที่จะไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ต้องตั้งสติให้ดี ช่วยผู้อื่นเปลี่ยนแปลงความทุกข์ให้เป็นความสุขที่แท้ด้วยจิตใจและปัญญา ส่งเสริมให้บุตรหลานเรียนรู้ และเป็นผู้นำในเรื่องจิตตปัญญา แม้จะเป็นเรื่องที่ยากในวันนี้ แต่ผู้เขียนเชื่อว่ามนุษย์เราจะไม่พ่ายแพ้ต่อความยากลำบาก ถึงกับจะต้องหันหน้าเข้าสู่ความมักง่าย ที่จะแก้ปัญหาด้วยการด่าทอกัน ทำร้ายกัน และทำให้ผู้อื่นขาดสติกันไปทั้งหมด
สุดท้ายวิกฤตน่าจะเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังแห่งปัญญาได้เสียที โดยช่วยกันมีจิตตปัญญา ที่หมายถึงการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญต่อสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ในสังคมเรา และเปลี่ยนความท้อแท้สิ้นหวังมาเป็นพลังในการเรียนรู้ที่จะออกจากวิกฤตด้วยกันเสียตั้งแต่วันนี้ ทำให้เป็นเรื่องสร้างสรรค์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยสติปัญญาของคนในยุคสมัยของเรา
โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2551
วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ วิกฤติการณ์ทางสังคมวัฒนธรรม วิกฤติการณ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ ปัญหามลภาวะ ปัญหาโลกร้อน... สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบทางลบของการพัฒนาในกระแสหลักที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในยุคอุตสาหกรรมมาจนถึงยุคปัจจุบัน หากเรายังคงแนวคิดและพัฒนาตามกระแสในอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้น ภายใต้การช่วยเหลือของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบไม่ยั้งคิดและขาดสติ โลกและมนุษย์ก็คงจะถึงกาลวิบัติที่เร็วมากขึ้นด้วยฝีมือของมนุษย์เอง
ลองมาจินตนาการสร้างภาพอนาคตดูเป็นตัวอย่าง โดยเริ่มจากสิ่งที่ปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตาในปัจจุบัน แล้วคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ นาโนเทคโนโลยี เวชภัณฑ์ การขนส่ง อินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีอื่นๆ ได้เพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ตามความต้องการของตนเองเพิ่มขึ้น การแข่งขันเข้มข้นมากขึ้นไม่ใช่แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่จะเพิ่มเป็นทวีคูณตามพัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เป็นวงจรต่อเนื่องไปเรื่อย
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนำไปสู่การแข่งขันทางเศรษฐกิจและธุรกิจเพิ่มขึ้น ช่วยให้วิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น คนจะมีอายุยืนยาวขึ้น ประชากรโลกเพิ่มขึ้นจาก ๑ พันล้านในปี ค.ศ. ๑๘๒๐ เป็น ๕ พัน ๕ ร้อยล้าน ในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ และประมาณ ๖ พันล้านคนในปัจจุบัน การเพิ่มขึ้นของประชากรจะมีผลก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมและทุกขภาวะในหลายลักษณะ กระทบต่อระบบสวัสดิการที่ต้องพิจารณาใหม่ คนรุ่นใหม่ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อเลี้ยงดูคนสูงวัย คนแก่คนจนถูกทอดทิ้ง ปัญหาสิ่งเสพย์ติด...
ความก้าวหน้าด้านระบบขนส่ง ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น มีการเคลื่อนย้ายประชากรกระจายไปทั่วโลก ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมของท้องถิ่น เกิดการกลืนทางวัฒนธรรม
พัฒนาการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ การแผ่ขยายของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ประชาธิปไตยที่ไร้จิตวิญญาณ ทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นลดถอย หายไป นอกจากนั้นยังเกิดปัญหามลภาวะ ระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมลง อันเนื่องมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ฉกฉวยและนำทรัพยากรทางธรรมชาติไปใช้อย่างไร้ขีดจำกัดภายใต้การกระตุ้นของระบบการค้าเสรี และข้อตกลงระหว่างประเทศรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้สูงสุด นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกมากมายบนทิศทางการ “พัฒนา” ตามแบบอย่างของตะวันตก
คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วมนุษย์ และโดยเฉพาะประเทศไทย จะมีทิศทางการพัฒนาไปในรูปแบบใด มนุษย์และโดยเฉพาะคนไทยจึงจะมีความสุข วัฒนธรรมที่ดีงามของไทยจึงจะยังคงดำรงอยู่เป็นมรดกของคนไทยและมวลมนุษยชาติ
การพัฒนาที่ดำเนินไป ดูเหมือนจะทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น และดูเหมือนมนุษย์จะ มีการ “พัฒนา” แบบก้าวกระโดดมากขึ้น
แต่โลกก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เต็มไปด้วยการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น เต็มไปด้วยสงครามในรูปแบบต่างๆ เต็มไปด้วยวิกฤติ
ทำไมยิ่งพัฒนา ยิ่งมีความทุกข์ ยิ่งมีความขัดแย้ง ยิ่งมีความเครียด อยู่ร้อนนอนทุกข์
ทำไมการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และการเมืองที่ดำเนินอยู่ จึงไม่สามารถทำให้คนมีความสุข มีความรัก ความเมตตา ไม่สามารถทำให้สังคมเข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุข ไม่สามารถทำให้สภาพแวดล้อม และธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ขึ้น และที่สำคัญ ไม่สามารถทำให้โลกมีสันติภาพได้
หรือเราต้องหยุดคิด เพื่อพิจารณาอย่างจริงจัง อย่างมีสติและปัญญา เกี่ยวกับทิศทางและเป้าหมายของการพัฒนาที่ไหลไปตามกระแสอย่างขาดสติกันใหม่
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้จิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) และการศึกษารูปแบบอื่นๆ ที่เน้นการเรียนรู้และการพัฒนามิติด้านในของมนุษย์ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศตะวันตกและทั่วโลก ที่ประเทศไทยก็มีกลุ่มบุคคล องค์กร สถาบันการศึกษา ทั้งของรัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน นำแนวคิด แนวปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษามาเผยแพร่ ปฏิบัติ จัดอบรมมากขึ้น
มหาวิทยาลัยมหิดลเริ่มเปิดหลักสูตรระดับมหาบัณฑิตเป็นแห่งแรกของประเทศไทยในปีการศึกษา ๒๕๕๑ คือ หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตตปัญญาและการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง มีนักศึกษารุ่นแรก ๑๔ คน ในจำนวนนี้มีทั้งผู้ที่จบปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรีมาเรียนร่วมกัน
ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีศูนย์วิจัยและพัฒนาจิตตปัญญาศึกษา คณะครุศาสตร์ และในช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายน ๒๕๕๑ ทางศูนย์ฯ ได้ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดอบรมด้านจิตตปัญญาศึกษาให้กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจำนวน ๒ รุ่นๆ ละประมาณ ๔๐ คน แต่ละรุ่นมี ๔ หลักสูตรๆ ละ ๓ วัน และในตอนท้ายได้นำผู้เข้าอบรมทั้ง ๒ รุ่นมาประชุมร่วมกันสรุปบทเรียนและแนวทางการขยายผลร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในกลุ่มโกศล กลุ่มจิตวิวัฒน์ ศูนย์คุณธรรม และตัวแทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการ “โครงการขับเคลื่อนเครือข่ายคุณธรรมในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษา: การอบรมภาวะผู้นำทางจิตตปัญญาศึกษาสู่มหาวิทยาลัย”
ความพยายามเริ่มต้นของการนำแนวคิดและวิธีการทางจิตตปัญญาศึกษามาใช้ในการพัฒนามนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของการอบรมที่จัดโดยบุคคลและองค์กรต่างๆ การจัดการศึกษาในรูปแบบที่เป็นการศึกษาทางเลือก เช่นที่โรงเรียนสัตยาใส และที่สถาบันอาศรมศิลป์ รวมถึงการจัดการศึกษาในระบบปกติ เช่นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ต่างล้วนอยู่ในช่วงของการเรียนรู้และพัฒนา จึงถือเป็นรุ่งอรุณของการสร้างจิตสำนึกใหม่ทางการศึกษาที่สมควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการพัฒนามนุษย์
และเพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเกี่ยวกับความหมาย แนวคิด และการปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษา ผู้เขียนขอนำเสนอภาพรวมความเข้าใจกว้างๆ ที่ยืดหยุ่น ไม่ตายตัว เกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษา เพื่อให้ผู้สนใจนำไปพิจารณาอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันดังนี้
จิตตปัญญาศึกษาเป็นการศึกษาที่เน้นและให้คุณค่าในเรื่อง “การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ” เพื่อเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา (รู้เท่าทัน) มิติ/ปรากฏการณ์ด้านในของมนุษย์ (อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ...) ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยง (ได้รับผลกระทบจากและมีผลกระทบต่อ) กับมิติ/ปรากฏการณ์ภายนอก (คนอื่น สังคม เทคโนโลยี ระบบนิเวศ...) ผ่านกิจกรรมและกระบวนการที่หลากหลาย มีเป้าหมายก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานทางความคิดและจิตสำนึกใหม่ เกี่ยวกับตนเองและสรรพสิ่ง ส่งผลสู่การประพฤติปฏิบัติอย่างมีสติและปัญญา มีความรักความเมตตาต่อเองและสรรพสิ่ง ทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวกันกับธรรมชาติ
โดย ดร.จารุพรรณ กุลดิลก
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2551
จากบทความที่มีเพื่อนผู้หวังดีส่งมาให้ผู้เขียนชื่อ “Democracy on the wane” (http://www.boston.com/bostonglobe/ideas/articles/2008/09/14/democracy_on_the_wane) ซึ่งแปลได้ประมาณว่า ประชาธิปไตยข้างแรม หรือ แสงสว่างของประชาธิปไตยลดน้อยถอยลง แสดงให้เห็นว่าชาวโลกกำลังมองเหตุการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ไม่ต่างไปจากเรา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่คาดเดาได้ การย้อนถามและตรวจสอบระบบประชาธิปไตย เป็นคลื่นระลอกที่สามที่มีอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีประชาธิปไตยเพียงรูปแบบ แต่ในรายละเอียดมีความอ่อนแอในทุกๆ จุด และไม่แปลกหากคนจะย้อนถามหาระบบที่ดีที่สุดอีกครั้งหนึ่ง แต่แท้จริงแล้ว ไม่มีระบบใดดีที่สุดในโลก หากลืมเห็น คน ที่อยู่ในระบบ
ระบบคนขนาดใหญ่โดยทั่วไปประกอบด้วย ผู้นำ ผู้ตาม เนื้อหาสาระ และการสื่อสาร นั้น หากผู้นำดี ผู้ตามดี เนื้อหาสาระดี การสื่อสารดี ระบบก็ย่อมดี ซึ่งถ้าผู้นำคือผู้ปกครองประเทศ ผู้ตามคือประชาชน เนื้อหาสาระคือรัฐธรรมนูญ และการสื่อสารคือการสื่อสารทุกภาคส่วน ทั้งปัจเจกและองค์รวม เมื่อผู้นำดี ประชาชนมีคุณภาพ รัฐธรรมนูญสอดคล้องกับความเป็นจริงของระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของมนุษย์ และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง การสื่อสารเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ประเทศก็น่าจะดี
แต่ในขณะนี้ประเทศเรากำลังพุ่งประเด็นไปที่ ผู้นำ เสียส่วนใหญ่ เราวุ่นวายอยู่กับการสรรหาผู้นำ ส่วน เนื้อหาสาระ ก็มองกันแต่เพียงหลักการและกรอบกติกา ในทางปฏิบัติ ว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร ไม่ได้พูดคุยกันสักเท่าไร ส่วน ผู้ตาม คือประชาชน แทบจะไม่มีการมอง กระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ความเข้าใจ ที่จะสามารถพัฒนาตนให้มีความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดีในระบอบประชาธิปไตยถูกลืมไปเลย และ การสื่อสาร ระหว่างกันอยู่ในระดับสอบตก
ผู้นำที่ดีที่จะเป็นผู้นำของระบบคนขนาดใหญ่ได้นั้น ต้องเข้าใจและเข้าถึงธรรมชาติของคนเป็นอันดับแรก ผู้เขียนต้องการเห็นผู้นำที่เข้าใจและเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง อย่างน้อยผู้นำต้องสามารถเข้าใจความเป็นมนุษย์ของตนเองว่า มนุษย์ผิดพลาดได้ เรียนรู้สื่อสารกันได้และให้อภัยกันได้ และที่สำคัญเห็นความเป็นมนุษย์ในผู้อื่น เห็นความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์กับมนุษย์ และชี้ให้ผู้อื่นเห็นว่าทุกปัญหามีทางออกโดยไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งทางวาจาและการกระทำ สามารถหาทางออกร่วมกันอย่างผู้เจริญแล้วทางสติปัญญา สามารถแก้ปัญหาที่ต้นตออย่างตรงจุด คือ การแก้ที่คน เชื่อว่าคนสามารถพัฒนาได้ทั้งจิตใจและปัญญา หากเวลานี้ คนในประเทศเราไม่มีความสามารถที่จะคุยกันอย่างสันติ ต้องเรียกสติคน ให้ความเชื่อมั่นกับคนในประเทศว่า เราต้องคุยกันได้ ไม่ปล่อยให้ปัญหาบานปลายเป็นปัญหาปลายเปิด และกลายเป็นบาดแผลที่เยียวยาไม่ได้
ในส่วนของเนื้อหาสาระหรือรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนเห็นว่า ไม่ว่าจะร่างกรอบกติการัดกุมอย่างไร หากมองไม่เห็นคนปฏิบัติ ว่าจะเข้าใจได้หรือไม่ จะปฏิบัติอย่างไร ก็รังแต่จะเป็นการสร้างกติกาที่ทำให้เกิดความแตกแยกทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะปฏิบัติอย่างไรก็ผิดไปหมด คนชั่วก็เต็มเมือง คุกก็ไม่มีพอที่จะขังคนทั้งเมือง นั่นเป็นเพราะมองแต่กติกาแต่มองไม่เห็นคน ยิ่งร่างกติกา ยิ่งทำให้คนคุยกันได้น้อยลง สื่อสารกันได้น้อยลง คนเกลียดกันมากขึ้น เนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับศักยภาพและการพัฒนาคุณภาพของคนในระบอบประชาธิปไตยไม่มีการกล่าวถึงเลย ทำอย่างไรจะให้คนคุยกันได้มากขึ้น เห็นความแตกต่างหลากหลายอย่างเป็นมิตรในระบอบประชาธิปไตย เข้าใจหน้าที่ของตนเองอย่างเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทำอย่างไรที่จะมีการยกระดับและให้คุณค่าการพัฒนามนุษย์ที่เป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดของประเทศร่วมกันทุกภาคส่วน
ส่วนผู้ตามหรือประชาชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบ แต่ละคนต้องมีสติ ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ ด้วยตัวของท่านเอง ไม่ควรใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ทั้งทางวาจาและการกระทำ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในสังคม ท่านสมควรแสดงตัวอย่างการเป็นผู้ใหญ่ที่ดีให้คนรุ่นใหม่เห็นว่า ผู้ใหญ่นั้นคุยกันอย่างมนุษย์กับมนุษย์ได้ เรียนรู้ร่วมกันได้ และให้อภัยกันได้ ความผิดพลาดเป็นบทเรียน และการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์เริ่มจากความผิดพลาด ที่พึงแก้ไขร่วมกันไป ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม หากประชาชนเชื่อมั่นในการช่วยกันทำนุบำรุงบ้านหลังใหญ่ ย่อมไม่ท้อแท้ที่จะช่วยกันสื่อสารอย่างสันติในระดับตัวต่อตัว เริ่มจากครอบครัว โรงเรียน ฯลฯ ว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออกอย่างสันติ หากหันหน้าคุยกัน ลดการพูดคุยในปมในประเด็นที่เป็นเรื่องคลุมเครือ เพราะไม่มีประโยชน์อันใดต่อคนทั้งหมด แสดงให้เห็นศักยภาพของคนไทยว่าเป็นผู้ที่สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยปัญญา และสามารถเป็นผู้นำของชาวโลกได้ในเรื่อง สันติวิธี
สุดท้าย ไม่มีระบบที่ดีที่สุดในโลก หากปราศจากการมองเห็นคนในระบบว่า คนพัฒนาได้ เรียนรู้ได้ ทั้งจิตใจและปัญญา ผู้เขียนเชื่อว่าคนไทยเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี จากการมีพื้นฐานจิตใจที่ละเอียดอ่อน หากเพียงตั้งสติ และเป็นสติให้แก่กันและกัน จะสามารถมองเห็นทางออกจากวิกฤตได้ทะลุปรุโปร่งอย่างแน่นอน
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2551
ระยะนี้มีการพูดเรื่องการเมืองใหม่กันมาก สื่อมวลชนกลายเป็นสภามหาชนที่ดีในการเปิดพื้นที่ให้มีการนำความคิดของแต่ละฝ่ายออกมานำเสนอและถกอภิปรายแลกเปลี่ยนกันอย่างเปิดเผยและในวงที่กว้างขวาง ลักษณะนี้แลที่เรียกว่า การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) และหากมีตัวละครมากกว่าผู้ชำนาญการในนามของนักวิชาการ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy)
แต่การเปลี่ยนแปลงไปสู่อะไรใหม่-ใหม่นั้น ย่อมต้องการจิตใหม่-ใหม่เช่นกัน
การเมืองใหม่ไม่ได้หมายถึงรัฐธรรมนูญหรือกติกาใหม่ ภายใต้ตัวละครหรือผู้เล่นหน้าเก่า จิตเก่า-เก่า
การปฏิรูปศาสนาในยุโรป (ค.ศ. ๑๕๑๗ – ๑๖๔๘) ก็ดี การปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๗๘๙-๑๗๙๙) ก็ดี การปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ดี ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้จากจิตวิญญาณแบบเก่า การเรียกร้องอิสรภาพของประเทศอาณานิคมทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นที่อเมริกา อินโดนีเซีย (ค.ศ. ๑๙๔๕) อินเดีย (ค.ศ. ๑๙๔๗) ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้จากจิตวิญญาณแบบเก่า
และจะเห็นได้ว่า กระบวนการปฏิรูป/ปฏิวัติ/เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาด้วยกันทั้งสิ้น
การปฏิรูป/ปฏิวัติ/เปลี่ยนแปลงเมืองไทยจะใช้เวลากี่นาน?
เราต้องใช้จิตวิญญาณแบบไหนในการปฏิรูป/ปฏิวัติ/เปลี่ยนแปลงเมืองไทย?
หากเราจะตอบคำถามข้างต้นให้ได้ การนั่งคุยกันเรื่องการเมืองใหม่ในห้องเสวนาสองสามชั่วโมงคงจะไม่มีทางได้คำตอบที่สำเร็จรูป การเขียนบทความสองสามหน้ากระดาษเอสี่ก็คงจะไม่ได้คำตอบแบบมาม่าเช่นกัน เช่นเดียวกับการเชิญผู้ชำนาญการไปออกโทรทัศน์เพื่อให้คนรับรู้เรื่องการเมืองใหม่ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องของการนำเสนอเพื่อชักจูงมากกว่าการแลกเปลี่ยนความเห็น
เราอาจจะต้องให้เวลากับการแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องการเมืองใหม่มากกว่าปรกติธรรมดา – เรื่องของบ้านเมือง คิดหรือทำเพียงชั่วคืนได้ล่ะหรือ? แล้วเราจะพูดกันว่าเบื่อ เบื่อ เบื่อ กับความไม่คืบหน้าของการเมืองไปได้อย่างไร
นี่ยังไม่ผ่านช่วงชีวิตของเราไปด้วยซ้ำ คนรุ่นลูกหลานเราเขาจะพูดถึงเรากันอย่างไรบ้างหนอ?
ปัญหาของมนุษย์อีกร้อยปีข้างหน้าจะยังเหมือนเดิมไหม?
หากใครเคยดูภาพยนตร์วิทยาศาสตร์โลกอนาคตอย่าง สตาร์วอร์ส หรือ สตาร์เทร็ก ก็จะเห็นว่า แม้เสื้อผ้าจะเปลี่ยน แม้ที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยน แม้ยานพาหนะจะเปลี่ยน แต่ปัญหาของมนุษย์ก็ยังเป็นเรื่องเดิม-เดิม ยังรบกัน ขัดแย้งกัน และไม่ลงรอยกันในเรื่องเดิม-เดิม
นั่นคืออนาคตของเราล่ะหรือ?
เนลสัน แมนเดลา ถูกจำคุกนานถึง ๒๗ ปี แต่หากว่าจิตของเขาไม่มีการเปลี่ยนแปลง เขาจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่การเมืองในอาฟริกาใต้ได้ล่ะหรือ?
การเมืองใหม่และเดิมล้วนแล้วแต่ต้องยอมรับว่า (หนึ่ง) ในสังคมล้วนเต็มไปด้วยความแตกต่าง (สอง) หากปรารถนาความสุขสงบในสังคมจะต้องมีกระบวนการจัดการความแตกต่าง
จิตที่จะยอมรับความแตกต่างได้ต้องเป็นจิตอย่างไร? และทำอย่างไรจึงจะมีจิตเช่นนั้นได้?
การพูดยอมรับความแตกต่างนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่การยอมรับความเห็นทางการเมืองของ “อีกฝ่าย” นั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย – นี่ว่าด้วยการเมืองภายในจิตใจของเราโดยเฉพาะ
ส่วนระบบ กระบวนการ หรือกระบวนวิธีที่นำไปสู่การจัดการความแตกต่างที่ได้รับการยอมรับร่วมกัน นักทฤษฎีทั้งหลายในโลกตะวันตกต่างมีความเห็นที่หลากหลาย - สิ่งที่เราต้องระวังมากที่สุดในยามนี้น่าจะเป็นการผูกขาดอธิบายความหมายของการเมืองและประชาธิปไตยโดยคนบางกลุ่มบางพวก
ธรรมาธิปไตยที่พระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) นำเสนอเมื่อหลายปีก่อนจะกลายเป็นเนื้อในของการเมืองการปกครองบ้านเราได้อย่างไร หากเราไม่มองเห็นเรื่องการพัฒนาคุณค่าของมนุษย์
วิทยาศาสตร์ใหม่ยืนยันว่าเซลล์สมองยังเจริญเติบโตอยู่ตลอดช่วงอายุขัยของมนุษย์ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้เป็นเครื่องกระตุ้น แต่อย่างที่เราเห็นว่า นักการเมืองหรือองค์กรการเมืองที่มีอำนาจมากมักจะไม่เรียนรู้ แล้วเราจะปฏิสัมพันธ์ให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างสังคมกับนักการเมืองหรือองค์กรการเมืองได้อย่างไร – นี่น่าจะเป็นโจทย์ให้ช่วยกันคิดมากกว่าการรื้อสร้างบ้านทั้งหลัง เพื่อให้คนหน้าเดิมๆ เข้าไปอยู่
หลายคนกล่าวว่าบ้านเมืองวิกฤติแล้ว – ใช่แล้ว แต่ว่าวิกฤติที่แท้อยู่ภายในใจมนุษย์ต่างหาก หากภายในของเราไม่เน่ากลวง ผู้คนเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีธรรมาธิปไตยเป็นที่ตั้ง วิกฤติคงไม่มานั่งอยู่กลางบ้านเราเช่นนี้
ในทางการแพทย์ หากแก้ที่สาเหตุของโรคได้เลย ก็ไม่ต้องไปพะวงกับอาการของโรค วิกฤติที่คน กลับไพล่ไปแก้ที่ระบบ โรคอันเกิดจากจิตแบบเดิม-เดิมย่อมไม่มีทางหายขาด
ระบบคุณค่าของสังคมกำลังประสบกับปัญหา หากมีงานวิจัยหรือแบบสอบถามเกี่ยวกับคุณค่าร่วมสมัย เราน่าจะมองเห็นปัญหาได้ชัดขึ้น หนุ่มสาวร่วมสมัยให้คุณค่ากับการมีเงินเสียยิ่งกว่าการเป็นผู้มีคุณธรรม หลายคนเข้าใจว่าเงินเป็นสิ่งเดียวกับความสุข ยกย่องและสยบยอมต่อผู้มีอำนาจมากกว่าผู้มีธรรม ไม่เข้าใจว่าชีวิตนี้เกิดมาทำไม และจะตายอย่างไร ครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นเพียงผู้ขายความรู้สำหรับไปต่อเงิน ไม่อาจจะเป็นผู้นำทางทางจิตวิญญาณได้เลย ผู้ชำนาญการทั้งหลายแหล่ก็ชำนาญอยู่เรื่องเดียว แต่โง่เขลาไปเสียทุกเรื่อง – เหล่านี้เป็นวิกฤติสำคัญที่นำไปสู่อาการระคายเคืองทางการเมืองทั้งหลายนั่นเอง
ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องการเมืองใหม่ เราจำต้องลงรากลึกให้ถึงปัญหามากกว่านี้ เพราะเราจะหาทางออกได้อย่างไรในเมื่อเรายังเข้าใจปัญหาไม่ดีพอ
เรามักจะพูดถึงระบบระเบียบใหม่ แต่ในภาวะโกลาหลเช่นนี้ เรานิ่งพอที่จะตกผลึกทางความคิดแล้วล่ะหรือ การที่ทุกวันต้องคิดถึงวิธีการเอาตัวรอดในเวทีต่อสู้ทางการเมืองไปแบบวันต่อวัน คุณภาพของความคิดนั้นจะเป็นอย่างไร – เราอาจจะต้องยอมเจ็บปวดมากกว่านี้ ปอกเปลือกตัวเองให้มากกว่านี้ เพื่อยอมรับตัวเองตามความเป็นจริง
การเมืองใหม่ต้องการจิตแบบใหม่ หากไม่พูดเรื่องคุณภาพจิตแบบใหม่ คุณภาพแบบใหม่ ก็ยังเป็นการเมืองแบบเก่าอยู่นั่นเอง
โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2551
ในการธุดงค์คราวหนึ่งพระอาจารย์ลี ธัมมธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดอโศการาม ได้พบผู้เฒ่าสองสามีภรรยา ซึ่งมีอาชีพหาของป่า ทั้งสองได้เล่าประสบการณ์เฉียดตายให้ท่านฟังว่า ขณะที่กำลังเก็บน้ำมันยางกลางดงใหญ่ ทั้งสองได้ประจันหน้ากับหมีกลางป่า แม่เฒ่าวิ่งหนีขึ้นต้นไม้ทัน ส่วนพ่อเฒ่าหนีไม่ทันจึงถูกหมีทำร้าย เขาพยายามต่อสู้แต่สู้ไม่ไหว ทำท่าว่าจะไม่รอด เพราะหมีตัวใหญ่และดุร้ายมาก ขณะนั้นเองก็ได้ยินแม่เฒ่าตะโกนว่า ให้นอนหงายเหมือนคนตาย อย่ากระดุกกระดิก พ่อเฒ่าจึงล้มตัวลงนอนแผ่ ไม่ไหวติงเหมือนคนตาย หมีเห็นเช่นนั้นก็หยุดตะปบ แล้วสำรวจร่างพ่อเฒ่า ทั้งดึงขาและหัวของเขา กับเอาปากดุนตัว พ่อเฒ่าก็ทำตัวอ่อนไปมา ขณะเดียวกันก็คุมสติให้มั่นด้วยการบริกรรม “พุทโธ”
หมีเห็นพ่อเฒ่าไม่กระดุกกระดิก นึกว่าตายจริงจึงเดินจากไป ด้วยอุบายดังกล่าวพ่อเฒ่าจึงรอดตาย เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าดังกล่าว พระอาจารย์ลีจึงได้ข้อคิดว่า “คนที่จะพ้นตายต้องทำตนเหมือนคนตาย”
หลายคนมีประสบการณ์คล้ายพ่อเฒ่าผู้นี้ คือรอดตายเพราะทำตัวแน่นิ่งเหมือนคนตาย โจรหรือผู้ร้ายจึงตายใจและเดินจากไป อย่างไรก็ตามการ “ทำตนเหมือนคนตาย”นั้น ไม่ได้หมายความถึงการแกล้งตายหรือทำตัวแน่นิ่งอย่างเดียว แม้คนที่ทำใจสงบนิ่งเมื่อภัยมาถึงตัว พร้อมรับความตายเต็มที่ ก็สามารถ “พ้นตาย”ได้เหมือนกัน
หญิงผู้หนึ่งขับรถบนทางด่วนด้วยความเร็วสูง สักพักก็เห็นรถติดเป็นแพยาวเหยียดอยู่ข้างหน้า เธอจึงชะลอรถแต่ไกล แต่เมื่อรถใกล้ต่อท้ายคันหน้า เธอเหลือบมองกระจกหลัง ก็เห็นรถคันหนึ่งวิ่งมาด้วยความเร็วสูง ไม่มีทีท่าชะลอเลยทั้ง ๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากรถของเธอ ชั่วขณะนั้นเองเธอรู้ว่ารถของเธอต้องถูกชนแน่ ซึ่งหมายความว่าเธอต้องถูกอัดกระแทกทั้งจากคันหน้าและคันหลัง และเธออาจไม่รอด
วินาทีที่รู้ว่าเธอจะต้องตาย เธอก้มดูมือทั้งสองซึ่งกำพวงมาลัยไว้แน่น เห็นได้ชัดว่าใจของเธอกำลังเครียดเกร็ง เธอเพิ่งรู้ว่านี้คือสิ่งที่เธอเป็นมาตลอดชีวิต เธอตั้งใจว่าถ้าจะต้องตายก็ต้องไม่ตายในอาการแบบนี้ เธอจึงหลับตา หายใจเข้าลึก ๆ และปล่อยมือลงข้างตัว ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น วินาทีต่อมารถคันหลังก็พุ่งชนรถของเธออย่างแรง ส่งเสียงดังสนั่น
รถทั้งสองคันพังยับเยิน แต่เธอกลับไม่เป็นอะไรเลย ตำรวจบอกว่าเธอโชคดีที่ปล่อยตัวตามสบาย ถ้าเธอเกร็งตัว ก็อาจบาดเจ็บสาหัสหรือถึงกับคอหักตายได้เพราะแรงกระแทก
อีกรายหนึ่งเล่าว่า ครั้งหนึ่งได้ไปว่ายน้ำที่เกาะสมุย จู่ ๆ ก็สังเกตว่ากระแสน้ำพัดเธอออกห่างจากฝั่งไกลขึ้นเรื่อย ๆ เธอพยายามว่ายเข้าฝั่ง แต่ยิ่งว่ายก็ยิ่งเหนื่อย เพราะไม่อาจทานกระแสน้ำที่พัดออกจากฝั่งได้ เพื่อน ๆ พยายามว่ายมาช่วยเธอ แต่พอรู้ว่าสู้กระแสน้ำไม่ได้ ก็ว่ายกลับเข้าฝั่ง เธอตกใจมากพยายามรวบรวมกำลังว่ายเข้าฝั่งแต่ไม่เป็นผล จนใกล้จะหมดแรง เธอรู้ว่าเธออาจจะไม่รอด ชั่ววินาทีนั้นเธอรวบรวมสติ คุมใจให้หายตื่นตระหนก พร้อมรับความตายที่จะมาถึง แทนที่จะว่ายต่อ เธอเลือกที่จะลอยตัวอยู่ในน้ำนิ่ง ๆ เธอพบว่าช่วงนั้นจิตใจสงบเป็นอย่างมาก ไม่มีความอาลัยหรือห่วงใยสิ่งใดทั้งสิ้น
เวลาผ่านไปครู่ใหญ่เธอก็สังเกตว่าคลื่นค่อย ๆ ซัดตัวเธอเข้าหาฝั่ง ถึงตอนนี้เพื่อน ๆ ก็ว่ายมาช่วยพาเธอเข้าฝั่ง เธอเล่าว่าที่รอดตายได้ก็เพราะลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ ในทะเล จนมาถึงบริเวณที่ปลอดกระแสน้ำดังกล่าว หากเธอกระเสือกกระสนว่ายเข้าฝั่งตั้งแต่ทีแรก ก็คงหมดแรงและจมน้ำในที่สุด
ทั้งสองกรณีเป็นตัวอย่างของคนที่รอดตายเพราะทำใจพร้อมรับความตาย โดยไม่ขัดขืนดิ้นรน เพราะรู้ว่าภัยมาถึงตัวแน่แล้ว ป่วยการที่จะต่อสู้ มีอย่างเดียวที่จะทำได้คือทำใจนิ่ง ยอมรับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้น เมื่อใจนิ่ง กายก็นิ่งและผ่อนคลาย และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้ทั้งสองรอดตายได้
เป็นธรรมชาติของคนเรา เมื่อมีภัยมาประชิดตัว ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทันทีคือ “สู้” หรือ “หนี”
ปฏิกิริยาทั้งสองประการจะได้ผลก็ต่อเมื่อมีกำลังสู้ไหว หรือหนีได้ แต่หากสู้ไม่ได้หนีไม่พ้น ไม่มีอะไรดีกว่าการยอมรับมันโดยดุษณี อย่างน้อยก็ทำให้ใจไม่ทุกข์ ดีกว่าทุกข์ทั้งกายและใจ และหาก “โชคดี” ก็อาจรอดพ้นจากอันตรายได้ ดังตัวอย่างทั้งสามกรณี
การยอมรับความจริงด้วยใจสงบ มีประโยชน์ไม่เฉพาะในยามที่อันตรายจากภายนอกมาประชิดตัวเท่านั้น แม้ในยามที่เจ็บป่วย ใจที่ไม่ต่อสู้ขัดขืนก็ช่วยได้มากเช่นกัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่ป่วยกายไม่มาก แต่เนื่องจากใจเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ยิ่งปรุงแต่งไปในทางร้าย ใจก็ยิ่งยอมรับความป่วยไม่ได้ ผลก็คือร่างกายทรุดหนัก นับประสาอะไรกับคนที่ป่วยหนักด้วยโรคร้าย ถ้าใจยอมรับความจริงไม่ได้ อาจตายเร็วกว่าที่หมอคาดการณ์ไว้เสียอีก ตรงข้ามกับคนที่ทำใจได้ พร้อมรับความตายทุกขณะ กลับมีชีวิตยืนยาวมากกว่า และบางคนสามารถเอาชนะโรคร้ายได้ด้วยซ้ำ
ใจที่ดิ้นรนหรือต่อสู้ขัดขืนกับโรคร้าย อาจทำให้ความทุกข์ทางกายเพิ่มพูนขึ้นสองหรือสามเท่าตัวด้วยซ้ำ ซึ่งเท่ากับเร่งความตายให้มาถึงเร็วเข้า ถามว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ใจดิ้นรนหรือต่อสู้ขัดขืน คำตอบก็คือ ความกลัว เช่น กลัวตาย กลัวสูญเสีย กลัวเจ็บปวด ความจริงอย่างหนึ่งที่ดูเหมือนว่าโลกเล่นตลกก็คือ ยิ่งกลัวเจ็บปวด ก็กลับเจ็บปวดมากขึ้น มีคนทำวิจัยพบว่า คนที่กลัวเจ็บจากเข็มฉีดยา เมื่อถูกเข็มแทงเข้าจะรู้สึกเจ็บมากกว่าปกติถึงสามเท่า ส่วนคนที่ไม่กลัว ยอมให้ฉีดยาโดยดุษณี จะรู้สึกเจ็บน้อยมาก เรียกว่าความเจ็บหารสองหรือหารสามก็น่าจะได้
สำหรับคนทั่วไปไม่มีอะไรน่ากลัวเท่ากับความตาย แต่ความจริงแล้วสิ่งที่น่ากลัวกว่าความตายก็คือความกลัวตายต่างหาก คนเรากลัวตายด้วยหลายสาเหตุ เช่น กลัวพลัดพรากจากคนรัก ห่วงใยลูกเมียที่ยังอยู่ มีงานการที่ยังสะสางไม่เสร็จ กล่าวโดยสรุป ใจที่ยังยึดติดผูกพัน ปล่อยวางไม่ได้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรากลัวตาย ดังนั้นจึงต่อสู้ขัดขืนกับโรคร้ายและความตาย ยิ่งต่อสู้ขัดขืนใจก็ยิ่งทุกข์ เพราะโรคไม่ยอมหาย และยิ่งใจทุกข์ โรคก็ยิ่งกำเริบ ซึ่งก็ทำให้ทุกข์ใจมากขึ้น เป็นวงจรเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกายและใจทรุดหนักเกินกว่าที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้
แต่สำหรับบางคน สาเหตุที่ต่อสู้ขัดขืนกับโรคภัยและความตายก็เพราะเป็นห่วงคนที่อยู่รอบตัว มีพระรูปหนึ่งป่วยเรื้อรังโดยหมอไม่พบสาเหตุ ระยะหลังท่านมีอาการอ่อนเพลียมากจนต้องนอนซมอยู่บนเตียงตลอดเวลา ทางวัดพยายามช่วยท่านทุกวิถีทาง ทั้งด้วยการรักษาแผนใหม่และการรักษาแบบทางเลือก แต่อาการของท่านก็ไม่ดีขึ้น เพื่อนพระจากวัดต่าง ๆ พากันมาให้กำลังใจ ท่านจึงพยายามรักษาตัวให้ดีขึ้น แต่ไม่ว่าจะพยายามเพียงใด อาการของท่านมีแต่จะทรุดลง หลายคนเป็นห่วงว่าท่านจะไม่รอด แต่ท่านก็พยายามฝืนสู้โรคภัยไข้เจ็บ แต่ดูจะไม่ค่อยมีหวังเท่าใด
แล้ววันหนึ่งพระอาจารย์ของท่านซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอีกวัดหนึ่งได้มาเยี่ยมท่าน ท่านเรียกชื่อของพระรูปนั้น แล้วพูดสั้น ๆ ว่า “ถ้าท่านจะตายก็ตายได้นะ ท่านไม่ต้องพยายามหายหรอก” ทันทีที่ได้ยิน ท่านถึงกับร้องไห้ ไม่ใช่ด้วยความเสียใจ แต่เพราะซาบซึ้งใจที่พระอาจารย์ได้ช่วยปลดเปลื้องภาระอันหนักอึ้งออกไปจากจิตใจของท่าน ที่ผ่านมาท่านรู้สึกผิดที่ทำให้เพื่อนผิดหวัง แต่ละคนอยากให้ท่านหาย แต่เมื่อท่านไม่หาย ท่านจึงมีความทุกข์ใจมาก และพยายามที่จะต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บเต็มที่ แต่ยิ่งปฏิเสธความเจ็บป่วย ใจก็ยิ่งทุกข์และซ้ำเติมความเจ็บป่วยให้หนักขึ้น แต่เมื่อพระอาจารย์อนุญาตให้ท่านตาย ท่านก็รู้สึกว่าท่านตายได้แล้วโดยไม่ต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป ใจจึงพร้อมที่จะตาย ไม่ต่อสู้ขัดขืน ปรากฏว่านับแต่วันนั้นอาการของท่านดีขึ้นเป็นลำดับจนหายเป็นปกติ เป็นที่อัศจรรย์ใจของผู้ติดตามอาการของท่าน กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ว่าเมื่อใจพร้อมตายก็กลับรอดตายได้
ในสมัยพุทธกาลก็มีเรื่องคล้าย ๆ กันนี้ นกุลบิดาเป็นอุบาสกผู้ใฝ่ธรรม ต่อมาท่านป่วยหนักเจียนตาย นกุลมารดาซึ่งเป็นภรรยาเห็นสีหน้าของสามีก็รู้ว่าเป็นทุกข์มาก ไม่อยากให้สามีสิ้นลมด้วยใจที่ยังห่วงใย จึงพูดให้นกุลบิดาปล่อยวางด้วยการให้ความมั่นใจทีละอย่าง ๆ ว่า ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะเลี้ยงลูกและดูแลบ้านเรือนไม่ได้ ขอให้มั่นใจว่าเราจะดูแลลูกและบ้านเรือนได้ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไปหาชายอื่น ขอให้มั่นใจว่าเราจะไม่มีชายอื่นแน่นอน ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไม่ต้องการเห็นพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ขอให้มั่นใจว่าเราปรารถนาจะเห็นพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์อยู่เนือง ๆ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไม่รักษาศีลให้บริบูรณ์ ขอให้มั่นใจว่าเราจะรักษาศีลให้บริบูรณ์ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะไม่มีความสงบใจ ขอให้มั่นใจว่าเราจะมีความสงบใจ ท่านอย่าเป็นห่วงว่าเราจะมีความเคลือบแคลงสงสัยในพระธรรมวินัย ขอให้มั่นใจว่าเราจะพ้นจากความเคลือบแคลงสงสัยในพระธรรมวินัย
พระไตรปิฎกกล่าวว่าเมื่อได้ฟังคำของภรรยาเช่นนี้ นกุลบิดาก็หายป่วยทันที ทั้งสองกรณีหลัง หากอธิบายอย่างสมัยใหม่ก็คือ ใจที่ปล่อยวาง ไร้ความวิตกกังวล ย่อมรู้สึกผ่อนคลาย นิ่งสงบ และเป็นสุข นอกจากจะช่วยบรรเทาความทุกข์ทางกายแล้ว ยังกระตุ้นกระบวนการเยียวยาตนเองจนร่างกายหายจากความเจ็บป่วยได้
เมื่อใจพร้อมตาย ไม่ต่อสู้ขัดขืนความตาย ก็ไม่ต่างจากการ “ทำตนเหมือนคนตาย” และดังนั้นจึงอาจ “พ้นตาย” ดังคำของพระอาจารย์ลีได้ อย่างไรก็ตามประโยคข้างต้นของพระอาจารย์ลีมีความหมายลึกกว่าการอยู่นิ่ง ๆ ทำตัวเสมือนตายหรือทำใจนิ่งสงบพร้อมตาย ความหมายที่ลึกกว่านั้นก็คือ การอยู่อย่างปล่อยวางทุกสิ่ง ไม่อาลัยในชีวิต อีกทั้งไร้ความทะยานอยาก ไม่ยินดียินร้ายในโลกธรรม จะอยู่หรือตายก็มีความรู้สึกเท่ากัน ผู้ที่วางใจได้เช่นนี้ความตายย่อมทำอะไรไม่ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ทำใจพร้อมตาย ก็อาจหนีความตายไม่พ้น แต่หากใครก็ตามสามารถทำใจถึงขั้นว่าไม่อาลัยในชีวิต และปล่อยวางทุกสิ่งแม้กระทั่งความยึดถือในตัวตน จน “ตัวกู” ไม่มีที่ตั้ง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ตายก่อนตาย” ดังคำของท่านอาจารย์พุทธทาส บุคคลเช่นนี้ย่อมอยู่เหนือความตาย เมื่อความตายมาถึงก็มีแต่นามรูปเท่านั้นที่แตกดับไป แต่หามี “ผู้ตาย” ไม่ นี้ใช่ไหมที่เป็นการ “พ้นตาย” อย่างแท้จริง
โดย นพ.สกล สิงหะ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 กันยายน 2551
ทุกๆ ปี จะมีงานที่สำคัญงานหนึ่ง คือ งานเกษียณอายุข้าราชการ ที่ทางคณะต้นสังกัด ภาควิชา หรือหน่วยงานจะจัดให้เป็นเกียรติ เป็นที่ระลึก แก่ผู้ที่ได้อุทิศตน กำลังแรงกาย เวลา และเจตจำนง ความมุ่งมั่น อยู่กับหน่วยงานมาเป็นเวลานานจนอายุครบเกษียณ บางทีเราพบว่าคนๆ นี้ ใช้เวลากว่าครึ่งค่อน ชีวิตทำงานให้องค์กรมาตลอด เพียงแต่เราไม่ได้สังเกต เพราะความที่ท่านอยู่กับเรามาทุกเมื่อเชื่อวัน จน กลายเป็นส่วนหนึ่งของฉากประจำวันไป จนเมื่ออยู่มาวันหนึ่งที่ท่านหายไป หรือป้ายชื่อที่หน้าห้อง ถูกเปลี่ยนแปลง หรือเมื่อเรากำลังต้องการจะปรึกษา จะใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญของท่าน เราถึงค่อย นึกถึงท่านใหม่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับท่านเป็นเพียงแค่ความสัมพันธ์จาก ประโยชน์ หน้าที่การงานเท่านั้น ไม่ได้มีความสัมพันธ์อีกแบบ คือ “ความสัมพันธ์ระหว่างคน”
เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีอาจารย์สองท่านอายุ ครบเกษียณเรียงปีกัน คือ อาจารย์ประเสริฐ วศินานุกร และอาจารย์มยุรี วศินานุกร คนหนึ่งเป็น อาจารย์แพทย์ศัลยกรรมทรวงอกหัวใจและหลอดเลือด อีกท่านหนึ่งนอกจากเป็นอาจารย์แพทย์วิสัญญีแล้ว ยังเป็นศรีภรรยาของอาจารย์ประเสริฐด้วย ท่านทั้งสองได้ทำงานให้คณะแพทย์ฯ มาเป็นเวลาหลายสิบปี มีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากมายนับพัน และงานเกษียณอายุของท่านทั้งสอง พอจะเรียกได้ว่าเป็น “ปรากฏการณ์” เลยทีเดียว จากการที่มีคนจำนวนมาก พร้อมใจกันทุ่มเท ทั้งจัดงาน และตั้งใจมาร่วมงาน มารดน้ำอวยพร มาขอร่วมเป็นสักขีพยานแสดงความเคารพต่อปูชนียาจารย์ทั้งสองท่านด้วยตนเองให้จงได้
ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ปรากฏการณ์ที่ว่านี้เป็นเพราะอะไร? คำถามที่ว่านี้ดูเหมือนจะ จำเพาะเจาะจง แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ ถ้าเรามองย้อนกลับไปให้ดีๆ เราจะพบบุคคลแบบนี้ ที่สามารถเรียกหาความเคารพ ความนับถือจากก้นบึ้งหัวใจของมวลชนได้ อยู่ทั่วไปในทุกๆ องค์กร ในทุกๆ หน่วยงานก็ว่าได้
มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Servant Leadership: A Journey into the Nature of Legitimate Power and Greatness เขียนโดย โรเบิร์ต กรีนลีฟ (Robert K. Greenleaf) ได้ให้มุมมอง ลักษณะของผู้นำในอีก มิติหนึ่งอย่างน่าสนใจ คือ คนส่วนใหญ่จะสามารถบอกได้ว่า เมื่อไรที่เขาค้นพบคนที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม คนๆ นี้ไม่เคยทำเพื่อตัวเองเลย แต่เป็นคนที่อยู่เพื่อคนอื่น ทำเพื่อคนอื่น รับใช้คนอื่นอย่างจริงใจตลอดเวลา และเมื่อคนเราได้สัมผัส รับรู้คุณสมบัติที่ว่านี้ในบุคคลใดก็ตาม เราก็จะให้ความเคารพ นับถือ และอยาก ติดสอยห้อยตาม อย่างเต็มหัวใจ คนๆ นี้เรียกว่า “มีความเป็นผู้นำ จากการเป็นผู้รับใช้” และจะเป็นผู้นำ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สามารถเรียกหาความจงรักภักดี และการอุทิศตนจากลูกน้องได้มากที่สุด
ปรากฏการณ์นี้สอดคล้องกับเรื่อง ความงาม ความดี และความจริง ในประเด็นที่ว่า อะไรก็ตาม ที่เราทำเพื่อ “ตัวฉัน” ผลจะออกมาได้อย่างมากสุดก็คือความงามเท่านั้น ส่วนความดีจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ อะไรก็ตามที่เราทำนั้น เป็น “การทำเพื่อเธอ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมารยาท จริยธรรม จรรยาบรรณ ทั้งหมดนี้มีพื้่นฐานมาจากการที่มนุษย์สามารถเสียสละความสะดวก ความสุขส่วนตัว ทำอะไรเพื่อ คนอื่นทั้งสิ้น
ผู้นำ หรือครู หรือใครก็ตาม ที่มีวัตรปฏิบัติดังกล่าวนี้ คือ ดำรงชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น รับใช้ คนอื่น จึงเป็นผู้นำที่เติบโตและนำคนอื่นจากมิติแห่งจิตวิญญาณ นั่นคือความดีสากลที่ใครๆ ก็สามารถรู้สึกได้ สามารถสัมผัสได้
ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยคนที่อยากเป็นผู้นำ เพราะอยากใช้อำนาจ อยากจะเนรมิต อยากจะ สั่งการนั้น ก็เป็นมิติอีกแบบหนึ่งของผู้นำ แต่ผู้นำที่เป็นผู้รับใช้นั้น จะทำให้ผู้ตามเติบโตได้ และเป็นมนุษย์ที่เต็มศักยภาพอันไร้ขีดจำกัด เพราะผู้นำแบบนี้ จะถ่อมตัวถึงที่สุด จะให้พื้นที่มากที่สุด แต่ก็จะเป็น คนแรกที่ออกไปเผชิญปัญหา แก้ปัญหา และรับผิดชอบ จนคนที่ก้าวตามเพิ่มสมรรถภาพ มีแรงบันดาลใจ และมีความคิดสร้างสรรค์ได้บรรเจิด ทุกๆ วันเป็นวาระของผู้ตาม ไม่ใช่ทุกคนทำเพื่อวาระของผู้นำ ฉะนั้นผู้ตามก็จะทุ่มเททำงาน เพื่อความงามของตนเอง และในขณะเดียวกัน ก็ซึมซับจริยาวัตร จากผู้นำที่เป็นผู้รับใช้อยู่ตลอดเวลา เจริญรอยตาม เพื่อที่จะได้หล่อเลี้ยงผู้ตาม ผู้รับใช้ รุ่นต่อๆ ไป สืบทอดความดีสากลนี้ไปเรื่อยๆ
ผู้ตามก็จะเกิดความรักใคร่ผูกพันกับผู้นำที่เป็นผู้รับใช้ อันต้นรัก ต้นเคารพ ที่งอกงาม หยั่งราก ผลิใบงดงามได้ขนาดนี้ เกิดขึ้นได้อย่างเดียวด้วยการประคบประหงม รดด้วย “น้ำใจ” ที่ใสแท้บริสุทธิ์ ปราศจากเงื่อนไขใดๆ โดยคนสวนที่อยากจะเห็นต้นไม้เติบโต เพื่อต้นไม้เอง ไม่ใช่เพื่อสวนของตน มีความปีติอย่างจริงใจเมื่อได้เห็นการเติบโต เปลี่ยนแปลง ของต้นไม้ ของผู้ตาม ของลูกศิษย์ อันเป็น สิ่งเดียวที่คนสวน ที่ผู้นำ ที่ครูแบบนี้ต้องการ ทรัพย์สมบัติอันประเสริฐที่สุดที่ผู้นำแบบนี้มีอยู่ก็คือ “น้ำใจอันบริสุทธิ์กับรักอันปราศจากเงื่อนไข” นั้นเอง
และถ้าเราทำความเข้าใจที่มาที่ว่านี้ เมื่อเราไปงานเกษียณอายุของปูชนียบุคคลเหล่านี้ เราจะได้สามารถซาบซึ้งถึงผลงานทั้งชีวิตที่ท่านได้ทำ การไปงานก็จะไม่ใช่เพียงแค่งานรื่นเริงอีกงานหนึ่ง หากเป็นประจักษ์พยานต่อ Finale ของ Masterpiece ที่สืบทอดพรสวรรค์ของมนุษย์ที่แท้ออกมาในรูปแบบ ของความดีที่ไม่มีสิ้นสุดนั่นเอง