มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2548
ในโอกาสขึ้นปีใหม่ ชาวจิตวิวัฒน์ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านประสบความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้น จิตที่วิวัฒน์คือจิตที่เจริญย่อมทำให้เกิดความสุขที่แท้จริงและถาวร สัปดาห์ที่แล้วในคอลัมน์นี้ คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้เขียนเรื่อง “สุนทรียบำบัด” หรือการบำบัดด้วยศิลปะหรือความงาม ความงามมีอยู่ในความจริงโดยทั่วไป ความงามของหัวใจหรือหัวใจของความเป็นมนุษย์ เป็นความงามที่มีฤทธิ์ในการเยียวยาอย่างยิ่ง เพราะก่อให้เกิดความปีติอิ่มเอิบในหัวใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือแม้พบเห็น
ในการประชุมจิตวิวัฒน์คราวหนึ่ง อาจารย์ประภาภัทร นิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ เดินเข้ามาด้วยความอิ่มเอิบใจ และว่ามีความสุขไปหมดทั้งเนื้อทั้งตัวหลายวันมาแล้วยังไม่คลายจากการที่เดินทางไปดูงานของมูลนิธิพุทธฉือจี้ที่ไต้หวัน ซึ่งจัดโดยศูนย์คุณธรรม คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ก็ไปด้วยในเที่ยวนั้น มูลนิธินี้มีสมาชิกเป็นล้านคน และมีอาสาสมัครเป็นแสนคนที่นอบน้อมถ่อมตน และทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยประการต่างๆ เช่น ช่วยบรรเทาสาธารณภัย ช่วยบริบาลเด็ก คนแก่ คนพิการ มีโรงเรียนแพทย์ของตัวเอง ซึ่งนอกจากทันสมัยแล้ว บุคลากรของโรงพยาบาลทั้งหมดนบน้อมถ่อมตน เคารพผู้ป่วยและญาติประดุจบิดามารดาของตน มูลนิธินี้ยังมีสถานีโทรทัศน์ของตนเองที่นำเอาความดีของผู้คนมาบอกกล่าวกัน เมื่อเร็วๆ นี้ศูนย์คุณธรรมได้จัดคณะไปดูงานที่มูลนิธิฉือจี้เป็นรุ่นที่สอง คณะที่ไปมาจากอาชีพต่างๆ กัน เช่น อาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ อาจารย์กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร คุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้ใหญ่โกเมศร์ ทองบุญชู นอกจากนั้นยังมีนายทหารและนายตำรวจอีกหลายคน รวมทั้งคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ออกนาม รวมประมาณ ๔๐ คน ได้ผลเช่นเดียวกับรุ่นที่ ๑ คือทุกคนกลับมาด้วยความปลื้มปีติในเนื้อในตัวที่เห็นการทำดีเพื่อเพื่อนมนุษย์อย่างใหญ่โตและมากมายขนาดนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนว่า
ความดีเยียวยาโลก (Heal the World) ได้
ที่จริงในสังคมมีคนดีมากกว่าคนชั่ว แต่เราไม่มี “เครื่องรับ” และไม่ค่อยได้เอามาสื่อสารกัน การสื่อสารที่ขายได้คือการสื่อสารความชั่ว ทำนองใครฆ่าใคร ใครเป็นชู้กับใคร ใครข่มขืนใคร ฯลฯ บางคนถึงกับพูดว่า “ความชั่วได้ลงฟรี ความดีต้องเสียเงิน” กล่าวคือเรื่องดีๆ บางทีต้องเสียเงิน จึงจะได้ลงในหนังสือพิมพ์
การศึกษาของเราไม่เปิด “เครื่องรับความดี” เพราะศึกษาโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง แต่ไม่ได้ศึกษาความจริงและความดีของแผ่นดินหรือของประชาชนคนไทย วิชาก็เป็นวิชา ไม่มีชีวิตจิตใจ ฉะนั้นทั้งๆ ที่ระบบการศึกษาใหญ่โต แต่ก็ไม่เป็นระบบประสาทที่จะรับรู้เรื่องราวในชีวิตจริงของผู้คน ซึ่งมีเต็มแผ่นดิน ถ้าเรามีเครื่องรับ เราจะสัมผัสความดีเหล่านี้ได้ทุกวัน ผมขอเล่าเรื่องที่ผมสัมผัส ๓ วันติดๆ กันในวันที่ ๑๕-๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๘
ในวันที่ ๑๕ ธันวาคม สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) จัดประชุมเครือข่ายเพื่อนมะเร็งครั้งที่ ๒ ที่นครนายก ในหัวข้อ “เพื่อนให้เพื่อน...มิตรภาพบำบัด” คนที่มาประชุมมีทั้งคนเป็นมะเร็ง คนที่หายแล้ว อาสาสมัครที่คอยช่วยคนเป็นมะเร็ง เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่คอยช่วยเหลือคนเป็นมะเร็ง การช่วยกันและความเป็นมิตรทำให้ชีวิตมีความหมาย ทำให้เกิดการเยียวยา คนเป็นมะเร็งหลายคนบอกว่า ดีใจที่เป็นมะเร็ง เพราะทำให้ได้พบความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อน ความสุขจากมิตรภาพ สมดังคำที่เขาใช้ว่า “มิตรภาพบำบัด” ความงามของหัวใจมีฤทธิ์ในการเยียวยาว ลองนึกภาพว่า ถ้า “เพื่อนให้เพื่อน...มิตรภาพบำบัด” ขยายตัวไปเต็มประเทศ สังคมเราจะเป็นอย่างไร ถ้าโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลมีศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด คือส่งเสริมให้มีอาสาสมัครเข้าไปเป็นเพื่อนผู้ป่วยและญาติ โลกจะสว่างไสวแค่ไหน
ในวันที่ ๑๖ ธันวาคม “เครือข่ายแผนแม่บทชุมชน ๔ ภาค” อันมีผู้ใหญ่โกเมศร์ ทองบุญชู น้าแก้ว สังข์ชู หลวงตาแชร์ และกรรมการท่านอื่นๆ อีก ได้มาเล่าความก้าวหน้าของงานของเครือข่ายฯ ที่ไปส่งเสริมการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำของคนในชุมชนหลายร้อยตำบาล และกำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆ เมื่อชุมชนเหล่านี้สามารถวิเคราะห์ปัญหาของเขาเอง ทำแผนแม่บทชุมชนและขับเคลื่อนการพัฒนาตามแผนที่เขาทำเอง ก็เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งเศรษฐกิจ – จิตใจ – ครอบครัว – ชุมชน – สังคม – วัฒนธรรม – สิ่งแวดล้อม – สุขภาพ พร้อมกันไป หลุดพ้นจากความยากจน และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ที่พัฒนาเศรษฐกิจ – จิตใจ - สังคม – ปัญญา และการจัดการ พร้อมกันไป เป็นของจริงของการปฏิบัติความดีกับเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม
ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ผมไปร่วมงานที่วัดป่าดาราภิรมย์ที่เชียงใหม่ ซึ่งเขามีงานฉลอง ๓๐ ปี ของมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ที่หลวงพ่อพระพุทธพจนวราภรณ์ก่อตั้งและดำเนินงานมาตั้งแต่ท่านเป็นที่พระราชวินยาภรณ์ หลวงพ่อเป็นนักการศึกษาและนักพัฒนาที่ชูปรัชญาว่า “เศรษฐกิจจิตใจต้องแก้ไขพร้อมกัน” คือจะทำอย่างใดอย่างเดียวไม่ค่อยได้ผล มูลนิธินี้ทำงานใน ๘๐ หมู่บ้าน ใน ๓ จังหวัดภาคเหนือ ได้สร้างอาสาสมัครขึ้นมาจำนวนมาก ได้ช่วยให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากหลุดพ้นจากความยากจน มีจิตใจและสังคมที่ดี ปรัชญา “เศรษฐกิจจิตใจต้องแก้ไขพร้อมกัน” ของท่านเจ้าคุณ เป็นเรื่องเดียวกับเศรษฐกิจพอเพียงโดยแท้
อาจารย์ประภาภัทร นิยม และคณะแห่งโรงเรียนรุ่งอรุณ กำลังทำแผนที่มนุษย์ (Human Mapping) ของคนทุกคนบนเกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ โดยถือว่าทุกคนมีความรู้อยู่ในตัวที่ได้มาจากประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน การเคารพความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน ทำให้ทุกคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ และมีความมั่นใจในตัวเอง ปรากฏว่าในการทำแผนที่ดังกล่าว ได้เกิดพลังขึ้นอย่างมหาศาล เพราะชาวบ้านซึ่งไม่เคยมีเกียรติ มีความรู้สึกที่ดีมาก ที่มีผู้ “มีการศึกษา” มานั่งฟังเขาพูดว่า เขาชอบอะไร ถนัดอะไร เขาทำอะไรได้ดีบ้าง การนั่งฟังใครอย่างลึกๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดี เพราะแปลว่าเราเคารพผู้พูดและผู้ตั้งใจฟังก็ได้ความรู้ไป เรามีโรงเรียนอยู่ทั่วทุกตำบล ถ้าทุกโรงเรียนไปทำแผนที่มนุษย์ในตำบลที่โรงเรียนตั้งอยู่ คนไทยทุกคนก็จะกลายเป็นคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ และมีความมั่นใจในตนเอง โรงเรียนก็จะมีแหล่งเรียนรู้เต็มแผ่นดิน ประเทศทั้งประเทศจะเปลี่ยนไป
เรามีและทำให้มีความดีเต็มแผ่นดินได้ ถ้ามีการสื่อสารความดีของแผ่นดินในรูปแบบต่างๆ ให้เต็มแผ่นดิน ความดีก็จะมีกำลังมากขึ้น รัฐบาลน่าจะจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่สักหนึ่งช่อง เพื่อสื่อสารความดีของแผ่นดิน โทรทัศน์ช่องสื่อสารความดีของแผ่นดินจะกระตุ้นให้คนอยากนำความดีมาสื่อสารกัน และอยากทำความดีมากขึ้น เมื่อมีการสื่อสารความดีกันเต็มแผ่นดิน ผู้คนจะมีความปีติปลาบปลื้มในความดี จะเกิดความสุขและความสร้างสรรค์มากขึ้น เพราะความดีเยียวยาโลก (Heal the World) ได้จริง
โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2548
หลายปีก่อนผมมีโอกาสพบและพูดคุยกับผู้หญิงชาวอเมริกันคนหนึ่ง เธอเป็นภรรยาของเหยื่อระเบิดพัสดุไปรษณีย์ที่เป็นข่าวคึกโครมก่อนหน้านั้นในอเมริกา ผมพบเธอที่วิลลา เซอร์เบลโลนี่ (Villa Serbelloni) ซึ่งเป็นศูนย์ประชุมของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ที่เบลลาจิโอ ในอิตาลี ตามธรรมเนียมและระเบียบการของศูนย์ประชุมแห่งนี้ คนที่มาประชุมหรือได้รับเชิญมาเขียนงานที่นี่ ซึ่งมีทั้งนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก นักสังคมศาสตร์ กวี นักดนตรี และศิลปิน จะต้องมารับประทานอาหารเย็นร่วมกัน เพื่อให้ผู้คนที่เชี่ยวชาญในต่างสาขาได้มีโอกาสรู้จักกันระหว่างร่วมโต๊ะอาหาร
ผมพบกับผู้หญิงวัยกลางคนคนนั้น ที่โต๊ะอาหารในเย็นวันหนึ่ง
สังเกตจากสีหน้าและบุคลิกของเธอ ผมรู้สึกได้ว่าเธอคงจะมีความปวดร้าวและความโศกเศร้าบางอย่างในใจ ผมทราบจากการพูดคุยกับเธอว่า ทั้งเธอและสามีต่างก็เป็นแพทย์ที่จบการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตัวเธอเองเป็นกุมารแพทย์ ในขณะที่สามีของเธอเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์ติดอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งเธอและสามีต่างทุ่มเทให้กับงานในวิชาชีพแพทย์ที่ทั้งคู่รักเป็นชีวิตจิตใจ
แต่เธอบอกผมว่า ตอนนี้เธอเลิกอาชีพแพทย์แล้ว
สาเหตุที่ต้องเลิกอาชีพที่เธอรักและทุ่มเทชีวิตให้ก็เพราะมีเหตุการณ์รุนแรงที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นกับครอบครัวเธอ
วันหนึ่งมีพัสดุไปรษณีย์ถูกส่งมาถึงสามีของเธอ ในใบจ่าหน้าระบุชื่อผู้ส่งเป็นศาสตราจารย์นักวิจัยที่ร่วมงานกับสามีเธออยู่ ลูกสาวของเธอพบพัสดุถูกนำส่งมาไว้ที่หน้าบ้านจึงนำเข้าไปไว้ให้พ่อบนโต๊ะในห้องครัว
เมื่อสามีเธอกลับมาเห็นและเปิดห่อพัสดุเท่านั้นก็เกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง บ้านของเธอพังพินาศ หลังคาห้องครัวถล่มลงทับร่างสามีที่มีบาดแผลจากแรงระเบิดและสะเก็ดระเบิดทั้งที่ใบหน้าและบริเวณหน้าอก นิ้วมือเกือบทั้งหมดถูกระเบิดกระจุยแหลกละเอียด
ระเบิดที่มากับพัสดุไปรษณีย์นี้เป็นหนึ่งในหลายลูกที่ตำรวจระบุว่าส่งมาจากมือระเบิดลึกลับที่เรียกกันในนามของ UNA BOMBER ซึ่งมักส่งระเบิดไปที่ศาสตราจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และสนามบิน
คำว่า UNA BOMBER นั้น มาจากอักษร UN หมายถึง University คือมหาวิทยาลัย ส่วนอักษร A ก็เป็นตัวย่อของ Airport คือสนามบินนั่นเอง
เธอบอกว่าเธอต้องเลิกประกอบอาชีพแพทย์เพราะต้องออกมาดูแลสามีที่ต้องรับการผ่าตัดมากกว่า 10 ครั้งในช่วงหลายปีต่อมาและต้องใช้เวลาอีกหลายปีเยียวยาชีวิตที่บอบช้ำกว่าจะตั้งหลักได้ใหม่
ฟังเรื่องราวที่เธอเล่าทำให้ผมเข้าใจได้ว่าแววตาที่ปวดร้าวและเศร้าลึกๆ นั้น คงเป็นสิ่งตกค้างจากความทุกข์แสนสาหัสที่เธอเผชิญมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ผมได้พบสามีของเธอด้วย สามีของเธอได้รับเชิญมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับพันธุศาสตร์ที่นั่น ดูสามีเธอจะฟื้นจากความบอบช้ำและมีสุขภาพดี แม้ว่านิ้วมือเกือบทั้งหมดจะพิการขาดหายไปก็ตาม
ผมถามเธอว่า ปัจจุบันเธอทำอะไร หลังจากที่ได้ดูแลสามีจนหายแล้ว
เธอบอกว่าเธอไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับการแพทย์อีกแล้ว ปัจจุบันเธอทำงานศิลปะจากแก้ว โดยเป่าแก้วเป็นงานศิลป์และประติมากรรมต่างๆ สาเหตุที่เธอต้องเลิกจากการเป็นแพทย์ แม้ว่าจะยังรักในวิชาชีพแพทย์ ก็เพราะหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เธออยากมีชีวิตที่ใกล้ชิดและดูแลสามีมากขึ้น
ดูจากแววตาและน้ำเสียงของเธอ เธอยังมีใจผูกพันและเสียดายความเป็นแพทย์ที่เธอรัก
ผมบอกเธอว่างานสร้างสรรค์ทางศิลปะกับงานทางการแพทย์อาจไม่ได้แตกต่างหรือแยกเด็ดขาดจากกันอย่างที่เธอคิด เพราะในบางวัฒนธรรมทางการแพทย์นั้น สุนทรีภาพกับสุขภาพเป็นเรื่องเดียวกัน
พอพูดถึงตรงนี้ ผมสังเกตเห็นดวงตาเธอเป็นประกาย
ผมเล่าให้เธอฟังถึงวิชามานุษยวิทยาการแพทย์ ซึ่งศึกษาวัฒนธรรมสุขภาพและการเยียวยาความเจ็บป่วย มีการศึกษาพบว่าในระบบการแพทย์ที่แตกต่างกันในหลายวัฒนธรรมมีการใช้ศิลปะ ความงาม ดนตรี และการแสดงเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยา หรือในสังคมสมัยใหม่ก็มีสิ่งที่เรียกว่า ศิลปะบำบัด
ในบางศาสนาอย่างเช่น โยเร ซึ่งมีรากฐานจากพุทธศาสนาแบบมหายานของญี่ปุ่นนั้น ก็ถือว่าการเยียวยาความเจ็บป่วยกับการเข้าถึงสุนทรียภาพของชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน ศาสนิกของโยเรจึงต้องเรียนรู้เรื่องความงาม และสุนทรียภาพจากการจัดดอกไม้ ซึ่งถือเป็นศิลปะชั้นสูงเพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้มีความประณีตงดงาม
นอกจากนั้นยังต้องเจริญเมตตาภาวนาโดยการเผื่อแผ่รังสีแห่งความรักอันบริสุทธิ์ให้กับเพื่อนๆ ญาติพี่น้อง และผู้คนทุกข์ยากที่ได้พบเห็น
ผมบอกเธอว่า ในวัฒนธรรมเหล่านี้แตกต่างไปจากการแพทย์ตะวันตกที่เน้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอวัยวะและถือว่าสุขภาพดีเกิดจากการที่อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ตามปกติ การแพทย์แบบชีววิทยานี้แม้จะมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคทางกายได้ดี แต่ก็ขาดมิติทางสุนทรียภาพและจิตวิญญาณ
แต่ในภูมิปัญญาการแพทย์อื่นๆ สุขภาพกับสุนทรียภาพอาจเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ได้
หากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว เราอาจเห็นได้ไม่ยากว่า ชีวิตที่จะถือว่ามีสุขภาพหรือสุขภาวะที่สมบูรณ์นั้น น่าจะเป็นชีวิตที่เข้าถึงความงาม ความดี และความจริงสูงสุดของชีวิต เพราะหากแม้จะมีชีวิตยืนยาวเป็นร้อยปี แต่ในชั่วชีวิตหนึ่งนั้นไม่เคยเลยแม้แต่ชั่วขณะที่จะได้ดื่มด่ำในสุนทรียภาพและความงามของชีวิต ก็คงจะถือว่าเป็นชีวิตที่ดีได้ยาก
การทำงานศิลป์จึงเป็นหนทางของการบรรลุสุขภาวะหรือความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของชีวิตผ่านการเข้าถึงความงามหรือสุนทรียภาพ
ความงามหรือสุนทรียภาพนี้ไม่จำกัดอยู่แค่ความงามของศิลปะในชั้นของวัตถุธรรมเท่านั้น เพราะความงามนั้นไม่ใช่มีอยู่แต่ในศิลปวัตถุเท่านั้น แต่ยังดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ที่งดงามระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ในความรักที่ไม่มีที่สิ้นสุดของแม่ ในความใส่ใจต่อกันของเพื่อนมนุษย์ หรือในความอ่อนโยนต่อชีวิตและสรรพสิ่ง
เธอมองหน้าผมนิ่งอยู่สักครู่แล้วบอกว่า เมื่อครั้งที่ต้องเผชิญกับวิกฤตหลังสามีเธอบาดเจ็บสาหัสจากระเบิดนั้น เธอแทบจะหมดกำลังใจและไร้เรี่ยวแรงที่จะต่อสู้ประคองชีวิตที่แตกสลาย มีคำถามเกิดขึ้นมากมายในใจเธอว่า ทำไมมนุษย์จึงทำร้ายกัน ทำไมสังคมจึงโหดร้ายได้ถึงเพียงนี้
แต่สิ่งที่ทำให้เธอฟื้นและลุกขึ้นมาได้ ก็คือจดหมายและไปรษณียบัตรเป็นจำนวนมหาศาลที่ส่งมาให้กำลังใจกับเธอ เธอเล่าด้วยน้ำตาคลอเบ้าว่า จดหมายและไปรษณียบัตรมหาศาลที่ส่งมาแสดงความเห็นอกเห็นใจ ปลอบโยน ให้กำลังใจเธอนั้นมาจากผู้คนที่เธอไม่รู้ว่าเป็นใครและไม่เคยรู้จัก
ความห่วงใยและกำลังใจจากคนที่เธอไม่เคยรู้จักนี้ แท้ที่จริงก็คือความงดงามของความรัก มิตรภาพและความอ่อนโยนต่อกันของมนุษย์ ความงามของความเป็นมนุษย์นี้ประคองและหล่อเลี้ยงให้เธอเข้มแข็งจนต่อสู้เอาชนะความทุกข์และความยากลำบากมาได้
ความงดงามและความดีงามนั้นกอบกู้ฟื้นคืนชีวิตให้กับผู้คนได้
เพราะความงดงามของความรัก มิตรภาพ และความเป็นมนุษย์นั้นมีพลังของสุนทรียภาพที่สามารถเยียวยาความบอบช้ำ ความทุกข์และหล่อเลี้ยงชีวิตให้งอกงามได้
โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2548
ภายในโรงพยาบาลซินเตี้ยน มูลนิธิพุทธฉือจี้ เมืองไทเป มีป้ายประกาศปรัชญาของโรงพยาบาล สวยสง่า ท้าทายระบบทุนนิยมอยู่ ที่ป้ายมีประโยคเรียบง่ายว่า “The Mission to be a Humane Doctor.” (พันธกิจ คือ การเป็นแพทย์ที่มีความเป็นมนุษย์)
ใครที่รู้จักงานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาของวงการแพทย์ไทย” คงจะอึ้งทึ่งกับข้อความซึ่งช่างคล้ายคลึงกับข้อแนะนำที่ท่านเคยพระราชทานให้แก่แพทย์ไทยที่ว่า “ขอให้ท่านทั้งหลายที่จบการศึกษาเป็นทั้งแพทย์และมนุษย์เดินดิน” (I do not want you to be only a doctor, but I also want you to be a man.)
พันธกิจที่ติดไว้ก็ไม่ได้เป็นแค่คำพูดโก้ๆ มีไว้ประกอบการขอมาตรฐาน ISO แต่แสดงออกในทุกมิติของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ คำกล่าวของ นพ.หูจื้อถัง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ว่า “แพทย์และพยาบาลเป็นบุคคลสำคัญ ที่ต้องลดตนเป็นคนเล็กๆ เพื่อที่จะทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่” หรือคำพูด นพ. ไช่ซื่อชือ รองผู้อำนวยการที่ว่า “ต้องเคารพนับถือผู้ป่วยทุกคน เพราะถือว่าเป็นอาจารย์ของเรา” แพทย์ของที่นี่ยิ้มแย้มแจ่มใส ปฏิบัติต่อผู้ป่วยเสมือนญาติ บางครั้งยังเข็นรถเข็นผู้ป่วยออกมาส่งด้วยตนเอง
หากท่านเดินเข้าไปในโรงพยาบาลซินเตี้ยน ท่านก็คงจะแปลกใจกับบรรยากาศที่ไม่เพียงอบร่ำไปด้วยรอยยิ้มแต่ยังมีเสียงดนตรีจากแกรนด์เปียโนที่อาสาสมัครชาวฉือจี้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเล่น ทั้งดนตรีคลาสสิกและดนตรีป๊อป ให้ผู้ป่วยและญาติได้ผ่อนคลายทุกวัน เมื่อก้าวเท้าเข้ามาในอาคารก็มีอาสาสมัครที่มารอรับด้วยรอยยิ้ม และคำขอบคุณ (ที่ทำให้พวกเขามีโอกาสได้บำเพ็ญตนรับใช้ท่าน) พร้อมช่วยเหลือพาท่านทำกิจกรรมต่างๆ จนเสร็จกระบวนการ
แต่ขอประทานโทษนะครับ งานอาสาเหล่านี้ไม่ใช่จะได้มาทำง่ายๆ นะครับ อาสาสมัครต้องผ่านการฝึกฝนก่อนและต้องรอคิวนานถึงเกือบปีจึงจะได้มีโอกาสมาทำกิจอาสาเพียง ๑ วัน เพราะอาสาสมัครเหล่านี้ถือเช่นเดียวกับที่ นพ.เจี่ยนฮุ่ยเถิง ที่กล่าวว่า “โรงพยาบาลเป็นทั้งสถานประกอบอาชีพและที่ปฏิบัติธรรม เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและปูทางให้คนไข้เดินหน้าไปได้สะดวกขึ้น” งานประจำและงานจิตอาสาที่มีคุณค่าเหล่านี้คือ ความดีที่หล่อเลี้ยงชีวิต
โรงพยาบาลมาตรฐานชั้นหนึ่งระดับนานาชาติแห่งนี้ รับรักษาผู้ป่วยทุกคน ทุกระดับ ด้วยจิตบริการเสมอกัน โดยไม่เว้น แม้ว่าจะไม่มีเงิน หรือประกันสังคมก็ตาม ท่านอาจารย์สุมน สมาชิกจิตวิวัฒน์ที่ร่วมดูงาน (ที่จัดโดยศูนย์คุณธรรม) ถึงกับกล่าวว่าอยากเป็นคนไข้ที่นี่ เพราะรู้ว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์!
คณะที่เดินทางไปด้วยกันยังได้ไปดูเบื้องหลังความสำเร็จของโรงพยาบาลชั้นนำของไต้หวันแห่งนี้อีกด้วย คือ มหาวิทยาลัยพุทธฉื้อจี้ ที่เมืองฮั้วเหลียน มหาวิทยาลัยมีคำขวัญคือ “ฉือ เป่ย สี เสิ่ง” คือ พรหมวิหารสี่: เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นั่นเอง (ข้าพเจ้าหวนนึกคำของพระบิดาของวงการแพทย์ไทยอีกที่ว่า “อาชีพแพทย์นั้นจำต้องยึดมั่นในอุดมคติ เมตตากรุณาคุณ”) ที่นี่นักศึกษาที่สอบเอนทรานซ์เข้ามาแม้คะแนนจะไม่สูงนัก แต่ยามจบเป็นบัณฑิต สอบใบประกอบโรคศิลป์กลับได้ลำดับต้นๆ ของประเทศ
มหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นตรงการผสมผสาน กลมกลืน มิติของกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน มีการสอดแทรกเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม จิตสำนึกอยู่ในชีวิตประจำวัน นักศึกษาได้ฝึกการภาวนา เจริญสติ นั่งสมาธิ เขียนพู่กันจีน ชงชา และจัดดอกไม้ เพราะเชื่อว่านักศึกษาสามารถเห็นดอกไม้แล้วเห็นความเป็นทั้งหมด ความเป็นหนึ่งเดียว เห็นความงามของจักรวาลได้ เป็นชุดประสบการณ์ที่ทำให้นักศึกษาเข้าใจจิตใจของคนไข้และญาติ เข้าถึงสุนทรียภาพ ความอ่อนโยน ละเมียดละไม เข้าใจธรรมชาติความเป็นคนไปพร้อมความวิทยาการเทคโนโลยีตะวันตก
ที่นี่มีวิชากายวิภาคศาสตร์ที่โดดเด่นเป็นที่หนึ่งของไต้หวัน นักศึกษาจะได้รู้จักประวัติของอาจารย์ใหญ่ (ศพที่บริจาคเพื่อการศึกษา) ได้ไปใกล้ชิดกับญาติของอาจารย์ใหญ่ จนราวกับเป็นครอบครัวเดียวกัน มีการประกอบพิธีกรรมอันงดงามร่วมกันทั้งก่อนและหลังเรียน เป็นการบ่มเพาะให้นักศึกษาเรียนแล้วเกิดสำนึกในบุญคุณของอาจารย์ใหญ่และผู้ป่วยอื่นๆ ในอนาคต
เป็นโรงเรียนแพทย์ที่บุกเบิกรณรงค์ให้ชาวไต้หวันบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา (เพราะขัดกับความเชื่อเดิมของชาวจีน) จากเดิมที่มหาวิทยาลัยทั่วไต้หวันไม่ค่อยมีจะเรียน ปัจจุบันมีชาวบ้านธรรมดาที่มีจิตใจที่ยิ่งใหญ่บริจาคกันมากจนมีเหลือเผื่อแผ่ไปยังที่อื่น อาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง ถึงกับยอมไม่รักษาตัวเองด้วยเคมีบำบัด ยอมทนความเจ็บปวด ด้วยความปรารถนาที่จะได้ให้นักศึกษาเห็นเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเหมือนจริง มีความรู้เพื่อที่จะไปรักษาผู้อื่นมากที่สุด อาจารย์ใหญ่อีกท่านบอกว่า “เมื่อฉันตายไปแล้ว เธอจะใช้มีดกรีดฉันผิดกี่ครั้งก็ได้ แต่เมื่อพวกเธอจบออกไป ห้ามกรีดผิดแม้แต่ครั้งเดียว”
ทั้งหมดเป็นการดูงานที่อุดมไปด้วยเรื่องราวที่เกิดปิติอย่างยิ่ง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของจิตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) เป็นระบบการศึกษาที่งดงามอย่างที่สุด ที่กลุ่มจิตวิวัฒน์และเครือข่าย (เช่น สถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนสัตยาไส เสมสิกขาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล) กำลังสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ
จิตปัญญาศึกษา การศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนมีความเป็นเลิศทั้งเรื่องวิทยาการภายนอกและพัฒนาการภายใน รู้จักรู้ใจตนเอง เป็นการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียน สถาบันการศึกษา และสังคมโดยรวมเข้าสู่ความเป็นจิตวิวัฒน์ไปพร้อมกัน
ดังเช่นที่ ท่านอาจารย์ประเวศ เคยกล่าวในที่ประชุมจิตวิวัฒน์ ในหัวข้อ “แผนที่ความสุข” ว่า “ที่สุดแล้วคนทุกคนน่าจะเชี่ยวชาญ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเชี่ยวชาญในอาชีพอย่างที่เป็นกันอยู่แล้ว กับอีกเรื่องหนึ่งคือ เชี่ยวชาญในการสร้างความสุขให้ตนเอง และช่วยให้เพื่อนมนุษย์สร้างความสุขได้”
หรือคำของพระบรมราชชนกที่กล่าวไว้อีกเช่นกันว่า “ความสำเร็จมิใช่อยู่ที่การเรียนรู้ หากแต่เป็นการนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์” นั่นเอง
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 ธันวาคม 2548
ต้นปี ๒๕๔๘ ที่กำลังจะหมดลงไปอีกไม่นานนี้ ผู้เขียนได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ แต่คิดเอาเองว่า มันมีหลายประเด็นที่น่าจะเอามาปรับลงใน มติชน อีกครั้ง เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีนักวิชาการหรือปัญญาชนคนชั้นกลางส่วนมากอ่านเป็นประจำ และคงมีผู้อ่านที่สนใจในเรื่องของวิวัฒนาการของจิตวิญญาณ หรือ “จิตวิวัฒน์” ที่ยังไม่ได้อ่านหรือคิดในเรื่องนี้ อาจสนใจที่จะติดตามหรือสานต่อ จึงนำบางส่วนมาลงใหม่
ผู้เขียนเชื่อบนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนว่า มนุษย์เราทุกคน – ไม่ว่ารู้ตัวหรือไม่รู้ตัว – พยายามค้นหาเพื่อเรียนรู้คำตอบหรือ “ความจริง” ของจักรวาล และของโลก สรรพสิ่งและปรากฏการณ์ที่เป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราที่อาจเรียกว่าธรรมชาติเฉยๆ ก็ได้ ว่ามีที่มาและที่ไปอย่างไร และพร้อมๆ กัน เราก็พยายามค้นหา “ความหมาย” ของชีวิตเราแต่ละคนโดยปัจเจกและของสังคมด้วย (จิตกับจิตวิญญาณ) นั่นคือสามคำถามที่ พอล โกแก็ง เอามาตั้งขึ้นโดยรูปภาพ (เรามาจากไหน? มาอยู่ที่นี่ทำไม? และเราจะไปไหน?) ซึ่งโดยหลักฐาน (Proceeding of Tuson Conference on Toward Science of Consciousness, ๑๙๖๖) ที่อาจสรุปได้มีดังนี้
หนึ่ง ความพยายามค้นหาหรือความขี้สงสัยใคร่รู้ของมนุษย์เรา (ต่อความจริงและความหมาย) นั้นเป็นเนื้อแกนใน (qualia) ที่ติดตัวมากับชีวิตและมนุษย์ทุกคนมาตั้งแต่ต้น
สอง ความสงสัยใคร่รู้นั้นเอง ทำให้เราผลิตสร้างตรรกะและเหตุผลขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้และอยู่ด้วยกัน
สาม ด้วยตรรกะและเหตุผล เราก็สร้างวิทยาศาสตร์ขึ้นมาและคิดว่าวิทยาศาสตร์ที่ได้มานั้นให้คำตอบ (ความจริง) แก่เราหมดแล้ว เราจึงนำมาเป็นพื้นฐานของระบบทุกระบบของสังคมที่ควบคุมการดำรงอยู่ของเรา
ด้วยข้อสรุปเช่นนั้น กับอัตตาอหังการ์ของปัจเจก เราจึงติดบ่วง (วิทยาศาสตร์) โดยไม่รู้ตัว และนำองค์ความรู้นั้นมาผลิตสร้างเทคโนโลยีทำลายล้างธรรมชาติ โดยลืมเรื่องของความหมายไปแทบทั้งหมด
ผลของการทำลายล้างธรรมชาติ – ในเวลาไม่นานนัก – ค่อยๆ ก่อปัญหาและวิกฤตให้กับเราในทุกๆ ด้าน และภัยพิบัติเหล่านั้นเองที่ทำให้นักคิดหลายคนคิดว่า เราและสังคมของเรา (อารยธรรมที่ได้มาจากความจริงหรือวิทยาศาสตร์) อาจจะล่มสลายไปทั้งหมดก็ได้ ซึ่งนักคิดบางคนและผู้เขียนเองก็เชื่อ (บนบางหลักฐานทางวิทยาศาสตร์) ว่า ช่วงเวลานี้จนถึงปี ๒๐๑๒ คือช่วงอันตรายที่ภัยธรรมชาตินานัปการจะทยอยกันเข้ามา แต่นั่นจะกระตุ้นเร้าให้เรารู้ตัวกระทั่งเตือนขึ้นมาได้ โดยส่วนหนึ่งของเราจะอยู่รอด จากนั้น หลังปี ๒๐๑๓ เป็นต้นไป ผู้เขียนเชื่อว่าคือ ช่วงเวลาของความหมายหรือจิตวิวัฒนาการของมนุษย์เราโดยเผ่าพันธุ์
บทความที่ปรับแปรมานี้ ต้องการชี้ให้ผู้อ่านคิดตามไปว่า มันมีหนทางที่เราหลุดออกจากบ่วงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีส่วนใหญ่ หลุดจาก “ความจริง” ที่ไม่สมบูรณ์อย่างยิ่งนั้นได้อย่างไร เราจะต้องขึ้นมาจากหลุมดำหรือหุบเหวแห่งอวิชชาความเป็นสองที่ให้หลักการแยกส่วนให้ได้ แล้วหันไปหาความหมายมาเป็นประทีปนำชีวิต และเป็นโครงสร้างของสังคมแทน ซึ่งเราจะทำได้ต่อเมื่อเราสามารถย้อนกลับไปหาที่มาปฐมของมนุษย์เรา ที่เป็นที่มาขององค์ความรู้ของความจริงจอมปลอม คือรากเหง้าของวิทยาศาสตร์กายภาพ และค้นพบองค์ความรู้ที่แท้จริง ต้นตอที่มาของจักรวาลหรือจักรวาลวิทยาที่ให้ความสงสัยใคร่รู้แก่เรามาแต่ต้น
จักรวาลวิทยาคือ องค์ความรู้อันดับแรกสุดของทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ประสบการณ์แก่เรา รวมทั้งให้ที่มาของชีวิตและมนุษย์กับการดำรงอยู่ทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากระทำที่เราคิด มีที่ว่างและเวลา (Space-time) เป็นเวที ขณะเดียวกัน จักรวาลวิทยาคือต้นตอปฐมภูมิขององค์ความรู้ของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติทุกๆ สาขา ที่ให้อารยธรรมความเป็น “สมัยใหม่” แก่มนุษยชาติตลอดเวลากว่า ๓๐๐ ปีมานี้ น่าเสียดายและน่าเสียใจที่ความรู้ความเข้าใจของเราให้เรื่องนี้ - จักรวาลวิทยา - ได้เถลเฉไฉไถลออกไปนอกลู่นอกทาง ทำให้เราผลิตสร้างองค์ความรู้ที่อธิบายความจริงของธรรมชาติผิดทางไปด้วย อารยธรรมที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาจึงมีอายุสั้นยิ่งนัก เราและสังคมของเรากำลังเดินเข้าไปหาความล่มสลายมากขึ้นและเร็วขึ้น เรามีเวลาน้อยเพียงไม่ถึงทศวรรษที่จะแก้ไของค์ความรู้ที่เถลเฉไฉไปนอกทางนั้น เรามีเวลาน้อยที่จะตื่นและเปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราตื่นได้ ที่จะทำให้เรารู้ว่าเรามาผิดทางและสามารถแก้ไขให้มันถูกต้องได้ คือเราต้องลอกคราบลอกความรู้ที่เราเรียนรู้มาผิดๆ ออกไปเสีย เอาวิทยาศาสตร์กายภาพโดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ได้มาจากนั้นพร้อมกับระบบสังคมที่เฉไฉทั้งแผงทิ้งไปเสีย แล้วหันมาหาวิทยาศาสตร์ใหม่ที่มีจักรวาลวิทยาใหม่เป็นหัวหอก
และที่น่าสนใจที่สุดก็คือ จักรวาลวิทยาใหม่ (ในส่วนที่สำคัญบางส่วน) กลับไปมีความสอดคล้องกับจักรวาลวิทยาดึกดำบรรพ์ ตำนานปรัมปรา (mythology) ที่ดำรงอยู่คู่กันมากับความหมาย ที่บรรพบุรุษเราเคยเชื่อมั่นและพยายามแสวงหามานับพันๆ ปี ก่อนจะมีวิทยาศาสตร์ ตำนานดึกดำบรรพ์หลายอย่าง โดยการสรุปย่อข้อมูลของจักรวาลวิทยาใหม่ตามที่ผู้เขียนเข้าใจ จากหนังสือที่ประหนึ่งเป็นตำรา (text) ทางจักรวาลวิทยาสำหรับผู้อ่านที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์สองเล่ม เล่มแรก บีบีซีเวิลด์เอามาออกอากาศเมื่อหลายเดือนก่อน (Michio Kaku: Parallel Worlds; ๒๐๐๔) ที่ได้ข้อมูลมาจากดาวเทียม *COBE (๑๙๙๒) และกล้องดูดาว ฮับเบิล (Hubble) โดยเฉพาะจากดาวเทียม WMAP (๒๐๐๒) อีกที กับหนังสือของแม็ทธิว ริคาร์ด กับ ตริน ซวน ทวน (Matteu Ricard and Trinh Xuan Thuan : The Quantum and the Lotus, ๒๐๐๐) ว่าด้วยจักรวาลกับนิพพาน
มิชิโอะ กากุ ที่เป็นนักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์ระดับนำของโลกนั้น เคยเขย่ารากฐานของจักรวาลวิทยามาแล้วหลายครั้ง ในตอนแรกนักฟิสิกส์ด้วยกันยังรับไม่ได้ กระทั่งไม่ถึงทศวรรษมานี้เองจึงได้รับการยอมรับกันแทบเป็นเอกฉันท์ นั่นคือการคาดการณ์ทางจักรวาลวิทยาบางประการที่มีข้อพิสูจน์บนสมการคณิตศาสตร์ว่าด้วยทฤษฎีใยมหัศจรรย์ และทฤษฎีแมทริกซ์ (String theory / M-theory) และควอนตัม เมคานิกส์ รวมทั้งทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ มิชิโอะ กากุ พิสูจน์ได้ว่า จักรวาลมีมิติหลากหลายที่สสารดำรงอยู่ด้วยพลังงานที่ให้ความถี่ของการสั่นสะเทือน (vibration) ของแต่ละมิติแตกต่างกันไป และแตกต่างจากจักรวาลที่มีสี่มิติของเรา เท่าที่พิสูจน์ได้โดยอาศัยทฤษฎีสตริง และทฤษฎีอื่นๆ ที่กล่าวไปแล้ว พบว่าอย่างน้อยมี ๑๑ มิติ และมิชิโอะบอกว่ามิติที่ ๑๑ เป็นมิติของสภาวะนิพพาน (nirvarna) คราวนี้ มิชิโอะ กากุ พิสูจน์ได้ว่าจริงแล้วจักรวาลไม่ได้มีแต่จักรวาลของเราอันเดียว แต่มีมากมาย (multi universes) อย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยแต่ละจักรวาลจะมีลักษณะเหมือนฟองของเหลวที่ยุบๆ พองๆ หรือให้ฟองขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา มิชิโอะบอกว่าจักรวาลถัดไปอาจอยู่ห่างออกไปเพียงหนึ่งมิลลิเมตรจากผิว (brane) ของจักรวาลเรา แต่เรารับรู้ไม่ได้เพราะมันอยู่เหนือมิติ (สี่มิติ) ของเรา อย่างไรก็ตาม มิชิโอะ กากุ ยังบอกว่าทุกวันนี้นักฟิสิกส์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า การเกิดใหม่ของจักรวาลนั้น มีศักยภาพความเป็นไปได้หลายทาง ทางหนึ่งที่จักรวาล(สี่มิติ เช่น จักรวาลของเรา) จะเกิดใหม่หลังจากหนึ่งล้านล้านปีจากวันนี้ จักรวาลของเราจะสิ้นสุดลงด้วยความเย็นยะเยือก (big freeze) ไร้พลังงาน แต่ขณะเดียวกันพลังงานมืด (dark energy) ที่ได้จากการยุบตัวเองลงมาของสสารมืด (dark matter) จะรวมเป็นหลุมดำที่จะต่อเนื่องกับหลุมขาวที่จะให้บิ๊ก แบ็งใหม่ต่อไป หรืออีกเส้นทางหนึ่ง หลุมดำที่อยู่ใจกลางของทุกๆ แกแล็คซี่จะรวมเข้าด้วยกัน ทำให้จักรวาลหดตัวลงมา (big crunch) กลายเป็นหลุมขาว (ทั้งหลุมดำและหลุมขาวจะอยู่ในสภาพความว่างเปล่าทางควอนตัม (quantum vacuum) ที่จะให้การไหวสั่นทางควอนตัม (quantum fluctuation) ความไหวสั่นที่จะให้สสารที่แท้จริงจากอนุภาคเทียม (matter arising form virtual particles as Casimir effect)
ทั้งหมดอาจเข้าใจยากสำหรับผู้อ่านที่ไม่ได้เรียนมาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า จักรวาลเป็นเหมือนฟองน้ำฟองอากาศที่มีจำนวนไม่สิ้นสุด ที่อาจอยู่ติดชิดกับจักรวาลของเรา แต่เรารับรู้ไม่ได้เพราะอยู่ในมิติมากกว่าเรา มิติที่ไล่สูงขึ้นไปจนถึงมิติที่ ๑๑ อันเป็นมิติแห่งนิพพาน จักรวาลแต่ละจักรวาลจะ “ยุบๆ พองๆ ” ยุบด้วยหลุมดำ ยุบแล้วก็ระเบิดเป็นจักรวาลใหม่ด้วยหลุมขาว ที่มีช่วงระหว่างสองจักรวาลเป็นความว่างเปล่า
อ่านหนังสือของมิชิโอะ กากุ แล้วอดไม่ได้ที่จะคิดถึงยานบิน (UFO) ที่ จอห์น แม็ต จิตแพทย์จากฮาร์วาร์ด ที่เพิ่งตายไปบอกว่า ยานบินไม่ใช่มาจากต่างดาวแต่มาจากต่างมิติที่สามารถควบคุมหรือใช้จิตนำทางก็อาจปรากฏให้เห็นในสี่มิติโลกได้ (Abduction, ๑๙๙๕) ขณะเดียวกันก็อดคิดถึงชั้นต่างๆ ของสวรรค์ไม่ได้ ดังข้อสรุปที่บอกว่าสวรรค์กับเทวดาก็คือผู้มาเยือนจากนอกโลก (Eric von Danicken: Chariots of the Gods, ๑๙๗๐)
ศาสนาพุทธเองพูดถึงจักรวาลที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่มีการตั้งต้นจึงไม่มีการดับสูญไป (อนามัตโก ยามัง สังสาโร บัพโคติ นะ ปัญญายาติ) จักรวาลที่เราอยู่นี้ มี ๓ ลักษณะ คือ มหาโลกธาตุที่ประกอบด้วยกลุ่มโลกธาตุจำนวนมาก นั่นเทียบได้กับจักรวาลทั้งหมดที่มีกลุ่มกาแล็คซี่จำนวนมาก สองมัชฌิมโลกธาตุ ที่ประกอบด้วยโลกจำนวนมาก ที่เทียบได้กับกาแล็คซี่ทางช้างเผือกที่มีดาวหรือดวงอาทิตย์มากมาย และสามจุลโลกธาตุที่หมายถึงระบบสุริยะ และโลกมนุษย์ กับดาวเคราะห์อื่นๆ มหายานพุทธศาสนาบอกว่า จักรวาลที่เราเห็นและให้โลกที่เราอยู่ไม่ใช่ความจริงแท้ แต่เป็นความจริงสัมพัทธ์เท่านั้น จริงๆ แล้วจักรวาลปรากฏการณ์แยกจากจิตไม่ได้ ทั้งสองอยู่คู่กันและต่างเสริมเติมกันด้วยพลังงานหรือแรงแห่งกรรม แม็ทธิว ริคาร์ด ที่ได้อ้างข้างบนนั้น คือ เจ้าอาวาสวัดใหญ่วัดหนึ่งที่อินเดียตอนเหนือ ได้สรุปรายละเอียดของจักรวาลในพุทธศาสนาเอาไว้อย่างน่าสนใจ แม็ทธิว ริคาร์ด ก่อนบวชเป็นพระในพุทธศาสนา เคยเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับผู้บริหารของสถาบันปาสเจ้อร์ (Pasteur Institute) กรุงปารีส ที่มี จาค็อบ โจซัว นักชีววิทยารางวัลโนเบลเป็นผู้อำนวยการอยู่ในขณะนั้น ต่อไปนี้ คือใจความว่าด้วยจักรวาลวิทยาของพุทธศาสนาที่ใคร่นำมาเปรียบเทียบกับจักรวาลวิทยาใหม่ที่ผู้เขียนเอามาจาก มิชิโอะ กากุ อ้างไว้ข้างต้น
“ว่าด้วยความจริงสัมพัทธภาพ จักรวาลของเราเกิดจากการรวมตัวกันของธรรมธาตุ (ไม่ใช่สสารโดยนิยาม แต่หมายถึง ศักยภาพของการเป็นสสาร) โผล่ปรากฏ ออกมาจากอวกาศ (Space) อวกาศที่ว่างเปล่า (สุญตา หรือ void) เท่าๆ กับเป็นความเต็ม ในตอนแรกที่ปรากฏออกมา เป็นรังสีที่มีห้าสี ที่ต่อมาจะค่อยๆ กลายเป็นสสาร หรือธาตุทั้งห้า (ธาตุของโลกสี่ธาตุ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม กับอากาศธาตุที่ไม่ใช่ธาตุของโลกที่ต่อมาประกอบเป็นชีวิต ได้แก่ อากาศธาตุและวิญญาณธาตุ – ธาตุ ๖ ของเถรวาท)ในพุทธศาสนานั้น จักรวาลไม่ใช่มีเพียงหนึ่งหรืออยู่ตามลำพัง (independent) แต่มีจำนวนไม่มีสิ้นสุด ที่ต่างก็พึ่งพาหรือเป็นเหตุปัจจัยกันเป็นวัฏจักร (cyclical หมุนวนเวียน แต่ไม่ทับซ้ำรอยเดิม) ในทางพุทธศาสนาวัฏจักรของจักรวาลหนึ่งๆ จบลงด้วยไฟบัลลัยกัลป์ ๗ ครั้ง แล้วทุกสิ่งทั้งหมดก็ถูกดูดหายไปในความว่างเปล่า ความว่างเปล่าที่เชื่อมต่อระหว่างจักรวาลเก่ากับจักรวาลใหม่”
โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 ธันวาคม 2548
ทีแรกตั้งใจจะตั้งชื่อบทความนี้ว่า “ความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรม ความมีคุณธรรม จริยธรรมในสังคมไทย และสังคมโลก ภาค ๒” เพราะได้เขียนเรื่องนี้ไปครั้งหนึ่งแล้วในคอลัมน์นี้เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๘ แต่มาคิดดูอีกทีลองเปลี่ยนมาตั้งชื่อสั้นๆ ดูบ้างก็น่าจะดี เลยออกมาเป็น “พอเพียง”
สังคมไทยและสังคมโลกท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์แห่งเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่ลดทอนความมีคุณธรรมจริยธรรมเหลือเพียงแค่ความถูกต้องตาม(การตีความ)กฎหมาย แล้วนำมาอ้างเป็นความชอบธรรมในการกระทำของตนเอง และในขณะเดียวกันก็ใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีฝ่ายตรงกันข้าม ยังปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และมีทีท่าว่าจะเข้มข้น ดุเดือดเลือดพล่านมากขึ้น จนน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดอาการหน้ามืดด้วยกันทุกฝ่าย
ถ้าหน้ามืดแล้วเป็นลมก็ดีไป จะได้พักชั่วครู่ และมีโอกาสได้พักการทำชั่วเพราะขาดสติได้ แต่ถ้าหน้ามืดแล้วขาดสติ อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ผลประโยชน์ตนอยู่เหนือผลประโยชน์ชาติ ความรู้อยู่เหนือปัญญา ความดีและความงาม กฎหมายอยู่เหนือคุณธรรมโอกาสทำผิดทำชั่วก็เพิ่มขึ้น
เมื่อไหร่ ความถูกต้อง ความชอบธรรม ความยุติธรรม จึงจะไปกันได้หรือเป็นเรื่องเดียวกันกับความดี ความมีคุณธรรมจริยธรรม ไม่แยกออกจากกันเหมือนในปัจจุบัน
หรือเพราะมนุษย์ลืมตัว ขาดสติ ไหลไปตามมนต์เสน่ห์ของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม ที่ชักจูงให้เราดิ้นรน กระเสือกกระสนไม่รู้จักพอ จึงไม่รู้จักความพอเพียง แล้วพยายามสร้างกฎ ระเบียบ รวมถึงกฎหมายทั้งในระดับประเทศ ระดับระหว่างประเทศ และระดับโลกขึ้นมา เพื่อสร้างความชอบธรรม (Justification) ให้กับตัวเอง เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไม่มีความยุติธรรมในหัวใจ
เมื่อไหร่เราจึงจะมีความพอเพียง และความพอดีทางกฎหมาย ไม่สุดโต่งแบบขาดสติ แล้วติดกับกับสิ่งที่เราสร้างขึ้น แล้วพยามยามจะเอาแพ้ เอาชนะกันทางกฎหมายโดยลืมเรื่องความดี ความงาม ความมีคุณธรรม
หันหน้ามาปรึกษาหารือกัน มีสุนทรียสนทนากัน หาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศอันเป็นที่รักของเรา ไม่ดีกว่าหรือ ท่านผู้เก่งกล้าทั้งหลาย
ผู้เขียนเชื่อว่ามีคนในประเทศจำนวนมากอยากเห็นพวกท่าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครองหรือฝ่ายกฎหมายหรือองค์กรอิสระ มีความกล้าทางคุณธรรมและจริยธรรมมาร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมหาทางออกให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน( สตง.)ของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกาที่ยังหาทางออกไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าทำตามกฎหมาย ทั้งที่เคยทำแล้ว มีปัญหา ก็ยังทำแบบเดิม เพราะถ้าไม่ทำก็กลัวว่าตนเองจะผิดกฎหมาย ประชาชนเลยเริ่มสับสนว่า ที่ทำกันอยู่ และอ้างว่าทำตามกฎหมายนั้น ทำเพื่อปกป้องตนเองหรือเพื่อผลประโยชน์ของชาติ หรือเพียงเพื่อพิสูจน์ความถูกผิด และความเก่งกล้าทางกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียของประเทศชาติ
หรือในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ระงับการขายหุ้น กฟผ. และศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า การสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การโต้แย้งเรื่องการวางบุหรี่ขายระหว่างเซเวนอีเลฟเวนกับกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงการสรรหา ปปช. และ กกต. ล้วนเป็นเรื่องความถูกผิดทางกฎหมายทั้งสิ้น จนมีกระแสจะให้มีการปรับแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ไม่ปรากฏว่ามีกระแสให้ปรับแก้กระบวนการสร้างและพัฒนานักกฎหมายให้เป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมและจริยธรรม แต่มีแนวโน้มที่จะพยายามสร้างกรอบมาครอบและควบคุมคน มากกว่าที่จะสร้างคนดีโดยผ่านกระบวนการศึกษา และการปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง
เมื่อไหร่ นักการเมือง นักปกครอง ตำรวจ ทหาร ครู อาจารย์ พ่อแม่...จึงจะทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นครู อาจารย์ต้นแบบที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน มีความรัก ความเมตตา และความเอื้ออาทรต่อกัน มีคุณธรรมและความดีเป็นฐานของการดำเนินชีวิตและการทำงาน
เมื่อไหร่เราจะยอม “ศิโรราบ” ให้กับความดีงาม มองเห็นความศักดิ์สิทธิ์ของสรรพสิ่ง ของตนเองและของผู้อื่น เพื่อที่เราจะได้ยอมรับ เคารพ ตนเอง ผู้อื่น และสรรพสิ่งในฐานะที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ศัตรูที่ต้องขจัดกันให้หมดไป
โลกาภิวัตน์แบบทุนนิยม ศาสตร์ทางการบริหารธุรกิจ ศาสตร์ด้านโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการตลาดเชิงรุก กลายมาเป็นศาสตราทำลายคุณภาพชีวิตมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติอย่างร้ายแรง ก่อให้เกิดสิ่งแปลกๆ มากมาย ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่นมีการเปิดเผยออกมาจากหน่วยงานของรัฐว่าต้นทุนของชาเขียวตกขวดละประมาณ ๑.๕๐ บาท แต่เราต้องซื้อขวดละ ๑๕-๒๐ บาท ตกลงเราต้องจ่ายเงินให้กับสิ่งที่เราไม่ได้กิน หรือกินไม่ได้เช่น ขวด ค่าโฆษณา ค่าการตลาด...มากกว่าสิ่งที่เรากินได้และได้กินหลายเท่า นี่คือผลพวงของระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมที่เรากำลังหลงเดินตามอย่างขาดสติ ขาดความพอดี เพราะไม่มีความพอเพียงเป็นปรัชญาและแนวทางในการดำเนินชีวิต
เราพร่ำพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่แสวงหาแบบสุดโต่ง เราพร่ำพูดถึงความถูกต้อง ความชอบธรรมและความยุติธรรมทางกฎหมาย แต่ปราศจากคุณธรรมและจริยธรรมทางความคิดและการกระทำ
หรือเรากำลังพูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง
เมื่อไหร่เราจะคิด พูด และทำในทิศทางเดียวกัน โดยมีความดีความมีคุณธรรมเป็นฐานของการคิด การพูด และการกระทำ
ประเทศเรามีวัฒนธรรมที่เลิศล้ำ มีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีและความมีคุณธรรมอยู่ทั่วแผ่นดิน มีองค์พระประมุขที่ทรงเป็นครูต้นแบบแห่งความดีมีคุณธรรม ทำไมเราต้องไปหลงและไหลไปตามวัฒนธรรมทุนนิยม ทำไมไม่มาช่วยกันเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีความมีคุณธรรมให้เต็มแผ่นดินและเป็นต้นแบบขยายไปทั่วโลก ทำไมไม่คิดใหม่ ทำใหม่ในสิ่งที่ดีงาม
ผู้เขียนมีความสุขและมีความหวังกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาก เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ได้ทราบว่า ทางสำนักงานกำลังคิดการใหญ่ ก่อการดี ด้วยการพยายามจะปรับโครงสร้างกฎหมายใหม่ทั้งระบบ โดยเน้นการส่งเสริมประชาชนมากกว่าการบังคับประชาชนอย่างเดียว ขอให้ประสบความสำเร็จโดยเร็วไว และหวังว่าการปรับครั้งนี้จะมีความดี ความพอดีและความมีคุณธรรมเป็นฐานสำคัญ
ผู้เขียนขอจบบทความนี้ด้วยบทกลอนสั้นๆ ที่ผู้เขียนแต่งขึ้นจากแรงบันดาลใจที่ได้รับจาก ปรัชญาพอเพียงของพ่อหลวงของปวงชาวไทย เพื่อเตือนสติตนเองและเป็นแง่คิดให้กับผู้อื่น